ตูมตามส่งท้ายปี 2006
เบอทราน รัสเซลเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเคยพูดไว้น่าฟังว่า "ปัญหาของโลกใบนี้คือ คนฉลาดไม่เคยแน่ใจอะไรเลย ส่วนคนโง่ก็ (เสือก) รู้ไปหมดทุกอย่าง" ถ้าวัดด้วยมาตรฐานของรัสเซล ผมก็คงเป็นคนฉลาด เพราะหลังจากได้ข่าวการระเบิดส่งท้ายปี 2006 ในกรุงเทพ รู้สึกสับสนไปหมด (แม่ง) ไม่แน่ใจอะไรเลยสักอย่าง อนาถตัวเองจริงๆ
ลังเลอยู่นานว่าจะเขียนบลอคตัวนี้ดีหรือเปล่า เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับหนังสือ แต่เกิดจากอารมณ์คุกรุ่นซึ่งอยากนำไปปะทุที่ไหนสักแห่ง
หลังจากไปอ่านความคิดเห็นของนักเขียน นักวิจารณ์ และคนที่มาโพสตอบตามเวปไวซ์ข่าว ผมก็ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลคมช. น่าจะได้รับการจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นรัฐบาลที่เสื่อมความนิยมรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่แรกเริ่มรับอำนาจพร้อมกับเสียงปรบมือ (เพราะได้ชื่อว่าขับไล่ทรราชทุนนิยม) แม้จะมีคนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรม แต่เอาเถอะ คนไทยแกล้งลืมๆ กันไปก่อนก็ได้ เพียงแค่สามเดือน รัฐบาลคมช. ได้นำตัวเองลงไปสู่หุบเหวแห่งความไว้เนื้อเชื้อใจ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจ (โคตร) ผิดพลาด การที่ไม่สามารถดำเนินคดีอดีตนายกทักษิณ จับตัวท่านมาคล้องคอ ขึ้นขื่อเหมือนภาพสุดท้ายของซัดดัม ฮุสเซน งบลับห้าร้อยล้านที่หายวับไปกับสายลม และมาตอนนี้ก็เรื่องวินาศกรรมก่อการร้ายในเมืองกรุง เรียกว่ากลายเป็นขี้ปากประชาชนไม่แพ้ชุดก่อนๆ ขาดก็แต่คุณสนธิ จะลงมาปลุกระดมมวลชนขับไล่เท่านั้นเอง
บอกได้คำเดียวว่าน่าเป็นห่วงครับ
ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลคมช. รู้สึกว่านโยบายเศรษฐกิจ (ซึ่งเลียนแบบมาจากชิลี หนึ่งในประเทศที่ด้วยพัฒนาที่สุดในโลก) สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากกว่าทุนนิยมของคุณทักษิณ แต่สิ่งที่ตัวเองไม่อยากเห็นที่สุดในชีวิต คือภาพคนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลชุดนี้ เพราะมันจะทำให้ประชาชมเสื่อมศรัทธาในอำนาจบริหาร ในเมื่อผู้นำจากการเลือกตั้งก็ไม่ดี จากกองทัพก็ไม่ไหว ถ้าปล่อยไว้แบบนี้เดี๋ยวก็กลายเป็นอนาธิปไตยกันพอดี คือประชาชนไม่เอาใครทั้งสิ้น ฉันจะร่างกฏหมาย บริหารของฉันกันเอง บรรยากาศเช่นนี้แหละที่นำไปสู่การนองเลือดในฝรั่งเศสช่วงต่อศตวรรษที่ 18 และ 19
คงไม่มีน้ำวิเศษเยียวยาสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ได้ ประการหนึ่งคือถ้าร่นการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น อาจช่วยบรรเทาความกดทันที่สังคมมีต่อรัฐบาล แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยในตอนนี้ "ศรัทธา" การเลือกตั้งแค่ไหน เราจะยอมรับหรือไม่ ถ้าเลือกกันออกมาแล้วก็เป็นหน้าเดิมๆ (ซึ่งมีสิทธิเป็นไปได้มาก) คำถามสุดท้ายเลยคือคนไทยเคารพกฎกติกาแค่ไหน เลือกตั้งปี 04 ในอเมริกา ฝรั่งได้ผู้นำเป็นชายซึ่งประชาชนเกือบครึ่งประเทศรังเกียจเดียจฉันท์ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังเคารพกติกาพอจะปล่อยให้ตานั่นบริหารประเทศ (อย่างเฮงซวยเสียด้วย พูดกันตรงๆ ) นั่นเป็นสิ่งดีงามหรือเปล่า หรือพวกฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาอเมริกาควรลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากัน
ผมขอทำตัวฉลาดๆ แล้วก็ไม่ตอบคำถามข้างบนแล้วกันครับ
I. Murdoch's "Jackson's Dilemma"
จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่านตอนต้นปี 2006 คือ "ใต้ตาข่าย" ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรกของไอริช เมอดอก พอถึงปลายปี ก็เลยถือโอกาสหยิบ "ทางเลือกของแจคสัน" ซึ่งเป็นนิยายเล่มสุดท้ายมาอ่าน เมอดอกเขียน "ทางเลือกของแจคสัน" ก่อนตัวเองจะถูกโรคอัลไซเมอร์เล่นงาน ระหว่างที่อ่าน "ทางเลือกของแจคสัน" ก็พยายามจับผิดอยู่เหมือนกัน ว่ามีตรงไหนพอบอกได้บ้างว่าคนเขียนกำลังล้มป่วยด้วยอาการความจำเสื่อม ยอมรับว่าไม่ค่อยตั้งความหวังเท่าไหร่กับนิยายช่วงหลังๆ ของเมอดอก เล่มก่อนหน้า "ทางเลือกของแจคสัน" คือ "อัศวินเขียว" ซึ่งเป็นหนังสือของเธอที่เราชอบน้อยที่สุด เล่มนี้ค่อนข้างดีกว่า "อัศวินเขียว" อย่างหนึ่งก็เพราะมันสั้นกว่า เป็นหนังสือที่สั้นที่สุดของเมอดอกที่เคยอ่าน บางทีเจ้าตัวอาจตระหนักก็ได้ว่าเหลือเวลาไม่เยอะแล้ว (แต่ถ้าดูจากในภาพยนตร์เรื่องไอริช มันถูกเขียนจบก่อนที่อาการอัลไซเมอร์จะกำเริบ ก็เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่าสมมติฐานเราถูกผิดแค่ไหน)
เพราะความสั้นกระมัง "ทางเลือกของแจคสัน" ก็เลยเป็นนิยายห้วนๆ ไม่สมบูรณ์ยังไงไม่ทราบ แต่ละบทกุดๆ บางทีก็มีแค่สี่ห้าหน้า จากที่เคยล้วงลึกเข้าไปในความคิดตัวละคร เล่มนี้เหมือนๆ เมอดอกจะแค่บอกกล่าวการกระทำภายนอก แต่จุดเด่นตามแบบนิยายของเธอก็ยังพอมีให้เห็น ตั้งแต่ตัวละครมหาศาล เรื่องราวซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กันจากหลายแง่มุม ถ้าให้สรุปเรื่องคร่าวๆ เราจะบอกว่านี่คือนิยายว่าด้วยคิวปิดสองคน คนแรกคือเบเนต เป็นคิวปิดที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ เพราะจับคู่หนุ่มสาวสลับกันประจำ แถมยังชอบคร่ำครวญรู้สึกผิด คิวปิดคนที่สองคือแจคสัน คนรับใช้ผู้ลึกลับของเบเนต ต้องมาคอยตามแก้ไขความยุ่งเหยิงที่เจ้านายก่อ
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของตัวละครแจคสันคือ นี่เป็นครั้งที่สองที่ในนิยายเมอดอกมีคนรับใช้เป็นตัวละครเด่น ซึ่งถ้ามองตามขนบนิยายน้ำเน่าอังกฤษแล้วถือว่าผิดปรกติมากๆ อีกเล่มที่มีตัวละครเอกเป็นคนรับใช้เหมือนกันคือ "ใต้ตาข่าย" ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรก ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร
ให้สรุปสั้นๆ รู้สึกว่า "ทางเลือกของแจคสัน" ดูจะมีความน่าสนใจในเชิงประวัติคนเขียนมากกว่าเป็นนิยายที่น่าอ่านจริงๆ คงเฉพาะแฟนๆ เท่านั้นที่จะเพลิดเพลินกับหนังสือเล่มนี้ได้
สารบัญหนังสือไทย และเบ็ดเตล็ด
หนังสือไทย
รัตนโกสินทร์ (ว. วินิจฉัยกุล)
"ความสะอาดของผู้ตาย" (ปราบดา หยุ่น)
"เหยี่ยวนรกทะเลทราย" (โก้วเล้ง)
"ยิ้มอัปสรในรัตติกาล" (แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า)
"คุณสงคราม" (เดือนวาด พิมวนา)
"สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" (วินทร์ เลียววาริณ)
"สิงห์สาโท" (วัฒน์ วรรลยางกูร)
"คือรักและหวัง" (วัฒน์ วรรลยางกูร)
"คดีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามฯ " (ศิริวร แก้วกาญจน์)
"เกียวบาวนาจอก" (ภาณุมาศ ภูมิถาวร)
"ความสุขของกะทิ" (งามพรรณ เวชชาชีวะ)/"คนเล่นเงา" (จิรภัทร อังศุมาลี)
"ลูกสาวฤษี" (ปริทรรศ หุตางกูร)
"ร่างพระร่วง" (เทพศิริ สุขโสภา)/"กลางทะเลลึก" (ประชาคม ลุนาชัย)
"ตะกวด กับคบผุ" (นิคม รายยวา)
"ตุลาคม" (ไพฑูรย์ ธัญญา)
2006: The Year in Denial (หลายคนเขียน)
"รากนครา" (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)
วันที่ถอดหมวก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
หนังสือที่เศร้าที่สุดในโลก
Bakery & I (กมล สุโกศล แคลปป์/พีรภัทร โพธิสารัตนะ)
โลกในดวงตาข้าพเจ้า (มนตรี ศรียงค์)
หมู่บ้านในแสงเงา (โกสินทร์ ขาวงาม)
บ้านริมทะเล (อัศศิริ ธรรมโชติ)
เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก (ศิริวร แก้วกาญจน์)
แมงมุมมอง (พรชัย แสนยะมูล)
ใบไม้ใบสุดท้าย (บุนเสิน แสงมะนี)
คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เล่ม ๑ (สายชล สัตยานุรักษ์)
ที่ที่เรายืนอยู่ (อังคาร จันทาทิพย์)
บ้านของคนรัก (นอม วิเศษสิงห์)
เรื่องสั้นศตวรรษ (มนัส จรรยงค์)
พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)
มีไว้เพื่อซาบ (อุรุดา โควินท์)
หนี้เลือด (ปราชญา ปารมี)
เก๊าะซารี มิตรภาพ และความตาย (หลายคนเขียน)
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (ทินกร หุตางกูร)
คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)
ราหูอมจันทร์ พระพุทธเจ้า...มีไหม? (หลายคนเขียน)
ที่อื่น (กิตติพล สารัคคานนท์)
พญาอินทรี (จรัญ ยั่งยืน)
ราหูอมจันทร์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ (หลายคนเขียน)
สัมพันธภาพ (เดือนวาด พิมวนา)
ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน (รอมแพง อริยมาศ, ชัยวุฒิ ประเสริฐศรี)
กาลมรณะ (จัตวาลักษณ์)
ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)
อุบัติการณ์ (วรภ วรภา)
ช่อการะเกด 42 (หลายคนเขียน)
ความน่าจะเป็น (ปราบดา หยุ่น)
ราหูอมจันทร์ เพื่อนที่รักกันมากที่สุด (หลายคนเขียน)
"ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า (โสภา ชานะมูล)
จนกว่าเราจะพบกันอีก (ศรีบูรพา)
นครคลื่นเหียน (พิสิฐ ภูศรี)
เขาพระวิหาร: ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม (หลายคนเขียน)
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (วัชระ สัจจะสารสิน)
ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา (ธงชัย วินิจจะกูล)
หน่อไม้ (ทรงกลด, นิ้วกลม, และทรงศีล)
ชาติเสือไว้ลาย (พีรศักดิ์ ชัยได้สุข)
ลับแลแก่งคอย (บทวิจารณ์รับเชิญ)
8 1/2 ริกเตอร์ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)
ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 (นพพร ประชากุล)
พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย (ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์)
วาทกรรมวรรณกรรม (พิเชฐ แสงทอง)
การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ (หลายคนเขียน)
การสื่อสารความหมายใน "การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่" (วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล)
รัฐศาสตร์แนววิพากษ์ ตอนที่ 1 (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร)
ฉีกหน้ากากเศรษฐกิจ [โรงสี] ชุมชน (สุนัย จุลพงศธร)
การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เงินเป็นใหญ่ (ประเวศ วะสี)
ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย (จิตร ภูมิศักดิ์)
ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
กรูกันออกมา (ปริทรรศ หุตางกูร)
รู้ทันสันดาน Tense (เฑียร ธรรมดา)
รัฐกับศาสนา (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)
พิพิทธภัณฑ์แสง (กิตติพล สรัคคานนท์)
ทะเลน้ำนม (ชัชวาลย์ โคตรสงคราม)
วัฒนธรรม บันเทิงในชาติไทย (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์)
ความรัก ความรู้ ความตาย (ธเนศ วงศ์ยานนาวา)
ละคร ระคน ตัวตน มนุษย์ (หลายคนเขียน)
ความจริงในภาพวาด (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)
ชุมชนจินตกรรม (เบน แอนเดอร์สัน)
โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ (นรชิต จิรสัทธรรม)
ชีวิตปกติ (จารี จันทราภา)
Read On Demand (R.O.D.)
รับวิจารณ์เรื่องสั้น
"หญิงสาวตากผ้าคนหนึ่ง" (r.o.d.)
ข้อความจาก leah dizon
"จงพาฉันบินไปยังดวงจันทร์" (r.o.d.)
ที่พึ่งสุดท้ายของสุดาล์ / เรื่องสั้นฉบับร่าง (r.o.d.)
"กฎการเคลื่อนที่: การเดินทางกลับบ้านของผมกับปู่" (r.o.d.)
ทะเลของที่นี่/ความรัก (r.o.d.)
มอง (r.o.d.)
นิเวศน์ใน (r.o.d.)
V (r.o.d.)
Tear of Butterfly (r.o.d.)
r.o.d. คืออะไร
Rock (Matter that Matters) (r.o.d.)
เฮือด (r.o.d.)
วีรกรรมเฒ่าทะเล (r.o.d.)
แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม (r.o.d.)
คืนที่ดอกโบตั๋นบาน (r.o.d.)
แมวดำ (กิตติกร รุ่งเรือง) - R.O.D.
นอกเรื่อง
แวนโก๊ะ แก้วกาญจน์
10 นักเขียนในดวงใจ
ว่าด้วยช้าง และลา
ตูมตามส่งท้ายปี 2006
30 ปี 16 ตุลาฯ
พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง
ซ่อมแซมชั่วคราว
ขุนกระบี่ ผีระบาด และแสงศตวรรษ
สารบัญเสร็จแล้ว!
น้ำชาและน้ำตา
วรรณกรรมที่ดี
ทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว
Sir Ian McKellen
จะเป็นฉัน...
happening vs modern dance
เมื่อศรัทธาเขยื้อนภูผา
เดียวดายกลางสายลม
หนังเขาดีจริงๆ
ความน่าจะเป็น กับภาวะหลังสมัยใหม่
รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมในงานศิลปะไทย (ตอนแรก)
ผู้หญิงอิสลาม
วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา
ทิศทางวรรณกรรมไทย ในสายตาคลื่นลูกใหม่
20 เพลงไทยในดวงใจ (11~15)
20 เพลงไทยในดวงใจ (16~20)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 4)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 3)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 2)
100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 1)
ดาบลาวยาวแดง
20 เพลงไทยในดวงใจ (1~5)
20 เพลงไทยในดวงใจ (6~10)
รู้มั๊ย ทำไมนากิสถึงทำอะไรเราไม่ได้
เดินไปข้างหน้า
เสน่ห์ของความล้าหลัง
7 เล่มซีไรต์ 2551 ในใจเรา
...แด่นักศึกษาผู้กล้าหาญ
ความหยาบ
bloggang ค่ะ!!!
ประกาศรวบรวมบทวิจารณ์ "ที่อื่น"
สายป่านผู้หลงลืมอะไรบางอย่าง
This Piece Of Poetry Is Meant To Do Harm
สำหรับคนท้อแท้
โอ้ แม่เทพธิดา และพวกเขาเหล่านั้นที่ทำเนียบ
พวกเขาคิดว่าพวกเขาเป็นใคร?
ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย
ทุนนิยมประกันจรรยาบรรณสื่อ
หรือพวกเราจะไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย
deny me and be doomed
ทุนเก่า ทุนใหม่ กลางเก่า กลางใหม่
โอ้! นี่แหละชีวิตจริง
โต้ "สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร"
ลาก่อนไมเคิล คริชตัน (1942-2008)
as the world falls down
เรื่องผีในซอยเดียวกัน
ข่าว
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 3
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 2
ความสุขของนักโครงสร้างนิยม 1
คารวะอาจารย์
ช้าง งู และเลือด
ล่าลายเซ็น
ขโมยขะมุกขะมัว
"ธ์ส"
"ผมก็ไม่รู้จักเธอเหมือนกัน ที่แห่งนี้ เราต่างเป็นคนแปลกหน้า"
ความฉาบฉวยของวัฒนธรรมไทย
"นักท่องเที่ยวคือคนสำคัญของประเทศ"
ภาพที่ผมประทับใจ
นักล่าฝันสู้ๆ
นาฏศิลป์ร่วมสมัย 4 ชิ้น
วัน เวลา และตุลา
ทำไมเราถึงไม่อ่าน SuperFreakonomics
รู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ย้อนหลัง
บทเรียนจากคนเหล็ก
ให้กำลังใจท่านนายกอภิสิทธิ์
ค่ามอเตอร์ไซด์
เดาะลูกเชย (ตอนที่ 2)
เดาะลูกเชย (ตอนที่ 1)
สิบอันดับนักวิชาการไทยในดวงใจ (ขณะนี้)
ความอับอายของเรา
ก้ำกึ่งอีกแล้ว
An Inconvenient Truth
ตึงไป หย่อนไป
คุณเองก็เป็นผู้นำมวลชนได้!
ความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events)
Impossibility is the saddest word.
สรุปผลประกอบการหนังสือทั้งหมดที่ได้จากงานสัปดาห์
ตอบจดหมายแฟนๆ
รัวชวนหัก รักชวนหัว
ข้าน้อยสมควรตาย!
ความเฮฮาของการอ่านผิด
ตงฟางปู๋ป้าย หมื่นปีมีข้าคนเดียว
รัก (ชวนหัว) จัดหนัก
รักทรยศ...ยศ...ยศ...ยศ...ยศ
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (1~10)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (11~20)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (21~30)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (31~40)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (41~50)
รักชวนหัวอยากเป็นกรรมการซีไรต์บ้างอะไรบ้าง (51~60)
รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งแรก)
รักชวนหัวอวอร์ด -Laugh d'or (ครึ่งหลัง)
รักชวนหัวอวอร์ด - Un Certain Regard
H. Arendt's "On Revolution"
พูดถึงคำศัพท์ก่อนดีกว่า "revolution" นั้นถ้าแปลไทยตรงตัวก็คงเป็น "ปฏิวัติ" แม้ว่าอันที่จริงสองคำนี้ความหมายแตกต่างกันคนละโยชน์ "ปฏิวัติ" ในภาษาไทยหมายถึงการที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษก็น่าจะเรียกว่า "coup" หรือ "รัฐประหาร" มากกว่า ส่วนคำว่า "revolution" จริงๆ นั้น หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลด้วยพลังอำนาจของมวลชน (แต่เอาเถอะ ในทางปฏิบัติก็ต้องมีทหารมาหนุนหลังด้วยนั่นแหละ) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยสำเร็จในประเทศไทย
"ว่าด้วยปฏิวัติ" ของอันนา อาเรนด์นั้น คือบทความวิทยาศาสตร์การเมือง วิเคราะห์กลไกเบื้องลึก เบื้องหลังการปฏิวัติ เจาะจงตัวอย่างในอดีต ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะเห็นหน้าปกเป็นรูปกำปั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ แต่เอาเข้าจริงๆ เนื้อในพูดถึงแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส และอเมริกา ยอมรับว่าผิดหวังนิดๆ โชคดีที่ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เป็นหนังสือเฉียบแหลม ชวนอ่าน และเต็มไปด้วยความคิดคมคาย
พูดถึงคนเขียนนิดหนึ่ง อันนา อาเรนด์นั้นเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเป็นลูกศิษย์ของเอดเดกเกอร์ มหาปราชญ์ชาวยุโรป เข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก้าวข้ามคำว่าลูกศิษย์ อาจารย์ ช่วงหลังๆ ที่เอดเดกเกอร์หันมาสนับสนุนพรรคนาซี และฮิตเลอร์ที่เหยียดหยาม เข่นฆ่าชาวยิว เป็นช่วงเดียวกับที่อาเรนด์จากเยอรมันมาพร้อมกับหัวใจแหลกสลาย
เอาล่ะ ทิ้งนิยายน้ำเน่าโรแมนติกไว้แค่นี้ มาคุยกันเรื่องปรัชญาการเมืองดีกว่า
"ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบระหว่างการปฏิวัติในฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ด้วยเงื่อนไขซึ่งแตกต่างกันไม่ไกล แต่ผลลัพธ์คนละเรื่องละราว ขณะที่ "พ่อผู้ก่อตั้ง" สร้างอเมริกาขึ้นมาจากความเถื่อนร้าง ว่างเปล่า ประเทศที่เจริญแล้วอย่างฝรั่งเศสกลับโชกไปด้วยโลหิต และขี้เถ้า รายละเอียดคงต้องไปอ่านกันเอาเอง ขอยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ปึกมากๆ ถ้าใครอยากศึกษาการเมือง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
สิ่งหนึ่งที่อยากหยิบยกขึ้นมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราคือ "ว่าด้วยปฏิวัติ" เปรียบเทียบการปฏิวัติว่าเสมือนสัตว์ซึ่งกลืนกินตัวเอง พลังแห่งการปฏิวัติเกิดจากความตื่นตัวของมวลชน ไม่อาจหยุดยั้งได้จนกว่าจะเกิด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ขึ้น ในที่นี้ก็คือการตั้งรัฐบาลใหม่แทนที่รัฐบาลเดิมที่ถูกล้มล้าง แต่ปัญหาของ "การต่อต้านการปฏิวัติ" นั้นคือ ประชาชนซึ่งก่อนหน้านั้นเป็น "ผู้กระทำ" คือมีส่วนในการถล่มคุก ตัดคอกษัตริย์ ถูกลดบทบาทลง กลับมาเป็นแค่ "ผู้ถูกกระทำ" คืออยู่ภายใต้กฏหมายอีกครั้ง อารมณ์สองอย่างนี้แตกต่างกันคนละขั้ว แม้แต่โรส์แบร์บิดาแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าควรปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้ "การปฏิวัติ" ร่ำไป (ซึ่งก็หมายถึงความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ) หรือยินยอมต่อต้านการปฏิวัติ หักล้างความเชื่อ และปรัชญาเดิมๆ ที่ใช้ตอนขับไล่หลุยส์ที่สิบหก ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาก็ต้องเข้มแข็งพอจะปกครองประชาชนนักปฏิวัติได้ (ซึ่งพวกนี้มักไม่ค่อยสนใจกฎเกณฑ์ใด นอกจากกฎแห่งการปฏิวัติ)
นี่เองโศกนาฏกรรมการเมือง เหตุใดการปฏิวัติมักลงเอยด้วยเลือด น้ำตา และสุดท้ายรัฐบาลใหม่ก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่ไม่สนใจสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (ในกรณีฝรั่งเศสคือนโปเลียน ในรัสเซียคือสตาลิน และในประเทศไทยคือ...) "ว่าด้วยปฏิบัติ" ควรเป็นหนังสือ "บังคับ" สำหรับใครที่คิดจะลุกไปถือป้าย เดินขบวนตามท้องถนนว่าคิดให้ดีเสียก่อนเถอะ
P. Auster's "The Book of Illusion"
ไม่รู้บังเอิญหรือไง แต่ "หนังสือภาพลวงตา" ซึ่งอ่านต่อจาก "ผู้ช่วยนักมายากล" เป็นนิยายแนวฟื้นฟูเหมือนกัน นี่เป็นเล่มที่สองของพอล ออสเตอร์ซึ่งเราอ่าน ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบ "เมืองแก้ว" เท่าไหร่ ในความเห็นเรา ปรัชญาตัวตน (existentialism) เป็นเรื่องงมงาย ขณะที่ "เมืองแก้ว" พูดถึงปรัชญาข้อนี้เต็มๆ "หนังสือภาพลวงตา" แค่ปรับแนวคิดตรงนี้มาผสานกับเนื้อเรื่อง
ขอพูดถึงปรัชญาตัวตนก่อนก็แล้วกัน บิดาแห่งปรัชญาตัวตนคือเฟเดอริก นิชเชย์ รุ่นหลังหลายคนนำแนวคิดของเขามาพัฒนา ที่โด่งดังสุดก็คงเป็นซาร์ต ชาวฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในช่วงท้ายศตวรรษที่ 20 ปรัชญาตัวตนเริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงวรรณกรรม ผ่านปลายปากกานักเขียนอย่าง เดลิลโล ไพชอน ออสเตอร์ (สังเกตว่ามักเป็นคนอเมริกา) สาเหตุหนึ่งก็คงเป็นเพราะปรัชญาตัวตนได้รับการสนับสนุนจากฟิสิกส์ควอนตัม (ซึ่งแม้จะถูกคิดค้นต้นศตวรรษที่ 20 แต่เริ่มแพร่หลายช่วงปลายๆ ศตวรรษ) และพุทธศาสนา (ซึ่งกว่าชาวอเมริกาจะรู้จัก คุ้นเคยกับชาติตะวันออกก็ต้องหลังสงครามโลกครั้งที่สอง)
ยอมรับว่าไม่เคยศึกษางานเขียนของนิชเชย์ หรือซาร์ต ก็เลยบอกไม่ได้ว่าปรัชญาตัวตนดั้งเดิมนั้นเป็นยังไง ถ้าให้พูดคร่าวๆ ก็คือการตั้งคำถามเรื่องความจริง ไม่จริงของสิ่งที่เราเห็น คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกภายนอก หรือภายใน คำถามอย่าง "ถ้าต้นไม้ตกในป่าแล้วไม่มีใครอยู่แถวนั้น จะเกิดเสียงหรือเปล่า" ปรัชญาตัวตนซึ่งปรากฎในวัฒนธรรมป๊อป ดูผิวเผินเหมือนคนเขียนรู้ ไม่รู้จริงยังไงชอบกล (อาจเพราะตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยรู้สึกจั๊กจี้เวลามีใครหยิบทฤษฎีควอนตัมมาใช้โดยฉาบฉวย) อีกประการก็คืออดคิดไม่ได้ว่ามันเชย ตั้งแต่ปรัชญาตัวตนเริ่มถูกใช้ในภาพยนต์ (อย่างไฟท์คลับเป็นต้น) ก็กลายเป็นของดาดดื่น นักเขียนรุ่นใหม่ก็เลยไม่ค่อยแตะต้องมันแล้ว
จริงๆ เรื่องปรัชญาตัวตนนั้นน่าสนใจ เช่นว่าทำไมนักเขียนชาวอเมริกาถึงได้หลงใหลความคิดแบบนี้นัก ทั้งที่นักปรัชญาส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปแท้ๆ ขณะที่นักเขียนยุโรปกลับเพิกเฉย เอาเป็นว่าไว้ค่อยคุยในโอกาสอื่นแล้วกัน กลับมาเรื่อง "หนังสือภาพลวงตา" นิยายเล่มนี้อย่างที่บอกคือเป็นเรื่องของการฟื้นฟู และไม่ใช่แค่การฟื้นฟูจากความโศกเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความรู้สึกผิดด้วย "หนังสือภาพลวงตา" เป็นเรื่องของ เดวิด ผู้สูญเสียภรรยา และลูกชายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน เดวิดอุทิศชีวิตที่เหลือศึกษาผลงานของดาราตลกเงียบ เฮกเตอร์ มานน์ ผู้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ทุกคนเชื่อว่าเขาตายไปแล้ว เดวิดเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน มีจดหมายมาจากเฮกเตอร์ บอกว่าต้องการพบเดวิด
"หนังสือภาพลวงตา" คือเรื่องของตัวละครหลากหลาย ตั้งแต่เดวิดเอย เฮกเตอร์เอย อัลมา ผู้เป็นลูกสาวของตากล้องคู่ใจเฮกเตอร์ รวมไปถึงตัวละครหลากหลายซึ่งปรากฏในภาพยนตร์ของเฮกเตอร์ และหนังสือของเดวิด ตัวละครแทบทุกตัวล้วนตกอยู่ในสภาพฟื้นฟู ที่เฉียบแหลมมากๆ คือชีวิตพวกเขาเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน เหตุการณ์หนึ่งเมื่อเกิดกับตัวละครตัวหนึ่ง ในเวลาต่อมาเกิดขึ้นซ้ำกับตัวละครอีกตัว ในแง่หนึ่งนี่ก็คือปรัชญาตัวตน ชื่นชมคนเขียนตรงที่ไม่ได้ชี้นำประเด็นนี้ ถ้าอ่านคร่าวๆ อาจแทบไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ "เมืองแก้ว" หรือหนังสือส่วนใหญ่ซึ่งเล่นกับแนวคิดนี้ชอบเอาปรัชญาตัวตนมาตีหัวคนอ่าน "หนังสือภาพลวงตา" เพียงนำมันมาใช้โดยผิวเผิน และกลับกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง
อีกประเด็นที่น่าพูดถึงคือภาษา สังเกตมานานแล้วว่าออสเตอร์เป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาเรียบง่ายที่สุดคนหนึ่ง ประโยคสั้นๆ ผมทำนู่น ผมทำนี้ ผมทำนั่น บางย่อหน้ามีคำว่า "ผม" บรรทัดละสามสี่คำได้ หนังสือของออสเตอร์ อ่านแล้วจะ "อิน" ยาก เพราะภาษาโต้งๆ สื่อสารอารมณ์ไม่ค่อยได้ กระนั้นพอเอามาใช้กับเนื้อหา กลับเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ราวกับว่ายิ่งนิยายเรื่องนี้ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนอ่านเท่าใด คนอ่านก็ยิ่งถูกดึงดูดเข้าไปในโลกของนิยายมากเท่านั้น เป็นวิธีเขียนซึ่งตรงข้ามกับ "ผู้ช่วยนักมายากล" ภาษาของแพรทเชทสวยกว่าออสเตอร์ คนอ่านรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละคร แต่กลับกลายเป็นว่าความแห้งๆ ของ "หนังสือภาพลวงตา" ชนะ "ผู้ช่วยนักมายากล" ขาดลอย
ข้อดีอีกประการของ "หนังสือภาพลวงตา" คือตอนจบที่ถึงอกถึงใจ เป็นการผูกประเด็นทุกอย่างเข้าหาสามสิบหน้าสุดท้าย รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน บางทีในอนาคตข้างหน้าจะลองกลับไปอ่าน "ไตรภาคนิวยอร์ก" ดู ("เมืองแก้ว" คือเรื่องแรกในไตรภาคนี้)
A. Patchett's "The Magician Assistant"
ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน "ผู้ช่วยนักมายากล" ไม่เชิงผิดหวังเสียทีเดียว น่าจะเป็นประหลาดใจมากกว่า ถ้าตัดชื่อคนเขียนออก คงไม่คาดเดาด้วยซ้ำว่าเป็นแอน แพรทเชท ผลงานเรื่องก่อนหน้าของเธอที่เราอ่านคือ "เบล แคนโต้" (ดูรายละเอียดได้จากบลอคเก่า) คำวิเศษณ์ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนั้นคือ "extraordinary" หรือถ้าใช้ภาษาไทย "พิเศษสุด" สำหรับ "ผู้ช่วยนักมายากล" คำวิเศษณ์คำแรกที่นึกได้เมื่ออ่านจบคือ "pedestrian" หรือ "พื้นเพ" "เบล แคนโต้" คือนิยายที่พูดถึงสถานการณ์เป็นไปไม่ได้ เล่าเรื่องมหัศจรรย์ โดยอิงอยู่บนธีมอันน่าเหลือเชื่อ ในทางตรงกันข้าม ผู้ช่วยนักมายากลเล่าเรื่องสามัญ ประเด็นก็สุดจะธรรมดา
ถ้าให้จัด "ผู้ช่วยนักมายากล" อยู่ใน genre ใด genre หนึ่ง ก็คงเป็นแนวฟื้นฟู (recovery) นิยายแบบนี้เริ่มต้นด้วยความเจ็บปวดของตัวละคร อันเกิดจากโศกนาฏกรรมบางอย่าง แล้วค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ซึ่งเยียวยาตัวละครตัวนั้น ผู้ช่วยนักมายากลในที่นี้คือซาบีน สามีของเธอ พาซิฟาลเป็นนักมายากล และเป็นเกย์ หลังจากฟาน คนรักของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ พาซิฟาลตัดสินใจแต่งงานกับซาบีน เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายหลงรักเขามาชั่วชีวิต เปิดเรื่องด้วยการตายอย่างกะทันหันของพาซิฟาล ทั้งเล่มเกี่ยวกับวิธีที่ซาบีนรับมือกับความเจ็บปวด พบปะผู้คนจากอดีตอันลึกลับของสามี เธอกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของเขาที่เนบราสก้า ได้เจอครอบครัว และความลับต่างๆ ค่อยๆ ถูกเปิดเผยขึ้นมา
ถ้าจะให้คะแนนแถม "ผู้ช่วยนักมายากล" ก็คงต้องยอมรับว่าประเด็นหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ นิยาย หรือหนังมักจะพูดถึงตัวละครที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ หลังจากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด หรือไปอยู่ตามชนบท ก็ได้เรียนรู้เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ เริ่มหลงรักชีวิตบ้านนอก ซึ่งพูดกันตรงๆ ประเด็นพรรคนี้ตอแหลทั้งเพ อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็กล้าที่จะพูดถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตชนบท (ในที่นี้คือเนบราสก้า) สามีซ้อมภรรยา ชาวบ้านซุบซิบนินทา คนที่เป็นเกย์ถูกสังคมเล็กๆ มองด้วยสายตารังเกียจ ในจุดนี้ขอปรบมือให้แอน แพรทเชท กระนั้นการที่เธอเลือกนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านชีวิตน้ำเน่าในครอบครัว ทำให้หนังสือเล่มนี้หยิบย่อย และไม่สำคัญลงไปทันตา
ขอย้ำอีกครั้งว่าปัญหาหลักของ "ผู้ช่วยนักมายากล" คือความธรรมด๊าธรรมดาของมัน พออ่าน "เบล แคนโต้" จบ รู้สึกว่าผู้เขียนน่าจะหลงใหลดนตรี โอเปร่า ภาพเขียน และได้ศึกษาศิลปะเหล่านี้อย่างดี ขณะที่อ่าน "ผู้ช่วยนักมายากล" จบ กลับไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่าแพรทเชทเข้าใจอะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้ ถ้าจะเปลี่ยนพาซิฟาลเป็นพ่อครัว นักเทนนิส หรือยามชายหาดก็คงเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยด้วยประการทั้งปวง รวมไปถึงความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างพาซิฟาล ฟาน และซาบีน ซึ่งควรน่าสนใจ กลับกลายเป็นแค่ gimmick อย่างหนึ่งทำให้เรื่องดูซับซ้อนขึ้น (แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร)
ขณะนี้กำลังอ่าน "หนังสือภาพลวงตา" อยู่ ซึ่งเป็นนิยายแนวฟื้นฟู เช่นเดียวกัน ไว้อ่านจบแล้วจะมาเขียนบลอคเปรียบเทียบ
I. Calvino's "Difficult Loves"
ความแตกต่างระหว่างแวดวงวรรณกรรมไทย และตะวันตกคือ คนไทยชอบเขียนเรื่องสั้นกันมาก นักเขียนไทยแทบทุกคนต้องเคยมีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มสองเล่มมาแล้วทั้งนั้น ขณะที่นักเขียนฝรั่ง แค่หยิบมือเดียวจริงๆ ที่มีผลงานรวมเรื่องสั้นมากกว่าหนึ่งเล่ม คำว่านักเขียนในภาษาอังกฤษ ถึงใช้คำว่า "novelist" หรือแปลตรงตัวคือนักเขียนนิยาย ส่วนคนที่เป็น "short storyist" จริงๆ แทบจะนับนิ้วมือเดียวได้เลยด้วยซ้ำ ให้ยกตัวอย่างเช่นป๋าเฮมมิงเวย์ เรย์มอน คาร์เวอร์ ฆอเฆส กาย ดีมูปาซัง และอีกคนหนึ่งที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คืออิตาโล คาลวิโน
ที่เกริ่นมายาวเหยียดนี่ไม่ใช่แค่จะแนะนำตัวคาลวิโนหรอก แต่อยากพูดถึงศิลปะการเขียนเรื่องสั้นแบบตะวันตกมากกว่า เนื่องจากว่าฝรั่งไม่ค่อยเขียนเรื่องสั้นกันเท่าไหร่ ดังนั้นรูปแบบเรื่องสั้นจึงมีอิสระสูง หมายถึงนักเขียนแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นน่าศึกษา
เรื่องสั้นแบบคาลวิโน โดยเฉพาะที่รวมอยู่ใน "รักลำบาก" ชุดนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานเขียนที่น่าจับตามอง เป็นเรื่องสั้นที่สั้นจริงๆ (ทั้งเล่มมีอยู่ยี่สิบกว่าเกือบสามสิบเรื่องได้) แต่ละเรื่องพูดถึงประเด็นเดียว ดูเหมือนจะตั้งใจโชว์ความคิด หรือกระทั่งฉากๆ เดียวเลยด้วยซ้ำ
รักลำบากแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนแรกคือ "เรื่องของริเวียร่า" ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็ก (แต่มีเนื้อหาที่ไม่เด็ก) "เรื่องของสงคราม" ตามชื่อนั่นแหละ แล้วก็ "เรื่องหลังสงคราม" ซึ่งเน้นที่ความยากจน และ "เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว"
"เรื่องของริเวียร่า" นั้นที่เด่นๆ มีอยู่ประมาณสองสามเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นความรักระหว่างลูกสาวแม่ครัว และเด็กคนสวน ผู้ชอบเล่นกับสัตว์น่าขยะแขยงเช่น งู หอยทาก อึ่งอ่าง อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิง เด็กชายที่แอบเข้าไปวิ่งเล่นในสวนของคนแปลกหน้า ได้สัมผัสกับความสุขต้องห้าม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องเพศอันเฉียบแหลม แล้วก็มีอีกเรื่องพูดถึงเด็กชาย และผู้หญิงอ้วนอกหักร้องไห้ริมชายหาด (แทบทุกเรื่องของรักลำบาก มักจะมีฉากอยู่แถวทะเล)
"เรื่องของสงคราม" ตอนแรกนึกว่าจะซ้ำซาก แต่ไปๆ มากลับๆ เป็นชุดที่ชอบที่สุดของเล่ม เรื่องเด่นซึ่งชอบมากคือ "อีกาไว้ท้ายสุด" เป็นเรื่องสั้นพิสดารเพราะสามารถแสดงให้เห็นความโหดร้าย และโรแมนติกของสงครามได้พร้อมๆ กับ เป็นเรื่องของเด็กที่ยิงปืนแม่นราวกับจับวาง ชนิดสอยเสื้อผ้าทหารนาซีขาดได้ทีละชิ้นๆ อีกเรื่องว่าด้วยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งซ่อนสัตว์เลี้ยงไว้ในป่า ไม่ให้พวกทหารที่มาบุกหมู่บ้านขโมยไป อ่านแล้วได้บรรยากาศกึ่งฝังกึ่งจริงดี อีกเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคลานฝ่าทุ่งดอกไม้ซึ่งเป็นดงระเบิด
"เรื่องหลังสงคราม" น่าสนใจน้อยที่สุด ที่เด่นๆ ก็มีขโมยสามคน ย่องเข้าไปในร้านขายขนม เสร็จแล้วขโมยเงินไม่ได้สักแดง เพราะมัวแต่กินของหวานอย่างหิวโหย ขนาดตำรวจที่วิ่งเข้ามาจับยังเพลินไปกับการลองโน้นชิมนี่ มีเรื่องว่าด้วยชายชราจรจัด และสาวลูกจ้างร้านเย็บผ้าเอาเสื้อในร้านมากองๆ เป็นกระท่อม "เงินตรา และยาหยี" ยาวเหยียด และไม่สนุก แต่มีฉากเด็ดคือกะลาสีอเมริกันขี้เมาประมาณยี่สิบสามสิบคนเต้นรำ ร้องเพลงอยู่ในร้านเหล้าแคบๆ
"เรื่องของความรัก และความเปล่าเปลี่ยว" คือชุดเอกของเล่ม แทบทุกเรื่องว่าด้วยเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อผ่านการพิจารณาใคร่ครวญของตัวละคร (และผู้เขียน) เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ น่าสนใจได้ เช่นผู้หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวทะเล แล้วเผลอทำชุดว่ายน้ำหล่นหาย เลยขึ้นฝั่งไม่ได้ ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นบทวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพศ อีกเรื่องคือเสมียนต๊อกต๋อยได้ไปมีสัมพันธ์ข้ามคืนกับหญิงสาวชั้นสูง ทั้งเรื่องเป็นการคิดใคร่ครวญของผู้ชายในเช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างไปทำงาน
แต่ที่เด็ดสุดในเล่มคือ "การผจญภัยของช่างถ่ายภาพ" ว่าด้วยนักปรัชญาคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการถ่ายภาพ เพราะเขาปฏิเสธที่จะเชื่อว่าในโลกนี้มีสิ่งที่สมควร และไม่สมควรถ่าย เขาพยายามถกเถียงประเด็นนี้กับเพื่อนๆ ผู้ชอบพาครอบครัวออกไปถ่ายรูปทุกวันหยุด ทุกคนหาว่าเขาบ้า สุดท้ายนักปรัชญาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลองถ่ายรูปดู เพื่อจะได้เข้าใจกิจกรรมนี้ และไปโต้แย้งกับคนอื่นได้ การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้เขาได้พบรักกับหญิงสาวที่ถูกวานให้มาเป็นนางแบบ ทั้งคู่แต่งงานกัน นักปรัชญา (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นช่างถ่ายภาพ) ยังคงพยายามค้นหาความหมายของการถ่ายรูปอยู่ร่ำไป ท้ายที่สุดนำไปสู่การหย่าร้างกับภรรยา หลังจากนั้นเขาเริ่มหมกมุ่นกับการถ่ายภาพ "สิ่งที่หายไปแทน" เป็นสุดยอดเรื่องสั้นที่ทั้งน่าเศร้า น่าขัน และน่าครุ่นคิด
H. Hesse's "Journey to the East"
ลุงเฮสเสคงดีใจมากที่ตัวเองได้เขียนหนังสือชื่อว่า "เดินทางไปตะวันออก" โดยที่ลุงคงไม่ได้สนใจเท่าไหร่นักหรอก ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมาดีหรือเปล่า
เอาเถอะ เพราะว่าลุงคือเฮสเส เราจะยกผลประโยชน์ให้ลุงสักครั้ง
สำหรับคนที่ไม่รู้ "เจอนีทูเดอะเวส" หรือ "เดินทางไปตะวันตก" คือชื่อภาษาอังกฤษของไซอิ๋ว นิยายพระถังซัมจั๋ง และเห้งเจียที่คนไทยรู้จักดีนี่แหละ สำหรับลุงเฮสเส ผู้ชื่นชอบปรัชญา และวัฒนธรรมตะวันออก นี่คงเป็นหนังสือในดวงใจแกเล่มหนึ่ง ดังนั้นเราจึงอนุญาตให้ลุงเขียนนิยายเอามันสักเล่ม ตั้งชื่อว่า "เดินทางไปตะวันออก"
"เดินทางไปตะวันออก" เป็นนิยายเล่มบ๊างบาง จนไม่อยากเรียกว่านิยายขนาดสั้นด้วยซ้ำ น่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดไม่สั้น (แต่ก็ไม่ยาว) ที่เอามารวมเล่มเดี่ยวๆ มากกว่า ชื่อนิยายไม่ค่อยเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเนื้อเรื่องหรอก "ผม" เป็นสมาชิกสมาคมลับสุดแสนยิ่งใหญ่ ก่อตั้งโดยดอน คิโฮเต้ สิทธัตถะ โมซาร์ต และบุรุษปริศนาอื่นๆ (คงคล้ายๆ กับฟรีเมสัน) "ผม" ได้รับมอบหมายจากสมาคมให้เดินทางไปตะวันออกพร้อมกับคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดประสงค์ลึกลับบางอย่าง โดยข้ามทั้งทวีปและเวลา ย้อนอดีตเหมือนมีเครื่องไทม์แมชชีน และผลุบๆ โผล่ๆ ตามที่ต่างๆ เหมือนมีประตูไปไหนก็ได้
ถ้าแค่นี้คงน่าสนใจดี แต่เนื้อเรื่องจริงๆ ในหนังสือเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไปตะวันออกคราวนี้ล้มเหลว
การเดินทางไปตะวันออก จะว่าไปก็คือการรวมปมไดโอนิซุส และอพอลโลเข้าด้วยกัน ( เกี่ยวกับสองปมนี้ อ่านบทวิจารณ์หนังสือของลุงเฮสเสย้อนหลังได้) คือทั้งท่องเที่ยว และศึกษาไปพร้อมๆ กัน แต่เนื่องจากนิยายเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลังจากนั้น ความน่าสนใจของมันเลยลดลง ถ้าให้ตีความ ก็คงตีว่าเป็นการมองสงครามโลก และความพ่ายแพ้ของชาวเยอรมันซึ่งยากจะบ่งชี้ว่าใครกันแน่เป็นผู้ผิด ใครกันแน่นำประเทศไปสู่หายนะ สุดท้ายนักการเมือง นักประวัติศาสตร์ก็เอาแต่โทษกันไปโทษกันมา
เป็นนิยายสั้นๆ ที่แม้อ่านแล้วไม่ได้ชื่นชมอะไรมาก แต่ก็ถือว่าอ่านเอาใจลุงแกก็แล้วกัน
U. Eco's "The Mysterious Flame of Queen Loana "
เปลวปริศนาฯ เป็นหนังสือที่เจ๋งที่สุดในโลก เจ๋งเสียจนไม่อยากเชื่อว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะสามารถเจ๋งได้ขนาดนี้ ถามว่าเจ๋งตรงไหนน่ะรึ นี่คือนิยายประกอบภาพที่พิมพ์สีทั้งเล่ม เจ๋งขนาดนี้มีอีกไหม! (ยังไม่นับว่าคนเขียนคืออัมเบอโต อีโค ผู้แต่งสมัญญาดอกกุหลาบ หนังสืออีกเล่มที่แม้ไม่มีรูปประกอบ แต่ก็เจ๋งเกือบที่สุดในโลกเช่นกัน)
เปลวปริศนาฯ เป็นเรื่องของยัมโบ คนขายหนังสือเก่าความจำเสื่อม ผู้ไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวหลงเหลือ เขาเดินทางไปยังบ้านพักวัยเด็ก เพื่อดูหนังสือ บทเพลงที่ตัวเองอ่าน ฟังในอดีต เพื่อค้นหาตัวตน และเรื่องราวในสมัยก่อน รูปสี่สีที่พูดถึงก็ได้แก่ภาพจากการ์ตูน นิยายผจญภัย ใบปลิวโฆษณา และปกแผ่นเสียง อีกนัยหนึ่งก็คือวัฒนธรรมป๊อบอิตาลีสมัยเมื่อหกสิบปีที่แล้วนั่นเอง
พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกได้ว่าบ้านเรายังขาดการศึกษาวัฒนธรรมป๊อบอย่างทั่วถึง พอพูดถึงประวัติศาสตร์ ก็มักขุดกันแต่ของเก่าๆ พอพูดถึงวรรณกรรม ก็มีแต่รุ่นโบราณ พวกละครหลังข่าวจบแล้วก็จบกันไป ไม่เคยมีใครสะสมเก็บรักษา ดนตรีสมัยปีเจ็ดศูนย์ แปดศูนย์หาฟังยากยิ่งกว่าดนตรีปีหกศูนย์ซึ่งกลายเป็นของคลาสสิกไปแล้วเสียอีก น่าเสียดาย เพราะเอาเข้าจริงๆ ยอมรับเถอะว่าสังคมไทยน่ะถูกสร้างมาด้วยดาวพระศุกร์ และโกโบริของป้าเบิร์ดเล่น ยิ่งกว่าอิเหนา หรือขุนช้างขุนแผนเป็นไหนๆ
กลับมาพูดถึงเปลวปริศนาฯ ต่อดีกว่า ความเจ๋งอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือ แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เข้าเอาจริง นี่คือนิยายตีแผ่วัฒนธรรมป๊อบ แสดงให้เห็นอิทธิพลของสื่อระดับล่างที่มีต่อเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ เมื่อแรกค้นกรุสมบัติตัวเอง ยัมโบพบว่านิยายผจญภัยซึ่งเคยชอบอ่านได้แก่แฟนโตสมา จอมโจรแห่งปาริส และเชอร์ลอค โฮม เขาอดตั้งคำถามตัวเองไม่ได้ เด็กคนหนึ่งจะสามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวเชือดเฉือน ผจญภัย ถึงเลือดถึงเนื้ออย่างแฟนโตสมา ไปพร้อมๆ กับนักสืบผู้ดีจ๋าอย่างเชอร์ลอค โฮมได้ยังไง (แทบทุกรูปประกอบในนิตยสารสแตรนด์ เป็นรูปเชอร์ลอค โฮมกำลังนั่งอยู่แทบทั้งนั้น)
ยิ่งค้น ก็ยิ่งพบความขัดแย้ง เช่นมิคกี้ เมาส์ พอตีพิมพ์ในอิตาลี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทรอปโปลี (หนูน้อย) ที่เด็ดกว่านั้นคือมีกระทั่งการเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้เข้ากับการเมืองมากยิ่งขึ้น ถึงกับมีตอนที่ทรอปโปลี ฮีโรอเมริกันพบจุดจบในการ์ตูนด้วยซ้ำ! มีการสอนสั่งศาสนาผ่านดนตรี ภาพประกอบ ไปพร้อมๆ กับเผยแพร่ลัทธิฟาสซิสของมุโสลินี ยิ่งค้นยัมโบก็ยิ่งสับสน ที่สุดของที่สุดคือเขาได้รับรู้ว่าในอดีตเคยหลงรักเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซิบิล และตั้งแต่นั้น คนรักของเขาทุกคน รวมไปถึงภรรยาที่ตัวเองแต่งงานด้วยคือภาพสะท้อนของซิบิล ยัมโบพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะดึงเอาภาพซิบิลคืนกลับมาในหัว
เปลวปริศนาฯ ตั้งคำถามชวนคิดว่าการ์ตูน หรือหนังสืออ่านเล่น บางครั้งมันแทรกภาพสะท้อนการเมือง และสังคมยิ่งกว่าที่เราคิดๆ กัน ที่สำคัญคือหนังสือพวกนี้ซึ่งกระทบใจเด็ก ส่งอิทธิพลลึกล้ำจนถึงตอนพวกเขาโต พูดก็พูดเถอะ พอมีใครถามคนดัง ดาราว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนแปลงชีวิต คนตอบมักหยิบยกเหตุการณ์ตอนโต ตั้งแต่อายุสิบสี่ สิบห้าปีขึ้นไป เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนจดจำได้ดี ทั้งที่จริงๆ ประสบการณ์วัยเด็กที่เราลืมไปแล้วต่างหากที่ทำเราให้เป็นเราดังทุกวันนี้
S. Rushdie's "Midnight Children"
โอ้ย เหนื่อย! ในที่สุดก็อ่านทารกเที่ยงคืนจบเสียที ใช้เวลาตั้งเกือบสองอาทิตย์กับหนังสือหนาปึกเล่มนี้
อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่าซัลแมน รัชดี น่าจะหันมาเขียนเรื่องสั้นมากกว่านิยายเล่มหนาๆ (เข้าใจว่าแต่ละเล่มของพี่แกบักเอ้ทั้งนั้น) แต่ละส่วน แต่ละบทของทารกเที่ยงคืนน่าสนใจ เป็นการผนวกวัฒนธรรมอินเดียซึ่งผู้เขียนรู้จักดี เข้ากับขนบนิยายสมัยใหม่ได้อย่างราบลื่น แต่พอทุกบททุกส่วนมารวมกันเป็นเล่มเดียว กลับเหลวเป๋วไม่เป็นท่า
ปัญหาข้อแรกคือความหนาเกินเหตุ หลายต่อหลายตอนจะตัดออก หรือจับมาย่นย่อก็ไม่สูญเสียเนื้อความสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะบทหลังๆ ช่วงที่ตัวเอกเข้าไปผจญภัยในป่าลับแล ทั้งที่เป็นตอนซึ่งสนุกสนานที่สุด แต่เนื่องจากมันไม่ได้มีบทบาทอะไรกับเนื้อเรื่องโดยรวม ก็เลยอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีไปเลยจะดีกว่าไหม แค่นี่ก็ห้าร้อยกว่าหน้าเข้าไปแล้วนะ
ทารกเที่ยงคืนเป็นเรื่องของชายหนุ่มซึ่งเกิดตอนเที่ยงคืน วันที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากมหาจักรวรรดิอังกฤษ เด็กเกือบห้าร้อยคนที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว โตมาพร้อมกับความสามารถพิเศษ บ้างก็เจาะเวลาหาอดีตได้ บ้างก็เป็นมนุษย์มหาป่า แปลงเพศตัวเอง กระโดดหายเข้าไปในกระจก หรือความสามารถเหนือมนุษย์อื่นๆ ตัวเอกของเรื่องอาเมด ไซนายมีความสามารถสองอย่าง คือโทรจิต และจมูกที่ดีเหนือคนธรรมดา
พอเล่าเรื่องย่อจบ ก็จะชี้ให้เห็นปัญหาข้อที่สองของนิยายเรื่องนี้คือมันแทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับทารกเที่ยงคืน พวกเขาถูกกล่าวถึงช่วงกลางๆ เรื่องพักหนึ่ง แล้วก็มีบทบาทอีกทีตอนท้าย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นประวัติครอบครัวอาเมด ไซนาย ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์อินเดีย และปากีสถาน แต่ถ้าจะให้เรียกนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนิยายสะท้อนประวัติศาสตร์ ก็ออกจะพูดได้ไม่เต็มปาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเป็นเพราะแต่ละเหตุการณ์ถูกหยิบยกมาเป็นส่วนๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คนอ่านก็เลยไม่สามารถมองเห็นภาพอินเดียทั้งประเทศ เหมือนกับเป็นนิยายสะท้อนเกร็ดประวัติศาสตร์มากกว่า
ถ้าจะมีอย่างเดียวที่ช่วยผสานนิยายทั้งเล่มนี้เข้าด้วยกันคือคำเปรียบเปรยถึงเกมงูตกกระไดซึ่งอาเมดชอบเล่นตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเรื่องนี้รัชดี เอาโมทีฟบรรได และงูมาเล่นซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างหลักแหลม ถือเป็นจุดที่น่าปรบมือให้ที่สุด
ทารกเที่ยงคืนจัดว่าเป็นนิยายสิ้นหวัง โลกมืดที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่งก็ได้ ซัลแมน รัชดีดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกชะตากับการมองโลกในแง่ดีเท่าไหร่ ในนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนเปรียบเทียบการมองโลกในแง่ดีว่าเหมือนโรคระบาดอย่างหนึ่ง บทสรุปนิยายก็ออกแนวสิ้นหวังๆ ชอบกล เป็นการมองประวัติศาสตร์ประเทศตัวเองด้วยสายตาเหยียดหยาม
ถ้าจะแนะนำ วิธีอ่านทารกเที่ยงคืนให้สนุก ก็คงต้องอ่านเหมือนที่ปู่อาเมดพบรักภรรยาตัวเองผ่านรูแคบๆ บนผ้าปูเตียง (ปู่ของอาเมดเป็นหมอ สมัยนั้นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะผู้ชายแปลกหน้า) คืออ่านทีละส่วนทีละตอน วันละบทสองบทพอ อย่าอ่านรวดเดียว ตกหลุมรักมันทีละหน้า อย่าไปคาดหวังกับหนังสือทั้งเล่ม
T. Mann's "Death in Venice"
ถ้ามีใครสักคน เดินเข้าไปถามโทมัส มานน์ว่านักเขียนต่างจากคนธรรมดาตรงไหน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมผู้นี้คงตอบว่า "A writer is a person for whom writing is more difficult than it is for other people." (นักเขียนคือผู้ที่มีปัญหาในการเขียนมากกว่าคนปรกติ)
ตลอดช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา เกิดกระแสอย่างหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เหมือนผู้สร้างพยายามสื่อสารกับคนดูว่าศิลปินก็คือบุคคลทั่วไป มีรัก โลภ โกรธ หลง มีปัญหา มีช่วงเวลาเหงา และอ่อนแอประหนึ่งคนเดินถนนคนหนึ่ง (ดูตัวอย่างได้จากเรย์ ดีเลิฟลี่ บียอร์นเดอะซี วอล์คเดอะไลน์ เชคสเปียรย์อินเลิฟ หรือไอริช) ก็เป็นไอเดียสามัญสไตล์อเมริกันว่ามนุษย์เท่าเทียมกันหมด ผู้ที่ซื้อตั๋วมาชมภาพยนตร์ดูจบจะได้รู้สึกดีว่า เออ! ศิลปินก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากฉันนั่นแหละ...
ไม่มีอะไรจะผิดจากความจริงมากไปกว่านี้แล้ว
ความตายในเวนิชคือรวมเรื่องสั้นของโทมัส มานน์ ประเด็นหลักซึ่งปรากฏในแทบทุกเรื่องคือ "ศิลปินไม่ใช่คนธรรมดา" ศิลปินสัมผัสความเจ็บปวดซึ่งคนทั่วไปไม่มีวันเข้าใจ มองเห็นความสวยงามในแบบที่ไม่เหมือนคนปรกติ และเผชิญหน้ากับความเหงา ทุกข์ตรมซึ่งไม่อาจหยั่งรู้ได้ ตัวเอกของเรื่อง "ความตายในเวนิช" "โทนีโอ ครูเกอร์" และ "ทริสแทน" ล้วนแล้วแต่เป็นนักเขียน เป็นการยากที่คนอ่านทั่วไปจะเข้าใจสาเหตุของ "ความตายในเวนิช" ทำไมโทนีโอ ครูเกอร์จึงไม่อาจมีความสุข และอะไรคือใจความซึ่งซ่อนอยู่ในจดหมายซึ่งสปัลส่งไปหาสามีของผู้หญิงที่ตนแอบหลงรัก กระนั้นชีวิตอันแสนเศร้าของเหล่าตัวละคร ผ่านปลายปากกา "ชายผู้มีปัญหาในการเขียน" คงอดไม่ได้ที่จะหลอกหลอน ติดตามเราไปหลังจากปิดหนังสือแล้ว
ในชุดนี้ยังมีเรื่อง "มาริโอ และนักมายากล" เรื่องสั้นการเมืองซึ่งเฉียบแหลมที่สุดเรื่องหนึ่ง สื่อให้เห็นอิทธิพลของนักเผด็จการที่มีต่อเหยื่อ หรือประชาชน คาปริชิโอคือนักสะกดจิตที่สามารถเสกให้คนดูลุกขึ้นมาทำเรื่องน่าเกลียดน่ากลัว "ความยุ่งเหยิง และโศกเศร้า" ว่าด้วยบิดาผู้เฝ้ามองความรักอันไม่สมหวังครั้งแรกของธิดาสาว "โลหิตแห่งวัลซัง" เล่าเรื่องพี่น้องฝาแฝดอันมีความรักวิปริต เปรียบเทียบกับตัวละครในโอเปร่าชิ้นเอกของวาคเนอร์
สิ่งหนึ่งซึ่งสัมผัสได้จากหนังสือแทบทุกเล่มของมานน์คือ "สังคมอันล่มสลาย" ผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองโลกตกอยู่ในมือของเด็กรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่แม้จะเกิดจากใจใสซื่อบริสุทธิ์ และหวังดี แต่ไม่จำเป็นต้องออกดอกออกผลในแง่บวกเสมอไป กว่าจะรู้สึกตัวอีกที สิ่งเก่าๆ ที่สวยงามก็ถูกทำลายไม่เหลือหลอแล้ว
I. Murdoch's "Nuns and Soldiers"
เพิ่งสังเกตว่าบลอคเรายังไม่ได้วิจารณ์หนังสือของไอริช เมอดอคเลย เธอคืออีกหนึ่งนักเขียนในดวงใจ คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักเธอจากภาพยนตร์เรื่อง "ไอริส" ที่จูดี เดนช์เล่นเป็นนักเขียน ซึ่งถูกคุดคามด้วยโรคร้ายอัลไซเมอร์
แม่ชีและทหาร เป็นนิยายเรื่องที่เก้าของเมอดอคซึ่งเราอ่าน ถ้าให้เรียงลำดับความชอบจริงๆ จัดว่าค่อนข้างกลางๆ ปัญหาข้อแรกคือมันหนามาก (ห้าร้อยกว่าหน้า) แถมยังหนาไม่สมเหตุสมผลเสียด้วยสิ (ทะเล ทะเลก็หนาประมาณนี้ แต่เข้มข้นทุกตัวอักษร) การจัดสรรพื้นที่ของนิยายเล่มนี้ค่อนข้างประหลาด หลายครั้งเมอดอคเสียเวลาไปกับบรรยายโวหาร ฉากความฝัน หรือตัวละครซึ่งไม่ปรากฏซ้ำสองในเรื่อง แทนที่จะเน้นปรัชญาการเมือง จิตวิทยาแบบที่เธอถนัด
แม่ชีในเรื่องคือเกอทรูด และแอน เกอทรูด เป็นแม่ม่าย ส่วนแอนเป็นแม่ชีจริงๆ ผู้สึกเพราะเสื่อมศรัทธาในพระเจ้า หลังเกอทรูดสูญเสียสามี แอนคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจ สองสาวสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างกัน ทหารในเรื่องไม่ใช่ทหารจริงๆ เลยสักคน ปีเตอร์คือผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ หลงรักเกอทรูดมาตลอด โดยไม่รู้ว่าแอนเทิดทูน บูชาตัวเองแค่ไหน และทิม จิตรกรไส้แห้ง ตลอดทั้งเล่มคือความสัมพันธ์ระหว่างเกอทรูด และทิม รวมไปถึงปฏิกริยาจากคนรอบข้าง ตั้งแต่แรกรักในกระท่อมกลางป่า อยู่ร่วมกันอย่างลับๆ แยกทาง หวนคืนสู่อ้อมแขน แต่งงาน สุดท้ายกระทั่งเกือบหย่าร้างกันอีกรอบ
เรื่อง "น้ำเน่า" แบบนี้แหละคือนิยายสไตล์เมอดอค แต่แม่ชี และทหารคือนิยายน้ำเน่า ก็คงเป็นน้ำเน่าที่มีสาระที่สุดในโลก จุดเด่นของเมอดอคคือวิธีวิเคราะห์จิตใจตัวละคร พฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อการกระทำ และความคิดตัวละครรอบด้าน เมอดอคสามารถมอง และล้วงลึกจิตใจมนุษย์ได้อย่างไม่มีใครเปรียบ ถ้าเป็นนิยายน้ำเน่าทั่วไป ทุกครั้งที่ทิม และเกอทรูด กลับมาอยู่ด้วยกัน แอนจะต้องถือโอกาสนี้แย่งปีเตอร์มาเป็นของตัวเอง แต่เมอดอคตีแผ่ความคิดผู้หญิงอายุสามสิบกว่าๆ คนหนึ่ง ผู้ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตในอาศรม แสดงให้เห็นว่าบางครั้งคนเราก็ทำเรื่องที่ขัดกับความต้องการของตัวเอง ซ้ำยังทำร้ายคนอื่น และคนรอบข้าง โดยไม่เกิดประโยชน์ โภคผลใดๆ
ถ้าจะมีข้อเสียอีกประการทำให้แม่ชี และทหาร สู้นิยายเรื่องอื่นของผู้เขียนไม่ได้คือ มันยังขาดตอนจบกระแทกใจ นิยายที่ดำเนินเรื่องน้ำเน่าแบบนี้ ถ้าจบไปเฉยๆ เรื่อยๆ คนอ่านก็จะรู้สึกเหมือนอ่านนิยายน้ำเน่าจริงๆ น่าเสียดาย เพราะถ้ามีประเด็นแรงๆ ปิดท้าย นี่จะเป็นนิยายชั้นดีอีกเล่มจากไอริช เมอดอคเลยทีเดียว
เรียงลำดับนิยายของเมอดอค จากชอบมากไปชอบน้อย
1. ทะเล ทะเล
2. ความพ่ายแพ้อันทรงเกียรติพอควร
3. ศิษย์เอก
4. ใต้ตาข่าย
5. แม่ชี และทหาร
6. หนังสือ และภราดร
7. กุหลาบไม่เป็นทางการ
8. ปราสาททราย
9. อัศวินเขียว
R. Davies's "The Manticore"
แมนติคอร์ : สัตว์ในเทพนิยาย หัวเป็นคน ตัวเป็นสิงโต หางซ่อนเหล็กไนเหมือนหางแมงป่อง
อะนิมา : ศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึงผู้หญิงที่อยู่ในตัวผู้ชาย ตรงข้ามกับอะนิมัส ผู้ชายที่อยู่ในตัวผู้หญิง
แมนติคอร์คือนิยายจิตวิทยา เดวิด ทนายความผู้โด่งดัง ลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐีบอย สตอนตัน หลังทราบข่าวพ่อตัวเองเสียชีวิต เกิดอาการวิปริต เขาเชื่อมั่นว่าพ่อถูกใครบางคนฆาตกรรม ในที่สุดเมื่อทนความรู้สึกตัวเองต่อไปไม่ไหว เดวิดบินไปสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่นเอง เขาได้พบจิตแพทย์สาว และเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับการตายของบิดา
จำได้ว่าเมื่อประมาณห้าหกปีที่แล้ว ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ไปพบจิตแพทย์เหมือนกัน นัดพบทุกสองสัปดาห์ คุยครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง ให้มองย้อนกลับไป แล้วถามว่าได้อะไรบ้างไหม ส่ายหัวทันทีว่าไม่ได้ เหมือนมีคนมาฟังเราบ่น แล้วก็พูดปลอบใจนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่เลว แต่ก็ไม่ถึงกับวิเศษวิโสอะไร
จิตวิเคราะห์ในแมนติคอร์ไม่เหมือนอะไรที่เคยประสบพบด้วยตัวเอง เดวิดเล่าให้หมอฟังถึงความฝัน อันปรากฏภาพสัตว์ครึ่งคน ครึ่งสิงโต ถูกล่ามโซ่ติดไว้กับหญิงสาว จิตแพทย์ช่วยเดวิดตีความความฝัน และทำให้ชายหนุ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาพบว่าพ่อซึ่งตนเคารพบูชามาทั้งชีวิต อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบไปหมด ชายหนุ่มเล่าความหลังอันแสนเศร้ากับรักวัยเยาว์ และผู้หญิงคนแรก คนสุดท้าย รวมไปถึงคดีแรกๆ ในฐานะทนายความ ประสบการณ์ ณ ลานประหาร และการเชื่อมโยงอดีตของครอบครัว
ยอมรับว่าอ่านเพลิน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทฤษฏีที่พยายามตั้งชื่อผู้คนซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเรา ให้เป็นเสมือนตัวละคร (เงา อะนิมา ฤษี เพื่อน สัตว์ร้าย และอื่นๆ ) มันใช้ได้จริงแค่ไหน จิตวิเคราะห์ในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจุง (ขณะนิวยอร์กได้รับอิทธิพลของฟรอยด์) จวบจนปัจจุบันไม่รู้มันล้าสมัยไปแล้วรึเปล่า เดี๋ยวนี้ยังมีจิตแพทย์คนไหนมานั่งฟังความฝันคนไข้บ้าง
แมนติคอร์ เป็นนิยายเรื่องที่สองของไตรภาคเดปฟอร์ด เรื่องแรกคือฟิฟธ์บิซิเนส (ชายคนที่ห้า) และเรื่องสุดท้ายคือเวิร์ดออฟวอนเดอร์ (โลกมหัศจรรย์) โรเบิร์ตสัน เดวี นักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้ ผสมผสานจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมายาคติ เข้าด้วยกันได้อย่างล้ำลึก ชวนติดตาม ถึงจะบอกว่าเป็นภาคสอง แค่คนอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านชายคนที่ห้าก่อน ก็สามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวของเดวิดได้
M. Atwood's "The Handmaid's Tale"
"ฉันต้องกลับถึงบ้านก่อนเที่ยงคืน มิฉะนั้นจะถูกสาปเป็นฟักทอง หรือรถม้ากันแน่นะที่ถูกสาป"
ออฟเฟรดรำพึงรำพันกับตัวเอง เธอพูดถึงนิทานเรื่องซินเดอเรลล่า ในยุคสมัยของหญิงสาวไม่มีนิทานเรื่องนี้หลงเหลืออีกแล้ว ถึงมีรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงอ่านหนังสือ ออฟเฟรดหลงเหลือเพียงความทรงจำบางๆ
แฮนเมดส์เทลคือนิยายแห่งความทรงจำ ออฟเฟรดอาศัยอยู่ในกิลเลียด ประเทศซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นรัฐเมน แห่งอเมริกา นิยายดิสโทเปียเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ประชาชนถูกรัฐบาลกดขี่ข่มเหงไม่ใช่ของใหม่ แต่แฮนเมดส์เทลแตกต่างจาก 1984 หรือเบรฟนิวเวิร์ด ตรงที่ผู้คนในกิลเลียดยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ สมัยที่ผู้หญิงยังได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ ไม่มีรถแวนสีดำขับไปทุกหนทุกแห่ง ลากคอประชาชนซึ่งต้องสงสัยว่าผู้ทรยศ ไม่มีซากศพแขวนประจานบนกำแพง ไม่มีแฮนเมด สงคราม มลภาวะ ฝุ่นกัมมันตรังสีแปดเปื้อนอากาศ น้ำ และอาหาร ประชากรกว่าครึ่งโลกเป็นหมัน หญิงสาวซึ่งหลงเหลือเพียงน้อยนิดถูกบังคับให้เป็นแฮนเมดมีหน้าที่สืบพันธุ์ และคลอดบุตร จนกว่าอายุจะสูงเกิน แฮนเมดคนไหนมีลูกไม่ได้ จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป และถูกส่งไปทำงานหนักในคุก
ออฟเฟรดคือหนึ่งในแฮนเมด เธอยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ เรื่องของซินเดอเรลล่า เรื่องของสามี ลูกสาว แม่ เพื่อนสมัยเรียน ที่สำคัญออฟเฟรดจดจำชื่อที่แท้จริงของตัวเองได้ ป้าลูซี อาจารย์ควบคุมความประพฤติบอกว่าแฮนเมดรุ่นพวกเธอจะต้องประสบความยากลำบาก แต่ทั้งหมดก็เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อให้ลูกหลานผู้หญิงอยู่กันอย่างสงบสุข แต่ออฟเฟรดรู้ พวกเขาจะอยู่กันอย่างสงบสุขเพียงเพราะไม่มีความทรงจำสมัยสิ่งต่างๆ ยังไม่เหมือนทุกวันนี้ต่างหาก
นิยายดิสโทเปียส่วนใหญ่ เมื่อเปิดฉากมา โลกก็กลายเป็นอย่างที่เห็น แต่แฮนเมดส์เทลแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่น่ากลัวสุดคือช่วงการเปลี่ยนแปลง ฉากที่น่าขนลุกขนพองคือตอนที่รัฐบาลประกาศยึดเงินผู้หญิงในธนาคาร และไล่ทุกคนออกจากงาน
มากาเรต แอดวูดผู้เขียนได้รับรางวัลบุคเกอร์ไพรซ์จากนิยายเรื่องแฮนเมลส์เทล ก่อนจะได้รับเป็นครั้งที่สองจากดิบลายด์แอสแซสซิน ความมหัศจรรย์ในการเขียนของแอดวูดคือ เธอสามารถเล่าเรื่องซึ่งส่วนตัวมากๆ ไปพร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์สังคม แฮนเมลส์เทลคือนิยายที่สามารถหาเรื่องมาพูดคุยได้ไม่รู้จบ ครั้งหนึ่งป้าลูซีพูดกับนักเรียนของเธอว่า "เสรีภาพมีสองประเภท เสรีภาพที่จะกระทำ และเสรีภาพจากการโดนกระจำ บัดนี้พวกเธอได้รับอย่างหลัง อย่าดูถูกมันเกินไปนัก" ในโลกอนาคต รัฐบาลให้เหตุผล เพื่อปกป้องผู้หญิงจากอาชญากรรมทางเพศ แต่ละคนถูกบังคับให้สวมเสื้อผ้าซึ่งจัดเตรียมไว้ ปิดซ่อนร่างกายตั้งแต่ผ้าคลุมหัว ยันปลายเท้า หนังสือแฟชั่นถูกเผาทิ้งทำลาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นสื่อชั่วร้ายส่งเสริมให้ผู้หญิงหลงตัวเอง
เมื่อคนเราได้เสรีภาพอย่างหนึ่ง ก็เมื่อจำต้องถูกลดรอนเสรีภาพอีกประการอยู่ร่ำไป
แฮนเมลส์เทลไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก เรื่องราวดำเนินไปอย่างเนิบช้า แต่ไม่ถึงกับไม่มีอะไร เนื้อเรื่องหลักๆ บอกเล่าแก่งแย่งชิงดีในครัวเรือนระหว่างออฟเฟรด แฮนเมล และจอย ภรรยาของคอมมานเดอ นอกจากทั้งสามแล้วยังมีนิค คนขับรถ และคนครัวอีกสอง ออฟเฟรดอาจไม่ใช่นางเอกที่ดีนักในสายตาคนอ่าน ตั้งแต่สมัยก่อนปฏิรูปสังคม ลุค สามีของออฟเฟรดก็เป็นผู้ชายที่เธอแย่งมาจากคนอื่น ถึงตอนจบก็ยังสรุปไม่ได้ง่ายๆ ใครกันแน่ที่ "ร้าย" กว่า จอย หญิงวัยกลางคนผู้มีสถานภาพทางสังคม มีอำนาจเหนือทุกคนในครัวเรือน หรือออฟเฟรด แฮนเมดผู้ไร้อำนาจ แต่ตีโต้ อาศัยความเป็นหญิง
แฮนเมดส์เทลย้ำเตือนให้เห็นความขัดแย้งในกระบวนการเฟมินิส อะไรกันแน่คืออาวุธของสตรีเพศ ความเด็ดเดี่ยว หรือเสน่ห์รัดรึงทางกาย ผู้หญิงที่แต่งตัวสวยงาม ล่อสายตาผู้ชาย คือสัญลักษณ์แห่งอำนาจสตรี หรือความอัปยศอดสู
ทั้งหมดนี้คงหาคำตอบกันไม่ได้ง่ายๆ สิ่งที่สำคัญต่างหากคือการตั้งคำถาม
W. Shakespeare's "King Lear"
การอ่าน (หรือชม) บทละครเชคสเปียร์สักเรื่องนั้น มีอะไรมากมายยิ่งกว่าการเสพย์บทละครเดี่ยวๆ เชคสเปียร์คือหนึ่งในบิดาแห่งวรรณกรรมตะวันตก ถ้ามองกว้างขึ้นว่าวรรณกรรมแบบที่ชาวตะวันออกปัจจุบันรู้จักกัน มีรากฐานมาจากการเล่าเรื่องแบบตะวันตก จะพูดว่าบทละครของเชคสเปียร์คือต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรมวรรณกรรมโลกก็คงไม่เกินไปนัก
ต่อให้คุณไม่เคยอ่านคิงเลียร์ ไม่เคยรู้จักชื่อเชคสเปียร์ อย่างน้อยคุณก็ต้องคุ้นเคยกับ "ก้อนความคิด" ที่แตกออกมาจากเรื่องคิงเลียร์ ยกตัวอย่างเช่นฉากเอกของคิงเลียร์ เมื่อพูดถึงแล้ว ใครที่เคยอ่าน หรือชมละครต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก คือฉากที่ชายชราสติแตกตะโกนคร่ำครวญใส่ท้องฟ้า ท่ามกลางพายุฝนคะนอง โดยมีตัวตลกเฝ้ามองมาอย่างสมเพช ฉากนี้คือต้นแบบใบปิดภาพยนตร์เรื่องบัญญัติสิบประการของเซซิล บี เดอมิล (ชายชราและฟ้าผ่า) สภาพความบ้าคลั่งในจิตใจตัวละครซึ่งถูกท่ายถอดเป็นสภาวะอากาศ ปรากฏตามฉากสยองขวัญในภาพยนตร์ทั่วไป กระทั่งในสุริโยทัย ฉากที่ใหม่ เจริญปุระ ไปขอยาพิษจากท่านย่าพิสมัย ข้างนอกก็มีฟ้าฝน (เกร็ด: เชคสเปียร์เขียนคิงเลียร์ปี 1606 ปีเดียวกับพายุซึ่งนำความเสียหายอันใหญ่หลวงมาสู่ประเทศอังกฤษ)
โดยอย่างกว้างที่สุด คิงเลียร์คือเรื่องของความสามัคคี หรือพูดให้ถูก เรื่องของการแตกความสามัคคี เลียร์พระราชาเฒ่าแบ่งดินแดนตัวเองเป็นสามส่วนให้ลูกสาวแต่ละคน โดยน้องคนสุดท้องไม่ได้เลยสักกระผีก เพราะป้อยอพ่อไม่เก่งเท่าพี่สาว เมื่อได้รับมรดก ลูกสาวทั้งสองต่างขับไล่ไส่ส่งบิดา สุดท้ายก็ทำสงครามแก่งแย่งชิงดีกันเอง ล่มสลายหมดทั้งประเทศ และราชวงศ์ ส่วนเจ้าหญิงองค์เล็กที่แม้ปากไม่หวาน แต่สุดท้ายก็เป็นพระนางเดียวที่คอยดูแลบิดาจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
เล่ามาแค่นี้ถ้าใครหัวไวหน่อย ก็คงหา "ก้อนความคิด" ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงได้ร้อยแปดประการ ตั้งแต่เรื่องความสามัคคี ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องไหนมาก่อน หรือที่พี่น้องประจบประแจงผู้บังเกิดเกล้าเพื่อหวังมรดก ก็เป็น "ก้อนความคิด" ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามละครหลังข่าว
คิงเลียร์ถือเป็นหนึ่งในสี่โศกนาฏกรรมใหญ่ของเชคสเปียร์อันประกอบด้วยแฮมเลต โอเทลโล คิงเลียร์ และแมคเบต ความพิเศษของคิงเลียร์คือการเล่าเรื่องหลายตัวละครซ้อนๆ กัน นอกจากประเด็นพ่อ ลูกสาว ที่เล่ามาข้างต้น ยังมีการแย่งชิงสมบัติระหว่างลูกนอก และในกฎหมาย เอดมุน และเอดการ์ เอดมุน ลูกนอกกฎหมายของกลอเชสเตอร์ ใส่ร้ายพี่ชายตัวเอง จนเอดการ์ต้องแกล้งทำตัวสติไม่ดี หนีออกนอกเมือง สุดท้ายเมื่อกลอเชสเตอร์ตกเป็นเหยื่อการทรยศหักหลัง สูญเสียดวงตาทั้งสองข้าง จึงได้รับความช่วยเหลือจากทอม ชายสติไม่ดี ผู้ซึ่งแท้จริงเป็นลูกบังเกิดเกล้าของตัวเอง
ถ้าแค่นี้ยังไม่หนำใจ คิงเลียร์ยังแทรกเรื่องรักหักสวาท ระหว่างรีแกน และกอเนอริล ลูกสาวคนโตทั้งสองของเลียร์ ทั้งคู่มีสามีแล้ว แต่ต่างแอบหลงรักเอดมุน สุดท้ายสองนางก็แพ้พิษภัย เข่นฆ่ากันเอง
ความสุดยอดของเชคสเปียร์คือแกสามารถผูก และเล่าเรื่องราวร้อยแปดต่างตัวละครมารวมกันเป็นบทประพันธ์เดียวได้อย่างไร้ที่ติ เท่าที่เคยอ่านมา บทละครอีกเรื่องเดียวเท่านั้นที่เชคสเปียร์ประสบความสำเร็จได้ในระดับนี้คือเวณิชวาณิช
พูดถึงคิงเลียร์ ก็ต้องพูดถึงตัวตลก และคนบ้า ตัวตลกในเรื่องเป็นต้นแบบแห่งตัวตลกทั้งหลายทั้งปวง คำพูดซึ่งผิวเผินฟังดูเหมือนไร้สาระ แต่แทรกปรัชญา ตัวตลกเป็นผู้เดียวซึ่งเลียร์อนุญาตให้กล่าวความจริง ติเตียนพระราชาได้ ตราบเท่าที่ความจริงนั้นน่าขำ น่าหัวเราะ ในแง่หนึ่งตัวตลกคือตัวแทนแห่งวรรณกรรมเสียดสีสังคม นักเขียนสามารถก่นด่า และวิจารณ์สังคมแค่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่เขาทำในนามแห่งความบันเทิง คนบ้าในเรื่องนี้มีสองคน คือตัวเลียร์เอง หลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และทอม ผู้แกล้งบ้าเผื่อหลบหนีการจองล้างจองผลาญจากน้องชาย ความบ้าคลั่งของเลียร์ คือการเดินทางเข้าไปสู่ความมืดมิดของจิตใจ ส่วนทอม ผู้เปลื้องผ้าผ่อน อาศัยอยู่กับสิงสาราสัตว์ กลับเป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สะอาด
ตัวละครอีกตัวที่ชอบเป็นพิเศษคือเอดมุน โดยศักดินาแต่กำเนิด เอดมุนคือลูกโสเภณี ไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินบิดา ด้วยประการนี้เอง เขาสั่งสมความแค้นในจิต กำจัดทุกคนทุกนามผู้ขวางทางเจริญ เอดมุนใช้เสน่ห์ความเป็นชาย หลอกล่อลูกสาวทั้งสองของเลียร์ ถึงบทบาทจะเป็นผู้ร้ายเต็มยศ แต่คนอ่าน และผู้ชมหลายคนคงอดชื่นชมความทะเยอทะยาน และความมุ่งมั่นในชีวิตของหนุ่มคนนี้ไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างเขา และสองพี่น้อง ยังเหมือนจะบอกกลายๆ ว่า เซ็กคือสิ่งที่ปลดเปลื้องกำแพงชนชั้นต่างๆ ในสังคม
ขุดไปเถอะครับ บทละครเชคสเปียร์น่ะ ให้ขุดกันจริงๆ ขุดได้ไม่รู้หมดสิ้น ขอตัดจบดื้อๆ ด้วยการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 แล้วกัน ในฐานะบิดาแห่งวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ผู้แปล ถ่ายทอด และนำเชคสเปียร์มาให้คนไทยได้รู้จัก ชื่นชมตราบจนทุกวันนี้
M. Foucault's "Madness and Civilization"
ไม่ได้อ่านหนังสือปรัชญาเต็มๆ มานานแล้ว ครั้งสุดท้ายคือดิสคอร์ทของรุสโซ สมัยเรียน เพราะถูกบังคับ ใช่ว่าไม่ชอบ หรือไม่มีความสนใจ ยอมรับก็ได้ว่า "มือไม่ถึง" หลายครั้งเวลาเปิดอ่านฟรีในร้านหนังสือ ปวดเศียรเวียนเกล้า และไม่เข้าใจอยู่หลายส่วน
15 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันเกิดนิสเช่ ร้านหนังสือที่โรงเรียนลดราคาหนังสือปรัชญาทุกเล่มสามสิบเปอร์เซ็น ถือโอกาสนี้ลองซื้อมาสาม สารภาพเลยว่าตอนแรกไม่แน่ใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่าจะไปได้กี่น้ำ เล็งๆ ความบ้าคลั่งและความศิวิไลซ์มานาน สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อ และลองเปิดอ่านดู...
...และแล้วก็อ่านได้จนจบเล่ม ดีใจเป็นที่สุด
ฟูคัลคือนักปรัชญาคนสำคัญชาวฝรั่งเศส ความบ้าคลั่งและความศิวิไลซ์เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของแก ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสังคม และผู้ป่วยโรคจิต ตอนแรกก็หวาดๆ ว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง ปรากฏว่าฟูคัล นอกจากจะเป็นนักปรัชญาแล้ว ยังเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย ดังนั้นการวิเคราะห์ความบ้าคลั่งของแก จึงออกแนวกึ่งๆ ประวัติศาสตร์ เพราะเหตุนี้กระมัง เลยอ่านเข้าใจง่าย คงไม่วิจงวิจารณ์อะไร เพราะไม่รู้จะวิจารณ์หนังสือที่ไม่ใช่นิยายยังไง เอาเป็นว่าสรุปใจความสำคัญในเล่มดีกว่า
คนสมัยก่อนแบ่งสาเหตุของอาการสติแตกเป็นสองประการ หนึ่งคือเนื่องมาจาก "ความลุ่มหลง" (passion) ความลุ่มหลงในที่นี้หมายถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างจิตวิญญาณ และร่างกายมนุษย์ นักการแพทย์สมัยก่อนมองว่าร่างกายคนเราเป็นของแข็ง ขณะที่วิญญาณคือส่วนผสมระหว่างของเหลวจำพวกเลือด และวัตถุประเภทแก๊สในร่างกาย ซึ่งจำแนกประเภทไม่ได้ อาการสติแตกคืออาการป่วยอันเกิดจากความลุ่มหลงถูกกระทบกระเทือน พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นความผิดปรกติของร่างกาย และวิญญาณพร้อมๆ กัน
อีกกลุ่มเชื่อว่าสาเหตุความบ้าคลั่งคือ "ความพกเพ้อ" (delirium) ความพกเพ้อในที่นี้หมายถึงเหตุผลในความไม่มีเหตุผล เช่นเราจะเจอคนบ้าที่เชื่อว่าตัวเองเป็นนก ดังนั้นเขาจึงกระโดดลงมาจากยอดตึก เพราะเขาบอกว่านกทุกชนิดบินได้ เมื่อเขาเป็นนก เขาก็ย่อมบินได้ สิ่งนี้เองที่เรียกว่าความพกเพ้อ คือการใช้เหตุผลที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายการกระทำของตัวเอง
ในประวัติศาสตร์ยุโรปตลอดช่วงห้าร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนสลับเปลี่ยนไปมาระหว่างสองความเชื่อนี้ กระทั่งการแพทย์ปัจจุบันก็ยังหนีไม่พ้นอธิบายสาเหตุของอาการโรคจิตด้วยความลุ่มหลง และความพกเพ้อ ซึ่งการรักษาก็แล้วแต่ว่าต้นเหตุมาจากไหน คนบ้าที่บ้าเพราะลุ่มหลง ต้องอาศัยทั้งจิตเวทย์ และกายภาพบำบัด ส่วนที่บ้าเพราะพกเพ้อ มาจับเข่านั่งคุยกันกับหมอเฉยๆ ก็ได้
ฟูคัลยังพูดถึงการที่สังคมปัจจุบันกักขังคนบ้าไว้ในโรงพยาบาล ห่างไกลสายตาผู้อื่น เทียบกับอดีตกาล ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยเชื่อว่าคนบ้าสมควรปรากฏตัวในที่แจ้ง อยู่ร่วมกับคนในสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุของสองความเชื่อนี้ก็มากมายหลากหลาย อธิบายสั้นๆ ไม่หมด สรุปคือไปอ่านเองดีกว่า รับรองไม่มีผิดหวัง และไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิดด้วย
I. Calvino's "If on a Winter's Night a Traveler"
ตอนที่รู้ว่า ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย และเปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทั้งดีใจและทั้งตื่นเต้น อิตาโล คาลวิโนเป็นอีกหนึ่งนักเขียนในดวงใจ เท่าที่รู้นี่คือหนังสือเล่มที่สองของเขาซึ่งคนไทยจะได้อ่าน (อีกเล่มคือ มาโควัลโด ที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว)
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่โด่งดัง ขึ้นชื่อที่สุดของคาลวิโน หลายคนกระทั่งยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นผลงานที่ผสมผสานความเป็นคาลวิโนออกมาได้อย่างลงตัวสุด
นอกจากผลิตผลงานชั้นยอด คาลวิโนยังชอบแทรกประเด็นส่งเสริมให้คนรักการอ่านลงในนิยายของเขา นี่คือนิยายเกี่ยวกับการอ่าน การอ่านเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการเขียน หรือแง่มุมอื่นใดในแวดวงวรรณกรรม ขนาดว่าตัวละครยังพูดออกมาเลยว่า เธอไม่เคยสนใจใครเป็นคนเขียนหนังสือ เธอต้องการอ่านหนังสือที่แยกตัวตนนักเขียนออกจากผลงานให้มากที่สุด
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เปิดตัวได้อย่างแสนเด็ดดวง "คุณกำลังจะอ่านนิยายเล่มใหม่ของอิตาโล คาลวิโน เรื่อง ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ผ่อนคลาย ตั้งสมาธิ หยุดคิดเรื่องอื่น ปล่อยวางโลกภายนอก ปิดประตูเสีย..." (ย่อหน้าเปิดตัวนี้ ถูกโหวตโดยสมาชิกชมรมห้องสมุดแห่งประเทศอเมริกาว่าเป็นหนึ่งในย่อหน้าเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุด) ตัวเอกของเรื่องคือ "คุณ" กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วพบว่าตั้งแต่บทที่สองเป็นต้นไปมีแต่กระดาษเปล่า คุณจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาเนื้อเรื่องที่ขาดหาย ระหว่างทางพบรักกับสาวนักอ่าน ถูกลักพาตัวโดยองค์กรสายลับ เข้าไปข้องเกี่ยวกับแผนการชั่วร้ายของนักปลอมแปลงหนังสือ และที่สำคัญคือ เผชิญหน้ากับหนังสือเล่มอื่นที่มีเพียงบทแรกเหมือนกัน
คาลวิโนเขียนนิยายเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายคือสร้าง "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" ให้กับผู้อ่านตลอดทั้งเล่ม ใครเล่าจะปฏิเสธได้ว่าทันทีที่หยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง อ่านบทแรกจบ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นใคร และเนื้อเรื่องจะดำเนินต่อไปทางใด นี่คือ "ประสบการณ์ตั้งต้นใหม่" อันแสนพิเศษ และไม่มีช่วงเวลาใดๆ ของการอ่านจะเทียบเท่าได้ ในอัตชีวประวัตินักเขียนหลายคน ถึงกับบอกเลยว่า บางครั้งใช้เวลาเป็นเดือน เป็นอาทิตย์ กว่าจะลงมือเสกประโยคแรกออกมา ส่วนที่เหลือลื่นไหลสบายๆ
ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นนิยายที่มีโครงสร้างเหมือนดนตรีคลาสสิค โดยเฉพาะฟูคของบาค ใช้ "โมทีฟ" เดียว ย้อนกลับไปกลับมา สลับเปลี่ยนดัดแปลงตรงนี้นิดหน่อย เป้าหมายไม่ใช่การพัฒนา "โมทีฟ" ไปไหนต่อไหน แต่คือการเล่นซ้ำซากให้คนฟังชินหู เมื่อดัดแปลงการนำเสนอแบบฟูคมาใช้กับนิยาย คาลวิโนทำสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัว รู้สึกว่าเนื้อเรื่องของ "คุณ" ที่เชื่อมต่อ "บทแรกของหนังสือแต่ละเล่ม" มันธรรมดาเกินไปหน่อย ในแง่หนึ่งก็ทำให้ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ เป็นหนังสืออ่านง่าย คือแม้จะมีคอนเซปสลับซับซ้อน แต่สำหรับคนทั่วไป อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ไม่ถือว่าลำบากยากเย็นอะไร (แต่จะตีความออก เข้าถึงหนังสือแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะชอบมากกว่านี้หรือเปล่าถ้าคาลวิโนใส่ "มายา" ลงในนิยายอีกหน่อย
นิยายเล่มนี้ค่อนข้างสั้น ฉบับภาษาอังกฤษคือสองร้อยหน้านิดๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าแปลไทยออกมาแล้วจะยาวเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นข้อดี เพราะเนื้อเรื่องแบบนี้ถ้ายาวเกินสามร้อยหน้า น่าเบื่อแน่ๆ ถ้าค่ำคืนหนึ่งฯ ไม่ใช่นิยายของคาลวิโนที่ผมชอบที่สุด แต่ก็เป็นนิยายแนะนำนักอ่านชาวไทยให้รู้จักตำนานแห่งอิตาลีผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
เรียงลำดับหนังสือของคาลวิโนที่ชอบ จากมากไปน้อย
1) ขุนนางในผ้าคลุม
2) อัศวินไร้ตัวตน
3) บารอนบนต้นไม้ (ทั้งสามเรื่องนี้ ถูกรวมอยู่ในชุดนิยายขนาดสั้น บรรพบุรุษของเรา)
4) ปราสาทแห่งพรหมลิขิตแทรกซ้อน
5) มาโควัลโด
6) ถ้าค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง
7) รวมเรื่องสั้น ผู้เฝ้ามอง
P. K. Dick's "Flow My Tears, the Policeman Said"
เพิ่งสังเกตว่าบลอคเรา ยังไม่มีหนังสือไซไฟเลยสักเล่ม วันนี้ขอประเดิมเลยแล้วกัน
โฟลมายเทีย เดอะโพลิสแมนเซด เป็นนิยายรางวัลจอห์น ดับบิว แคมเบล คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักนักเขียนจากภาพยนตร์เรื่องไมนอริตี้รีพอร์ต ถ้าใครเป็นนักดูหนังหน่อย คงจดจำสแกนเนอร์ดาร์คลี่ เบลดรันเนอร์ และเพย์เชคได้ ทั้งหมดล้วนเป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างมาจากเรื่องสั้น หรือนิยายของฟิลิป เค ดิก
ความพิเศษของดิก ซึ่งไม่เหมือนนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปคือ หนังสือของเขามักพุ่งเป้าไปที่ตัวละครตัวหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นแคบๆ ดิกพาคนอ่านเดินทาง "เข้าข้างใน" และ "ออกข้างนอก" สำรวจสภาพจิตใจตัวเอก และโลกอนาคตบิดๆ เบี้ยวๆ ผลงานของดิกจึงแตกต่างจากไซไฟทั่วไป ไม่เหมือนไฮแลน ซีคลาก สกอตคาร์ด หรืออาซีมอฟ ซึ่งมุ่งประเด็นไปยังเทคโนโลยี หรือสภาพสังคมพิสดาร โลกอนาคตของดิก อาจมีอุปกรณ์ทันสมัยชิ้นสองชิ้น แต่จุดเด่นอยู่ตรงเนื้อเรื่องซึ่งอิงจิตวิทยาตัวละคร
ตัวเอกของโฟลมายเทียฯ คือเจสัน นักจัดรายการโทรทัศน์ผู้โด่งดัง ชาวอเมริกาแทบทั้งประเทศรู้จักเขา คืนหนึ่ง เขาสลบไสลไปด้วยฝีมือการล้างแค้นของคนรักเก่า ซึ่งยอมมีสัมพันธ์แลกกับโอกาสในโลกบันเทิง (ซึ่งเธอไม่เคยได้รับ) เมื่อเจสันตื่นขึ้นมา เขากลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคม ไม่มีใครรู้จัก บัตรประชาชน อัตลักษณ์ทุกอย่างหายสาบสูญ ถ้าเรื่องเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจไม่เลวร้ายเท่าไหร่ แต่ในโลกอนาคต ใครก็ตามซึ่งไม่มีอัตลักษณ์จะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร และจับส่งไปทำงานหนักในเหมืองต่างดาว
เปิดเรื่องมาก็เหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ไล่ล่า พลอตประเภทสูญเสียตัวตนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในแวดวงไซไฟ หลายปีก่อนก็เคยมีภาพยนตร์เรื่องเดอะเนต ว่าด้วยรัฐบาลใช้อินเตอร์เน็ตขโมย แอบดู เปลี่ยนแปลงข้อมูลประชาชน แต่ถ้าใครได้อ่านโฟลมายเทียฯ จะต้องผิดคาดเมื่อพบว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็น "ดรามา" สูงมาก หลังกลายเป็นคนแปลกหน้า เจสันพบปะผู้หญิงมากมาย ผ่านเข้าออกชีวิตเพื่อให้การช่วยเหลือ หลอกลวง และโปรยเสน่ห์เย้ายวน เจสันผู้เคยชินกับการฉกฉวยผลประโยชน์จากเพศที่อ่อนแอกว่า ต้องตกมาเป็นเบี้ยล่าง เรียนรู้ที่จะทั้งระแวงสงสัย และเชื่อใจพวกหล่อน
ว่ากันว่าโฟลมายเทียฯ ซุกซ่อนตัวตนของฟิลิป เค ดิกเอาไว้สูงมาก ถ้าสแกนเนอร์ดาร์คลี คือนิยายอัตชีวประวัติ การรับมือสภาพติดยาของผู้เขียน โฟลมายเทียฯ ก็ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างดิก และเพศตรงข้าม
นอกจากชวนซาบซึ้ง น้ำตาไหลแล้ว โฟลมายเทียฯ ยังเป็นหนังสือซึ่งอ่านสนุกได้ไม่รู้เบื่อ ดิกเข้าใจหาจุดผลิกผัน หลอกล่อ ปมปริศนาวางไว้ตรงนู้นตรงนี้ ทำให้คนอ่านลุ้น และเดาเรื่องตลอดเวลา ใครที่เป็นแฟนไซไฟเหนียวแน่น อาจทำใจรับ "บทเฉลย" ของโฟลมายเทียฯ ไม่ค่อยได้ ต้องเข้าใจว่าดิกเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เพื่อรับใช้และศึกษามนุษย์ ดังนั้นในแง่เหตุ และผลทางเทคโนโลยีอาจบกพร่องไปบ้าง
โฟลมายเทียฯ เป็นหนังสือเล่มที่สามของดิกที่ผมอ่าน และเป็นเล่มที่ชอบที่สุด ถ้าใครไม่เคยสัมผัสดิก จะเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรกก็นับว่าเลือกได้ไม่ผิดเลยจริงๆ
A. Christie's "Death on the Nile"
นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะวิจารณ์ความตายบนแม่น้ำไนล์อย่างไรดี ถ้าบอกมากเกินไปก็เผยไต๋ เดี๋ยวรู้หมดพอดีว่าใครคือฆาตกร แล้วจะอ่านสนุกไหมนี่
เอาเป็นว่าความตายบนแม่น้ำไนล์ ไม่เสียพะยี่ห้อคริสตี้ แฟนๆ ราชินีสืบสวนสอบสวนคงไม่ผิดหวัง ส่วนใครที่ไม่เคยอ่านหนังสือของเธอ จะเลือกเล่มนี้เป็นเล่มแรก ก็เข้าทีมิหยอก นิยายอ่านสนุก ชักชวนให้คนอ่านเดาเรื่อง ทายตัวฆาตกรไปพร้อมๆ กับปัวโร นักสืบเจ้าปัญญา เซลสมองสีเทา (ผมเดาตัวฆาตกรถูกก่อนปัวโรเฉลยประมาณสี่ย่อหน้า ถือว่าใช้ได้ไหมนี่)
ความตายบนแม่น้ำไนล์ ว่าด้วยเรื่องของแจ็คกี้ หญิงสาวผู้ถูกเพื่อนสนิท เศรษฐีนีผู้ร่ำรวยแย่งชิงหนุ่มคนรักไป ด้วยความอาฆาตมาดร้าย แจ็คกี้ติดตามคนทั้งคู่ไปฮันนีมูนที่ประเทศอียิปต์ หวังก่อกวนความสงบ ถึงขนาดพกปืน ซ้ำยังขู่ว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ เธอจะฆ่าคนใดคนหนึ่งให้ตายไปก็ย่อมได้ หารู้ไม่ว่าบนเรือสำราญล่องแม่น้ำไนล์ลำนี้ ยังมีฆาตกรแอบแฝงอยู่อีกหนึ่งคน (หรือสองคน หรืออาจไม่มีเลย หรือตัวเธอเองนั่นแหละที่เป็นฆาตกร เอ๊ะ! ยังไงกันนี่)
ที่พิเศษกว่าเล่มอื่นๆ คือความตายบนแม่น้ำไนล์มี "ดรามา" เข้มข้น หนังสือพูดถึงเรื่องความรัก ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งสวยงาม แต่กลับบันดาลให้เกิดโศกนาฏกรรมร้อยแปด อันเนื่องจากความรู้สึกซึ่งเกินพอดี มีหลายตอนเหมือนกันที่อ่านแล้วก็อดน้ำตาซึมนิดๆ ไม่ได้
ความตายบนแม่น้ำไนล์ คือหนึ่งในไตรภาค ปัวโรในตะวันออกกลาง ซึ่งประกอบด้วย ฆาตกรรมเมโสโปเตเมีย ความตายบนแม่น้ำไนล์ และ มีนัดกับมัจจุราช คริสตี้เขียนเรื่องนี้อาศัยข้อมูลที่ได้ระหว่างติดตามสามีนักโบราณคดีไปยังตะวันออกกลาง แต่สุดท้ายนิยายสืบสวน ก็ยังคงเป็นนิยายสืบสวนนั่นแหละ จะเปลี่ยนฉากในเรื่องมาเป็นแม่น้ำเธมส์ แม่น้ำโขง หรือยานอวกาศก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ถ้าใครหวังว่าอ่านคริสตี้แล้วจะได้กลิ่นอูฐ กลิ่นทราย ก็เตรียมตัวผิดหวังได้เลย
แต่ถ้าอยากลับสมอง ประลองปัญญา เคล้าพล็อตนิยายรักน้ำเน่า กุ๊กกิ๊ก รับรองไม่มีผิดหวัง
หมายเหตุ: เรียงลำดับหนังสือของคริสตี้จากชอบมากไปชอบน้อย
1) สมาคมสิบสองนาฬิกา
2) ฆาตกรรมในรถด่วนโอเรียนตอล
3) ความตายบนแม่น้ำไนล์
4) โรเจอร์ แอกครอยตายแล้ว
5) กลนาฬิกา
6) ฆาตกรรมเมโสโปเตเมีย
7) อินเดียแดงน้อยสิบคน
8) ปริศนาคาริบเบียน
10) ความใต้บนฟากฟ้า
30 ปี 16 ตุลาฯ
เพื่อให้เข้ากับโอกาส วันนี้ขอพูดเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต สาเหตุจริงๆ ที่อยากเขียนบทความชิ้นนี้คือได้อ่านบท "ยอยศ" วรรณกรรมเพื่อชีวิตในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แล้วบังเกิดอาการธาตุไฟแตกพล่าน
เคยมีคนวิพากษ์วิจารณ์ สาเหตุที่คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเราขาดนักวิชาการคอมมิวนิสต์ หมายถึงแกนนำผู้ศึกษาปรัชญามาร์ค เอเกลอย่างจริงจัง แล้วนำไปประยุกต์ใช้ หรือถ่ายทอดให้สหายฟัง ประเทศเรา (ในสมัยนั้น) ไม่มีคนอย่างเลนิน หรือเหมาที่ศึกษาคอมมิวนิสต์ เหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันศึกษาทุนนิยม ธนาคารโลก เอเพค
พอได้ฟังแบบนี้ อดีตแกนนำคอมมิวนิสต์คนหนึ่งก็โต้ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า แม้เราจะขาดนักวิชาการ แต่ถ้าพูดถึงงานศิลปะ ประเทศไทยไม่ด้อยกว่าใคร ไม่เชื่อก็ลองดูผลงาน ดนตรี กวี วรรณกรรมภายใต้ธงแดงสิ
ใครก็ตามที่พูดเช่นนี้ ไม่เข้าใจอะไรแม้แต่น้อยเกี่ยวกับงานศิลปะ
ศิลปะ ที่ขาดความหนักแน่นทางวิชาการ และความคิด เป็นได้อย่างมากก็แค่ผลผลิตของกาลเวลา คำว่าผลผลิตของกาลเวลาคืออะไร ผมแบ่งผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นสองประเภท ประเภทแรกอยู่ "เหนือกาลเวลา" ผลงานซึ่งอิงอยู่บนธรรมชาติ จิตวิทยา และความรู้ ผลงานประเภทนี้ได้แก่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วรรณกรรมตะวันตกชั้นดีทั้งหลายแหล่ ส่วนประเภทหลังคือ "ผลผลิตของกาลเวลา" หมายถึงงานสร้างสรรค์ซึ่งถูกทำขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคม และความเชื่อในขณะนั้น ตัวอย่างเช่นสปอตโฆษณา กล่อง ซองผลิตภัณฑ์ หนังสือตาหวาน โรแมนติกเกาหลี (ที่คนไทยเขียน) หรือหนังสือแฉ ก็จัดเป็นผลงานที่ว่า
วรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยเฉพาะวรรณกรรมรุ่นตุลาเป็นได้อย่างมากก็แค่ประการหลัง ช่วงนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังลุกฮือ (ทั้งต่างชาติ และในประเทศ) คนหนุ่มคนสาวหันมาอ่าน "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ใครเขียนบทกวี หรือเรื่องสั้นที่มีชาวนา คนยากจนเป็นพระเอก แล้วแสดงภาพคนร่ำรวย นายทุนชั่วฉิบหาย รับรองขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาเขียนหนังสือแนวนี้แทน (ซึ่งก็คือตัวอย่างของ "กลไกตลาด" แขนขาแห่งระบบทุนนิยม ตลกไหมเล่า)
ถ้าไม่เชื่อลองฟังคำพูดของคุณอำนาจ เย็นสบายสิ "ถือว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ไม่ได้ศึกษางานเพื่อชีวิตกลายเป็นคนตกยุคไปเลยก็ว่าได้" ฟังดูเหมือนแฟชั่น เสื้อสายเดี่ยวยังไงพิกลไหม
น่าเสียดายทั้งที่ก่อนหน้านั้น วรรณกรรมไทยที่เข้าใกล้คำว่า "เหนือกาลเวลา" ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่นเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส จรรยงค์ ผลงานของไม้เมืองเดิม หรือศรีบูรพา ในเรื่องสั้นของอาจารย์มนัส ทั้งคนจน คนรวยเป็นมนุษย์ที่มีกิเลศ ความต้องการเหมือนกันหมด อาจารย์มนัสมองตัวละครด้วยสายตาอ่อนโยน ขบขัน และเข้าใจ ตรงกันข้ามกับผลงานหลัง 14 ตุลา ที่คนจน คนรวย ถูกเปลี่ยนเป็น "ตัวการ์ตูน" เปรียบเทียบง่ายๆ คือเรื่อง "พลายทองคำ" และ "ฟ้าบ่กั้น" เนื้อเรื่องเหมือนกันทุกประการ (ควาญช้างยาจก ถูกลูกเศรษฐีแย่งคนรักไป สุดท้ายโดนทำร้ายจนเสียชีวิต ตอนหลังช้างสุดที่รักตามมาแก้แค้นให้นาย) ขณะที่เรื่องแรก ตัวละครเป็นมนุษย์ เรื่องหลัง ตัวละครตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเสียฉิบ
ไม่ได้หมายความว่าคนจนหมดไปแล้วจากสังคม หรือคนรวยเลิกเอาเปรียบ แต่พอกันที การมองอะไรง่ายๆ อย่างคนจนและชนบท = ดี คนรวยและกรุงเทพ = เลว ประเทศไทยยุ่งยากเพราะการตีความบวกลบแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง
จริงๆ ผมคงไม่เกิดอาการธาตุไฟแตกขนาดนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจ มองเห็นความเป็นไป และเปลี่ยนแปลงในโลก อาจารย์ลาวคำหอม ก็ไม่ได้เขียนอะไรแบบ "ฟ้าบ่กั้น" ออกมาอีกแล้ว คุณชาติ กอบจิตติเขียน "คำพิพากษา" นวนิยายวาดภาพชนบทในด้านลบ คุณวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า "มันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม เราไม่อาจชี้หน้าโทษใครได้ ทุกสิ่งย่อมหมุนไปตามโลก...ทุกวันนี้ งานของผมก็หนีไม่พ้นความคิดที่อยากปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น เพียงแต่อยู่ในบริบทของวรรณกรรม ที่ต้องมีความบันเทิง มีพระเอก นางเอก แต่ยังคงมีเรื่องของสิทธิชาวบ้านแฝงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เพ่งไปตรงๆ อย่างยุคของ 14 ตุลาฯ" คนรุ่นตุลาฯ หลายคนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนางานเขียนโฆษณาชวนเชื่อของตัวเอง ให้ใกล้เคียงสภาพ "เหนือกาลเวลา" ยิ่งขึ้น
ต่างจากคนรุ่นใหม่ ที่นับวันยิ่งบูชาวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา ตรงนี้เองที่ทำให้เราหงุดหงิด ทุกวันนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิต มันไม่ได้จะเป็นแค่ "ผลผลิตของกาลเวลา" แล้ว นับวันมันยิ่งกลายสภาพเป็น "กับดักทางวรรณกรรม" เข้าไปทุกขณะ ถ้าคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยังพาตัวเองออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าวรรณกรรมไทยจะพัฒนาไปไหนต่อไหน
เหยี่ยวนรกทะลทราย (โก้วเล้ง)
...ปึงน้อยที่น่าตาย ขณะที่ท่านมองดูสตรี ไฉนมักมีทีท่าตัดไม่ขาดยากสลัดรอน ท่านไฉนมองดูพวกนาง ไฉนไม่ยินยอมมองดูเราให้มากไว้
ถ้าบอกว่าเป็นแฟนโกวเล้งจะมีใครเชื่อไหมนี่ เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกที่เราอ่านของมังกรโบราณ แต่เป็นผลงาน "โนเนม" ชิ้นแรก (คือไม่ได้นำแสดงโดยพระเอกชื่อดังอย่าง ชอลิ้วเฮียง ลี้คิมฮวง เอี๊ยบไค โป้วอังเสาะ เล็กเซียวหง หรือ เซียวฮื้อยี้) พระเอกของเรื่องเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ย ฉายาปึงน้อยที่น่าตาย ฉากของนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่ดินแดนกังหนำ แต่เป็นทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ธรรมชาติอันโหดหิน เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับสงครามชิงแผ่นดินระหว่างปักฉังปานา นักรบชาวธิเบต ฉายาเทพธนูห้าสี "ดอกหนึ่งแข็งแกร่งดั่งทองคำ ดอกหนึ่งอ่อนโยนดุจลมฤดูใบไม้ผลิ ดอกหนึ่งหยาดเยิ้มราวรอยแย้มยิ้ม ดอกหนึ่งร้อนแรงปานเปลวอัคคี ดอกหนึ่งแหลมคมเช่นสว่านเหล็ก" และเทพินทร์ไพบูลย์ ผู้หลงใหลความบริสุทธิ์ของทองคำ
ความน่าสนใจของเหยี่ยวนรกทะเลทราย ซึ่งแตกต่างกับนิยายกำลังภายในเล่มอื่นๆ คือมังกรโบราณค่อนข้างเทบทบาทให้ "ตัวร้าย" อย่างเทพินทร์ไพบูลย์ หลายคราวก็ดูเหมือนฝ่าย "พระเอก" อย่างปักฉังปานาก็เด็ดขาด โหดเหี้ยม อำมหิตไม่แพ้กัน การที่คนดี คนร้ายปะปนคละเคล้าแยกกันไม่ออกถือเป็นเสน่ห์ส่วนตัวของโกวเล้ง ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนอย่างกิมย้ง เคยคุยกับเพื่อน เขาบอกว่าตั้งแต่เด็ก พ่อไม่สนับสนุนให้อ่านโกวเล้ง แต่ชอบให้อ่านกิมย้ง เพราะพ่ออยากสอนให้ลูกชายมีความพยายาม พระเอกโกวเล้งเปิดเรื่องมาก็มักเก่งกาจตั้งแต่ต้น ขณะพระเอกกิมย้งค่อยๆ ไต่เต้า ฝึกปรือวิทยายุทธไปเรื่อย ฟังแบบนี้แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าใจจริงคุณพ่อคงไม่อยากให้ลูกชายสัมผัส "คุณธรรมสีเทา" ตามแบบฉบับมังกรโบราณมากกว่า (ขณะที่ตัวละครกิมย้งมักแบ่งขาว แบ่งดำชัดเจน)
พูดถึงเรื่องพระเอกเก่งตั้งแต่ต้น ความพิเศษอีกประการของเหยี่ยวนรกทะเลทรายคือปึงอุ้ยไม่ใช่พระเอกโคตรเก่งอย่างลี้คิมฮวง หรือชอลิ้วเฮียง ถึงจะฝึกปรือวิชากระบี่ แต่จวบจนจบเรื่องก็เก่งแค่ระดับกลางๆ เท่านั้น
โกวเล้งยังคงผนวกปรัชญาเซนกับการต่อสู้ ได้อย่างหมดจดงดงามเช่นเคย "สงบสยบเคลื่อนไหว" คำพูดสุดฮิตซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากมังกรโบราณ ฉากที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือช่วงท้ายๆ เรื่องเมื่อเทพินทร์ไพบูลย์ส่งสามนักฆ่า หมายเลขสาม สิบสาม และสามสิบสาม ไปสังหารปึงอุ้ย ความสุดยอดของฉากนี้ถือเป็นอีกมณีชิ้นเอกในผลงานของโกวเล้งก็ว่าได้
สิ่งหนึ่งซึ่งผู้เขียนเข้าใจเป็นอย่างดี คือการต่อสู้ในนิยายไม่ได้สำคัญว่าจะประมือกันอีท่าไหน พระเอก ผู้ร้ายใช้ท่วงท่า กลยุทธ์ หรือสติปัญญาเพียงใด สิ่งสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ซึ่งค่อยๆ นำไปสู่ฉากไคลแมกซ์ต่างหาก ถ้าคนเขียนสามารถสร้างอารมณ์ได้สุดขีดจริงๆ บางครั้งแลกอาวุธกันเพียงพริบตา ก็สนุกสนานน่าตื่นเต้นกว่าบรรยายยืดยาวสามสี่ห้าหน้าเป็นไหนๆ (ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านฤทธิ์มีดสั้น จะรู้ว่าฉาก "ไคลแมกซ์" ระหว่างลี้กิมฮวง และซัวกังกิมฮ้ง เหนือชั้น สูงสุดคืนสู่สามัญแค่ไหน )
เหยี่ยวนรกทะเลทรายไม่ได้ไร้ซึ่งจุดอ่อนโดยสิ้นเชิง หลายตอน อ่านดูก็พอรู้ว่ามังกรโบราณท่านด้นสด เขียนไปมั่วไป อย่างป๊กเอ็งตัวละครสำคัญในครึ่งแรกของเรื่อง พอมาถึงครึ่งหลังหายสาบสูญไปเฉยๆ บ้างก็อาจคาดเดาได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ป๊กเอ็งนั่นแหละ เป็นอีกภาคหนึ่งของเทพินทร์ไพบูลย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกในนิยายโกวเล้ง บางครั้งเพื่อนกลับกลายเป็นศัตรู คู่อาฆาตแค้นที่เพิ่งต่อสู้เมื่อสองสามหน้าก่อน มาบัดนี้กลับเป็นมิตรสหายคู่ใจ
อ่านนิยายโกวเล้ง ก็เหมือนย่ำเท้าลงลำธาร คนเราไม่อาจเหยียบผิวน้ำซ้ำซากได้ฉันใด นิยายของโกวเล้งแปรรูปไปได้ฉันนั้น
หมายเหตุ: เรียงลำดับนิยายของโกวเล้งที่ชอบที่สุดห้าเรื่องแรก
1) ฤทธิ์มีดสั้น
2) ชอลิ้วเฮียง ตอนกวนอิมศิลา
3) จอมดาบหิมะแดง (ฤทธิ์มีดสั้น ภาคสุดท้าย)
4) ชอลิ้วเฮียง ตอนถล่มวังค้างคาว
5) เหยี่ยวนรกทะเลทราย
V. Wolfe's "Mrs. Dalloway"
เห็นประโยชน์ของการเขียนบลอควิจารณ์วรรณกรรมก็วันนี้แหละ อย่างน้อยๆ มันก็บังคับให้เราอ่านหนังสือที่อยากวางเต็มแก่ได้จนจบเล่ม
เวอจิเนียร์ วูลฟ์เป็นนักเขียนในกลุ่มโมเดิร์นนิส เช่นเดียวกับเจม จอยซ์ และวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ สารภาพตามตรงว่าจนบัดนี้ผมยังอ่านงานของพวกเขาไม่รู้เรื่อง คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักวูลฟ์จากหนังเรื่องดิอาวเวอร์ ซึ่งจริงๆ ก็คือมิสซิสแดโลเวย์ที่ถูกนำมาดัดแปลงใหม่นั่นเอง
มิสซิสแดโลเวย์เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง จัดงานปาร์ตี้ ชักชวนคนใหญ่คนโตในแวดวงสังคมลอนดอนมาเพื่อเป็นเกียรติแก่สามีเธอ เหตุการณ์ทั้งเล่มเกิดขึ้น และจบลงภายในวันเดียว แม้จะมีภาพแฟลชแบคเป็นระยะๆ อันที่จริงคาริสซ่า แดโวเวย์มีบทบาทน้อยมากในหนังสือ ตัวละครต่างๆ ผ่านเข้าออก ผลัดเวียนกันมาเป็น "ตัวเอก" ของเรื่อง วูลฟ์ใช้มุมมองแบบพระเจ้า เล่าเรื่องผ่านสายตาทุกตัวละคร บางครั้งก็สับเปลี่ยนมุมมองบรรทัดต่อบรรทัดรวดเร็วจนคนอ่านตั้งตัวไม่ติด
วูลฟ์เคยเกริ่นนำไว้ ก่อนเขียนนิยายเล่มนี้ว่า เธออยากแต่งหนังสือสักเล่ม ซึ่งหลุดจาก genre ต่างๆ อยากให้คนอ่านกระโดดเข้าไปในโลกของหนังสือเธอด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คาดเดา หรือคาดหวังใดๆ ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จตรงจุดนี้ ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมิสซิสแดโลเวย์ คือเหมือนแหวกว่ายอยู่ในทะเลตัวอักษร ไม่รู้ว่าทิศไหนล่าง ทิศไหนบน ผู้อ่านไม่สามารถทายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ใครคือ "พระเอก" ใครคือ "ผู้ร้าย" ตัวประกอบที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ดีๆ ตัวไหนจะกลายมาเป็นจุดสนใจของเรื่อง ตรงนี้เองทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเองอ่านหนังสือเล่มนี้ "ผิดวิธี" หรือเปล่า ถ้านิยายไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อพาคนอ่านไปถึงอีกฝั่ง แต่เพื่อความสนุกสนานในการแหวกว่าย บางทีเราควรเลือกอ่านอย่างช้าๆ วันละสิบ ยี่สิบหน้า แทนที่จะตะลุยอ่าน สองวันจบ
ผมไม่ได้ถึงกับไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ ยอมรับว่ามีความงดงามซ่อนอยู่ในหลายจุด เช่นฉากที่สามีคาริสซา นำดอกไม้มามอบให้แก่เธอ หรือฉากที่เซปติมุสผู้เศร้าสร้อย ซ่อมแซมหมวกกับภรรยา ชอบที่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของความเศร้า แต่ไม่ใช่เหตุแห่งความเศร้า วูลฟ์เล่าเพียงผ่านๆ เหตุความทุกข์ของตัวละคร ใช้เวลาส่วนใหญ่อุปมา อุปมัย แปรเปลี่ยนปั้นความทุกข์นั้นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา
ชอบที่สุดคือมุมมองของมิสซิสแดโลเวย์ที่มีต่องานปาร์ตี้ คาริสซ่ารู้สึกเหมือนตัวเองมีหน้าที่จัดการให้คนแปลกหน้าสองคนจากต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งอาจไม่มีวันได้รู้จักกันบนท้องถนน พบปะกันเป็นครั้งแรกในบ้านของเธอ เพราะเราเองก็ต้องทำหน้าที่นี้บ่อยๆ เลยเข้าใจถึงสภาพที่หญิงสาวกังวลอยู่ตลอดเวลา งานปาร์ตี้ประสบความสำเร็จดีหรือเปล่า แขกเงียบกันเกินไปไหม จะต้องเชิญใครมาบ้าง การที่แคริสซ่าแปรสภาพตัวเองเป็นหัวใจ และเลือดเนื้อของงาน ทำให้หญิงสาวสูญเสียตัวตน ความเป็นมนุษย์ไป ปล่อยให้คนรักเก่าสองคนนั่งพูดคุยย้อนอดีตกันเอง ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ (หรือแอนไทไคลแมกซ์) ของหนังสือที่น่าสนใจทีเดียว
สักวันหนึ่ง คงได้อ่านนิยายเล่มอื่นของวูลฟ์ เมื่อถึงตอนนั้นอาจเข้าใจมิสซิสแดโลเวย์ดีขึ้น
A. Burgess's "Inside Mr. Enderby"
อ่านล้วงลึกเอนเดอบี้จบ นั่งคิดนอนคิด กลิ้งตัวสองตลบ ก็ยังตอบไม่ถูกว่าเบอกัสต้องการสื่ออะไร นี่คือนิยายเสียดสีสังคมยุคใหม่ สะท้อนความไร้สาระของชีวิต บทไว้อาลัยกวีนิพนธ์ ตั้งคำถามอัตลักษณ์แห่งปัจเจกชน แสดงให้เห็นเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอัจฉริยะและคนบ้า หรือเย้ยหยันหยอกล้อไฮซ้อไฮโซ ที่แน่ๆ ล้วงลึกเอนเดอบี้คือหนังสือชวนหัวที่สุดเล่มหนึ่ง อารมณ์ขันแบบเบอกัสไม่ใช่หาอ่านได้ดาดดื่น ก็แน่นอนล่ะ เพราะเขาคือผู้เขียนคลอคเวิร์คออเรนจ์ (ฟันเฟืองสีส้ม) และดิอันวอนเตดซีด (เมล็ดไม่ปรารถนา) ในเมล็ดไม่ปรารถนา ประชากรจะล้นโลกอยู่รอมร่อ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ผู้ชายหันมาเป็นเกย์ พระเอกถูกสวมเขาโดยพี่ชาย ซึ่งแสร้งทำเป็นกระเทย เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การเมือง
ถ้าโกวเล้งได้อ่านหนังสือของเบอกัส คงอุทานออกมาว่า "หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก!"
ล้วงลึกเอนเดอบี้เล่าเรื่องของกวีวัยทอง ผู้มีนิสัย และพฤติการณ์ผิดแผกมนุษย์มนา นายเอนเดอบี้อาศัยอยู่ในห้องพักซอมซ่อ ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเขียนบทกวีบนโถส้วม อ่างอาบน้ำของหมอเต็มไปด้วยกลอนเก่าๆ กองพะเนินเทินทึก เอนเดอบี้รังเกียจการเข้าสังคม เมื่อได้รับเชิญไปงานแจกรางวัล หมอต้องไปยืมชุดสูทคนขายเนื้อ โดยสัญญาว่าจะเขียนกลอนช่วยจีบสาวชงเหล้าให้ หารู้ไม่ว่าแม่คุณเธอมีสามีอยู่แล้ว เป็นนักปรัชญาคอมมิวนิสต์ผู้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง ฟังแค่นี้ก็ชุลมุนชุลเกจะแย่แล้ว นี่ยังไม่ได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของความฮาเลยด้วยซ้ำ
ตัวละครชายขอบ สติเฟื่องปรากฏตัวหลายครั้งในวรรณกรรมตะวันตก ที่มีชื่อเสียงสุดคงหนีไม่พ้นอิคเนเชียส แห่งเดอะคอนเฟดเดอเรซี่ออฟดันซ์ (สมาพันธ์คนเขลา) อันที่จริงเอนเดอบี้ก็มีหลายอย่างคล้ายคลึงอิคเนเชียส ทั้งคู่เป็นนักเขียน ไส้แห้งแต่อ้วนฉุ กระเพาะมีปัญหา และที่สำคัญคือติดแม่ ปมระหว่างเอนเดอบี้และแม่เลี้ยงรุนแรงถึงขนาดว่า กวีมองเห็นผู้หญิงทุกคนเป็นกระจกสะท้อนภาพของนาง ชีวิตเอนเดอบี้ป้วนเปี้ยน วนเวียนอยู่กับสตรีเพศ สิ่งมีชีวิตซึ่งเขาปราศจากความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นภรรยาชั่วคราว บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นผู้เฉิดฉายและโด่งดัง (แค่คิดภาพสองคนนี้อยู่ในห้องเดียวกันก็ฮาแล้ว) กระทั่งเทพเจ้าแห่งบทกวี สำหรับเอนเดอบี้ ยังเป็นเพศเมียเลย
เคยมีคนพูดไว้ว่าในความน่าสมเพชมักมีความน่ารักปนอยู่เสมอ คงไม่มีผู้อ่านคนใด จินตนาการตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเอนเดอบี้ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย เสน่ห์ของตัวละครประเภทนี้อยู่ที่เราสามารถหัวเราะ และเย้ยหยันเขาได้พร้อมๆ กัน เบอกัสเองก็คงติดอกติดใจนักเขียนสติเฟื่องคนนี้อยู่ไม่น้อย ถึงได้แต่งนิยายเอนเดอบี้ต่อมาอีกสามภาค
ล้วงลึกเอนเดอบี้จบได้อย่างฮากลิ้ง และน่าขนลุก ไม่เสียพะยี่ห้อเบอกัส ฮากลิ้งและน่าขนลุกเป็นยังไงนะรึ เรื่องนั้น...คงต้องทิ้งให้อ่านกันเองแหละนาย
H. Hesse's "Narcissus and Goldmund"/"Steppenwolf"
เช่นเดียวกับนิยายเรื่องอื่นๆ ความขัดแย้งระหว่างไดโอนิซุส และอพอลโลยังคงเป็นประเด็นหลักในนาซิซัสและโกลมุนด์ คงไม่มีตัวละครใดของเฮสเสเผชิญโลกอันโหดร้ายเท่ากับโกลมุนด์ นี่ไม่การเดินทางด้วยจิตวิญญาณอิสระ หรือเพื่อศึกษาหาความรู้ แต่เป็นการธุดงค์เข้าไปยังแก่นแท้ความมืดดำในสันดานมนุษย์ โกลมุนด์เบื่อหน่ายชีวิตของสถานศึกษา เขาหลบหนีจากอาศรม ออกแสวงโชคในโลกกว้าง ชายหนุ่มตั้งตัวเองเป็นนักรัก เดินทางเพื่อแจกจ่ายสวาทให้หญิงสาวทุกคน ทุกหมู่บ้าน กาลต่อมา เขาถึงได้เรียนรู้รสชาติความริษยาของสตรีเพศ ซึ่งเกือบเป็นเหตุให้เจ้าตัวเอาชีวิตไม่รอด
ทุกอย่างซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตโกลมุนด์ เหมือนจะย้ำเตือนว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความโหดร้าย เช่นโรคระบาดซึ่งเช่นคร่าชีวิตคนทั้งหมู่บ้าน ความบ้าคลั่งของฝูงชนที่รุมกระหน่ำสังหารชาวยิว (เฮสเสเขียนนาซิซิสและโกลมุนด์ ช่วงเดียวกับที่พรรคนาซีเริ่มยึดครองอำนาจในเยอรมัน) กระทั่งตัวละครอย่างช่างแกะสลัก ซึ่งเหมือนจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ (นิยายของเฮสเสชอบมี "ปรัชญาเมธี" โผล่ออกมาชี้แนวทาง สั่งสอนตัวเอก) สุดท้ายชายหนุ่มก็มองศิลปะเป็นแค่ความไร้สาระ หนทางไต่เต้าไปสู่ความมั่งคั่งอันน่าเหยียดหยาม
นาซิซัสและโกลมุนด์ยังเป็นนิยายเรื่องแรกของเฮสเส ซึ่งตัวละครได้สัมผัสความแก่ชรา โกลมุนด์ไม่ได้มีวัยหนุ่มนิรันดรแบบคนุลป์ ในตอนท้ายๆ เรื่อง เขาเริ่มรู้สึกถึงความอ่อนแอ แห้งเหี่ยวในกาย และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้เขาพลาดรักผู้หญิงเพียงคนเดียวซึ่งเขาปรารถนาจะครอบครองอย่างจริงๆ จังๆ
ตรงข้ามกับโกลมุนด์ คือนาซิซัส ครูหนุ่ม และเพื่อนสนิทผู้อาศัยอยู่แต่ในสถานศึกษาชั่วชีวิต ไม่ต้องสงสัยว่านาซิซัสคือตัวแทนของอพอลโล เขาเป็นผู้เปิดโลกทัศน์วัยเยาว์ให้แก่เด็กหนุ่ม ซ้ำยังเป็นคนสนับสนุนให้โกลมุนด์หนีออกจากวัด และในตอนท้าย ก็เป็นคนคอยซับบาดแผล ดูแลร่างกายอันแตกหักยับเยิน หลังอีกฝ่ายใช้ชีวิตสมบุกสมบันในโลกกว้าง ชีวิตของนาซิซัส ถ้าเทียบกับโกลมุนด์แล้วราบเรียบ สงบนิ่งจนคนอ่านสงสัยไม่ได้ว่าเขามีความสุขแน่หรือ
เป็นการยากที่จะสรุปว่าเฮสเสเขียนนาซิซัสและโกลมุนด์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดใดกัน ระหว่างอพอลโล และไดโอนิซุส ทางเลือกหนึ่งคือตำรับตาราเรียนอันน่าเบื่อหน่าย แต่อีกทางหนึ่งก็คือความโหดร้ายของโลกกว้าง คงมีแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่จะตัดสินใจเองได้
สเตปเปนวูลฟ์เป็นนิยายเรื่องเดียวของเฮสเสที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง กระนั้นไม่ได้หมายความว่าปมไดโอนิซุสไม่ได้ปรากฏในเรื่อง ไดโอนิซุสคือเทพเจ้าแห่งสุรา ดังนั้นนอกจากการผจญภัย ไดโอนิซุสยังเป็นตัวแทนแห่งการเฉลิมฉลอง
ถ้าเอมิล ซินแคล (ตัวเอกจากเรื่องเดเมียน) มีชีวิตอยู่รอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาคงเติบโตมาเป็นสเตปเปนวูลฟ์ หมาป่ายะโสผู้โดดเดี่ยว สเตปเปนวูลฟ์คือเรื่องเล่าของแฮรี่ ฮาลเลอร์ (ตัวย่อเอชเอช เหมือนเฮอมัน เฮสเส) ฮาลเลอร์เป็นนักวิชาการชรา ผู้รังเกียจ ชิงชังตัวเองมากกว่าสิ่งใดในโลก ("การรังเกียจตัวเองนั้น คือรูปแบบหนึ่งของความหยิ่งผยอง เพราะมีแต่คนหลงตัวเองเท่านั้น รู้สึกว่าตนมีคุณค่าพอให้เกลียดชัง") เขาอุทิศทั้งชีวิตให้แก่อพอลโล จนเมื่อมาถึงบั้นปลาย ได้พบเออไมน์ สตรีปริศนาซึ่งสอนให้เขารู้จักการเต้นรำ ดนตรีแจ๊ส และการเสพสุขแบบไดโอนิซุส
ในแง่หนึ่งเออไมน์อาจเป็นเทพธิดาผู้นำพาความสุขมาให้ฮาลเลอร์ เขากลายเป็นนักเต้นรำ มีสัมพันธ์สวาทกับสาวสวย (ซึ่งเออไมน์เป็นคนแนะนำให้เขารู้จัก) แต่อีกทางหนึ่ง ฮาลเลอร์ตระหนักดีว่าโลกใหม่นี้ เต็มไปด้วยกิเลศ ตัณหา และความมืดบอด
สเตปเปนวูลฟ์เสมือนจะตอบคำถามซึ่งค้างคาอยู่ในนาซิซัสและโกลมุนด์ เฮสเสหลงใหลการดำเนินชีวิตแบบนักผจญภัย กระนั้นความโหดร้ายของสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่าโลกใบนี้มีคุณค่าพอให้ออกไปสำรวจขนาดนั้นเชียวหรือ (เหมือนกับที่นาซิซัสถามตัวเอง ทุกครั้งที่โกลมุนด์เลียบาดแผล กลับมาพักรักษาตัวในอาศรม) สเตปเปนวูลฟ์นอกจากจะเป็นนิยายที่ยอมรับความโหดร้ายของโลกแล้ว ยังถามกลับไปอย่างเย้ยหยันว่า "แล้วไงล่ะ" ถ้าโลกนี้ปราศจากกิเลศ ตัณหา ความสุขเล่าจะไปอยู่หนใด เท่าที่ชีวิตยังมีลมหายใจ คนเราควรจะเต้นรำ มัวเมาเสียงดนตรี และดื่มดำไปกับความสวยงามของโลก
ตอนท้ายเรื่อง การผจญภัยของฮาลเลอร์ในคฤหาสน์แห่งความฝัน คือต้นแบบงานเขียนแนวเหนือจริง ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากในวรรณกรรมตะวันตกช่วงหลังศตวรรษที่ยี่สิบ ถ้าความฝันต่างจากความจริงเพียงเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกกันว่าหนังตา ท้ายที่สุดอพอลโล และไดโอนิซุสก็คงเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกันเท่านั้นเอง
H. Hesse's "Knulp"/"Siddhartha"
วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศ มาพูดถึงชีวิตนักประพันธ์ แทนที่จะเป็นผลงานเดี่ยวๆ บ้างดีกว่า อยากเขียนรวมบทวิจารณ์ผลงานของเฮสเสมานานแล้ว ติดแต่ว่ายังไม่ได้อ่านปีเตอร์ คาเมซิน (นิยายเล่มแรก) และเกมลูกแก้ว เลยรู้สึกขาดๆ แหว่งๆ ยังไงชอบกล เอาเถอะไหนๆ ก็ถือว่าอ่านนิยายหลักของแกเกือบครบทุกชิ้น
ชีวิต และปรัชญาของเฮสเสน่าจะเป็นตัวอย่างอันดี ของผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปมอพอลโล และไดโอนิซุส เคยพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ไปแล้วในบทวิจารณ์เบล แคนโต้ สรุปง่ายๆ อพลอลโลคือตัวแทนความรู้ การศึกษา และไดโอนิซุสคือนักผจญภัย ผู้แสวงหาความสุขในโลกกว้าง คนุลป์เป็นตัวแทนวัยหนุ่ม สมัยเฮสเสยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงไดโอนิซุส คนุลป์คือนักผจญภัยผู้ล่องลอยไปกับสายลม มีเพื่อนๆ อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าบ้านหลังไหนก็ให้การต้อนรับขับสู่ชายหนุ่มเป็นอย่างดี โดยผิวเผินชีวิตคนุลป์เหมือนจะเปี่ยมสุข น่าอิจฉา แต่เฮสเสก็แฝงความเหงาหงอยเอาไว้ด้วย บางครั้งชายหนุ่มเปิดเผยกับคนใกล้ชิดว่าเขาอยากมีบ้านให้ปักหลัก อีกหนคนุลป์แย้มพรายอดีตอันแสนเศร้าของตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง
วรรคทองจากคนุลป์ซึ่งหลายคนอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัวคือ "ในความงามมักมีความเศร้าเสมอ ดอกไม้สวยได้ เพราะเรารู้ว่าอีกไม่นานมันจะแห้งเหี่ยว ความหยาดเยิ้มของสาวแรกรุ่น อยู่ที่เราตระหนักว่าความเยาว์คงอยู่ได้เพียงชั่วอึดใจ ไม่นานก็แห้งเหี่ยวแก่ชรา" ถ้าใครอ่านสิงห์สาโท จะเห็นคุณวัฒน์เอาประโยคนี้มาใช้ อีกวรรคหนึ่งซึ่งเด็ดไม่แพ้กันคือ "ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมระรวย และเมล็ดพันธุ์ เพราะมันอยากใกล้ชิดกันและกัน หากแต่ไม่มีแขนขาให้ขยับเขยื้อนไปไหน กระนั้นดอกไม้ไม่อาจบังคับเมล็ดพันธุ์ล่องลอยไปตกตามที่ต้องการ นั่นคือหน้าที่ของลม และลมมาเยือน จากไปตามแต่ที่มันต้องการ"
โดยรวม ชีวิตคนุลป์ไม่ถึงกับเศร้าสร้อยเกินไปนัก อดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิถีอิสระแบบที่ผู้เขียนต้องการ ยิ่งประกอบกับผลงานชิ้นก่อนๆ อย่างใต้กงล้อ และรอสฮัน ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสนับสนุนให้คนเราออกเดินทางไปในโลกกว้าง
คนุลป์ตีพิมพ์ปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉาก ผลงานเล่มถัดไปคือเดเมียนทิ้งช่วงสี่ปี อิทธิพลความโหดร้ายของสงครามส่งผลให้เฮสเสเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมาทางอพอลโลมากยิ่งขึ้น
สิทธัตถะคือผลงานที่โด่งดังที่สุดของเฮสเส ผู้เขียนใช้ธีมการค้นหาสัจธรรม ธีมเดียวกับในเดเมียน แต่เปลี่ยนฉากมาเป็นประเทศอินเดีย และผนวกพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง สิทธัตถะก็เหมือนเดเมียน คนหนุ่มผู้ไม่พึงพอใจสภาพรอบตัว การสั่งสอนของอาจารย์ แม้หัวหน้าพราหมณ์ตั้งความหวังให้เขารับช่วงดูแลลัทธิต่อจากตัวท่าน ท้ายสุดชายหนุ่มสละลาภยศ ออกเดินทางตามหาพระพุทธเจ้า การพบปะกันระหว่างตถาคตและสิทธัตถะ ลงเอยที่ชายหนุ่มปลงใจยอมรับคำสั่งสอนของศาสดา แต่สัจธรรมของตัวเขา เขาจะต้องออกไปเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเอง (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับของเดเมียน)
วรรคทองจากสิทธัตถะที่จำขึ้นใจจนบัดนี้คือ "สิทธัตถะเสมือนก้อนหินหล่นลงสู่แม่น้ำ อาจจะถึงก้นช้า อาจจะถึงก้นเร็ว แต่ก้อนหินย่อมจมลงสู่เบื้องล่างเสมอ และไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการตกของหินได้"
สิทธัตถะน่าจะเป็นนิยายอันเกิดจากการคลี่คลายปมอพอลโล ไดโอนิซุสในตัวเฮสเสไปอีกเปลาะหนึ่ง การที่สิทธัตถะปฏิเสธเข้าร่วมหมู่พระสาวก ก็เหมือนคนุลป์ผู้ชื่นชอบอิสระเสรี ต่างแต่การท่องเที่ยวของคนุลป์คือการเดินทางตามสายลม หากสิทธัตถะมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความรู้ เสมือนเฮสเสต้องการบอกผู้อ่านว่าไม่มีหนทางใดจะนำไปสู่ปัญญา (อพอลโล) ได้ดีเท่าการออกผจญภัย (ไดโอนิซุส)
ธีมตรงนี้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในนาซิซัส และโกลมุนด์ ไว้คุยกันต่อคราวหน้าครับ
ชีวิต และปรัชญาของเฮสเสน่าจะเป็นตัวอย่างอันดี ของผู้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างปมอพอลโล และไดโอนิซุส เคยพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ไปแล้วในบทวิจารณ์เบล แคนโต้ สรุปง่ายๆ อพลอลโลคือตัวแทนความรู้ การศึกษา และไดโอนิซุสคือนักผจญภัย ผู้แสวงหาความสุขในโลกกว้าง คนุลป์เป็นตัวแทนวัยหนุ่ม สมัยเฮสเสยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงไดโอนิซุส คนุลป์คือนักผจญภัยผู้ล่องลอยไปกับสายลม มีเพื่อนๆ อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าบ้านหลังไหนก็ให้การต้อนรับขับสู่ชายหนุ่มเป็นอย่างดี โดยผิวเผินชีวิตคนุลป์เหมือนจะเปี่ยมสุข น่าอิจฉา แต่เฮสเสก็แฝงความเหงาหงอยเอาไว้ด้วย บางครั้งชายหนุ่มเปิดเผยกับคนใกล้ชิดว่าเขาอยากมีบ้านให้ปักหลัก อีกหนคนุลป์แย้มพรายอดีตอันแสนเศร้าของตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง
วรรคทองจากคนุลป์ซึ่งหลายคนอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัวคือ "ในความงามมักมีความเศร้าเสมอ ดอกไม้สวยได้ เพราะเรารู้ว่าอีกไม่นานมันจะแห้งเหี่ยว ความหยาดเยิ้มของสาวแรกรุ่น อยู่ที่เราตระหนักว่าความเยาว์คงอยู่ได้เพียงชั่วอึดใจ ไม่นานก็แห้งเหี่ยวแก่ชรา" ถ้าใครอ่านสิงห์สาโท จะเห็นคุณวัฒน์เอาประโยคนี้มาใช้ อีกวรรคหนึ่งซึ่งเด็ดไม่แพ้กันคือ "ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมระรวย และเมล็ดพันธุ์ เพราะมันอยากใกล้ชิดกันและกัน หากแต่ไม่มีแขนขาให้ขยับเขยื้อนไปไหน กระนั้นดอกไม้ไม่อาจบังคับเมล็ดพันธุ์ล่องลอยไปตกตามที่ต้องการ นั่นคือหน้าที่ของลม และลมมาเยือน จากไปตามแต่ที่มันต้องการ"
โดยรวม ชีวิตคนุลป์ไม่ถึงกับเศร้าสร้อยเกินไปนัก อดคิดไม่ได้ว่านี่อาจเป็นวิถีอิสระแบบที่ผู้เขียนต้องการ ยิ่งประกอบกับผลงานชิ้นก่อนๆ อย่างใต้กงล้อ และรอสฮัน ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายสนับสนุนให้คนเราออกเดินทางไปในโลกกว้าง
คนุลป์ตีพิมพ์ปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉาก ผลงานเล่มถัดไปคือเดเมียนทิ้งช่วงสี่ปี อิทธิพลความโหดร้ายของสงครามส่งผลให้เฮสเสเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมาทางอพอลโลมากยิ่งขึ้น
สิทธัตถะคือผลงานที่โด่งดังที่สุดของเฮสเส ผู้เขียนใช้ธีมการค้นหาสัจธรรม ธีมเดียวกับในเดเมียน แต่เปลี่ยนฉากมาเป็นประเทศอินเดีย และผนวกพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง สิทธัตถะก็เหมือนเดเมียน คนหนุ่มผู้ไม่พึงพอใจสภาพรอบตัว การสั่งสอนของอาจารย์ แม้หัวหน้าพราหมณ์ตั้งความหวังให้เขารับช่วงดูแลลัทธิต่อจากตัวท่าน ท้ายสุดชายหนุ่มสละลาภยศ ออกเดินทางตามหาพระพุทธเจ้า การพบปะกันระหว่างตถาคตและสิทธัตถะ ลงเอยที่ชายหนุ่มปลงใจยอมรับคำสั่งสอนของศาสดา แต่สัจธรรมของตัวเขา เขาจะต้องออกไปเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเอง (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับของเดเมียน)
วรรคทองจากสิทธัตถะที่จำขึ้นใจจนบัดนี้คือ "สิทธัตถะเสมือนก้อนหินหล่นลงสู่แม่น้ำ อาจจะถึงก้นช้า อาจจะถึงก้นเร็ว แต่ก้อนหินย่อมจมลงสู่เบื้องล่างเสมอ และไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการตกของหินได้"
สิทธัตถะน่าจะเป็นนิยายอันเกิดจากการคลี่คลายปมอพอลโล ไดโอนิซุสในตัวเฮสเสไปอีกเปลาะหนึ่ง การที่สิทธัตถะปฏิเสธเข้าร่วมหมู่พระสาวก ก็เหมือนคนุลป์ผู้ชื่นชอบอิสระเสรี ต่างแต่การท่องเที่ยวของคนุลป์คือการเดินทางตามสายลม หากสิทธัตถะมีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความรู้ เสมือนเฮสเสต้องการบอกผู้อ่านว่าไม่มีหนทางใดจะนำไปสู่ปัญญา (อพอลโล) ได้ดีเท่าการออกผจญภัย (ไดโอนิซุส)
ธีมตรงนี้ปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในนาซิซัส และโกลมุนด์ ไว้คุยกันต่อคราวหน้าครับ
ยิ้มอัปสรในรัตติกาล (แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า)
นี่อาจไม่ใช่บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของแสงศรัทธา ณ ปลายฟ้าเสียทีเดียว เรียกให้ถูก น่าจะเป็นบทไว้อาลัยวัฒนธรรมอินดี้ในแวดวงวรรณกรรมเสียมากกว่า
ผมได้สัมผัสหนังสือทำมือครั้งแรกเมื่อประมาณสิบปีก่อน น้องกลุ่มหนึ่งยืนแจกปึ๊งเอกสารซีรอคกระดาษเอสี่ หน้าร้านขายการ์ตูนสยามสแควร์ ตอนแรกนึกว่าเป็นใบปลิวโฆษณา หยิบมาพลิกดูถึงรู้ว่านี่คือนิตยสารการ์ตูนคนไทยวาด ครั้งที่สองคือตอนไปเที่ยวงานแฟตกับเพื่อน ปีนั้นจัดที่โรงงานยาสูบ นอกจากฉายภาพยนตร์นักศึกษา ก็มีเด็กๆ ปูเสื่อขายเทปทำเอง และหนังสือทำมือ
หนังสือทำมือบูมสุดๆ คือเมื่อประมาณห้าหกปีที่แล้ว ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งพัฒนาไปไกล ขนาดคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วยังสามารถแต่งกราฟฟิคสวยๆ พิมพ์ปกดีๆ ออกมาได้ ช่วงเดียวกันกับที่นิตยสารอะเดย์เพิ่งก่อตั้ง สร้างปรากฏการณ์ให้กับแวดวงสิ่งพิมพ์ สองปีถัดมาซีพีจัดงานประกวดเซเวนบุ๊คอวอร์ด เปิดโอกาสให้นักเขียนสมัครเล่น ส่งต้นฉบับ ซึ่งยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ ถือเป็นซีไรต์รุ่นเล็กสำหรับคัดเลือกดาวจรัสแสง ประกอบกับวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ต เวปไซต์วรรณกรรม ไดอารี่ออนไลน์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น นักอยากเขียนซึ่งยังไม่มีเรื่องสั้นมากพอ สามารถรวมกลุ่มตีพิมพ์ผลงาน (ทำมือ) ออกสู่สายตาประชาชน
ผ่านมาห้าปีแล้ว ขณะนี้หนังสือทำมือไปอยู่ที่ไหน ร้าน underground ชั้นสามโรงหนังสยามปิดตัว เหลือแค่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เซเวนบุ๊คอวอร์ดเปลี่ยนกติกา รับเฉพาะหนังสือซึ่งผ่านสำนักพิมพ์ อะเดย์กลายเป็นองค์กรใหญ่ ห่างไกลจากสภาพดั้งเดิมของมันไปทุกขณะ หนังสือทำมือไม่ได้สร้างชาติ กอบจิตติ พญาอินทรี หรือวาณิช จรุงกิจอนันต์คนที่สอง สิ่งเดียวซึ่งงอกเงยออกมาคือสำนักพิมพ์เปิดใหม่แปดล้านห้า ผู้ผลิตหนังสือตาหวานปกเกาหลี หรือหนังสือแฉ กลุ่มวรรณกรรมที่ตั้งๆ กันมา สุดท้ายก็เบื่อเลิกร้างไป หรือไม่ก็ทะเลาะเบาะแว้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าต่อให้ไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง คนเราก็สามารถขัดแย้งกันได้ด้วยอัตตา ถ้าถามสาเหตุความซบเซาของหนังสือทำมือ เกจิในวงการก็ดีแต่โทษโรคเบื่อง่ายแบบพี่ไทย
แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ถึงจะเป็นนักเขียนใหม่ เพิ่งออกรวมเรื่องสั้นเล่มแรก แต่ถ้าใครคลุกคลี ในวงการหนังสือทำมือ และเวปไซต์วรรณกรรม คงเคยได้ยินชื่อเขามาบ้าง ผมพยายามตามหาอ่านยิ้มอัปสรในรัตติกาลฉบับทำมือ แต่ไม่เคยสำเร็จ จนได้รู้ว่าบัดนี้สำนักพิม์นกฮูกตีพิมพ์ออกวางขายตามท้องตลาดแล้ว รู้สึกยินดีมาก ซื้อมาตั้งแต่แรกเห็นเลย (ปกสวยเสียด้วย)
อ่านจบ ก็ตระหนักขึ้นมาทันที ทำไมหนังสือทำมือถึงไปไหนไม่รอด ในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ แสงศรัทธาฯ ทำงานได้ยอดเยี่ยม ภาษาซึ่งใช้เขียนยิ้มอัปสรฯ สวยงาม การดำเนินเรื่องลื่นไหล ไม่ติดขัด ในทางกลับกัน ถ้ามองแสงศรัทธาฯ ในฐานะ "ลูกพี่" แห่งแวดวงหนังสือทำมือ พูดได้คำเดียวว่าน่าผิดหวัง ยิ้มอัปสรฯ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ค่อนข้างตื้นเขิน ปราศจากความคิดอันโดดเด่น ไม่สะดุดตา ไม่ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนอ่าน ฉากแทบทุกเรื่องเป็นกรุงเทพแห่งห้วงคำนึง คือเมืองซึ่งถูกสร้างในจินตนาการ อ่านจบแล้วไม่อาจสัมผัสสภาพความเป็นจริงใดๆ
จุดด้อยสุดของยิ้มอัปสรฯ คือผู้เขียนตั้งใจเล่าเรื่องแต่งจนเกินเหตุ คนอ่านสัมผัสไม่ได้ถึงตัวตนของเขา ไม่รู้สึกว่านี่คือหนังสือซึ่งถูกเขียนโดยมือมนุษย์ มีเลือดมีเนื้อมีหนัง ตัวตนซึ่งเอ่อล้นในหนังสืออาจจะน่ารำคาญ แต่สำหรับแสงศรัทธา เขาน่าจะสามารถขุดค้นความเป็นตัวเอง ถ่ายทอดในผลงานชิ้นต่อไปได้มากกว่านี้
ยิ้มอัปสรฯ คือตัวอย่างความล่มสลายของแวดวงหนังสือทำมือ ผลงานวรรณกรรมซึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ ที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาเขียน โดยไม่ยอมอ่านหนังสือ ไม่ยอมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ตอนนี้แสงศรัทธาฯ ก็ได้มีรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์เป็นของตัวเอง อย่างน้อยในเรื่องภาษา และการเล่าเรื่องก็ถือว่าเจ้าตัวสอบผ่าน เขาน่าจะสามารถก้าวต่อไปได้ในฐานะนักเขียนเต็มตัว
แต่อย่าลืมว่าบททดสอบของมืออาชีพนั้น โหดหินยิ่งกว่าการรวมกลุ่มวรรณกรรม แปะเรื่องสั้นตามอินเตอร์เน็ต หรือพิมพ์หนังสือทำมือนัก
Subscribe to:
Posts (Atom)