แมงมุมมอง (พรชัย แสนยะมูล)


และแล้วคำเปรียบเปรยเรื่องดนตรีของเราก็ยังใช้ได้กับหนังสือชิงซีไรต์เล่มที่ 4 นี้ ถ้าสามเล่มก่อนๆ เหมือนเพลงร็อค ลูกทุ่ง และคลาสสิก แมงมุมมอง ก็คือเพลงกล่อมเด็กอย่างไม่ต้องสงสัย

ระยะหลังนี่ประเด็นเรื่องหนังสือเด็ก กับรางวัลซีไรต์ถูกเอามาพูดถึงบ่อย ตั้งแต่ตอนที่ เจ้าหงิญ ได้รางวัล จนมาถึง กะทิ เมื่อปีก่อน ทำให้ในสายตาหลายคนเผลอๆ แมงมุมมอง อาจกลายเป็นม้ามืดไปอีกตัวก็ได้ ก็ขอตอบกันล่วงหน้าเลย ถ้าปีนี้พี่กุดจี่จะได้ซีไรต์จริง ไม่ว่าเกจิในวงการว่าไง เราคนหนึ่งแหละที่ไม่รู้สึกขัดขืน

ชอบทำนองกลอนของพี่กุดจี่ ใช้สัมผัสง่ายๆ วรรคสั้นๆ เป็นกลอนที่อ่านแล้ว ไม่พลาดจังหวะแน่ๆ (บางครั้งเวลาอ่านกลอนแปด ถ้าแบ่งวรรคแบบอื่นที่ไม่ใช่ สาม สอง สาม เราจะสะดุดๆ ต้องกลับไปทวนใหม่อีกรอบ) บางทีก็เล่นคำแบบน่ารักๆ เช่น ปีนเขา เอาคำว่า "เขา" ความหมายต่างๆ มาสับเปลี่ยน อีกบทที่ชอบเป็นพิเศษคือ ต่างเหมือนกัน ด้วยตอนจบที่แม้ไม่ถึงขั้นฮุคใต้คาง แต่ก็เป็นถองเบาๆ พอให้จักกะจี้

หลายบทหยิกสังคมได้น่ารักน่าชังเช่น มันออกมาจากทีวี แต่ก็มีบางบทที่ "คาบลูกคาบดอก" ไปหน่อย เช่นบทสดุดีคณะรัฐประหารฯ ไม่เป็นไร เห็นลงท้ายว่าเขียนเดือนกันยาปี 49 พอดี ไว้ vol 45 พี่กุดจี่ค่อยเขียนกัดแล้วกันนะ

สำนักพิมพ์ไม้ยมกทำหนังสือเล่มนี้ออกมาได้น่ารักสมเนื้อหา ทั้งภาพประกอบและการตีพิมพ์ กลอนที่เขียนต่างวาระ แต่กรรมเดียวกัน (คือเนื้อหาคล้ายๆ กัน) ก็เอามาวางไว้ใกล้ๆ กัน ช่วยให้คนอ่านอารมณ์ไม่มั่วสุ่ม จะตินิดหนึ่งก็ตรงไม่มีสารบัญนี่แหละ จะว่าไม่จำเป็น ก็ไม่จำเป็นหรอก แต่มันช่วยให้คนวิจารณ์หนังสืออย่างเราเขียนถึงง่ายขึ้นเยอะ

ก็เป็นกำลังใจให้แล้วกันครับ

3 comments:

Anonymous said...

คุณเขียนถึงรวมกวีนิพนธ์ซีรอง 4 เล่มแล้ว คุณเห็นว่ากวีนิพนธ์ทั้งสี่นี้พอจะเป็น "ตัวแทน" ของกวีนิพนธ์ในรอบ 3 ปีนี้ได้มั้ยคะ แล้วคุณมองบทบาทของซีรองยังไงบ้าง

ขอขอบคุณมาล่วงหน้าเลยนะคะ

laughable-loves said...

กับคำถามแรก ตอบได้เต็มปากเต็มคำเลยครับว่าไม่รู้ เพราะอย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้ว เป็นคนอ่านกลอนน้อย

เท่าที่อ่านมาสี่เล่ม รู้สึกว่านักกลอนสมัยนี้มีความเคร่งครัดเรื่องฉันทลักษณ์น้อยลง ขนาดว่ายังไม่ได้อ่านกลอนเปล่าอีกสองเล่มนะครับ ไม่แน่ใจว่าจุดนี้จะถือเป็นตัวแทนของกวีนิพนธ์ในยุคหลังๆ ได้ไหม

ส่วนบทบาทซีรองพูดได้ยาวเลย เดี๋ยวนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องซีไรต์ ซึ่งก็ทำให้หนังสือซีรองได้อานิสงส์ ขายดิบขายดีไปกับเขาด้วย จำนวนหนังสือซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายก็เหมือนจะเพิ่มขึ้นด้วย (สมัยนู้นปีหนึ่งประกาศหนังสือรอบสุดท้ายแค่สามเล่มเองนะครับ)

ซึ่งถ้ามองในแง่ส่งเสริมการอ่าน และการเขียน มันก็ดีเพราะช่วยให้คนไทยตื่นตัวเรื่องหนังสือ และนักเขียนไส้แห้งมีโอกาสไส้ชุ่มปีละหลายคน

แต่ทุกอย่างก็ควรมีขอบเขตนะครับ ระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงผลงานซึ่งผ่านเข้ารอบ "รองสุดท้าย" ซีไรต์ คือจะเรียกว่าเป็นนักเขียนซีรองรองก็ได้ ซึ่งจุดนี้อ่านแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ เพราะไม่มีนะครับหนังสือซีรองรองเนี่ย เว้นแค่ปี 2548 ปีเดียวเท่านั้นที่คณะกรรมการประกาศออกมาเลยว่าหนังสือรอบรองสุดท้ายมีเล่มไหนบ้าง

เท่าที่เคยคุยกับกรรมการ และผู้ใหญ่ในวงการ ก็แค่พูดกันปากเปล่าแบบคร่าวๆ ว่าเล่มไหนเข้าขั้น แต่ไม่ได้ตัดสินขาดว่าเล่มไหนบ้างจะเป็นซีรองรอง

ตรงนี้ผมคิดว่าค่อนข้างอันตราย เดี๋ยวในอนาคตข้างหน้าเราจะมีแต่นักเขียนเบียดเสียนกันเป็นซีรอง ซีรองรอง และเผลอๆ ต่อเป็นซีรองรองรอง แทนที่สื่อมวลชนจะมุ่งเน้นประเด็นว่าใครเป็นซีรองรอง น่าเอาเวลาไปช่วยดันรางวัลอื่นๆ เช่น นายอินทร์อวอร์ด เซเวน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แว่นแก้ว และอีกมากมายให้เป็นที่สนใจของสาธารณชนทัดเทียมสูสีซีไรต์จะดีกว่าไหม

saim said...

I have read a few of the articles on your website now, and I really like your style of blogging. I added it to my favorites blog site list and will be checking back soon. Please check out my site as well and let me know what you think.



natural minerals
best naturals
buy curcumin