ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 1


เราคุ้ยเคยกับศัพท์ภาษาอังกฤษ "underrated" และ "overrated" มาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว และจนบัดนี้เราก็ยังหาศัพท์ภาษาไทยสั้นๆ กระทัดรัด ที่มีความหมายใกล้เคียงกันไม่ออกเลย นักชมภาพยนตร์ชาวไทยหลายคนก็คงคุ้นเคยกับศัพท์คู่นี้ดี และบ่อยครั้งที่หลุดมันออกมา ระหว่างพูดคุยกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่เราจะไม่ค่อยพบคำคู่นี้เท่าไหร่ในบทวิจารณ์ ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่มีคำทับศัพท์ แต่เพราะนักวิจารณ์ถือเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องแยกแยะความรู้สึกส่วนตัว ออกจากความดี ความด้อยในงานศิลปะ "overrated" และ "underrated" เป็นคำคุณศัพท์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกส่วนตัวมากกว่า "เนื้อผ้า" ของงานศิลปะ

แต่ถึงอย่างไรนักวิจารณ์ก็ยังเป็นปุถุชน เรื่องจะให้แยกเอาความรู้สึกส่วนตัว ออกจากคุณค่าบริสุทธิ์ของศิลปะนั้นเป็นไปได้ยาก

กับงานศิลปะที่ยิ่งก่อกระแสปั่นป่วนในสังคมเท่าใด ปรากฎการณ์ overrated/underrated ก็ยิ่งส่งผลชัดเจน ความรู้สึกสองขั้วนี้สัมพันธ์กันโดยปฏิภาค ศิลปะชิ้นหนึ่งที่ถูกมองว่า overrated โดยหลายคนเข้า สุดท้ายมันก็จะกลายมาเป็นงาน underrated ไปเอง (หรือในทางตรงกันข้าม) ดังนั้นงานศิลปะที่อยู่ในกระแสสำนึกของสังคมยาวนาน ย่อมก่อให้เกิดคลื่นความคิดเห็นสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างสองขั้ว ชอบ/ไม่ชอบ และบ่อยครั้งที่ความชอบ/ไม่ชอบงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตัดสินสัมผัสงานศิลปะชิ้นนั้นในช่วงเวลาไหน เป็นช่วงสันคลื่น หรือว่าท้องคลื่น

ตอนที่ไททานิกจมลงในปี 1997 (ไม่ได้หมายถึงเรือโดยสารที่ว่ากันว่า "ไม่มีวันจม" หรอกนะ แต่หมายถึงภาพยนตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยทำสถิติ รายได้สูงสุด และกวาดรางวัลไปอีกมากมาย) ก็ก่อให้เกิดกระแสคลื่นดังกล่าว ใครที่ได้ดู Titanic ในโรง จะรู้สึกว่ามันทั้งอลังการ และโรแมนติกปานนั้น ส่วนคนที่ดู หลังจากมันได้รางวัลออสการ์ใหม่ๆ ก็อาจเกิดอาการหมั่นไส้ได้ไม่ยาก

ในบ้านเราเอง ก็มีงานศิลปะที่ก่อกระแสคลื่นเช่น ความสุขของกะทิ หนังสือเล่มนี้ "ดัง" ตั้งแต่ก่อนมันจะได้รางวัลซีไรต์ ผ่านการตีพิมพ์หลายครั้ง ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ และพูดกันปากต่อปากโดยเอามันไปเทียบกับวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิคอย่าง โต๊ะโตะจัง แต่หลังจาก ความสุขของกะทิ ได้รางวัลซีไรต์ในปี 2549 ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน จุดอ่อนของ ความสุขของกะทิ ที่ถูกนำมาตีแตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการที่เด็กหญิงกะทิมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ดังนั้นโลกใสซื่อ และสวยงามของกะทิจึงเป็นโลกอุปโลกของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงใดๆ ในสังคม นอกจากจิตสำนึกของคนเขียน คุณงามพรรณเอง

ที่เขียนบลอกในวันนี้ เนื่องจากได้อ่านบทความ ความเลอเลิศของกะทิ ในนิตยสาร อ่าน โดยคุณคำผกา แล้วรู้สึกว่ามีประเด็นชวนคุย เลยอยากขออนุญาติใช้พื้นที่ตรงนี้ "โต้" คุณคำผกาด้วยความเคารพอย่างสูง

ขอสรุปข้อกล่าวหาหลักๆ ใน ความเลอเลิศของกะทิ เป็นสองข้อด้วยกัน 1) ความสุขของกะทิ เป็นหนังสือที่หยิบยืมมาจากวรรณกรรม และภาพยนตร์ไทยโบราณที่เรารู้จักกันดี ตั้งแต่ ปริศนา เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ยันอะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ที่คุณคำผกาอุตส่าห์ยกมาเปรียบเทียบ 2) ความสุขของกะทิ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสังคมแห่งความเท่าเทียม เข้าทำนองว่า คนรวยสามารถเอาเปรียบคนจนเท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่พวกเขาโยนเศษเงินจุนเจือคนจนทีละนิด

สำหรับกรณีแรก คุณคำผกาไม่ได้เจาะจงว่า "การหยิบยืม" นั้นเป็นข้อเสียตรงไหน เราเองคนหนึ่งละที่ไม่รู้สึกว่ามันเป็นข้อเสีย นิยายทุกเล่มมีคุณสมบัติการผสมผสานระหว่างบท (intertexual) กล่าวคือการนึกภาพตัวละครเด่นดังจากนิยายเล่มอื่นเพื่อแทนภาพตัวละครใน ความสุขของกะทิ นั้นเป็นเรื่องปรกติ อย่างแม่ของกะทินั้น สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน ปริศนา ก็จะมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่คุ้ยเคยกับวรรณกรรมคลาสสิกชิ้นนี้ เราก็จะเห็นแง่มุมอื่น ที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกระดับ

สารภาพอย่างอายๆ นิดหนึ่งว่าไม่เคยอ่าน ปริศนา (เคยแต่ดูละคร) เลยไม่อยากพูดเจาะจงในแง่นี้มาก อย่างไรก็ดี ตอนที่อ่าน ความสุขของกะทิ ตัวละครแม่นั้น กลับชวนให้เรานึกถึงตัวละครคลาสสิกอีกตัว คือท่านหญิงนันโย หรือแม่ของอิคคิวซัง ความสัมพันธ์ของทั้งกะทิ และอิคคิว กับแม่ของตัวเองนั้นมีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกันอยู่ ระหว่างบวชเณร แม่ของอิคคิวซังยังมีชีวิตอยู่ และอิคคิวเองก็ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ แต่สองคนนี้ไม่อาจแตะเนื้อต้องตัวกันได้ ขณะแม่ของกะทิป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่างที่ทำให้แม้กะทิจะนอนเคียงข้างแม่ได้ ก็ยังต้องมีผ้าขาวบางกั้นสองคนนี้

ตุ๊กตาไล่ฝนคือวัตถุแทนตนที่ท่านหญิงนันโยทำไว้ให้อิคคิวซัง ขณะเดียวกัน ก็เป็นทะเล (หรือน้ำ) ที่ทำให้กะทิ ต้องพลัดพรากจากแม่ โดยทั่วไป "น้ำ" เป็นสัญลักษณ์ของ "ความบ้าคลั่ง" กรณีอิคคิวซัง ความบ้าคลั่งในที่นี้คือความยุ่งเหยิงทางด้านการเมือง ที่ทำให้เณรน้อยต้องออกบวชแต่เล็ก และในกรณีกะทิ ความบ้าคลั่งคืออาการเจ็บป่วยที่กั้นกลางแม่ลูกทั้งสอง

ที่พล่ามมาสองย่อหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณงามพรรณจะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า "กะทิ = อิคคิวซัง" และก็ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ตรงนี้จะทำให้ ความสุขของกะทิ ดีขึ้น หรือเลวลง แค่อยากบอกว่า นิยายใดๆ ก็ตาม ถ้าคนอ่าน อ่านเป็น และอ่านถึง จะต้องเชื่อมโยงมันไปหานิยายเล่มอื่นได้ การที่คุณคำผกาโยง ความสุขของกะทิ เข้าหา ปริศนา หรือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก น่าจะมาจากความเป็นคนอ่านมากรู้มากของทั้งคุณคำผกาเอง และคุณงามพรรณา มากกว่าจะหมายถึงข้อด้อยของ ความสุขของกะทิ

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ถึงอย่างไรผลงานชิ้นนี้ก็เป็นวรรณกรรมเยาวชน คนอ่านในอุดมคติของคุณงามพรรณคือเด็กที่น่าจะได้อ่าน ความสุขของกะทิ ก่อน ปริศนา หรือ โต๊ะโตะจัง และเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้ดูการ์ตูนชุดอิคคิวซัง หรืออ่าน เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก สำหรับคนอ่านในอุดมคติแล้ว โลกของกะทิน่าจะเป็นโลกที่สดใหม่ และเต็มไปด้วยตัวละครซึ่งพวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน

(ติดตามตอนต่อไป)

1 comment:

Anonymous said...

มาลงชื่อรออ่านตอนต่อไปครับ อิอิ