ช้าง งู และเลือด


ในที่สุดก็ได้อ่านบทวิจารณ์ ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ชูศักดิ์ในนิตยสาร อ่าน เล่ม 3 ดีใจจนเนื้อตัวเต้นตอนที่รู้ว่าอาจารย์ชูศักดิ์จะหยิบงานชิ้นนี้มาพูดถึง และยิ่งบังเอิญเหลือเกินว่าล่าสุดก็เพิ่งเขียนถึงอาจารย์คำสิงห์ไป (ส่วน "โจทย์" ที่คุณขอมา ไม่ลืมนะครับ แต่ขอเวลาไปรวบรวม ตกผลึกความคิดสักพัก)

เราชอบรวมเรื่องสั้นของอาจารย์คำสิงห์เล่มนี้ ไม่ได้ชอบที่ตัวเรื่องนะ แต่ชอบคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์วรรณกรรมของมัน นี่คือตัวอย่างเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ "บริสุทธิ์" ที่สุด ถ้าบรรณาธิการสุชาติต้องการปฏิวัติ และดึงเรื่องสั้นไทยออกจาก "หล่มเพื่อชีวิต" เราเห็นว่าสิ่งแรกที่ควรทำคือนำ ฟ้าบ่กั้น มาศึกษา และรื้อสร้างอย่างละเอียด ต้องบอกไว้ก่อนว่า พูดแบบนี้ไม่ใช่การชมเพื่อหลอกติแต่อย่างใด ในแวดวงเพื่อชีวิต ฟ้าบ่กั้น น่าจะจัดว่าเป็นบรมครูของงานแนวนี้ได้ เราชื่นชมอาจารย์คำสิงห์ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว แต่ถ้าในปัจจุบัน ใครริเขียนหนังสือแบบนี้ออกมาอีก ไม่ว่าจะด้วยเพราะเคย หรือไม่เคยอ่าน ฟ้าบ่กั้น ก็สมควรแล้วที่จะฝังตัวเองอยู่ในหล่ม

ในทีนี้จะขออนุญาตตั้งเป้าไปยังเรื่องสั้น ไพร่ฟ้า เพราะในฉบับที่เราอ่าน มันเป็นเรื่องเปิดเล่ม จึงเป็นเรื่องที่เราจดจำได้แม่นยำสุด และขอเหมาด้วยว่ามันต้องมีดี มีเด่นอะไรบางอย่าง ถึงออกมายืนต้อนรับผู้อ่านอยู่ตรงนั้นได้ (แม้ว่าถ้าเอาตามประวัติหนังสือ มันอาจจะเป็น "ส่วนเกิน" อยู่เรื่องเดียวก็ได้) และความน่าสนใจของ ไพร่ฟ้า คือเนื้อเรื่องมันดั๊นไปพ้องกับ พลายทองคำ ของอาจารย์มนัส ชนิดยังกับแกะ โดยงานเขียนของอาจารย์มนัสต่างยุคต่างสมัยกับของอาจารย์คำสิงห์ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบเคียงกัน จะยิ่งเห็นกลไก ตะปู นอต และเฟืองซึ่งประกอบกันเป็นเรื่องสั้นสัจนิยม และสัจนิยมสังคมนิยม (เพื่อชีวิต)

ทั้ง พลายทองคำ และไพร่ฟ้า พูดถึงหนุ่มชาวบ้าน ควาญช้าง ซึ่งถูกผู้ดีชาวกรุง/เศรษฐีท้องถิ่นลักเอาหญิงที่ตนหมายปองไป หนุ่มควาญช้างถูกฆ่าตาย และในตอนจบก็เป็นช้างของเจ้าหนุ่มนั่นแหละ มาแก้แค้นให้เจ้านาย (ถ้าจำไม่ผิด เหมือนจะเป็นฉากงานแต่งงานระหว่างสาวเจ้า และเศรษฐี ในทั้งสองเรื่องนี้เสียด้วย) การที่มันมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกันนั้น ไม่ได้หมายความว่าใครลอกใครมา แต่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่าท้องถิ่นด้วยกันทั้งคู่เสียมากกว่า

อาจารย์คำสิงห์เขียน ไพร่ฟ้า ในขนบของสัจนิยมสังคมนิยม (socialist realism) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงสุดกับสิ่งที่คนไทยเรียกว่า "เพื่อชีวิต" เราจะเห็นว่าทุกอย่างถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ผู้อยู่ใต้อำนาจ/ผู้มีอำนาจ หญิง/ชาย เถื่อน/กรุง ยากจน/มั่งมี โดยแต่ละคู่ขั้วแฝงความนัยไว้เสมอว่าสิ่งหนึ่ง "เหนือ" กว่าอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกการตีความต้องลงความเห็นเหมือนกันหมด ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งน้ำเสียงของอาจารย์คำสิงห์เหมือนจะกล่าวว่า "กรุง" ดีกว่า "เถื่อน" แต่แท้ที่จริง นั่นคือการกล่าวแบบประชดประชัน เพื่อยั่วล้อความคิดของชนชั้นสูงในสมัยนั้น แน่นอนว่าการอ่านในแต่ละยุค ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมนำไปสู่การประเมิณคู่ขั้วที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่มันเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแล้ว การตีความยังถูกจำกัดด้วยคู่ขั้วดังกล่าว พูดกันขำๆ ตามหลักคณิตศาสตร์คือ มีวิธีอ่าน ไพร่ฟ้า แค่ 2 ยกกำลัง n วิธี โดย n คือจำนวนคู่ขั้วทั้งหมด ไม่นับว่าคู่ขั้วล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กัน เช่นถ้าตี เถื่อน > กรุง ก็ต้องต่อด้วยว่า ผู้อยู่ใต้อำนาจ > ผู้มีอำนาจ

หันกลับมาดู พลายทองคำ บ้าง อาจารย์มนัสเขียนเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผลอๆ ในสมัยที่คนไทยยังไม่รู้จักคำว่า "สังคมนิยม" ด้วยซ้ำ นี่คืองานเขียนแนวสัจนิยม ที่นำเสนอภาพชีวิตในชนบท โดยปราศจากมายาคติแบบคู่ขั้วใดๆ ทั้งนั้น เศรษฐีท้องถิ่นไม่ได้แตกต่างจากหนุ่มควาญช้าง เป็นลูกผู้ชายสองคน ที่แม้ฐานะวัตถุเหลื่อมล้ำ แต่มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน และวิธีการที่เศรษฐีใช้กำจัดศัตรูคู่แข่งก็เป็น "วิถีลูกผู้ชาย" แบบหนึ่ง (ซึ่งตรงนี้เป็นธีมในผลงานหลายชิ้นของอาจารย์มนัส) ซึ่งถ้าเรายึดว่า "ทุกอย่างยุติธรรมหมดในการสงคราม และความรัก" ก็ไม่อาจเอาไปตัดสินได้ว่าใครดี หรือเลวกว่าใคร

เรื่องช้างๆ ๆ นี้ของใครโดนใจกว่ากัน ก็ขึ้นกับรสนิยมส่วนตัว สัจนิยมสังคมนิยมแบบของอาจารย์คำสิงห์เปิดโอกาสให้แทรกข้อคิดทางการเมืองได้ง่ายกว่า ส่วนสัจนิยมของอาจารย์มนัสเปิดกว้างต่อการตีความได้หลากหลายกว่า

มี "นิยาย" อีกสองเรื่องซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กัน และน่าจะเอามาเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจ "หล่มเพื่อชีวิต" ได้อย่างชัดเจนขึ้น เรื่องแรกคือ งู ของคุณวิมล ไทรนิ่มนวล และอีกเรื่องคือภาพยนตร์ There Will Be Blood (ซึ่งแม้จะสร้างจากนิยาย Oil แต่เราไม่เคยอ่านฉบับหนังสือ เลยไม่กล้าฟันธง) ทั้งสองเรื่องพูดถึงความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันระหว่างทุนนิยม และศาสนา ซึ่งนำไปสู่การกดขี่ข่มเหงคนตัวเล็กตัวน้อย ขณะที่ งู นำเสนอออกมาในรูปแบบคู่ขั้ว คือเราจะบอกได้ทันทีว่าใครดี ใครเลว There Will Be Blood น่าสนใจกว่าตรงความลื่นไหลของการตีความ กระทั่งถึงตอนจบ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าควรรู้สึกเช่นไรกับตัวละครตัวนั้นตัวนี้

No comments: