ตงฟางปู๋ป้าย หมื่นปีมีข้าคนเดียว

วันก่อนคุยกับเพื่อนฝรั่งทางเน็ต เพื่อนคนนี้กำลังเรียนวรรณกรรม โดยเลือกเรียกวิชาบทละคร เทอมนี้ก็เลยมีการบ้านต้องอ่านบทละครมากมาย เขาพูดมาประโยคหนึ่งน่าสนใจดีว่า "เสน่ห์ของการอ่านบทละคร ก็คือเราสามารถอ่านมันจบภายในอึดใจเดียว (one sitting)" ซึ่งก็จริงของเขา บทละครเรื่องหนึ่งอาจจะมีเนื้อหายาวกว่าหนังด้วยซ้ำ แต่เราสามารถเสพมันภายในเวลาที่สั้นกว่า หรือเท่าๆ กัน

น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่านบทละคร เอาเข้าจริงแค่จะหาบทละครตีพิมพ์ยังยากเลย แม้ว่าทุกวันนี้วงการละครไทยจะคึกคักยิ่งกว่าเดิม แต่ดูเหมือนสถานะของผู้เขียนบทละครก็ยังไม่กลายเป็น "auteur" เสียที บทละครเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่งในงานศิลปะชิ้นที่ใหญ่กว่า (ซึ่งก็คือละครทั้งเรื่อง) นี่อาจเป็นด้วยความนิยมร่วมสมัยในละครจังหวะ เน้นความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดง การกำกับที่แม่นยำ และการต่อมุกกึ่งสดกึ่งแห้ง ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาบนหน้ากระดาษได้

ตงฟางปู๋ป้าย สร้างมาจาก "บทละคร" ในฐานะนักอ่าน เราชื่นชมละครแบบนี้ ละครที่ถูกขบคิดมาอย่างหนักบนหน้ากระดาษ ก่อนจะนำมาใส่เลือดเนื้อในภายหลัง ตงฟางปู๋ป้าย ว่าด้วยคณะละครที่ภายในอีกไม่ถึงหนึ่งชั่งโมงจะต้องขึ้นแสดง เดชคัมภีร์เทวดา รอบปฐมทัศน์ ชื่อละครมาจากชื่อ "ตัวร้าย" ของ เดชคัมภีร์เทวดา จอมยุทธที่ฝึกสุดยอดวิชาจนต้องตัดอวัยวะ และแปลงเพศตัวเอง เพื่อจะสำเร็จวิชายุทธ ตงฟางปู๋ป้าย เอา เดชคัมภีร์เทวดา มาครอบใหม่ เพื่อเล่าเรื่องราวในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่เหล่า "จอมยุทธ" ในโลกยุคใหม่ต้องเผชิญ

แต่ที่เกริ่นมาข้างต้น ไม่ใช่จะให้หลับตาดูละคร เพราะผู้กำกับ นักแสดง และทีมงาน ช่วยกันร้องเรียงความสัมพันธ์ของตัวละครในโลกเล็กๆ ใบนี้ได้อย่างลงตัว การถ่ายทอดพลังของตัวละครทำออกมาได้อย่างลื่นไหล (เราชอบฉากรำดาบเป็นพิเศษ choreography ง่ายๆ แต่แอบน่าทึ่ง) มีรายละเอียดเล็กๆ น้อย เช่น วิธีพูดจาเลี่ยงบาลีของตัวเอก ซึ่งถูกนำมาพลิกใช้ในตอนจบได้อย่างคมคาย น่าเสียดายที่ละครสั้นเกินไป (แค่ชั่วโมงนิดๆ ) และมีหลายประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา แต่ไม่ได้ขยับขยายต่อ หรือไปไม่สุด

ตงฟางปู๋ป้าย ไม่ใช่ละครที่ไร้ที่ติ แต่เป็นละครที่เรานิยมเป็นการส่วนตัว เป็นละครแบบที่เราอยากเห็น และอยากให้เล่นกันอีกเยอะๆ เป็นอีกรสชาติที่น่าจะช่วยเปิดลิ้นของเหล่านักชิมละครด้วย

1 comment:

Anonymous said...

ดูแล้วน้ำตาไหล. พระชอบประเด็นที่ละครเสนอ โดนใจ