ขโมยขะมุกขะมัว
เราชอบบอกใครต่อใครว่าเราเป็นศิษย์รักของอาจารย์นิธิ เปล่า รักในที่นี้ไม่ใช่อาจารย์รักเราหรอกนะ อาจารย์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามีตัวตนอยู่ แต่เป็นเรารักอาจารย์ต่างหาก ติดตามงานเขียนของอาจารย์เป็นประจำ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงของสังคม อาจารย์คือสุ้มเสียงแห่งเหตุและผลที่สังคมไทยควรจะเปิดหูให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราถึงรู้สึกว่าบทความล่าสุดของอาจารย์ในหนังสือพิมพ์มติชน "ขโมยและขมายในทรัพย์สินทางปัญญา" ออกอาการ "ปล่อยไก่" ไปนิดในสายตาของเรา จึงอยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้ถกอาจารย์ด้วยความเคารพ เผื่อเป็นประโยชน์ของใครต่อใครที่แวะเวียนเข้ามาอ่าน
แนะนำก่อนอื่นเลย ให้เข้าไปอ่านบทความเต็มๆ มาฟังที่เราเล่าถึงคร่าวๆ แบบนี้ ก็อาจเล่าผิดได้ด้วยอคติส่วนตัว อาจารย์นิธิวิจารณ์ระบบกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ อันไม่เป็นธรรม ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว บทความนี้ให้เหตุผลห้าข้อด้วยกัน อธิบายความไม่เป็นธรรมของกฎหมายพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา
ปัญหาของบทความนี้คือถ้าการตีความของเราไม่ผิดพลาด อาจารย์นิธิเข้าใจว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายในลักษณะเดียวกัน อาจจะต่อไปด้วยว่าในทางศีลธรรมแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่เหมือนกับ "ทรัพย์" ในศีลข้อสอง ที่เราท่องๆ กันมาว่า "ห้ามลักทรัพย์" ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ "ลัก" กันได้ ถ้านั่นคือสิ่งที่อาจารย์ และหลายคนเชื่อจริงๆ เราก็คงต้องลงท้าย "ตกลงใจที่จะไม่ตกลงกัน" (agree to disagree)
ต้องยอมรับว่าเรื่องกรรมสิทธินั้นเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างสาย ต่างโรงเรียน ถกเถียงกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วว่า การถือครองกรรมสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นรถยนตร์ บ้าน สิ่งประดิษฐ์ นั้นช่วยพัฒนา หรือเหนี่ยวรั้งสังคมกันแน่ อย่างน้อยๆ ในปัจจุบันเราก็ยอมรับกัน (ไปก่อนชั่วคราว) ว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ แต่แน่นอนใช่ว่าจะไม่มีข้อถกเถียงในทางตรงกันข้ามเสียทีเดียว ห้าข้อที่อาจารย์นิธิยกมาก็คือข้อถกเถียงหยิบๆ ย่อยๆ ดังกล่าว (ซึ่งได้ตีตกกันไปในระดับหนึ่ง ว่ามันมีน้ำหนักรวมสู้ข้อถกเถียงจากฝากตรงข้ามไม่ได้)
ขอยกตัวอย่าง ข้อแรกที่อาจารย์บอกว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาไปไกลกว่านี้ โดยผู้ใช้แต่ละคนจะได้มีสิทธิ ทั้งใช้และพัฒนาโปรแกรมให้ดียิ่งขึ้น โดยตัวมันเอง นี่คือเหตุผลที่ตลก ราวกับจะบอกว่าถ้าคนอ่านทุกคนมีสิทธิแต่งเสริมเติมเขียน คำพิพากษา สุดท้ายนิยายเรื่องนี้จะดีกว่าตอนที่คุณชาติ ตีพิมพ์มันออกมาอีก จะว่าไป นี่คือข้อถกเถียงคลาสสิกระหว่างนักคิดสายทุนนิยม และสังคมนิยม ถ้าบ้านหลังหนึ่งซื้อรถมา คนอื่นๆ ในหมู่บ้านควรมีสิทธิหยิบยืมรถคันนั้น ในวันที่เจ้าของจอดไว้เฉยๆ โดยไม่บอกกล่าวหรือเปล่า ถ้าเป็นนักคิดสายสังคมนิยมก็คงตอบว่าใช่ เพราะรถจะได้อำนวยประโยชน์แก่คนโดยรวมมากกว่า แต่ถ้าเป็นนักคิดสายทุนนิยม ก็จะเถียงกลับว่าถ้าทำแบบนั้น สุดท้ายแล้ว จะไม่มีใครยอมซื้อรถเลย เพราะรอหยิบยืมฟรีๆ จากเพื่อนบ้านคุ้มกว่า
เป็นข้อถกเถียงคลาสสิกซึ่งคุยกันมาเยอะแล้ว ไม่ขอเอามาอ้างซ้ำในบทความนี้ก็แล้วกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ตลกมากๆ คือ ข้อสี่ ที่อาจารย์บอกว่าการพิทักษ์กฎหมายลิขสิทธิ์นั้น ลงเอยที่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานชนิดอื่น แทน เช่นความเป็นส่วนตัว โดยอาจารย์ยกตัวอย่างว่าที่สหรัฐอเมริกา ใครที่ใช้โปรแกรมผิดกฎหมาย ตำรวจมีสิทธิบุกเข้าไปในบ้าน แล้วยึดคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นได้ทันที อาจจะฟังดูรุนแรง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรถเล่า เหมือนกับบอกว่า ถ้าตำรวจเจอรถคันหนึ่งซึ่งตรวจสอบป้ายทะเบียนแล้วพบว่าเป็นรถที่ขโมยมาจริง ตำรวจสมควรจะไปเคาะประตู บอกเจ้าของบ้านดีๆ ว่ารถคันนี้ขโมยมานะ แทนที่จะทำการจับกุม หรือดำเนินการตามกฎหมายทางใดทางหนึ่ง
จุดสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการคันเมื่อได้อ่านบทความนี้คือ การที่อาจารย์ตอกย้ำตลอดเวลาว่ากฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือของ "มหาอำนาจ" ซึ่งเป็นการใช้ภาษาสัญลักษณ์ โบ้ยให้หมดว่าใครที่อยู่ในอำนาจ จะต้องเป็นคนไม่ดี และใช้อำนาจเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ ความจริงก็คือ ถ้าคนไทยไม่สามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญา สู้กับ "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" ได้ เปล่าดายที่จะไปอ้างเหตุผลทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งถูก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
สวัสดีครับ
คาดว่า อ.นิธิน่าจะได้แนวคิดมาจากเลสสิก (/Lawrence_Lessig) มาไม่น้อย หรือว่าการเคลื่อนไหวแบบ Open source ที่เป็นแรงขับดันอันหนึ่งในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
ส่วนแนวคิดเรื่องการช่วยกันแต่งเติมนิยาย นั้น ก็เริ่มมีคนทดลองทำแล้วนะครับ เช่น http://www.amillionpenguins.com/wiki/index.php/Main_Page
ในอนาคตอาจจะมีนิยายที่ถูกแต่งเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เป็นนิยายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม หรือแนวคิดของคนในสังคมในขณะเวลานั้น ๆ เวลาเราเอารุ่นของนิยายเรื่องนี้มาเทียบกัน เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ชัดเจนกว่าเอานิยายสองเรื่องที่แต่งกันคนละยุคมาเทียบกันก็ได้นะครับ :)
Post a Comment