สิงห์สาโท (วัฒน์ วรรลยางกูร)


ช่วงนี้คงไม่ได้อ่านนิยายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือส่วนใหญ่ทิ้งไว้ที่ทำงาน ที่บ้านเหลือแค่รวมเรื่องสั้นนักเขียนชาวต่างชาติ สนับสนุนโครงการช่วยผู้ป่วยโรคเอดส์ ระหว่างที่รออ่านนิยายเล่มใหม่ มาพูดถึงสิงห์สาโทกันดีกว่า

สิงห์สาโทเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดังที่สุดของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักดีถึงขนาดคนในวงการน้ำหมึกตั้งฉายาคุณวัฒน์ว่า "สิงห์สาโท" ตามชื่อพระเอกในเรื่อง จิตรกรตกอับที่หลงใหลวินเซนต์ แวนโก๊ะจนสาวคนรักเอือมระอา เมื่อไม่อาจจ่ายค่าหอพักในกรุงเทพได้ สิงห์ออกไปอยู่ต่างจังหวัด และที่นี้เอง กลายเป็นตัวตั้งตัวตี ช่วยเหลือชาวบ้านร่วมขบวนการผลิตน้ำเมาท้องถิ่น และพบรักกับทนายสาว ซึ่งอุทิศชีวิต ใช้กฎหมายช่วยเหลือคนยากคนจน บ้านหัวสิงห์ก็เหมือนกับชนบทที่อื่น ซึ่งก็มีทั้งคนดีและคนเลวปะปน แอบมีกระบวนการมั่วนิ่มเล็กๆ น้อยๆ เมื่อชาวบ้านเข้าใจผิดว่าสิงห์ เป็นร้อยตำรวจโทปลอมตัวมาเปิดโปงกระบวนการโกงกินที่ดินของกำนัน

ใช่แล้วครับ สิงห์สาโทเป็นหนังสือคอมมิดี้ ถ้าใครคิดว่าอ่านเล่มนี้แล้วจะน้ำตาตกในเหมือนอ่านคือรักและหวัง ปรับความเข้าใจเสียใหม่ได้เลย

หนังสือเล่มนี้ตั้งใจสะท้อนสภาพความจริงในวงการสุรา ซึ่งโรงงานใหญ่ๆ และบริษัทนำเข้าลอบบี้รัฐบาลให้ออกกฎหมายอยุติธรรม กีดกันชาวบ้านไม่ให้ผลิตสุราท้องถิ่น ผลคือนักเสพย์ต้องสั่งซื้อเหล้านอกแพงๆ และประเทศชาติเสียดุลการค้า จริงๆ นี่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติเหมือนกัน เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าคนไทยทานเหล้าหนักแค่ไหน และถ้าเรามีทางเลือกอื่นไม่ต้องเสพย์ของนอก จะช่วยประเทศชาติประหยัดได้มากเพียงใด ขณะเดียวกันบ่วงคล้องคอทางศีลธรรม ทำให้ไม่อาจมีใครออกมาประท้วง รณรงค์เรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง เรื่องเลยเอวังที่สภาพดับเบิลแสตนดาร์ดแบบสบายใจไทยแลนด์ ผมไม่ใช่คนดื่มเหล้า แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าถ้าจะผิดศีลทั้งที อย่างน้อยน่าจะช่วยให้พี่น้องชนบทมีงานมีการทำไปด้วย ก็คงไม่เลวนัก

เมื่อสิงห์มาอยู่ต่างจังหวัด เขาได้เรียนรู้ความหมาย คุณค่าของศิลปะ ไม่ใช่ปาดสี ตีแปรงไปวันๆ สุดท้ายก็โอดโอยว่าทำไมไม่มีใครเข้าใจกู ศิลปะต้องรับใช้ สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ซึ่งสิงห์ก็ได้ใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาออกแบบฉลากเหล้าเถื่อนให้บริษัทตัวเอง ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นักกับประเด็นนี้ แต่ก็ดูเหมาะสมดีกับหนังสือคอมมิดี้น่ารักๆ เล่มหนึ่ง

สิงห์สาโทจบได้อย่างสุขสันต์ ยิ้มเปื้อนหน้า ถามว่าชอบไหม ชอบนะ แต่ความคิดแรกซึ่งผุดขึ้นในหัวคือ ในประเทศไทยไม่มีใครเขียนหนังสือแนวนี้ ได้ดีเท่าคุณดำรงค์ อารีกุล ตัวละครอย่างสิงห์ นก และชาวบ้านคนอื่น ถ้าจับมาอยู่ในหนังสือของคุณดำรงค์ ก็จะดูไม่แปลกหูแปลกตาแต่อย่างไร และไปๆ มาๆ ผลงานล่าสุดของคุณดำรงค์ กระบือบาล ก็ออกคลับคล้ายกับคลากับสิงห์สาโทอยู่ไม่น้อย สิงห์สาโทเข้ารอบรางวัลซีไรต์ปี 2543 ส่วนกระบือบาล และหนังสือเล่มอื่นๆ ของคุณดำรงค์ ไม่เคยได้รับเกียรติประวัติอันนี้