ทำไมเราถึงไม่อ่าน SuperFreakonomics


ต้องอธิบายกันก่อน เพราะเหมือนคราวที่แล้วพูดไว้ไม่ค่อยละเอียด Freakonomics เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป เลวิทและดับเนอร์เจาะปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยกลวิธีทางเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า “ภูมิปัญญา” ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป SuperFreaknomics คือ “ภาคต่อ” ของเล่มที่แล้ว เป็นหนังสือที่เราจะไม่อ่านทั้งเล่มและสัญญากับตัวเองว่าจะไม่อ่านอะไรอีกแล้วที่เลวิทและดับเนอร์เขียนไปตลอดกาล!

ก็เข้าใจละนะว่าสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการสวนกระแส ไม่ช้าก็เร็วคงหนีไม่พ้นที่จะพูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อน ทั้งที่ทำใจไว้แล้วว่าอ่านบทนี้จะต้องโกรธแน่ๆ แต่ก็รับไม่ได้จริงๆ กับ What Al Gore and Pinatubo have in Common นี่คืองานเขียนที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ เต็มไปด้วยการบิดเบือนความจริงเพื่อสวนกระแสมากกว่าจะพิจารณาปัญหาด้วยเหตุและผล ซึ่งน่าเสียดาย เพราะลึกๆ แล้วเราเห็นคุณค่าบางอย่างในบทความนี้

น่าสังเกตว่าพวกที่ไม่เชื่อในปรากฎการณ์โลกร้อน (Global Warming Contrarian) มักจะไม่ได้ไม่เชื่อจริงๆ จังๆ แต่ยอมรับไม่ได้มากกว่าที่ “ฝ่ายตรงข้าม” ลุกขึ้นมาพูดหรือเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ก่อนตัวเอง ตั้งแต่กลุ่ม Objectivist ที่เราไปฟังสัมนามาจนถึง SuperFreakonomics สิ่งที่เหมือนกันคือคนเหล่านี้จะเริ่มจาก (1) ปฏิเสธว่าปรากฎการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง จากนั้นก็พูดต่อไปว่า (2) แต่ถ้ามันมีจริงเรามีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าที่นักอนุรักษ์ พรรคเดโมแครต หรืออัลกอร์เสนออยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ชวนให้สงสัยยิ่งนักว่า ในเมื่อพวกเขาไม่เชื่อในปรากฏการณ์โลกร้อนตั้งแต่แรก ทำไมถึงต้องเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วย

จริงๆ พฤติกรรมสองมาตรฐานแบบนี้อธิบายได้ไม่ยาก สาเหตุก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง พรรครีพับลิกัน กลุ่ม Objectivist หรือนักเศรษฐศาสตร์หัวเอียงขวาจัดอย่างไรเสียก็ยอมรับไม่ได้ว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ถูก แม้ว่าลึกๆ จะจนด้วยเหตุผลเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่ ในทางสุดโต่งแล้ว มีผลกระทบรุนแรงจนไม่มีใครอยากถูกพิสูจน์ว่าตัวเองผิดเข้าสักวันหนึ่ง แม้แต่เลวิทและดับเนอร์ที่อ้างมาตลอดว่าใช้เหตุและผลเพื่อต่อสู้กับ “ภูมิปัญญา” สุดท้ายก็ยังตกอยู่ในกับดักที่ว่า

ขอพูดถึงประเด็น (1) ก่อนก็แล้วกัน สำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ต้องอธิบายก่อนว่าในแวดวงวิชาการนั้นไม่ได้มีนักวิทยาศาสตร์คนเดียว ศึกษาปัญหาข้อเดียว ด้วยกลวิธีและแบบจำลองเดียว และเอาผลการทดลองเดี่ยวๆ นั้นมาเสนอต่อหน้าสาธารณชน แม้ธรรมชาติจะมีคำตอบเดียว แต่แวดวงวิชาการก็เหมือนสังคมไหนๆ ของมนุษย์ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดและพื้นฐานหลากหลาย พวกเราวิจัยปัญหาหนึ่งๆ ด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันและในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ปรากฎการณ์โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นจริง โดยมีปัจจัยหลักคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์

แต่ไม่ได้หมายความว่าผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องออกมาตรงกัน ข้อความที่ปฏิเสธประโยคซึ่งเน้นตัวหนาข้างบนเหมือนบอกว่า “บุหรี่ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง” ซึ่งแน่นอนว่าจากห้องทดลองทางการแพทย์ร้อยพันหมื่นแห่งทั่วโลก มันจะต้องมีสักห้องหนึ่งสิน่าที่ให้ผลตรงข้ามกับข้อสรุปตรงนี้


สิ่งที่เลวิทและดับเนอร์พยายามทำ ซึ่งเป็น “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” คือการมองความจริงแบบแยกย่อย โดยเพิกเฉยกับภาพรวม ทั้งคู่มุ่งประเด็นไปที่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกับกระแสหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังจับเอาคำพูดแค่ไม่กี่คำจากบริบทใหญ่เพื่อนำมาใช้เสริมสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ศาสตราจารย์คาลไดราหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทั้งคู่สัมภาษณ์ถึงกับออกมากล่าวในภายหลังว่า “คุณนั่งคุยใครทั้งวัน พูดอะไรต่อมิอะไรออกไปมากมาย มันก็ต้องมีบ้างแหละ บางคำพูดที่พอแยกออกมาจากบริบทแล้ว ฟังดูตรงข้ามกับสิ่งที่คุณเชื่อ” (คาลไดราสารภาพว่าไม่ได้อ่านต้นฉบับ SuperFreaknomics อย่างละเอียดก่อนตีพิมพ์ เขารู้สึกว่าภาพตัวเขาที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาเป็นหรือเชื่อจริงๆ )

ว่ากันตรงๆ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนหรอกที่เห็นตรงกันเปี๊ยบกับข้อสรุปส่วนใหญ่ เหมือนกับบอกว่า “โดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนทั้งห้องสูง 150 เซนติเมตร” แต่กลับไม่มีนักเรียนคนไหนเลยในห้องที่สูง 150 เซนติเมตรพอดี อย่างนี้แสดงว่าข้อความในอัญประกาศเป็นเท็จอย่างนั้นหรือ นี่คือ “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” ที่น่าละอายคือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่เลวิทและดับเนอร์กลับมากระทำบาปตัวนี้เสียเอง

น่าเสียดายเพราะประเด็น (2) ซึ่งทั้งคู่หยิบยกมาก็น่าใคร่ครวญอยู่ไม่น้อย วิธีแก้โลกร้อนไม่ใช่ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (ซึ่งในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งคู่บอกว่ามัน “เป็นไปไม่ได้”) แต่ด้วยกระบวนการ Geo-engineering หรือการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโดยตรง เช่นการฉีดสารที่ไม่เป็นอันตรายเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อเป็นร่มกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ข้อถกเถียงที่ทั้งคู่ยกมาก็คือ “หากว่าปัญหาโลกร้อนรุนแรงถึงขนาดที่อัลกอร์หรือนักอนุรักษ์อ้างเอ่ยจริง คงไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะมาลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางแก้ไขเดียวก็คือ Geo-engineering เท่านั้น” Geo-engineering จัดว่าเป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งเลยในหมู่นักอุตุนิยมวิทยา แม้แต่ใน ICCP เอง (คณะนักอุตุนิยมวิทยาที่ได้รางวัลโนเบลร่วมกับอัลกอร์) ก็ยังมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวแล้วเราอยู่ตรงกลางแต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้

(1) เราต้องยอมรับกันก่อนว่าปรากฏการณ์โลกร้อนมีจริง

(2) เราต้องยอมรับข้อมูลและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ปรากฏการณ์โลกร้อน (มิเช่นนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรที่จะให้คนกลุ่มเดียวกันนี้มาศึกษา Geo-engineering กระบวนการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนยิ่งกว่า Global Warming หลายเท่า)

ซึ่งเลวิทและดับเนอร์ล้มเหลวในสองข้อนี้

เรารู้ได้ว่าใครคนหนึ่งผิดจริง ไม่จริงก็เวลาฟังเขาแก้ตัว ดับเนอร์ออกมาโต้ตอบกับหลายคนที่ชี้จุดผิดพลาดใน What Al Gore and Pinatubo have in Common ซึ่งวิธีการโต้ตอบของดับเนอร์ก็คืออ้างว่าเขาไม่เคยนำเสนอ (1) ประเด็นหลักของ What Al Gore and Pinatubo have in Common มีแค่ (2) เท่านั้น ใครที่ได้อ่านบทความใน SuperFreakonomics น่าจะลงความเห็นเหมือนกันหมดว่าคำแก้ตัวนี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับผู้สนใจ

- หาอ่านคำแก้ตัวของดับเนอร์ได้ที่ "ลิงค์นี้"

- ตัวอย่างบทความโต้ตอบ What Al Gore and Pinatubo have in Common ไปที่ "ลิงค์นี้"

- สำหรับคนที่สนใจว่าดับเนอร์และเลวิทปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อนด้วยวิธีไหนบ้าง หาอ่านได้ที่ "ลิงค์นี้" ซึ่งมีคำโต้ตอบประกอบมาด้วย

2 comments:

Finianrainbow said...

เราคิดเอาเองนะว่าเขาไม่ได้โต้ตอบกับ Gore,ข้อมูลที่ว่าโลกร้อน หรือ whoever หรอก แต่เขาโต้ตอบกับการคงอัตตาของตัวเองเอาไว้ให้ได้ซะมากกว่า เราอ่าน freakconomic แต่ก็ไม่ได้อ่าน SuperF. เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าทำไมต้องมี Superative degree version ด้วย...ก็เท่านั้น ถึงจะเราชอบ Gore เป็นส่วนตัว เพราะความมี Integrity ของเขา แต่ก็พร้อมจะเป็นกลางในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเขาเช่นกัน

ขอบคุณสำหรับการ post บทความดีๆของคุณ เราเริ่มติดงอมแงมแล้ว...ทำไงดี
Finianrainbow

sosloughth said...

k3l47t2e50 i1s44f2r57 v7k20z9f79 x3m58d9k25 a4e17a4k27 p3f03i3b00