กาลมรณะ (จัตวาลักษณ์)


จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เราอ่านเชอลอคโฮมมันเมื่อไหร่กัน ถึงเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนนิยายสืบสวน แต่ก็เอนเอียงไปทางคริสตี้มากกว่าดอยล์ แตกต่างตรงไหนน่ะรึ นิยายสืบสวนสไตล์โฮมจริงๆ แล้วไม่ใช่นิยายสืบสวนเสียทีเดียว น่าจะเป็นนิยายผจญภัยซึ่งบังเอิญมีตัวเอกเป็นนักสืบมากกว่า ถึงจะสนุกสนานกับเรื่องราวของโฮมและวัตสัน แต่ก็เหมือนเราอ่านเพลินๆ มากกว่ามานั่งพินิจ พิเคราะห์สืบฆาตกรแข่งกับตัวเอกเช่นปัวโร พอถึงตอนเฉลย ไม่ได้ตื่นเต้นขนาดอุทานออกมาว่า “คนเขียนคิดได้ไงเนี่ย!”

ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะพยายามมองว่าถ้าเอากรอบวิธีคิด และเขียนแบบดอยล์ (แทนที่จะเป็นคริสตี้) มาใช้กับ กาลมรณะ จะช่วยให้ชอบมันขึ้นไหม ถ้าให้เปรียบกับ หนี้เลือด ซึ่งเป็นนิยายในชุดเดียวกับ กาลมรณะ ดูมีชั้นเชิงกว่ามาก ขณะที่ หนี้เลือด สัมผัสได้ว่าผู้เขียนปลุกปล้ำกับจำนวนหน้า จัตวาลักษณ์รับมือกับปัญหาเรื่องความยาวได้อย่างแนบเนียน ชนิดว่าสามร้อยหน้าแรกอ่านเพลิน แวบเดียวจบ นี่สิ นิยายนักสืบมักต้องอ่านแล้ววางไม่ลงแบบนี้

แต่จัตวาลักษณ์ก็มาเสียเชิงในตอนใกล้ๆ จบ พอถึงช่วงไคลแมก แทนที่จะทึ่ง เราเปรยกับตัวเองว่า “อ้าวเหรอ…เออ…เนอะ…อ้า….อืม….ยังไงหว่า” ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังงงๆ ว่าข้อผิดพลาดของคนเขียนอยู่ตรงไหน หรือว่าปริศนามันไม่ชัดเจนพอ เหมือนจัตวาลักษณ์ไม่กล้าเผยไต๋ให้คนดู ก็เลยปิดๆ บังๆ มาทั้งเรื่อง พอถึงตอนเฉลย แทนที่จะทึ่ง คนอ่านกลับต้องมานั่งลูบๆ คลำๆ ทำความเข้าใจลำดับเวลา และเหตุการณ์ทั้งหมด บทเรียนคือนิยายนักสืบที่ดีไม่ใช่แค่ตื่นเต้น อ่านสนุก (ซึ่งตรงนี้จัตวาลักษณ์สอบผ่าน) แต่ยังต้องค่อยๆ เผยอะไรออกมาทีละนิด ถ้าทำแบบนี้แล้ว ก่อนคนเขียนเฉลย คนดูจะเห็นแก่นของปริศนา และน่าจะประทับใจมากกว่านี้

จัตวาลักษณ์เขียนนิยายเล่มนี้ออกมาในแนวย้อนยุค ซึ่งก็ทำสำเร็จน่าปรบมือเลย การบรรยายมีน้อย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะฉากเกิดเรื่องคงไม่ใช่คนเขียนไปเห็นมากับตา แต่การค้นคว้าข้อมูล ใส่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และสถานที่จริงตรงนั้นตรงนี้ลงไปก็ช่วยสร้าง “ภาพลวงตา” ของอดีตขึ้นได้

เกือบแล้วครับ กับนิยายสืบสวนสอบสวนไทยเล่มนี้