บ้านของคนรัก (นอม วิเศษสิงห์)


พูดตรงๆ เราเห็นความเลือดใหม่อันน่าชื่นชมจากรวมเรื่องสั้น บ้านของคนรัก แต่โดยรวมนี่คือผลงานที่ยัง “เร็วเกินไป” สำหรับนอม วิเศษสิงห์ (แต่จะเร็วเกินไปสำหรับอภิชาติ เพชรลีลาหรือเปล่า ไม่ขอแสดงความเห็นแล้วกัน) ถ้าเราเป็นบรรณาธิการแล้วมีต้นฉบับอยู่ในมือ เราจะขอให้นอมรออีกสักครึ่งปี และให้มีเรื่องสั้นมากกว่านี้สักสองเรื่อง

คำนำเรื่องสั้นถ่ายโดยคริสโตเฟอร์ ดอยล์ แสดงให้เห็นฝีมือผู้เขียน และชัดเจนว่าผู้เขียนเป็นนักดูภาพยนตร์ ตอนแรกนึกว่านอมจะเขียนสไตล์นี้ เอาเข้าจริงๆ มีแค่ You have unread messages. เท่านั้นที่เป็นเรื่องแบบเดียวกัน ส่วนเรื่องที่ชอบที่สุดในเล่ม เดอะการ์เด้นออฟอีเดน แม้จะออกแนวสมจริง แต่ก็มีกลิ่นอายหวังเจียเว่ย ตินิดคือตอนจบถ้าตัวละครหญิงจะไม่พูด “กูมึง” น่าจะเป็นการจบที่หลอน และแรงกว่านี้

ใจจริงคิดว่านอมน่าจะเล่นกับสไตล์ฝันๆ เหงาๆ มากกว่าแนวสัจนิยมอย่าง บ้านของคนรัก ปัญหาคือแนวคิดเชิงการเมืองของผู้เขียนค่อนข้างตื้น นี่คือเรื่องที่แกว่งไปมาระหว่างสุดโต่งสองด้าน ผู้ก่อการร้ายเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ พระเอกของเรื่องทำตัวเหมือนจะน่าเห็นใจ แต่เอาเข้าจริงๆ ลองมีความคิดแบบเขา ก็สมควรอยู่หรอกที่ผู้หญิงจะทิ้ง

นักข่าวสาว (สวย) ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เราชอบ 26 ผู้เล่นในทีมชาติชุดใหญ่ของริธ เธอร์ราลี เรายอมรับว่าเป็นเรื่องที่อ่านสนุก แต่เหมือนจะมีคุณค่าเชิงบทความฮาๆ จิกกัดแวดวงวรรณกรรม มากกว่าจะเรียกว่าเรื่องสั้นได้อย่างเต็มปาก ชอบอยู่อย่างคือยังไม่ค่อยมีนักเขียนไทยจับประเด็นฟุตบอล ทั้งที่จริงๆ นี่ก็เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ นอมน่าจะเล่นกับจุดนี้ได้อีกมาก ส่วนสองเรื่องสุดท้ายคือ สมิหลา และ ข้าพเจ้าไปงานศพ เบาไป โดยเฉพาะเรื่องหลังขาดจุดเด่น จนใครๆ ก็เขียนเรื่องนี้ออกมาได้ทั้งนั้น

มีที่น่าชื่นชมอยู่เยอะ แต่ก็อย่างที่บอกคือ ถ้านอม วิเศษสิงห์เป็นต้มยำ รู้สึกว่าพ่อครัวปิดไฟเร็วไปนิด