ร่างพระร่วง (เทพศิริ) กลางทะเลลึก (ประชาคม)
อืม...คงใช้เวลาพักใหญ่จริงๆ ด้วยกว่าจะอ่านเบลแคนโต้จบ ระหว่างนี้ขอพูดเรื่องหนังสือที่ได้ชิงซีไรต์ปี 2549 ดีกว่า มีด้วยกันทั้งหมด 10 เล่ม อ่านไปแล้ว 7 คือทุกเล่มยกเว้นนอน เขียนฝันด้วยชีวิต และเด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์
ให้เรียงลำดับความชอบดังนี้ เล่มที่ถือว่าชอบเลยล่ะได้แก่ร่างพระร่วง กลางทะเลลึก และลูกสาวฤษี เล่มแบบกลางๆ ไม่ถึงกับชอบ หรือต่อต้านคือความสุขของกะทิ และเล่นเงา ส่วนเล่มที่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่คือเกียวนาบาจอก และคดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ
พูดตั้งแต่เล่มที่ชอบดีกว่า ชอบที่สุดของปีนี้คือร่างพระร่วง ว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มชื่อดอน (ถ้าจำไม่ผิดนะ) อาจารย์ดอนเคยบวชเป็นพระ สึกแล้ว และตอนนี้เป็นนักเล่นพระเครื่อง/ครูคาถาอาคม ฝ่ายการตลาดมติชนโปรยปกหนังสือเล่มนี้ว่า "ระลึก 100 ปีท่านพุทธทาส" แต่จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับท่านพุทธทาสน้อยมาก ปรัชญาหลายอย่างที่อาจารย์เทพสิริ (ผู้เขียน) ใส่ลงไปในเรื่องแทบจะเป็นปฏิภาคกับความคิดท่านพุทธทาสด้วยซ้ำ ตัวท่านพุทธทาสเองก็ปรากฏในหนังสือหลายครั้ง และมักถูกอาจารย์ดอนมองอย่างสงสัย เนื่องจากอาจารย์ดอนเขียนและอ่านหนังสือไม่เป็น จึงแอบมีปม และอคติกับพระนักคิด นักปรัชญาท่านนั้น
แต่เสน่ห์ของร่างพระร่วงก็อยู่ตรงนี้เอง ร่างพระร่วงไม่ใช่หนังสือ "เด็กดี" แบบที่ตัวเอกกระทำการทุกอย่างถูกต้องตามบทเรียน ข้อคิด ความเห็นหลายอย่างก้ำกึ่งอยู่ระหว่างพุทธศาสนาแบบคตินิยม และแบบไสยศาสตร์ ค่อนข้างหนักไปทางอย่างหลังด้วยซ้ำ (แม้ว่าตอนจบอาจารย์เทพสิระจะกลับเรื่อง ให้กลายเป็นว่าอาจารย์ดอนได้เรียนรู้ความไร้สาระของวัตถุก็ตาม)
หนังสือเต็มไปด้วย รายละเอียด และเกร็ดชวนรู้แสนสนุกหลายประการเกี่ยวกับพระเครื่อง เวทมนต์คาถา (แบบพุทธผสมพราหมณ์) และความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งคงมีแต่คนรุ่นอาจารย์เทพสิริเท่านั้นจะเขียนอะไรอย่างนี้ได้ คล้ายๆ กับบึงหญ้าป่าใหญ่ อ่านแล้วเหมือนได้สัมผัสความโรแมนติกของชีวิตสมัยก่อน ซึ่งยังมีภูตผี สิ่งลี้ลับซ่อนอยู่ในต้นไม้ กอหญ้า และบ่อน้ำ
ข้อเสียของร่างพระร่วงคือมันยาวไปหน่อย ภาษาก็ค่อนข้างอ่านยาก เพราะอาจารย์เทพสิริตั้งใจให้เป็นกึ่งร่าย มีสัมผัสคล้องจองแทบทุกวรรค เพราะก็เพราะอยู่หรอก แต่อ่านจับใจความโคตรลำบากเลย
การที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ซีไรต์ รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะหนังสือยาวห้าร้อยหน้าแบบนี้คงมีคนไทยไม่สักกี่คนหรอกจะหยิบอ่าน ทั้งที่มันเป็นหนังสือดี เสียดายแทนอาจารย์ เทพสิริ และสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งคิดว่าคงพิมพ์ร่างพระร่วงออกมาได้ไม่เกินหนึ่งครั้ง
เล่มที่สองที่ชอบก็เป็นของมติชนเหมือนกัน กลางทะเลลึก ปีนี้พี่ประชาคมได้ชิงสองเล่ม ยังไม่ได้อ่านอีกเล่มหนึ่ง ชื่นชอบงานเขียนของแกมาตลอด และกลางทะเลลึกนี้ก็ไม่ผิดหวังจริงๆ
ได้มีโอกาสคุยกับกรรมการท่านหนึ่ง แกพูดถึงกลางทะเลลึก ซึ่งกลายเป็นว่ามีกรรมการหลายคนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าแค่อ่านเรื่องย่อ ก็เหมือนจะเดาตอนจบได้แล้ว เรื่องของคนเรือกลุ่มหนึ่ง พบขุมทองต้องสาบกลางทะเล และสุดท้ายก็เผชิญกับโศกนาฏกรรม ที่มาพร้อมกับคำสาบนั้น เรื่องแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่าสุดท้าย ส่วนใหญ่ต้องตายกันหมด ทยอยกันตายด้วยวิธีต่างๆ นานา และก็คงมีไม่กี่รายที่จะโชคดี ได้กอดขุมทองกลับบ้าน
กระนั้นกลางทะเลลึกก็ไม่ถึงกับไร้ชั้นเชิงเสียทีเดียว ยอมรับว่าตอนอ่านรายชื่อตัวละครแรกๆ ก็เดาๆ บทบาทของเขาอยู่เหมือนกัน ไอ้นี่สักเต็มตัวเลย มึงเลวแน่ๆ ท่าทางกระจ๋องกระแจ๋งแบบนี้ตายก่อน ส่วนหมอนี้ท่าทางจะเป็นพระเอกแสนดีให้คนอ่านลุ้นทั้งเรื่อง สุดท้ายก็สละชีวิตเพื่อปกป้องคนอื่นอะไรแบบนั้น
กลายเป็นว่าทุกอย่างเราเดาผิดหมด!!! ชั้นเชิงของพี่ประชาคมในการผูกเรื่องน่าสนใจมาก คือเป็นหายนะที่ไม่ได้เกิดจากรากหญ้า ลิ่วล้อ คนงานกงสีซึ่งเหมือนจะเต็มไปด้วยความโลภ เข่นฆ่า แย่งชิงทรัพย์สินอย่างที่คาดไว้ กลายเป็นว่าพวกชนชั้นผู้นำในเรื่อง ไต้ก๋ง นายท้าย ช่างเครื่องต่างหากที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน จนเกิดเหตุขึ้นมา
ตรงนี้เหมือนจะสะท้อนสภาพสังคมโดยรวมยังไงไม่รู้ ว่าการที่ประเทศชาติจะอยู่รอดไม่รอด หลายครั้งมันขึ้นอยู่กับผู้นำ มากกว่าคนชั้นล่าง คนเรายิ่งอยู่สูง ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย (นี่ จบอย่างมีสาระ )
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment