รัตนโกสินทร์ (ว. วินิจฉัยกุล)


รัตนโกสินทร์ เป็นนิยายที่อ่านได้มากกว่าหนึ่งแบบ และคงไม่ใช่แบบเดียวกันที่ถูกใจใครเขาทั้งเมือง ถ้าถามเรา การอ่านแบบที่เราชอบสุด คืออ่านแบบอ่านนิยายประวัติศาสตร์ ดูโครงสร้างทางสังคมในสมัยต้นรัตโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 ถึง 3) ซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และชนชั้นวรรณะ ฉากในนิยายเรื่องนี้ถือว่าประหลาดใช้ได้ ช่วงรัชกาลต้นๆ หลังสร้างกรุงดูสงบราบเรียบ ศัตรูเก่าอย่างพม่าก็มัวแต่ไปรบรากับศัตรูใหม่อย่างฝรั่ง ซึ่งก็ยังไม่มาบุกรุกบ้านเราอย่างเต็มตัว ตรงนี้ก็เลยดลให้ ฟัก ตัวเอกของนิยาย ไม่ใช่นักรบเหมือนในนิยายย้อนยุคเรื่องอื่นๆ ถึงจะพอมีฝีไม้ลายมือติดตัว และได้ออกรบกับเขา "ตั้ง" หนึ่งที แต่ก็ต้องถือว่าขุนนางฝ่ายบุ๋น มากกว่าบู๊

พูดมาแบบนี้ ใช่ว่า รัตนโกสินทร์ จะปราศจากความขัดแย้ง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างค่านิยมยุคเก่าในสมัยของนิยาย และค่านิยมยุคใหม่ของ ว. วินิจฉัยกุล และผู้อ่าน สิ่งที่ท่านต้องการ "สอน" คือชาติกำเนิดและชาติตระกูลเป็นรองสองมือที่สร้างตัว ตรงนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะมันช่างขัดแย้งกับบรรยากาศโดยรวมของนิยาย ถ้าให้เทียบ รัตนโกสินทร์ กับ รากนครา ซึ่งเป็นนิยายไทยอิงประวัติศาสตร์เรื่องสุดท้ายที่เราอ่าน เรื่องหลังจะมีความเป็นโลกาภิวัฒน์สูงกว่า เนื่องจากเหตุการณ์เกิดในช่วงรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคที่ประเทศไทยพยายามก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ ในทางตรงกันข้าม รัตนโกสินทร์ เกิดในช่วงรัชกาลต้นๆ ซึ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงกว่า

ในเมื่อท่านปูทางไว้อย่างแน่นหนาถึงความสลักสำคัญของชนชั้น จึงเปิ่นแปลกอยู่ไม่น้อยที่อยู่ดีๆ จะมีตัวละครอย่างคู่พระคู่นาง (และคนรอบข้าง) ซึ่งทำอะไรหลุดกรอบประเพณี เช่นแต่งงานข้ามฐานันดรศักดิ์ ในทางกลับกัน ถ้าพระเอก นางเอกปล่อยให้ผู้ใหญ่คลุมถุงชน ก็คงไม่ใช่นิยายไทยกระมัง (ด้วยเหตุนี้แล้ว เราถึงชอบตัวละครอย่าง ช้อง ดูเธอจะเป็นผู้หญิงมักใหญ่ใฝ่สูงที่เข้ากับสภาพสังคมในสมัยนั้นได้) อีกประเด็นซึ่งผู้เขียนต้องการ "สอน" คือผู้ชายสมควรมีภรรยาคนเดียว ซึ่งก็ค่อนข้างหลุดจากขนบในสมัยนั้น และก็อีกเช่นกัน นิยายผู้หญิงประสาอะไรจะยอมให้พระเอกมีภรรยามากกว่าคนหนึ่งเล่า

แต่อาจจะเพราะความแหกคอกตรงนี้ก็ได้ นิยายเรื่องนี้ถึงได้อ่านสนุก ถ้าตัวละครไหลลื่นไปกับฉาก ไปกับคนรอบข้างเสียทั้งหมด จะมีอะไรให้ลุ้น จริงไหม

โดยรวมก็ถือว่าชอบ รัตนโกสินทร์ อยู่ไม่น้อย ชอบความเรื่อยๆ บรรยากาศเปื่อยๆ ในฐานะนิยายประวัติศาสตร์ ถ้าจะติก็ตรงที่มันไม่ค่อยจะมีฟันนัก ประเด็นพุทธศาสนานิกายใหม่ หรืออะไรจำพวกนี้ น่าจะเอามาเล่นได้อีกเยอะ ที่แอบติดตลกคือ ผู้ร้ายในนิยายไทยเป็นเหมือนแม่เหล็กที่มักดึงดูดเข้าหากัน ตัวร้ายที่ผ่านเข้าออกชีวิตตัวเอกต่างกรรมต่างวาระ สุดท้ายจะต้องมาบรรจบ รวมหัวเป็นพรรคเป็นพวกเดียวกันไปเสียหมด