An Inconvenient Truth


เพราะเป็นคนขวางโลกโดยสันดาน อะไรที่เขาบอกว่า “ใช่ ๆ ๆ ” เราก็จะคิดไว้ก่อนว่า “คงไม่หรอกน่า” อย่างตอนนี้ประโยคหนึ่งซึ่งกลายมาเป็น catch phrase ในแทบทุกบทความของนักวิชาการคือ “เมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว…เราอยู่ในยุคส่งผ่าน…ต่อแต่นี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม…” จริงอยู่ว่าในบางแง่มุม รายละเอียดของปรากฏการณ์เสื้อแดงแตกต่างจากการเดินขบวนที่ผ่านๆ มา แต่ตราบใดที่สังคม ผู้เข้าร่วมประท้วง และนักวิชาการยืนยันที่จะมองสิ่งนี้ว่าเป็น “สงครามระหว่างชนชั้น” การ “เปลี่ยนผ่าน” ที่เรา (อาจจะ) ต้องการนั้นก็จะไม่มีวันมาถึงได้

แม้ไม่เห็นด้วยกับบทความล่าสุดของอาจารย์ศรีศักร (google หากันเอาเองนะจ๊ะ) แต่มีประโยคหนึ่งโดนใจเรา นั่นก็คือสงครามชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นข้ออ้างที่อ้างกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คุณทักษิณเองก็มีความเป็นอำมาตย์ คืออำมาตย์นายทุน พอๆ กับกลุ่มคนที่เขาต่อต้าน (เหมือนเอาคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สนทนากับพระไพศาลทางช่อง 11 มากลับหัวกลับหางว่า “อำมาตย์เองก็เป็นนายทุน สมัยนี้ใครๆ เขาก็เป็นนายทุนกันหมดแล้ว”)

ย้อนกลับไปสี่ห้าปีที่แล้ว สมัยพันธมิตรรวมพลังกับเหล่านักวิชาการตีโต้ปราการของคุณทักษิณ ประเด็นทุนนิยมถูกยกมาอ้างอิงบ่อยมาก ราวกับคุณทักษิณเป็นผู้นำลัทธิมารมาเผยแพร่ ทำให้คนไทยลุ่มหลงทุนนิยมอย่างบ้าคลั่ง รังแต่จะขยายช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นเท่านั้น (ประเด็นเรื่องทุนนิยมสำคัญแค่ไหนน่ะหรือ เอาง่ายๆ แล้วกันว่า พอจบรัฐประหาร ถึงกับมีอาจารย์รัฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกมาพูดเลยว่า การที่ทหารยึดอำนาจคราวนี้เห็นชอบด้วยได้เพราะเป็นการ “ตัดอำนาจทุน”) สรุปคือข้ออ้างที่ว่าทำเพื่อชนชั้นล่าง และใส่ร้ายชนชั้นกลางว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์จากอำนาจมืด นี่มันอ้าง มันใส่กันมาตั้งแต่กลุ่มเสื้อเหลืองแล้วล่ะ

ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับบทความของอาจารย์ศรีศักรคือ ท้ายที่สุดอาจารย์เองก็ยังไม่ยอมรับ An Inconvenient Truth คำถามที่นักวิชาการสาย NGO รังเกียจที่จะถามตัวเองคือ “จากปรากฏการณ์คนเสื้อแดง ทำไมคนยากคนจนถึงได้รักใคร่ ใยดีมหาเศรษฐีขี้ฉ้อนามทักษิณนัก”

คำถามนี้ยาก และถ้าจะตอบ คงตอบได้สองแนวทาง แนวทางแรกคือประเด็นการเมือง คร่าวๆ คือคนยากคนจน โดนหลอก/ตระหนัก ว่าเสียงของตัวเองกี่เสียงๆ ก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งกวาดเอาไปทิ้งเสียให้เหี้ยนด้วยกรรมวิธีต่างๆ จนเกิดเป็นความหมั่นไส้ขึ้นมา แนวทางนี้พูดถึงบ่อยแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจและไม่ค่อยมีใคร “กล้า” พูดถึงนั่นก็คือ หรือว่าเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่ง “รังแต่จะขยายช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นเท่านั้น” อาจกำลังสร้างความร่ำรวยให้แก่คนชนบทจริงๆ ก็ได้ (บอกแล้วว่ามันคือ An Inconvenient Truth)

จริงไหม ไม่รู้ เพราะไม่เคยมีนักวิชาการคนไหนกล้าออกมาวิเคราะห์คำถามนี้ (เรากำลังคาดหวังว่า ทุนนิยมที่มีหัวใจ ของพี่สฤณีจะช่วยตอบเราในบางคำถามได้) ที่ใกล้เคียงสุดคือผลงานของอาจารย์สุนัย จุลพงศธร ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน ซึ่งเคยพูดถึงไปแล้ว

ไหนๆ ก็ตั้งชื่อหัวข้อว่า An Inconvenient Truth มาพูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อนหน่อยดีกว่า คล้ายๆ กับการวิเคราะห์โรงสีชุมชนของอาจารย์สุนัยว่าไม่จำเป็นจะต้อง “พอเพียง” กว่าโรงสีของเจ้าสัวนายทุนเสมอไป (เพราะเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ดีกว่า ย่อมช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถสีข้าวปริมาณเท่ากันได้ในราคาที่ถูกลง) ในบริบทของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งโรงสีใช้เครื่องจักรชั้นดีเท่าไหร่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกย่อมน้อยลงไปด้วยเท่านั้น เผลอๆ การตั้งโรงสีแบบพอเพียงไว้ทุกหัวมุมประเทศ อาจจะสร้างมลพิษมากกว่าโรงสีไม่กี่แห่งของนายทุนก็ได้ (แต่นี่ยังไม่ได้คิดปริมาณก๊าซที่เกิดจากภาคการขนส่ง หากถัวรวมกัน สุดท้ายโรงสีแบบพอเพียงอาจจะสะอาดกว่าก็เป็นได้)

หากเรามองสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ เหมือนที่แกนนำเสื้อแดงและคุณทักษิณอยากให้เรามอง คือเป็นเรื่องของชนชั้น เป็นการ “เอาคืน” จากคนต่างจังหวัด เราก็จะพลาดบทเรียนสำคัญที่สุดไป นั่นคือทุกรัฐบาลต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาชนชั้นและความยากจนกันทั้งนั้น (นโยบายประชานิยมแบบคุณทักษิณที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ประกาศโครมๆ ตอนขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ก็คือข้อพิสูจน์ตรงนี้) แต่นักวิชาการเองต่างหากที่เมื่อไหร่จะหันมากลืนยาขม ตั้งคำถามกับ An Inconvenient Truth หากจะสรุปกันง่ายๆ ว่า "ทุนนิยมดีกว่าเศรษฐกิจพอเพียง" ก็จะเป็นการตกกับดับความคิดสุดโต่งอีกทางหนึ่ง แต่อย่างน้อยในวันนี้ ลองเริ่มตั้งคำถามกันก่อนดีไหม

...เพราะโจทย์เขาออกมาแดงโร่กันเต็มท้องถนนแล้ว

2 comments:

Anonymous said...

ศัพท์์ใหม่สำหรับจริตวันนี้ครับ
"แอ๊บไพร่"

Anonymous said...

ศัพท์ใหม่อีกหนึ่งคำครับ
"เหวง"
แปลว่า สับสน มั่ว คล้ายหลง แต่งงกว่า