R. Harris' "Imperium"

ในปี 2008 เมื่อบารัค โอบามาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศอเมริกา มีเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งซึ่งมีความหมายมากสำหรับเรา ในช่วงแข่งขันคัดผู้สมัครพรรคเดโมแครตระหว่างฮิลลารี คลินตัน และบารัค โอบามา หนหนึ่งคลินตันปราศรัยโดยกล่าวถึง "unsung hero" (วีรบุรุษผู้ถูกลืม) ในที่นี้คือนักการเมืองผู้หนึ่งซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ในการขับเคลื่อนกฏหมายที่นำไปสู่ความเท่าเทียมกันระหว่างคนดำและคนขาวในอเมริกา

เท่านั้นแหละ นี่เป็นอีกปราศรัยหนึ่งของฮิลลาลีที่ถูกประณามมากที่สุด คนอเมริกาส่วนใหญ่มองว่าฮิลลารีไม่ยอมให้เกียรติมาติน ลูเธอ คิงก์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนดำผู้ถูกลอบสังหาร (และการตายของคิงก์ ก็คือฉนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฏหมายเหยียดผิวในอเมริกา) ถ้าจากมุมมองทางการเมืองแล้ว คำปราศรัยนี้ของฮิลลาลีคือความล้มเหลว แต่ถ้าจากมุมมองของคนจบกฏหมายจากเยล เราอดสงสัยไม่ได้ว่าฮิลลาลีเสียใจไหมที่พูดแบบนั้นออกไป

ใน Imperium ซิเซโร นักการเมืองโรมันในยุคสาธารณรัฐ (ก่อนคริสตศักราช) ทำมาหมดแล้ว ตั้งแต่ปกป้องไพร่ซิซิลีจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยอำมาตย์โรมัน ปกป้องอำมาตย์โรมันที่ถูกไพร่กูลฟ้องร้อง ผ่านกฏหมายที่เป็นรากฐานของระบบเผด็จการ หยุดยั้งการก่อรัฐประหาร ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ปกป้องคนพาล ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูงของตัวเขาเอง

แต่แล้วมันผิดอะไร ความจริงที่หลายคนไม่ยอมรับก็คือ นักการเมืองและความมักใหญ่ใฝ่สูงของพวกเขาต่างหากคือตัวแปรที่สร้างสรรค์จรรโลงโลกมานับครั้งไม่ถ้วน นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่เลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้สิ่งนั้นจะเป็นภัยต่อตัวเอง แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ ถ้าสถานการณ์อำนวย พวกเขาจะยืนอยู่ข้างประชาชน (ดังนั้นส่วนหนึ่งจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะสร้างสถานการณ์นั้นขึ้นมา)

ส่วนคนที่พลาดพลั้งโอกาสดีๆ โอกาสที่จะกลายเป็นวีรบุรุษ แทกซิทัส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันอธิบายคนพวกนี้ไว้ได้อย่างถูกต้อง "capax imperii, nisi imperasset/เขาช่างดูเหมาะสมจะเป็นจักรพรรดิ จนเมื่อเขาได้ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิจริงๆ "

S. Ray's "Feluda's Last Case"

บางคำถามที่ทำใจไว้แต่แรกแล้วว่าคงไม่มีคำตอบแน่ๆ จู่ๆ คำตอบก็ผุดขึ้นมาเอง ระหว่างที่เรากำลังสงสัยว่า เราชอบนิยายนักสืบเฟลูดาจริงๆ หรือแค่ "เกรงใจ" คนเขียน พอลองค้นข้อมูลในเน็ตก็พบคำตอบ

Feluda's Last Case รวบรวม 7 จาก 35 นิยายสั้น/เรื่องสั้นนักสืบของสัตยาจิต เรย์ (ใช่! สัตยาจิต เรย์) นักสืบเฟลูดาอาจไม่ค่อยมีชื่อเสียงนอกประเทศอินเดียเท่าไหร่ แต่เท่าที่สอบถามครูเกิ้ลดู พบว่าเขาเป็นฮีโร่ในดวงใจเด็กชาวอินเดียอยู่เหมือนกัน (ผลงานกำกับชิ้นสุดท้ายของเรย์คือภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายเฟลูดา ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนังยอดฮิตของเด็กๆ จนปัจจุบัน ลูกชายของเรย์ก็ยังคงสืบทอดผลงานของพ่อโดยการกำกับหนังเฟลูดาออกมาเรื่อยๆ )

โดยผิวเผินแล้ว นิยายเฟลูดามีคุณลักษณะบางประการที่เราไม่นิยมในนิยายนักสืบ (หรือนิยายอะไรก็ตามแต่) มันเต็มไปด้วยบทสนทนา เหตุการณ์เกิดในมณฑลต่างๆ ของประเทศอินเดีย แต่เราแทบไม่รับรู้ฉากหรือสถานที่ผ่านการบรรยายเลย ดูขัดแย้งชอบกลกับนักเขียนที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่ถ้ามองว่านี่เป็นนิยายเด็ก เน้นความสนุกสนาน ต้องขับเคลื่อนพล็อตตลอดเวลา เรย์เขียนนิยายชุดนี้ออกมาได้อย่างพอดิบพอดี

ในส่วนความเป็นนิยายนักสืบ คุณภาพทั้ง 7 เรื่องลดหลั่นกันไป Danger in Darjeeling ที่เป็นเรื่องสั้นเปิดตัวเฟลูดาดีมาก เช่นเดียวกับ The Key แต่ที่สุดยอดคือนิยายสั้น The Mystery of Nayan เรย์แสดงฝีมือการเล่าเรื่องระดับเทพ แตะนิด แตะหน่อย แล้วออกมาลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ (การผสมผสานพลังจิต เรื่องเหนือธรรมชาติลงไปแลดูเป็นเสน่ห์ของนิยายนักสืบโรตีดี)

จุดที่เราชอบที่สุดของนิยายเฟลูดาคือความชาตินิยมแบบกำลังพอดี เรย์เขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อให้เด็กๆ เกิดความรักในประเทศอินเดีย ได้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยว โดยไม่จำเป็นต้องเอาชาวตะวันตกมาป้ายสีเป็นผู้ร้าย ตอกย้ำวาทกรรมอาณานิคมซ้ำซาก หรือการขับความ exotic แบบล้นเหลือ

Moliere's "One-Act Comedies"

หนังสือบางเล่ม อ่านแล้ว ให้ภาพของคนเขียนขึ้นมาอย่างชัดเจนเลย เราอ่านบทละครของโมลิเยครั้งแรกคือเมื่อสักสิบปีที่แล้ว Tartuffe และ The Misanthrope ทั้งสองเรื่องถือเป็นบทละครที่ผ่านการขัดเกลาแล้ว อ่านจบก็เลยนึกไม่ออกว่าโมลิเยเป็นใคร ต่างจากนักเขียนคลาสสิคคนอื่นๆ ที่ตรูต้องอ่าน ต้องเรียน ต้องเขียนเปเปอร์ยังไง แต่กับ One-Act Comedies ภาพของโมลิเยค่อยๆ ชัดขึ้นมา เล่มนี้รวบรวมบทละครสั้นองค์เดียว 7 เรื่องจากทั้งหมด 10 เรื่องที่โมลิเยเคยเขียน (สาเหตุที่ไม่ยอมรวมอีก 3 เรื่อง บรรณาธิการหนังสือออกตัวว่าเพราะเป็นละครเยินยอกษัตริย์ ไม่ได้มีคุณค่าทางวรรณกรรมอะไร)

ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ โมลิเยนี่ก็คือพี่หม่ำ จ๊กมกชัดๆ One-Act Comedies ไม่ใช่ตลกชั้นสูง ตลกชวนคิดอะไรเลย แต่เป็นตลกโป๊งชึ่งดีๆ นี่เอง โมลิเยใช้รูปแบบของ Commedia dell'arte ซึ่งเป็นละครตลกอิตาลี ทุกเรื่องประกอบไปด้วยตัวละครชื่อซ้ำไปซ้ำมา บุคลิกเดิมๆ สี่ห้าตัว (คุณหมอเด็ดโตเร แม่หญิงโคลัมบีน ตัวตลกบันตาโรเน นักดนตรีอเรกิโน นักดาบเอลแคปิตัน) เวลาคณะละคร Commedia dell'arte เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ก็จะปรับเนื้อหาไปเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องแต่งงาน สวมเขา หมอยา skit เด็ดๆ แต่ละมุก ถ้าใช้แล้วเวิร์ค ก็จะถูกวนเวียนมาปรับใช้ในละครเรื่องต่างๆ

One-Act Comedies ของโมลิเยมีกลิ่นของ Commedia dell'arte โชยมาอย่างชัดเจน ตัวละครชื่อเดิม (และเข้าใจว่าคงเป็นนักแสดงคนเดิม) สถานการณ์คล้ายๆ เดิม และถ้า skit ไหนเด็ดจริง โมลิเยก็ไม่อายที่จะเอามารีไซเคิลใช้ในงานชิ้นอื่น ตัวอย่างเรื่องที่ตลกที่สุดในเล่มคือ The Forced Marriage ว่าด้วยผู้ชายอายุ 53 ปีที่กำลังจะแต่งงานกับหญิงสาวแสนซนคนหนึ่ง แต่ก็เริ่มไม่มั่นใจขึ้นมาว่าตัวเองตัดสินใจถูกไหม แต่งแล้วจะโดนสวมเขาหรือเปล่า ก็เลยไปปรึกษาเพื่อนสนิท นักปรัชญาสองคน แล้วก็หมอดูยิปซีอีกสองคน (ฉากหมอดูยิปซีนั้นฮามากๆ หมอดูทำนายว่าแต่งงานแล้วจะมีแต่ "เรื่องดีๆ " เช่น "ภรรยาของท่านจะทำให้ท่านเป็นที่กล่าวขวัญไปทั้งเมือง")

แต่ขณะเดียวกัน นอกจากอาการโป๊งชึ่งไปวันๆ One-Act Comedies ก็แสดงให้เห็นความพยายามที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมา เช่น การเขียนบทละครตลกในรูปแบบของกวี หรือการทำลายกำแพงที่สี่ (ใน The Rehearsal at Versailles โมลิเยและคณะมานั่งซ้อมละครไป เมาท์กันเองไปอยู่ในพระราชวังแวร์ซาย ก่อนจะต้องแสดงละครต่อหน้าพระพักตร์กษัตริย์) แต่ก็แน่นอนละว่า ถ้าพูดถึงความขำแล้ว ยังไงก็สู้เอาถาดมาฟาดกันไม่ได้

S. Bellow's "Henderson the Rain King"

อ่าน Henderson the Rain King จบ แล้วพยายามอดใจไม่ถามครูเกิ้ลว่า ตกลงเผ่าวาริริที่เบลโลเขียนถึง มันมีอยู่จริงหรือเปล่า เบลโลเขียนนิยายเล่มนี้ด้วยบรรยากาศกึ่งจริงกึ่งฝัน เฮนเดอสันเดินทางบุกป่าฝ่าดงตะลุยทวีปแอฟริกา พร้อมด้วยคนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์พูดภาษาอังกฤษติดสำเนียง "ยูซ่า ยูซ่า" แต่พอเข้าไปถึงหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองจริงๆ ดันไปเจอราชาของเผ่าที่พูดภาษาอังกฤษชัดเปรี๊ยะ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าชนเผ่าวาริริเป็นเพียงจินตนาการของเบลโล ก็ต้องยกนิ้วให้เลยว่าพวกประเพณี พิธีกรรมที่ปรากฏในหนังสือ อ่านแล้วแนบเนียนสมจริงเอามากๆ เช่น ประเพณีที่แขกผู้มาเยือนเผ่าต้องเล่นมวยปล้ำกับหัวหน้าเผ่า หรือการคัดเลือกตำแหน่งสำคัญในเผ่าด้วยการยกเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ เฮนเดอสันเป็นชาวอเมริกัน ประสบปัญหา Midlife Crisis เลยตัดสินใจทิ้งลูกเมีย เดินทางมาแอฟริกา ด้วยความหวังว่าจะเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตจากชนเผ่าพื้นเมือง แต่ไปๆ มาๆ เฮนเดอสันเข้าร่วมพิธีคัดเลือก "ราชาแห่งฝน" ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากราชาของเผ่า และเมื่อผ่านการคัดเลือก เขาก็ได้เข้ามาใกล้ชิดกับราชาแห่งเผ่าวาริริ ผู้ชายที่เฮนเดอสันยกย่อง และเชื่อว่าอีกฝ่ายกุมความลับของชีวิตเอาไว้

ซึ่งก็น่าอยู่หรอก เพราะตามกฏของเผ่าวาริริ ราชาจะขึ้นครองตำแหน่งได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเขาผ่านพิธีสืบทอด ด้วยการจับสิงโตที่เป็นร่างทรงของราชาคนก่อนด้วยมือเปล่า ถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา ก็จะถูกสิงโตตะปบตาย แต่ถ้าชักช้าไม่ยอมเข้าร่วมพิธีนี้เสียที ก็จะถูกคนในเผ่าฆ่าทิ้งอยู่ดี ในเมื่อราชาของวาริริใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับความตายขนาดนี้ ถ้าจะมีปัญญาอย่างสองอย่างมากกว่าคนทั่วไปก็คงจะไม่แปลก

เสน่ห์ของ Henderson the Rain King คือไม่รู้จะจัดมันเป็นนิยายประเภทไหนดี มันดูเลื่อนไหลผสมผสานหลาย genre เข้าด้วยกัน บางช่วงก็เหมือนจะออกแนว A Connecticut Yankee in King Arthur's court ว่าด้วยคนขาวที่นำเอาความเจริญเข้าไปยังพื้นที่กันดารไกลพื้นเที่ยง แต่บางช่วงก็กลับกันเลย ว่าด้วยคนขาวไปศึกษาความลับของชีวิตจากท้องถิ่นแดนไกล (แต่ที่มันย้อนแย้งมากคือ ไปๆ มาๆ ราชาแห่งเผ่าวาริริเองก็ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และมีวิธีคิดหลายอย่างเหมือนฝรั่ง) ขณะเดียวกันมันก็มีส่วนผสมของ Don Quixote ด้วย

A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 2

แบรดลีเรียงลำดับสี่โศกนาฏกรรมเอกของเชคสเปียร์จากชอบมากสุดไปน้อยสุดได้ดังนี้ Othello, Hamlet, Macbeth, และ King Lear ซึ่งเป็นลำดับที่ตรงข้ามกับเราโดยสิ้นเชิง สั้นๆ เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมสี่เรื่องนี้คือ เราเทินทูน King Lear เอ็นดู Macbeth ผูกพันกับ Hamlet และโคตรเบื่อ Othello เลย

จะไม่ให้ผูกพันกับเจ้าชายแห่งเดนมาร์กได้อย่างไร แฮมเลต ว่ากันโดยเนื้อผ้าแล้วก็คือ เด็กหนุ่มปัญญาชน ฉลาดล้ำจนเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ล้มเหลวกับหน้าที่ของตัวเอง โลกของ Hamlet พระราชวังเดนมาร์ก เต็มไปด้วยสิ่งเน่าเสีย และแฮมเลตคือคนนอกที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปฏิกูลเหล่านี้ ไม่ยากเลยที่มนุษย์สมัยใหม่จะรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับตัวละครดังกล่าว (และนี่เป็นสาเหตุที่ไม่ว่านักวิจารณ์จะพูดยังไง เราก็ยังนิยมฉบับอีธาน ฮอว์กไม่เสื่อมคลาย)

Othello ตรงข้ามกับแฮมเลตโดยสิ้นเชิง อิยาโกเป็นบุคลาธิษฐานแห่งความชั่วร้าย ท่ามกลางตัวละครที่ไม่มีใครเป็นผู้ร้ายจริงๆ จังๆ เทียบกับอีกสามเรื่อง มันมีลำดับการเล่าที่ไม่ค่อยสะสวยนัก แบรดลีเองก็ยอมรับตรงนี้ แต่เขาพยายามแก้ต่างให้บทละครโปรดโดยอ้างว่า Othello ไม่ใช่โศกนาฏกรรมของโอเทลโล แต่เป็นของอิยาโกด้วยต่างหาก

King Lear น่าจะติดเป็นเชคสเปียร์ที่เราชอบที่สุด King Lear ไม่ใช่ทั้ง Hamlet และ Othello เพราะหนนี้ความดีงามและความชั่วร้ายยกขโยงมากันเป็นกองทัพ มองให้ง่ายที่สุด King Lear ก็คือการปะทะกันระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ซึ่งสถิตอยู่ในตัวละครฝั่งละสี่ห้าตัว แบรดลีให้เหตุผลที่ชอบเรื่องนี้น้อยสุดว่า มันสมควรถูกเขียนและอ่านเป็นนิยาย มากกว่าจะขึ้นแสดงบนเวที น่าแปลกที่จนถึงศตวรรษที่ 19 แม้นักวิจารณ์จะยกย่อง King Lear ให้เป็นผลงานชิ้นเอกของเชคสเปียร์ แต่น้อยคนนักจะกล้าหยิบมันขึ้นมาเล่น

ชั่วชีวิตนี้เคยดู Macbeth ประมาณห้า productions ไม่รู้บังเอิญหรืออย่างไร สองในห้าจงใจทำออกมาเป็นละครชวนหัว และอีกสาม productions ที่เหลือ ก็อดไม่ได้จะแฝงนัยยะความขบขันบางอย่าง แน่นอนว่าคู่สามีภรรยาแมคเบธไม่ใช่ตัวดี แต่เว้นผู้หญิงและเด็กเสีย สกอตแลนด์ในละครก็ดูเทาๆ หม่นๆ ไม่ค่อยมีใครดีอีกเหมือนกัน แบรดลีไม่ได้มอง Macbeth เป็นละครชวนหัว แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยบทพูดและสถานการณ์อันย้อนแย้ง ซึ่งถ้านักแสดงพลิกลิ้นดีๆ ก็จะเรียกเสียงหัวเราะได้ไม่ยาก

A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 1

เคยคุยเล่นๆ กับผู้กำกับถึงข้อแตกต่างระหว่างนักวิจารณ์เพียวๆ และนักวิจารณ์ที่เป็นศิลปิน ฝ่ายหลังจะให้เกียรติ text (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพวาด หรือภาพยนตร์) มากกว่าฝ่ายแรก พวกเขาถือว่า text ที่ศิลปินให้มาคือที่สุดแล้ว และหน้าที่ของนักวิจารณ์คือการปลุกปล้ำเอาบางสิ่งบางอย่างออกมาจาก text ให้ได้ (ดังนั้นจุดอ่อนของนักวิจารณ์แนวนี้คือการท้าทาย text เราจะฟันธงได้ยังไงว่า text มัน "ไม่ดี"​ โดยไม่ยึดอคติเราเป็นที่ตั้ง)

ในทางตรงกันข้าม นักวิจารณ์ที่เป็นศิลปิน นอกจากจะไม่ค่อยให้เกียรติ text แล้ว ยังแอบซนกับ text เป็นนิสัย โดยการฝึกฝน สิ่งที่พวกเราทำเป็นประจำก็คือการวิจารณ์งานตัวเองนี่แหละ วิจารณ์เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงตรงนู้นตรงนี้ ดังนั้น text จึงไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ คำถามที่เราถามตัวเองไม่ว่าจะอ่าน ชม เพ่ง หรือแดก text ของคนอื่นคือ "จะต้องเปลี่ยนตรงไหน ผลงานชิ้นนี้ถึงจะสมบูรณ์ขึ้น"

เอาเข้าจริง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นักวิจารณ์กลุ่มหลังก็เหมือนจะค่อยๆ ลดน้อยหายลงไปทุกที ตั้งแต่มีทฤษฎีอะไรต่อมิอะไรออกมามากมาย นักวิจารณ์ก็เหมือนจะมีของเล่น มาใช้ทดลองปลุกปล้ำ text อย่างสนุกมือ ดังนั้นไม่ค่อยเกี่ยวแล้วว่านักวิจารณ์จะควบตำแหน่งศิลปินไปด้วยหรือไม่ การวิจารณ์แนวหลังไม่ค่อยปรากฏให้เห็น

แบรดลีเป็นนักวิจารณ์จากศตวรรษที่ 19 เป็นเพียงนักวิจารณ์ไม่กี่คนจากยุคนั้นที่ยังคงหลงเหลือผลงานคลาสสิคมาให้เราอ่าน สมัยที่แบรดลีเขียนและบรรยาย Shakespearean Tragedy ยังไม่มีทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โครงสร้างนิยม หรือมาร์กซิสสายสังคมศาสตร์ ขณะที่ฟรอยด์ (และนักปรัชญายุคถัดๆ มา) ถามว่าทำไมแฮมเลตถึงไม่ยอมฆ่าลุง ศัตรูคู่แค้นของเขาทั้งที่มีโอกาสใน Act III แบรดลีถามคำถามที่เจ๋งกว่านั้นอีก ทำไมการที่เชคสเปียร์เขียนให้แฮมเลตไม่ยอมฆ่า ถึงทำให้บทละครแฮมเลต "สนุก" ขึ้น

ง่ายๆ สำหรับแบรดลี (และนักวิจารณ์ในยุคนั้น) บทละครก็คือบทละคร คุณค่าที่สำคัญที่สุดของมันคือความ "สนุก" การวิจารณ์วรรณกรรมของแบรดลีกลับมาสู่คำถามพื้นฐาน (ที่อาจจะสำคัญที่สุดเลยก็ได้) "ทำยังไงให้ text มันสนุก"

สถานีรักชวนหัวใน facebook!!!

ฮัลโหล หนึ่ง สอง สาม...ฮัลโหล หนึ่ง สอง สาม...ทุกคนได้ยินมี่ชัดเจนนะคะ...มีใครไม่ได้ยินไหม ใครไม่ได้ยินยกมือขึ้น...โอเค เมื่อได้ยินทุกคนแล้ว มี่มีเรื่องสำคัญจะประกาศค่ะ ขณะนี้บลอครักชวนหัวมี สถานี (page) ในเฟสบุ๊คแล้วนะคะ เป้าหมายก็คือเพื่อให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้มาคอมเมนต์ ถกเถียงกันอย่างสะดวกมากขึ้น และเป็นการแจ้งให้ทราบด้วย เมื่อมีบทบันทึก (ไม่ใช่วิจารณ์) ใหม่ๆ

บ้านหลักของรักชวนหัวหลังนี้ก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ เพียงแต่เพิ่มสถานีขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายสำหรับทุกท่าน แล้วเจอกันในเฟสบุ๊คนะคะ

H. Pinter's "The Caretaker/The Homecoming"

ชอบมากทั้งสองเรื่องเลย พินเตอร์ท่าจะชอบการเมือง และการแย่งชิงอำนาจเอามากๆ แต่อำนาจในที่นี้ไม่ใช่อะไรยิ่งใหญ่อย่างอำนาจในการบริหารประเทศ หรืออำนาจเงินตราเลย ในทางตรงกันข้าม เสน่ห์ของบทละครพินเตอร์คือมันว่าด้วยการเมือง และการแย่งชิงอำนาจ ในหมู่ผู้ที่แทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลยตั้งแต่แรก

ระหว่างสองเรื่องนี้ชอบ The Caretaker มากกว่า เดวีส์ก้าวเข้ามาในชีวิตของสองพี่น้อง มิก และแอสตัน แอสตันสติไม่ดี เพราะเคยถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้า และโดน "รักษา" ด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตสมอง ส่วนมิก ผิวเผินแล้วเหมือนจะเก่งกล้าสามารถ แต่เอาเข้าจริงก็ได้แต่ฝันเฟื่องไปวันๆ เดวีส์เป็นชายจรจัดที่แอสตันช่วยชีวิตเอาไว้ จากการโดนรุมซ้อม

The Caretaker ว่าด้วย power play การงัดข้อของอำนาจระหว่างมิกและแอสตัน ผ่านเดวีส์ผู้เป็นสื่อกลาง ในสายตาผู้ชม ชัดเจนว่าแอสตันเป็นกัลยาณมิตรของเดวีส์ แต่จนแล้วจนรอด มนุษย์เราก็มักจะถูกดึงดูดด้วยพลังอำนาจ ไม่ว่ามันจะดุดัน ร้ายกาจสักแค่ไหน สุดท้ายแล้ว เราเองนี่แหละที่เผาสะพาน ทำลายสิ่งสำคัญที่สุดไป พินเตอร์สร้างตัวละครเดวีส์ให้ออกมาเป็นมนุษย์ได้อย่างงดงาม ทั้งน่ารังเกียจ และน่าสมเพช ไปพร้อมๆ กัน

The Homecoming มีประเด็นเรื่องอำนาจทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บทละครแนวแปลกวิถี ว่าด้วยเรื่องของลูกชายที่ประสบความสำเร็จในชีวิต พาภรรยากลับไปเจอพ่อ ลุง และน้องชายอีกสองคนในสลัมป์ เราเห็นสองครอบครัวค่อยๆ แตกสลายด้วยกระบวนการที่แตกต่างกัน ผ่านผู้หญิงคนเดียว อำนาจที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ และอะไรที่เป็นต้นกำเนิดของอำนาจ

S. Schiff's "Cleopatra"

ในประวัติศาสตร์มีประวัติศาสตร์อยู่ พอพูดถึงคลีโอพัตรา เราก็จะนึกถึงราชินีอียิปต์คนสุดท้าย ผู้มีเกิดและตายก่อนพระเยซู นึกถึงอียิปต์โบราณ นึกถึงปิรามิด ทั้งที่จริงๆ ในยุคสมัยของคลีโอพัตรา ปิรามิดที่สร้างไว้ตั้งแต่พันกว่าปีที่แล้ว ก็กลายเป็นโบราณสถานไปเรียบร้อยแล้ว ตอนที่ราชินีอียิปต์พาคนรักคนแรกของเธอ จูเลียส ซีซาชมปิรามิด ความรู้สึกก็คงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวสมัยนี้ที่ล่องเรือไปตามแม่น้ำไนล์เท่าไหร่ (นอกจากนี้ฐานที่มั่นของเธอคือเมืองอเลกซานเดรีย ซึ่งเป็นเป็นเมืองหลวงของโรมันในอียิปต์ ตัวคลีโอพัตราจริงๆ ก็ไม่ได้มีเชื้อสายอียิปต์ใดๆ ถ้าโควตชิฟฟ์ก็คือ "คลีโอพัตราเป็นสาวอียิปต์พอๆ กับอลิซาเบธ เทเลอร์")

เท่าๆ กับที่ Cleopatra เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของคลีโอพัตรา ยังเป็นเรื่องราวของ "ประวัติศาสตร์" ของคลีโอพัตราและ เป็นเรื่องราวของ "ประวัติศาสตร์" ส่วนที่เกี่ยวกับคลีโอพัตราอีกต่างหาก คลีโอพัตราสืบเชื้อสายราชวงศ์พโตเลมี ที่เข้ายึดครองอียิปต์ภายหลังพระเจ้าอเลกซานเดอร์ถอยทัพออกไป สามร้อยปีก่อนหน้านั้น ราชวงศ์พโตเลมีทุกพระองค์ รวมไปถึงคลีโอพัตราเองพยายามใช้ประโยชน์จาก "ตำนาน" อเลกซานเดอร์ รวมไปถึงตำนานที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น เทพเจ้าไอซิสเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของตัวเอง

คลีโอพัตราโชคร้ายมากที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่บันทึกเรื่องราวของเธอ ล้วนเขียนจากมุมมองของคนที่ต่อต้านตัวเธอ ชิฟฟ์อธิบายว่าเปรียบเทียบเทียบระหว่างอียิปต์และโรมันในยุคนั้น ก็เหมือนระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ชาวโรมันรู้สึกเหมือนความเป็นชายของตัวเองถูกท้าทายโดยอียิปต์ที่มั่งคั่งกว่า และปกครองโดยราชินีผู้ชาญฉลาดพอๆ กับ statesman ของตน บันทึกประวัติศาสตร์ในยุคหลังๆ ก็เลยบิดเลือนภาพลักษณ์ของคลีโอพัตราให้เหลือเพียงเรื่องเพศ และกามารมณ์แทน

สองพันปีนับจากนั้น มุมมองแบบอาณานิคมที่ชาติตะวันตกหันมองมายังโอเรียน ก็ยังคงได้รับอิทธิพล และมีส่วนคล้ายคลึงอยู่ไม่น้อยกับความสัมพันธ์ระหว่างโรมและอเลนซานเดรียในสมัยของคลีโอพัตรา

J. Ferguson's "The Anti-Politics Machine"

มีหลายบทเรียนจากกรณีศึกษาความล้มเหลวของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเลโซโท หยิบยกมาประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิด และดูเกี่ยวพันกับบ้านเราคือ แนวโน้มของพัฒนากร ทั้งกลุ่มเอนจีโอและจากธนาคารโลก ที่จะแบ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเป็นสองจำพวก คือตามวิถีตลาดสมัยใหม่ และแบบดั้งเดิม ในเลโซโท คนชอบเลี้ยงวัวกันมาก วัวเป็นมากกว่าสัตว์เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพ และมีความสำคัญในแง่วัฒนธรรม ความพยายามที่จะผันวัวเข้ามาสู่ระบบตลาด (ชักชวนให้ชาวเลโซโทเลี้ยงวัวเพื่อขาย) จึงประสบความล้มเหลว เพราะชาวบ้านไม่ยอมขายวัวกัน

การมองเศรษฐศาสตร์แบบทวิภาคเช่นนี้ นำไปสู่ Dilemma ว่าเราควรจะปรับตัวตามแนวเศรษฐกิจโลก หรือเลี้ยงวัวกันอย่างพอเพียงตามวิถีชาวบ้าน เฟอร์กูสันชี้ให้เห็นว่า อันที่จริง ทางเลือกแบบนี้เกิดมาจากการที่พัฒนากรยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมเลโซโทดีพอ วิถีตลาดไม่ได้แบ่งแยกจากวิถีชาวบ้าน ชาวเลโซโทรู้จักตลาด รู้จักการค้าวัวมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 The Anti-Politics Machine อธิบายว่า วิธีชาวบ้านแท้จริงตอบสนองตรรกะของตลาดอยู่ในที คนเลโซโทไม่ได้มองว่าวัวเป็นสัตว์เทพเจ้าที่ห้ามซื้อขาย แต่เขามองวัวเป็นกองทุนเกษียณอายุต่างหาก และภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง คนเลโซโทพร้อมยินยอมที่จะขายวัว (เช่น ผู้หญิงมีแนวโน้มอยากขายวัวมากกว่าผู้ชาย คนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า ทั้งหมดนี้เป็นไปตามตรรกะทุนนิยมเวอร์ชั่นเลโซโท)

ตลาดไม่ได้เป็นศัตรูกับวิถีท้องถิ่น ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีท้องถิ่นมาแต่ช้านาน และวาทกรรมการพัฒนาใดๆ ก็ตามที่ไม่ตระหนักความจริงข้อนี้ ย่อมประสบความล้มเหลว

G. Greene's "Our Man in Havana"

รู้สึกดีจัง เวลาอ่านนิยายเล่มที่ยี่สิบกว่าๆ ของนักเขียนที่เราชื่นชอบ แล้วพบว่า นอกจากจะยังไม่เบื่อแล้ว นักเขียนคนนั้นยังมีไม้ตายก้นหีบ ขุดออกมาให้เราได้ตื่นเต้นอยู่อีก

Our Man in Havana ไม่เหมือนนิยายเล่มใดๆ ของกรีนที่เราเคยอ่านเลย ตรงที่มันฮามากๆ จริงอยู่ที่อารมณ์ขันเป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนแทบทุกชิ้นของกรีน แต่ถึงขนาดนิยายที่ทำให้เราอ่านไป หัวเราะไปได้ทั้งเล่มนี่ก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน Our Man in Havana เป็นนิยาย sub-genre ที่เราอยากเรียกเล่นๆ ว่า นิยาย "โกหกกลายเป็นจริง" ก็สมชื่อนั่นแหละ ตัวเอกของนิยาย เป็นสายลับที่แต่งเรื่องเท็จขึ้นมารายการให้หน่วยเหนือ แต่ไปๆ มาๆ สุดท้ายเรื่องเท็จก็กลับกลายเป็นจริง (ตัวอย่างของนิยายแนวนี้ได้แก่ >The Tailor of Panama และ Foucault's Pendulum)

เรื่องแนวนี้มักถูกจริตนักเขียน ก็ใครเล่าจะอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าเรื่องแต่งของตัวเองกลายเป็นจริงขึ้นมา มันจะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ดี นิยายแนวนี้ก็เป็นกับดักกลายๆ เหมือนกัน เพราะถ้าคำอธิบายว่าทำไมเท็จกลายเป็นจริง จริงกลายเป็นเท็จ มันไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ก็จะกลายเป็นนิยายที่ขุดหลุมฝังศพตัวเอง กรีนใช้บรรยากาศสงครามเย็น และกลไกสายลับเพื่อขับเคลื่อนพลอตตรงนี้ได้อย่างสวยงาม บวกกับอารมณ์ขันเข้าไปแล้ว Our Man in Havana ถือเป็นนิยายโปรดอันดับต้นๆ ของกรีนเท่าที่เราเคยอ่านมาเลย

M. Allingham's "Cargo of Eagles"

ไม่ค่อยตั้งความหวังอะไรนักเวลาหยิบนิยายสืบสวนสอบสวนขึ้นมาอ่าน ถึงจะปวารณาตนเป็นแฟนหนังสือแนวนี้ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะผิดหวังเสียมากกว่า อัลลิงแฮมได้รับการกล่าวขานว่า "นอกจากจะเขียนนิยายนักสืบดีแล้ว ยังเขียนนิยายดีอีก" ก็ไม่รู้ว่า "นิยายดี" มันเป็นยังไง อ่าน Cargo of Eagles จบ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นนิยายดี (แบบที่ The Name of the Rose เป็นนิยายดี) ตัวละครแบนๆ เนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีความซับซ้อนทางจิตวิทยาอันใด ในแง่ปมปริศนา ออกจะรู้สึกด้วยซ้ำว่าไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่ได้น่าสนใจเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ดี ระหว่างที่อ่าน ก็ยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้สนุกใช้ได้ จุดเด่นสุดก็น่าจะอยู่ตรงฉาก ผู้เขียนให้ความสำคัญกับหมู่บ้านเล็กอันเป็นที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรม มากยิ่งกว่าตัวละคร อัลลิงแฮมนำเสนอบรรยากาศผ่านบทสนทนาแทบจะล้วนๆ ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ถ้าเธอเป็นนักเขียนที่เจนจัดกับการใช้ภาษามากกว่านี้ และเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ค้นเกร็ดนู่นนี่มาให้เราขบคิด Cargo of Eagles น่าจะลงเอยเป็นนิยายที่ดีกว่านี้ได้มาก

สารบัญสารคดี


Political Science

C. Schmitt's "Political Theology" & "The Concept of the Political"
J. Rawls's "A Theory of Justice" (part 1)
J. Rawls's "A Theory of Justice" (2)
A. Rand's "Return of the Primitive"
S. Prickett's "Narrative, religion, and science"
C. Mouffe's "The return of the political"
G. Lukacs's "History and Class Consciousness"
K. Marx & F. Engels's "The German Ideology"
Louis Althusser's "Lenin and Philosophy and Other Essays"
L. Althusser's "For Marx"
L. Althusser's "For Marx" *
Hannah Arendt's "On Revolution"
M. Berman's "All That is Solid Melts into Air"
N. Bobbio's "Liberalism and Democracy"
G. Debord's "The Society of the Spectacle"
G. Debord's "The Society of the Spectacle" *
F. Fukuyama's "The End of History and the Last Man"
F. Jameson's "The Hegel Variations"
F. Jameson's "The Political Unconscious"
R. Williams's "Culture and Materialism"
R. Williams's "Marxism and Literature"
R. Williams's "Marxism and Literature" *
S. Zizek's "The Metastases of Enjoyment"
S. Zizek's "The Obscure Object of Ideology" *
S. Zizek's "Living in the End Times"

Social Science

P. Zimbardo's "The Lucifer Effect"
E. K. Sedgwick's "Epistemology of the Closet"
M. Peleggi's "The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia"
A. Moravia's "Man as an End"
R. R. Nelson's "The Moon and the Ghetto"
M. Levitt's "Hamas"
Claude Caudwell's "Illusion and Reality"
Noam Chomsky's "Hegemony or Survival"
E. Fromm's "Escape from Freedom"
A. Hewitt's "Political Inversions"
P. Krugman's "The Conscious of a Liberal"
P. L. Knox's "Cities and Design"
P. Virilio's "Art and Fear"
G. Obeyesegere's "Imagining Karma"

History

S. Ozment's "A Mighty Fortress"
D. Aaronovitch's "Voo Doo Histories"
V. Klemperer's "Language of the Third Reich"
J. Lovell's "The Opium War"
E. Larson's "The Devil in the White City"
J. Leslie's "Deep Water"
R. O. Paxton's "The Anatomy of Fascism"
T. Rosenberg's "The Haunted Land"
S. Saltzman's "Portrait of Dr. Gachet"
J. L. Swanson's "Manhunt"
F. Taylor's "The Berlin Wall"
E. Wilson's "To the Finland Station"
C. V. Wedgwood's "The Thirty Years War"
S. Schiff's "Cleopatra"

Economics

J. Ferguson's "The Anti-Politics Machine"
T. C. Schelling's "Micromotives and Macrobehavior"
O. Lange's "On the Economic Theory of Socialism"
K. J. Arrow's "The Limits of Organization"
Scott Bedbury's "A New Brand World"
W. Bernstein's "A Splendid Exchange"
Benjamin M. Friedman's "The Moral Consequences of Economic Growth"
T. L. Friedman's "Hot, Flat and Crowded"
S. D. Levitt, S. J Dubner's "Freakonomics"
R. Patel's "The Value of Nothing"
J. E. Stiglitz's "Globalization and its Discontents"

Critical Study

M. M. Bakhtin's "The Dialogic Imagination"
R. Barthes's "Writing Degree Zero"
C. Bongie's "Exotic Memories"
W. B. Booth's "The Rhetoric of Fiction"
T. Cohen's "Jokes"
T. Coletti's "Naming the Rose"
I. Calvino's "The Uses of Literature"
Terry Eagleton's "Literature Theory"
W. Empson's "7 Types of Ambiguity"
S. R. Fischer's "A History of Reading"
Northrop Frye's "The Secular Scripture"
N. Frye's "The Educated Imagination"
N. Frye's "The Educated Imagination"
E. Le Grand's "Kundera or The Memory of Desire"
S. Gauch's "Liberating Shahrazad"
L. Hutcheon's "A Theory of Parody"
J. W. Krutch's "Modernism in Modern Drama"
M. Kundera "The Curtain"
M. Kundera's "Encounter"
D. Lodge's "The Art of Fiction"
Georg Lukacs's "The Historical Novel"
G. Meredith's "An Essay on Comedy"
Czesław Milosz's "The Captive Mind"
J. Kristeva's "Desire in Language"
T. Ziolkowski's "The Novels of Hermann Hesse"
K. Briggs's "The Fairies in Tradition and Literature"

A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 2

A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 1

General Aesthetic

T. Adorno's "Philosophy of Modern Music"
J. Berger's "Ways of Seeing"
G. P. Cestaro's "Queer Italia"
A. Copland's "What to Listen for in Music"
Ellen Graff's "Stepping Left"
G. Graham's "Philosophy of the Arts"
E. H. Gombrich's "Art and Illusion"
M. Kammen's "Visual Shock"
M. Lowy's "Morning Star"
D. J. Levitin's "This is Your Brain on Music"
J. Morgenroth's "Speaking of Dance"
J. Rose's "Sexuality in the Field of Vision"

Psychology

D. C. Dennett's "Freedom Evolves"
Sigmund Freud's "Beyond the Pleasure Principle"
S. Freud's "Totem and Taboo"
S. Freud's "The joke and its relation to the unconscious"
S. Freud's "Civilization and its Discontents"
E. Fromm's "The Art of Loving"
C.G. Jung's "Modern Man in Search of a Soul"
J. Mitchell's "Psychoanalysis and Feminism"
S. Pinker's "The Stuff of Thought"
I. Rosenfield's "The Strange, Familiar and Forgotten"

Philosophy (Classic)

Friedrich Nietzsche's "Beyond Good & Evil"
Henri Bergson's "Matter and Memory"
H. Bergson's "Laughter"
G. Deleuze's "Spinoza: Practial Philosophy"
J. Derrida's "The politics of friendship"
J. Derrida's "Of Grammatology"
G. Deleuze's "The Fold"
Gilles Deleuze's "Francis Bacon"
G. W. F. Hegel's "The Essential Writings"
G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 1)
G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 2)
G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 3)
G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 4)
M. Heidegger's "The Question Concerning Technology"
M. Heidegger's "Poetry, Language, Thought"
M. Heidegger's "Being and Time"
Soren Kierkegaard's "Fear and Trembling"
I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part I)
I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part II)
J. Sarte's "The Imaginary"
J. P. Sartre's "What is Literature?"
F. de Saussure's "Course in General Linguistics"
Albert Camus's "The Myth of Sisyphus"

Philosophy (Contemporary)

L. Brisson's "How Philosophers Saved Myths"
Jean Piaget's "Structuralism"
R. Sorensen's "Philosophy and the Labyrinths of the mind"
C. Taylor's "Hegel and Modern Society"
S. Weil's "The Need for Roots"
S. Weil's "Gravity and Grace"

Mathematics and Science

D. Adam's "Last Chance to See"
A. Bellos's "Alex's Adventures in Numberland"
B. Clegg's "Before the Big Bang"
S. J. Gould's "Ever Since Darwin"

Biography and Memoir

K. M. Brown's "Mama Lola"
D. Fisher's "The War Magician"
K. Johnson's "The Magician and the Cardsharp"
W. Kamkwanba's "The Boy Who Harnessed the Wind"
M. E. Montaigne's "Essays"
V. S. Naipaul's "The Masque of Africa"
D. Tammet's "Born on a Blue Day"
F. Vertosick's "When the Air Hits Your Brain"
V. Woolf's "A Room of One's Own"
Truman Capote's "In Cold Blood"
D. Grann's "The Lost City of Z"
G. Greene's "The Lawess Roads"
Tenessee Williams's "Memoirs"

Umberto Eco

U. Eco's "Serendipities"
U. Eco's "Misreadings"
U. Eco's "The Search for the Perfect Language"
Umberto Eco's "Six Walks in the Fictional Woods"
U. Eco's "Turning Back the Clock"
U. Eco's "A Theory of Semiotics"
U. Eco's "Travels in Hyper Reality"

Michel Foucault

Michel Foucault's "Discipline & Punish"
M. Foucault's "The Archaeology of Knowledge"
M. Foucault's "The Care of the Self"
M. Foucault's "The History of Sexuality: an Introduction"
Michel Foucault's "Madness and Civilization"
M. Foucault's "The Use of Pleasure"

W. Shakespeare's "Two Gentlemen of Verona/Measure for Measure"

Two Gentlemen of Verona ได้ชื่อว่าเป็นบทละครเรื่องแรกของเชคสเปียร์ (แต่ก็เช่นเดียวกับรายละเอียดเชิงชีวประวัติต่างๆ ของยอดนักประพันธ์ ไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อนี้จริงหรือเท็จ) บทละครเรื่องแรกนี้บรรจุเจตนา แก่น และอุบายต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีในบทละครยุคหลัง แต่ที่เด่นไม่เป็นรองเรื่องใดเลยคือการใช้ภาษา Two Gentlemen of Verona เต็มไปด้วยการเล่นกับคำซ้ำคำซ้อน คำพ้องเสียงพ้องความหมายให้สมกับเป็นละครชวนหัว เท่าที่เคยอ่าน เคยชม เรายกย่องได้เต็มปากว่านี่คือบทพูดที่ witty ที่สุดแล้วของเชคสเปียร์ แกหยอกล้อแนวคิดโรแมนติกเกี่ยวกับความรัก ตัวละครที่ "หลงรักความรัก" มักจะเป็นตัวโจ๊กในบทละครของแก ภาษาสละสลวยเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ขัดกับความหมายที่ซ่อนอยู่ยิ่งขับไหวพริบให้เด่นชัดขึ้น

Measure for Measure แปลตรงตัวคือ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ถึงจะถูกจัดให้เป็นบทละครชวนหัว (เพราะมันจบด้วยการแต่งงาน) เอาเข้าจริงจนถึงกลางเรื่อง ถือว่าเป็นละครที่เครียดพอสมควร (น้องสาวที่เตรียมตัวบวช ถูกบังคับให้ถวายตัวแด่ผู้ปกครอง เพื่อช่วยชีวิตพี่ชายของตน) และพอครึ่งหลังที่เริ่มจะชวนหัวขึ้นมาบ้าง ก็กลับกลายเป็นเละเทะในสายตานักวิจารณ์ส่วนใหญ่ Measure for Measure ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน "problem plays" คือบทละครที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี การเล่นกับประเด็นทางกฏหมาย ความสองมาตรฐาน และภาวะมือถือสากปากถือศีลของผู้พิพากษา ก็ทำให้ Measure for Measure เป็นบทละครเชคสเปียร์ที่เข้ากันกับสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

V. Woolf's "The Years"

The Years เริ่มต้นจากบทความของวูล์ฟ เกี่ยวกับบทบาทต่างๆ ของผู้หญิงในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทีแรกวูล์ฟตั้งใจจะเขียนเป็นเรื่องแต่งสั้นๆ ประกอบบทความ แต่เขียนไปเขียนมาคงติดใจ ก็เลยเอามาผนวกรวมกันเป็นนิยาย ส่วนตัว เราคิดว่าเราน่าจะสนุกกับบทความผสมเรื่องสั้นมากกว่านิยายเล่มนี้

ถึงจะดูล่องลอยไร้แก่นสารไปนิด (สมกับที่มันมาจากบทความ) แต่ The Years ก็แสดงให้เห็นอัจฉริยะภาพบางอย่างของวูล์ฟ เพื่อนเราคนหนึ่งที่เป็นนักวิจารณ์หนัง บอกว่าหนึ่งในบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยอ่าน เขียนโดยเวอจิเนีย วูล์ฟ ทั้งที่ในยุคของเธอ ภาพยนตร์เพิ่งจะเริ่มหัดเดินแท้ๆ จุดเด่นของวูล์ฟคือเธอเป็นนักทดลองทางวรรณกรรม การทดลองของวูล์ฟไม่เหมือนกับวรรณกรรมแนวทดลองในปัจจุบัน มันชวนให้เรานึกถึงพวกผู้กำกับ French New Wave การทดลองไม่ใช่เพื่อการทดลอง แต่เพื่อค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการเล่าเรื่อง เราเดาว่าจิตวิญญาณแห่งการทดลองแบบนี้กระมังที่ดึงดูดวูล์ฟเข้าหาศิลป์/ศาสตร์ยุคใหม่อย่างภาพยนตร์ (ซึ่งในยุคแรก ก็เต็มไปด้วยการทดลอง)

ประโยคซึ่งอธิบาย thesis การทดลองของวูล์ฟใน The Years ได้เป็นอย่างดีคือ "ถ้าเราบันทึกบทสนทนาของคนจริงๆ ลงบนกระดาษ มันจะต้องน่าเบื่อมากแน่ๆ " The Years เล่าเรื่องด้วยบทสนทนาน่าเบื่อๆ แบบนี้เกินร้อยละ 80 อย่างไรก็ดีภายใต้ความน่าเบื่อนั้น มันก็แฝงแก้วมณีเอาไว้เป็นระยะๆ บางจังหวะ บางบรรทัดของการเล่าเรื่องส่องให้เราเห็นแก่นแท้และธรรมชาติของตัวละครได้อย่างสวยงาม

เราชอบ The Years ในฐานะการทดลองที่มีเสน่ห์ มากกว่าจะพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่คือนิยายที่ชวนอ่าน แถมมันก็ยาวตั้งสี่ร้อยกว่าหน้าแน่ะ (แม้จะเต็มไปด้วยบทสนทนา อ่านแป๊บๆ จบก็ตาม)

A. Perez-Reverte's "The Fencing Master"

ว่ากันว่าฟันดาบเป็นกีฬาที่ใช้สติปัญญามากกว่าความแข็งแกร่งของร่างกาย บางคนถึงกับเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า "หมากรุกมนุษย์" ก็ไม่รู้นะว่าจริงหรือเปล่า แต่เราจบมาจากโรงเรียนเด็กเรียน ที่ไม่โดดเด่นด้านกีฬาใดเลย ยกเว้นฟันดาบนี่แหละ ที่พอจะสร้างชื่อเสียงกับเขาได้บ้าง (ไม่นับ "กีฬา" ประเภท "รูบิก" ซึ่งระดับแชมป์โลกกันเลยทีเดียว) ก็แสดงว่าที่เขาลือๆ กัน ก็มีเค้ามีมูลอยู่

ก็คงเป็น fate กระมังที่ส่ง The Fencing Master เข้ามือเรา หลังจากเพิ่งอ่าน Murder in Byzantium จบหยกๆ สองเล่มนี้ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง Murder in Byzantium คือนิยายที่โคตรฉลาด แต่ปราศจาก passion ส่วน The Fencing Master ก็แทบไม่มีอะไรเลยนอกจาก passion ในฐานะนิยายสืบสวนสอบสวน มันโปร่งใสเอามากๆ อ่านไปหนึ่งในสี่เล่ม ก็เดาเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง กระทั่งว่าฉากสุดท้ายจะลงเอยยังไง ก็ไม่เหนือความคาดหมายเลย

ที่น่าเย้ยหยันกว่า สำหรับเรา คือการวาดภาพสเปนช่วงที่เกิดเรื่อง (ศตวรรษที่ 19) ไม่ว่าจะด้านการบรรยาย สีสันท้องถิ่น หรือที่สำคัญที่สุด ประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งเป็นเบื้องหลังของเหตุการณ์สำคัญๆ เพเรซ-ริเวอเตสอบตกในทุกกรณี ที่เราหงุดหงิดเป็นพิเศษก็เรื่องการเมือง คนเขียนใช้ตุ๊กตาสองตัว ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกัน มาตะโกนใส่กันแบบตื้นๆ (ถ้า The Fencing Master สะท้อนรสนิยมการเมืองของผู้เขียน ก็น่าขบคิดตรงทำไมคนที่มีจุดยืนการเมืองแบบตัวใครตัวมัน สุดท้ายแล้วก็มักจะออกแนวอนุรักษนิยมโดยไม่รู้ตัว)

เหมือนจะจัดหนัก แต่เอาเข้าจริง อย่างที่เกริ่นคราวที่แล้ว passion เท่านั้นที่ make or break หนังสือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพเรซ-ริเวอเตรักตัวละครเอกสองตัวของเขาเอามากๆ รวมถึงวิชาการฟันดาบด้วย อย่างน้อยในช่วงเริ่มเรื่อง ที่สองตัวละครนี้เด่นเป็นพิเศษ มันก็เต็มไปด้วย passion ชวนให้อ่านจริงๆ นั่นแหละ

J. Kristeva's "Murder in Byzantium"

passion นี่มัน break or make หนังสือได้จริงๆ ถึงสำนักพิมพ์และนักวิจารณ์จะเอา Murder in Byzantium ของจูเลีย คริสเทวา ไปเปรียบเทียบกับ The Name of the Rose -- ก็เข้าใจได้แหละ เพราะนิยายนักสืบทุกเล่ม ย้ำ...ทุกเล่ม ที่พยายามเป็นมากกว่านิยายนักสืบ ก็ย่อมต้องโดนเอาไปเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นเอกของเอโคอยู่แล้ว -- แต่จุดต่างมหันต์เลยคือ เอโคเป็นแฟนนิยายสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะอกาธา คริสตี้ ในชุดการบรรยายรับเชิญที่ฮาวาร์ด เอโคดุษฎีคริสตี้ไปเต็มๆ หนึ่งการบรรยาย ขณะที่คริสเทวา เราก็ไม่รู้หรอกนะว่าเจ้าแม่ นักปรัชญาสตรีนิยม อย่างเธอคิดยังไงกับนิยายสืบสวนสอบสวน แต่ให้เดาจาก Murder in Byzantium คริสเทวาน่าจะชิงชังมันทีเดียว

เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ราวกับต้องการรื้อถอน (ไม่ใช่รื้อสร้าง) นิยายสืบสวนสอบสวน เริ่มจากการเล่นกับความห่วยของ genre นี้ สลับเกียร์เป็นนิยายปรัชญา/ประวัติศาสตร์ระหว่างทาง ซึ่งโอเค เรารับได้ เราสนุกกับอะไรแบบนี้ แต่จนแล้วจนรอด ถ้าตัวคนเขียนเองยังมอบใจให้สิ่งที่ตัวเองเขียน ก็ยากนักจะเชื้อเชิญให้คนอ่านรักหนังสือเล่มนี้ได้

ในส่วนของปรัชญา/ประวัติศาสตร์ พออ่านได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ พอมันถูก frame อยู่ในนิยายสืบสวนสอบสวน ถ้ามันสอบตกในประเด็นหลังแล้ว ก็ยากนักที่เราจะยอมรับมันในประเด็นแรกด้วยได้ เป็นหนังสือน่าผิดหวัง แต่ก็ให้บทเรียนดีๆ แก่เราหลายอย่าง ในงานศิลปะ ยังไง passion ก็ต้องมาก่อน intellect จริงๆ

W. Bernstein's "A Splendid Exchange"

ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษา ก็ยิ่งรู้ว่า จริงๆ แล้ว รัฐชาตินี่มันเป็น "สิ่งประดิษฐ์" ที่มาทีหลังโลกาภิวัฒน์ชัดๆ ตั้งแต่ยุคหินเลย สุดยอดแห่งเทคโนโลยีสมัยนั้นก็คือใบมีดที่แกะสลักมาจากหินออปซิเดียน แต่หินออปซิเดียนไม่ใช่จะหากันได้ง่ายๆ เพราะมีอยู่เฉพาะบริเวณที่ยังมีการปะทุของภูเขาไฟเท่านั้น ดังนั้นการแพร่กระจายของใบมีดออปซิเดียนไปทั่วโลก ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการค้าขาย ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุครัฐชาติเสียอีก

หรือเขยิบขึ้นมาหน่อย ปัจจุบันนี้เราพูดถึง การพึ่งพิงพลังงานเชื้อเพลิงจาก "รัฐอันตราย" ในตะวันออกกลาง แต่เอาเข้าจริงความเปราะบางของสถานการณ์เทียบไม่ติดฝุ่นเลยกับยุคเมโสโปเตเมีย เมโสโปเตเมียเป็นแหล่งอารยธรรมแห่งแรก เพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินก็จริง แต่ต้องไม่ลืม ยิ่งดินร่วนเหมาะแก่การเพาะปลูกเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่ค่อยมีแร่ธาตุเท่านั้น กลายเป็นว่าในอดีต อาณาจักรในเมโสโปเตเมียต้องพึ่งพิง ค้าขายกับเมืองของพวกป่าเถื่อนที่ถลุงแร่ สกัดโลหะนั่นเอง (ในประวัติศาสตร์ ประเทศแรกที่ใกล้เคียงกับภาวะ "พึ่งพิงตนเอง" ที่สุดก็คืออียิปต์ แต่กระนั้นอียิปต์ก็ไม่มีป่าไม้ ยังต้องนำเข้าซุงมาจากบาเรนห์)

ดังนั้นฟังหูไว้หูเวลาใครออกมาพูดเรื่องการปิดประเทศ การพึ่งพิงตัวเองด้วยเกษตรกรรมล้วนๆ มันไม่เคยมีจริงหรอก เป็นแค่นิทานหลอกเด็กที่แต่งขึ้นมาทีหลังเท่านั้นเอง

P. K. Dick's "The Simulacra"

ว่ากันว่านิยายวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากคำถาม What if? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นหุ่นยนต์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมถูกปกครองโดย First Lady จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามียานย้อนเวลา จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ติดต่อชาวดาวอังคาร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถอพยพไปอยู่บนดาวอังคารด้วยการนั่งต้นไม้บินได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจู่ๆ นักเปียโนสติเฟื่องมีพลังจิตเทียบเคียงพระเจ้า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์พันธุ์ใหม่เตรียมตัวยึดครองโลก จะเกิดอะไรขึ้น ฯลฯ

The Simulacra น่าจะจัดเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ของโลกในนิยายวิทยาศาสตร์อีกที เพราะไม่ใช่แค่ What if ตัวเดียวที่ถูกสมมติ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาในย่อหน้าข้างบนเกิดขึ้นในนิยายเล่มนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปเขียนอะไรแบบนี้ ต้องออกมาเละเทะแน่ๆ แต่มือระดับดิกแล้ว อย่างไม่น่าเชื่อ แค่หนังสือเล่มบางๆ สองร้อยกว่าหน้าเท่านั้น แต่ดิกสามารถบรรจุประเด็นต่างๆ ลงไปได้อย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ดี เราชื่นชมความสามารถในการเล่าเรื่องของดิก มากกว่าจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า The Simulacra เป็นนิยายที่ดี มันมีบางอย่างคล้ายคลึงกับ Candide เหมือนผู้เขียนสนใจจะพูดถึงความวิปลาศ วุ่นวาย และพังทลายของสังคม มากกว่าจะสร้างเรื่องราว หรือตัวละครที่คนอ่านอยากติดตามจริงๆ (มันมีกระทั่งวลี "ดูแลสวนของท่าน" แทรกอยู่แบบเนียนๆ )

เท่าที่อ่านมาประมาณสี่ห้าเล่ม เราแบ่งงานของดิกได้เป็นสองประเภทคร่าวๆ คือนิยายที่เน้นตัวละครเป็นตัวๆ ไป กับนิยายที่คนเขียนตั้งใจแสดงภาพความวุ่นวายของสังคม เราชอบนิยายประเภทแรกมากกว่า ขณะที่ The Simulacra จัดอยู่ในจำพวกหลัง อ่านเพลิน ทึ่งในความสามารถของผู้เขียน แต่ไม่ประทับใจ

V. S. Naipaul's "The Masque of Africa"

อดีตประธานาธิบดี Houphouet (สุดจะอ่านชื่อแกจริงๆ ) แห่งไอวอรีโคสต์มีฉายาว่า "ราชันจระเข้" เช่นเดียวกับผู้นำประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา ภาพลักษณ์ของเขาต้องแฝงเอาไว้ซึ่งตำนานอันลี้ลับ ว่ากันว่า ก่อนจะก้าวขึ้นมาบนเส้นทางแห่งอำนาจ Houphouet ตัดร่างกายตัวเองเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เอาแต่ละชิ้นไปต้มในหม้อสมุนไพร ระหว่างที่แม่หมอต้มไปบริกรรมคาถาไป ชิ้นส่วนของร่างกายแกเปลี่ยนเป็นงู ก่อนจะกลับกลายเป็นเนื้อมนุษย์อีกครั้ง

แต่เรื่องราวที่ถูกกล่าวขานถึงที่สุดของ Houphouet คือบ่อจระเข้ใจกลางเมืองหลวง Yamoussoukro เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง Houphouet สั่งให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ และเอาจระเข้หลายร้อยตัวมาปล่อย ไม่มีใครรู้สาเหตุแน่ชัด แต่หลายคนคาดเดาว่าอาจเป็นข้อต่อรองบางอย่างระหว่าง Houphouet และวิญญาณภูตผี (จระเข้ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของหลายชนเผ่าในแอฟริกา)

Houphouet ครองอำนาจจนถึงปี 1993 ถึงเรื่องเล่าข้างต้นจะทำให้แกดูเป็นหมอผีสติเฟื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ แกเป็นประธานาธิบดีที่คนไอวอรีโคสต์บูชาที่สุดคนหนึ่ง ชาวไอวอรีโคสต์เทิดทูนแกเหมือนเทพเจ้า กระนั้นก็ตาม เมื่อเซอร์ไนปอลไปเยือนไอวอรีโคสต์ในปี 2008 (และบันทึกการเดินทางเอาไว้ใน The Masque of Africa ซึ่งนอกจากไอวอรีโคสต์ เซอร์ไนปอลยังไปเยือนอีกห้าหกประเทศในแอฟริกา) คนไอวอรีโคสต์กำลังอยู่ในกระบวนการแห่งการลืมเลือน บ่อจระเข้ไม่ใช่ของน่าตื่นเต้นอีกต่อไป น้ำในบ่อกลายเป็นสีดำ และเฉพาะเวลาให้อาหารเท่านั้น คนจึงจะเห็นจระเข้ผุดขึ้นมาแย่งกินไก่เป็นๆ

เซอร์ไนปอลตั้งข้อสังเกตว่าการลืมเลือนไม่ใช่หมายถึงแค่การไม่จำ หรือสภาพไร้ความทรงจำ แต่เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยพลังงานมากมาย และมีข้อแลกเปลี่ยนมหาศาล ไม่กี่วันก่อนการมาเยือนของไนปอล เกิดอุบัติเหตุกำแพงถล่มในสนามฟุตบอลที่สร้างเป็นเกียรติแก่ Houphouet และตั้งแต่นั้น ก็เริ่มมีเสียงซุบซิบนินทาความศักดิ์สิทธิ์ของอดีตผู้นำอันเป็นที่รักคนนี้

เรามีคำพูดติดปากว่า "คนไทยลืมง่าย" ซึ่งเหมือนจะเข้ากันได้ดีกับอีกคำพูดหนึ่งว่า "คนไทยรักสบาย" ราวกับว่า เพราะเรารักสบาย ขี้เกียจจดจำ เราก็เลยลืมง่าย แต่บางทีอาจจะในทางตรงกันข้าม คนไทยอาจจะ "ขยัน" อย่างไม่น่าเชื่อ หรือมีขุมพลังงานพิเศษบางอย่างที่ผลิตการลืมเลือนให้แก่เราได้อย่างไม่อั้น

I. B. Singer's "The Magician of Lublin"

บางครั้งเราก็สงสัยว่าอะไรแปลกกว่ากัน ระหว่างการจำแนกแยกแยะมนุษย์คนหนึ่ง ออกมาจากตัวอักษร เส้นที่ขีดเขียน ตีพิมพ์อยู่บนกระดาษ กับการรู้สึกว่า ชาวโปแลนด์จากศตวรรษที่ 19 อายุสี่สิบ แต่งงานแล้วแต่คบผู้หญิงพร้อมกันอีกสามคน เป็นนักมายากล ได้รับการกล่าวขานถึงในหมู่โจรและนักงัดแงะตู้เซฟ และเป็นชาวยิวที่กำลังประสบวิกฤติศรัทธา มันเป็นไปได้ด้วยหรือ ที่เราจะรู้สึกว่าชายคนนี้เป็นคนเหมือนกับเรา

ถ้าที่สุดของงานศิลปะ โดยเฉพาะวรรณกรรม คือการสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาบนหน้ากระดาษ ซิงเกอร์ก็ประสบความสำเร็จจนไม่รู้จะยกย่องยังไงดีจาก The Magician of Lublin ช่างน่ามหัศจรรย์ที่เราสัมผัสความเป็นมนุษย์ในยาชา ตัวละครที่มีแบคกราวน์ทุกอย่างต่างจากเราโดยสิ้นเชิง

นิทเชอะ เอเคเอ ซาราทุสซากระมัง ที่เปรียบเทียบชีวิตว่าเหมือนนักกายกรรมเดินอยู่บนเส้นลวด ซิงเกอร์ใช้อุปมาอุปมัยตัวนี้เป็นพู่กัน วาดภาพมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงาม ยาชาใช้ชีวิตที่เหมือนกับนักกายกรรม แม้เขาจะยืนยันกับคนอื่นว่าตัวเองไม่มีศาสนา (พูดให้ถูกคือ ยาชาเชื่อในพระเจ้า แต่เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถติดต่อกับพระเจ้าในโลกนี้ได้ ดังนั้นศาสนาคือการหลอกลวง) แต่ลึกๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนยิวในโปแลนด์ ในศตวรรษที่ 19 การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมได้ปลูกฝังศรัทธา โดยเขาเองไม่ทันรู้ตัว ยาชาพยายามรักษาสมดุลระหว่างความเชื่อและไม่เชื่อ เช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายปม จุดจบของยาชา เกิดจากสมดุลที่พังทลาย ไม่ว่าจะพังเพราะเขาดีเกิน หรือเลวเกินไปก็ตาม

นอกจากตัวละครเอกแล้ว ซิงเกอร์ยังถักทอสภาพสังคม วิถีชีวิตของชาวยิวยุโรปในศตวรรษที่ 19 รวมไปถึงตำนาน และความเชื้อลี้ลับ (สังคมยิวเป็นสังคมปิดมากๆ ชาวยิวที่หลุดจากวงโคจรตรงนี้ ก็จะออกแนวทันสมัย หรือไม่ก็ปัญญาชนจ๋าไปเลย เราคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของแกงสต้าคนดำ หรือมาเฟียอิตาลีเสียยิ่งกว่าคนยิวอีก)

W. Collins's "The Moonstone"

"the first...and the best of modern English detective novels." "the very finest detective story every written." เหล่านี้คือโฆษณาคำโปรยบนหน้าปกนิยาย The Moonstone ของวิลกิ คอลลินส์ โดยสองนักเขียนนิยายนักสืบผู้โด่งดัง อย่างไรก็ดี เราไม่เห็นด้วย ถึงจะสนุกสนานกับการอ่าน The Moonstone (และจะอธิบายต่อว่ามันสนุกยังไง) แต่หนังสือเล่มนี้สอบตกในฐานะนิยายนักสืบ!

เอาล่ะ พูดแบบนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ที่ต้องให้เครดิตมันก็คือ นี่เป็นนิยายนักสืบเล่มแรกในภาษาอังกฤษ (เขียนขึ้นมาประมาณสิบห้าปีหลังเรื่องสั้นนักสืบเรื่องแรกของเอดการ์ อลับโป) ถ้ามองมันในฐานะนิยายนักสืบ นี่คือหินที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไน เราเห็นร่างแรก ของ genre นิยายนักสืบก่อนจะถูกดัดแปลงโดยนักเขียนคนแล้วคนเล่า (ออกมาเป็นกฎเหล็กยี่สิบข้อของแวนได และยังถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ) The Moonstone เลยเต็มไปด้วยตัวอย่างที่ "ไม่ดี" เช่น ความยาวไม่สมดุลกับเนื้อหา การเอาอนุภาคเหนือธรรมชาติ หรือวิทยาศาสตร์เพี้ยนๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของคดี (ไม่ใช่แค่น้ำจิ้ม หรือผงชูรส) การเล่นไม่ซื่อกับคนอ่าน

ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังสนุกกับอ่านนิยายเรื่องนี้มากๆ เราไม่ได้ให้คุณค่า The Moonstone ในฐานะนิยายนักสืบเล่มแรก เท่ากับนิยาย "หลังสมัยใหม่" เล่มแรก ลูกเล่นสุดแสนพิสดารของมันคือโครงสร้างของการเล่าเรื่อง The Moonstone แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคปริศนาเล่าผ่านมุมมองของหัวหน้าคนรับใช้ในคฤหาสน์ ยาวประมาณครึ่งเล่ม ส่วนภาคไขปริศนา แบ่งออกเป็นเจ็ดแปดส่วนย่อย แต่ละส่วนมีผู้เล่าเรื่องแตกต่างกันไป ตั้งแต่หัวหน้าคนรับใช้คนเดิม นักสืบ หมอ ทนายความ รวมไปถึงมุมมองของผู้หญิงคลั่งศาสนา (ซึ่งเราไม่คิดว่าคอลลินส์จะเขียนออกมาได้เนี้ยบขนาดนี้) ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกลิ่นของการทลายกำแพงที่สี่ เมื่อแต่ละผู้เล่าเรื่องตระหนักว่าผู้เล่าเรื่องคนอื่นๆ กล่าวถึงตัวเองว่าอย่างไร พอจบแต่ละบท มีกระทั่งการส่งต่อปากกา โอ้ อะไรมันจะเปรี้ยวได้ขนาดนั้น! (นักเขียนหนุ่มรูปหล่อคนหนึ่งเคยปรับเอาเทคนิคการสลับตัวผู้เล่าเรื่อง มาใช้กับนิยายเล่มแรกของตัวเองมาแล้ว ถ้าเขาได้อ่าน The Moonstone ก่อนเขียนนิยายเล่มนั้น คงได้สูบเอาลูกเล่นอีกสักอย่างสองอย่าง)

อีกจุดที่เราสนุกกับมัน คือน้ำเสียงและตัวละครหัวหน้าคนรับใช้ ชวนให้เรานึกถึงนิยายชุดจีฟและวูสเตอร์ ซึ่งเราเองเป็นแฟนเหนียวแน่น เสียดายที่ประเด็นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าคนรับใช้และเจ้านายหญิง (ซึ่งเหมือนต่างฝ่ายต่างจะยกย่อง เทิดทูน และ "รัก" อีกฝ่ายมากกว่าสามี ภรรยาที่แท้จริงของตัวเองเสียอีก) ไม่ได้ถูกย้ำนักในภาคไขปริศนา

W. Shakespeare's "Pericles/Cymbeline"

เหมือนจะแปลกแต่จริงคือ บ่อยครั้งเราคาดเดาไม่ได้เลยว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบหนังสือสักเล่ม จากแค่การอ่านเรื่องย่อ

ยกตัวอย่าง Pericles และ Cymbeline สองบทละครยุคหลังของเชคสเปียร์ที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นเคย แต่เราหยิบมาอ่านคู่กันเปลี่ยนบรรยากาศ ถ้าดูจากเฉพาะเรื่องย่อ ยังไง๊ยังไง เราก็น่าจะชอบเรื่องหลังมากกว่า Cymbeline เป็นแบบบทละครแบบเชคสเปียร์ เน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร เรื่องราวของความรักและการทรยศหักหลัง ขณะที่ Pericles จัดว่าเป็นบทละครแหกคอก มันอยู่ใน genre ที่เรียกว่า "ละครนักบุญ" ซึ่งโด่งดังมากในยุคกลาง (ก่อนยุคเรอเนซองค์) ว่าด้วยการฟันฝ่าอุปสรรคนานาของนักบุญ ก่อนจะพบกับตอนจบที่สุขสม

Pericles เป็นละครเชยๆ แบบที่ได้อธิบายมานั่นเอง เพอริเคลสเป็นเจ้าชายที่ขับไล่ตัวเอง เพื่อหนีจากการแก้แค้นของกษัตริย์อาทิออคุส ระหว่างการเดินทาง เจอกับพายุร้ายและเรือแตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้ภรรยา ได้ลูกสาว สูญเสียภรรยา สูญเสียลูกสาว ก่อนจะกลับมาอยู่ด้วยกันของผาสุกในตอนท้าย (Pericles น่าจะเป็นบทละครชวนหัวเรื่องเดียวของเชคสเปียร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่เน้นไปที่ความรักในครอบครัว)

เนื้อเรื่องเชยมาก แต่อย่างที่มีแวนเดอโรพูด "พระเจ้าสถิตย์อยู่ในรายละเอียด" จริงๆ กลับเป็นรายละเอียดที่เสริมเสน่ห์ให้กับละครเรื่องนี้ Pericles เริ่มต้นด้วยฉากน่าสยดสยองที่สุดฉากหนึ่งของเชคสเปียร์ เจ้าชายเพอริเคลสเดินทางมาสู่ขอธิดากษัตริย์อาทิออคุส หัวของเจ้าชายองค์ก่อนๆ ถูกเสียบประดับกำแพงเมือง เพอริเคลสได้เรียนรู้ความจริงอันน่าขยะแขยงผ่านปริศนาคำทายว่า กษัตริย์อาทิออคุสลักลอบได้เสียกับธิดาของตัวเอง เป็นฉากที่มหัศจรรย์ และทรงพลังอย่างมาก จนแม้ว่ากษัตริย์อาทิออคุสจะไม่ได้โผล่ออกมาอีกเลย แต่เงาของฉากนี้สยายครอบคลุมละครทั้งเรื่อง (จุดจบของอาทิออคุสและลูกสาวแม้จะเกิดนอกเวที แต่ก็น่ากลัวไม่น้อย)

นักวิจารณ์หลายคนมองว่าปมของ Pericles อยู่ที่ตัวเอกต้องรับมือกับบาปมหันต์ที่เขามีส่วนรับรู้ในตอนต้นเรื่อง และเป็นสาเหตุที่เจ้าตัวประสบโชคร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่ได้เกี่ยวกับความผิดการกระทำของตัวเองเลย ในตอนท้ายบทละคร เพื่อนผู้หวังดีคนหนึ่ง ต้องการปลอบโยนกษัตริย์เพอริเคลสที่เพิ่งสูญเสียลูกสาว จึงไปซื้อมารินา ลูกสาวซึ่งจริงๆ แล้วยังมีชีวิตอยู่มาจากซ่องแห่งหนึ่ง เพื่อให้มาปลอบโยนกษัตริย์เพอริเคลส ถึงในบทละครจะไม่ชัดเจน แต่ฉากนี้น่าจะเล่นกับปมที่ผูกไว้ตอนต้นเรื่อง เพอริเคลสจะพลั้งพลาดและทำความผิดแบบเดียวกับอาทิออคุสหรือไม่

ในทางตรงกันข้าม Cymbeline ที่เรากะว่าเข้าทางเราแน่ๆ กลับดูเหมือนรวมฮิตเชคสเปียร์ไปหน่อย มันเต็มไปด้วยอนุภาคที่เราคุ้นเคยจากบทละครเรื่องเก่าๆ มากเกินไป จนไม่ได้กระตุ้นความอยากอ่านเลย

I. Calvino's "The Uses of Literature"

"กระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติของวรรณกรรม" (Natural Selection of Literature) นั่นแหละคือสรุปรวบยอดแนวคิดทางวรรณกรรมของคัลวิโน

มันหมายความว่าอย่างไร สำหรับคัลวิโน วรรณกรรมไม่ได้เกิดจากการใคร่ครวญ (ที่จะเขียน) ของนักประพันธ์ เขาชักชวนให้เราย้อนเวลากลับไปสมัยยุคถ้ำ สมัยแรกๆ ที่มนุษย์ยังเล่านิทานรอบกองไฟ ภาษาที่จำกัด และความเข้าใจต่อโลกที่จำกัด มนุษย์ถ้ำ อาจจะมีคำ (หรือภาษามือ) ที่สื่อสารความหมายแค่ไม่กี่ช้าง เช่น ช้าง เสือ หิมะ ฝน ตู สู นก ถ้ำ ทะเล กระบวนการเล่าเรื่องเกิดจากมนุษย์ถ้ำเอาสัญญะเหล่านั้นมาต่อๆ กันอย่างสุ่มมั่ว เช่น ช้างตกจากฟ้า ตูอยู่ทะเล นกกินเสือ ในขั้นแรก ประโยคเหล่านี้ไม่มี "ความหมาย" อะไรเลย เป็นแค่การเล่นสนุกของมนุษย์ถ้ำ ที่จะเอาสัญญะมาต่อๆ กัน

แต่แล้วจู่ๆ มนุษย์ถ้ำก็เริ่มสังเกตว่าชุดคำบางอย่าง มัน "ดูดี" มากกว่าชุดคำประเภทอื่น ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใด ช้างเหยียบมด ถึงฟังแล้ว "ใช่" กว่า มดเหยียบช้าง ภาษาค่อยๆ ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเรื่องราว (หมาป่ากินคุณย่าแล้วปลอมตัวรอหนูน้อยหมวกแดง ไม่ใช่ คุณย่ากินหมาป่าแล้วปลอมตัวรอหนูน้อยหมวกแดง หรือ หนูน้อยหมวกแดงกินคุณย่า แล้วปลอมตัวรอหมาป่า) เรื่องราวเกิดมาจากการคัดสรรแล้ว จากความเป็นไปได้แบบสุ่มมั่วสิบหมื่นร้อยพัน อะไรที่ "ไม่ใช่" หรือ "ดูไม่ดี" ถูกคัดออก เช่นเดียวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

น่าตื่นเต้น และน่าตื่นตระหนกมาก สิ่งที่คัลวิโนเชื่อกลับหัวกลับหางกับทฤษฎีวรรณกรรม ภาษาศาสตร์ทั่วไปเลย ไม่ใช่ว่าความจำเป็นก่อให้เกิดภาษา และเรื่องราว แต่ภาษาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสุ่มมั่ว ก่อนจะถูกคัดออกไปต่างหาก ความเป็นจริง (หรือความสมจริงสมจัง) ไม่ใช่ตัวกำหนดโครงสร้าง การไหลเวียนของภาษา มองในทางตรงข้าม ภาษาต่างหากที่ควบคุมความเป็นจริงอีกชั้น จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจู่ๆ มนุษย์ถ้ำรู้สึกว่า "ตูบินได้"​ มันฟังดูเข้าท่าเข้าที อำนาจของภาษามีผลอย่างไรต่อความเป็นจริง (นี่เองคือที่มาของเวทมนต์คาถา คำพูดที่ฟังดูใช่ แม้จะขัดแย้งกับความเป็นจริงก็ตาม)

A. Copland's "What to Listen for in Music"

มีนิยายที่จงใจไม่ใช่ตัวอักษร e (ตัวอักษรสามัญที่สุดในภาษาอังกฤษ) นิยายที่ค่อยๆ ตัดคำขึ้นต้นด้วยตัว a b c d e f... ไปเรื่อยๆ ในแต่ละบท นิยายที่เขียนโดยไม่ใช้คำซ้ำเลย (อ่านได้ประมาณหนึ่งย่อหน้า ก็อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว ทั้งเล่มยาวประมาณ 200 หน้า) สงสัยว่าทำไมการเขียนนิยายแนวทดลองถึงเต็มไปด้วยเงื่อนไขของการตัดทอน การลบละบางสิ่งบางอย่าง ไม่เห็นมีใครเขียนนิยายแบบแจ็ค นิโคลสันใน The Shining นิยายที่มีแต่ประโยคเดียวซ้ำไปซ้ำมา (แจ็คไม่ได้บ้า เขาแค่กำลังทำการทดลองทางวรรณกรรมต่างหาก! :-P )

สมมติฐานหนึ่งคือ พื้นฐานของศิลปะที่เล่าเรื่อง โดยเฉพาะวรรณกรรม คือการหาอะไรใหม่ๆ มาป้อนคนอ่านตลอดเวลา นิยายขนบอาศัยการเดินเรื่อง พาตัวเอกและคนอ่านไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ซ้ำเดิม คนเขียนนิยายแนวทดลอง ก็อาจสืบทอดวิธีคิดนี้มาโดยไม่รู้ตัว

ถ้าพิจารณากันจริงๆ คุณสมบัติตรงนี้ต่างจากดนตรีชนิดกลับหัวกลับหางเลย ดนตรี ยิ่งขนบเท่าใด ก็ยิ่งเต็มไปด้วยความซ้ำ พื้นฐานของดนตรีขนบคือการย้ำไปที่โน้ต สเกล จังหวะ คอร์ด ธีม หรือ โมทีฟหนึ่งๆ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้ผู้ฟังคุ้นเคย และรู้สึกอุ่นใจเสียงพื้นตรงนั้น (และด้วยเหตุนี้ นักประพันธ์ต้นศตวรรษที่ 20 ถึงพยายามฉีกตัวเองด้วยเทคนิคต่างๆ ที่พยายามทำลายความซ้ำซากตรงนี้ Twelve-tone technique ของโชคเบิร์ค คือตัวอย่างหนึ่ง) ทั้งหมดนี้เพราะดนตรีอาจเป็นศิลปะแขนงเดียวที่ form จัดกว่า content อย่างเห็นได้ชัด

แต่จริงหรือเปล่าที่ว่าวรรณกรรมไม่มีความซ้ำซากเลย ถ้าวิเคราะห์ดีๆ เราก็จะพบอาการย้ำคิดย้ำทำในวรรณกรรมเฉกเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากรณีของดนตรี แต่นักวิจารณ์แนวโครงสร้างนิยมก็มักพูดถึง form ของวรรณกรรม และเมื่อมี form ก็ (อาจ) หมายถึงการย้ำโมทีฟบางอย่างในงานเขียนได้ด้วย

ทั้งหลายนี้อาจเป็นสาเหตุที่เราสนอกสนใจทฤษฎีดนตรีเสมอมา การผลิตงานศิลปะขึ้นมาจากความซ้ำซาก การใช้ form จัดๆ มานำ content การดัดแปลงเอาฟูวก์ หรือโซนาตามาใช้กับงานวรรณกรรมจะเป็นไปได้ไหม และออกมาในรูปแบบใด ความสนใจนี้ดลให้เราหา What to Listen for in Music ของแอรอน คอปแลนด์มาอ่าน หนังสือคลาสสิคว่าด้วยทฤษฎีดนตรีพื้นฐาน

R. Windor's "The Final Act of Mr Shakespeare"

มีความล้มเหลวบางอย่างที่เราให้ค่ามันเสียยิ่งกว่าความสำเร็จอีก The Final Act of Mr Shakespeare นิยายกึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเบื้องหลังบทละคร Henry VIII ของเชคสเปียร์ คือความล้มเหลวที่ว่า

วินดอร์สมมติเรื่องราว ให้เชคสเปียร์ไปชมละคร Richard III ของตัวเอง แล้วอยู่ดีๆ ก็เกิดจิตสำนึกขึ้นมา เขาอับอายตัวเองที่วาดภาพกษัตริย์ริชาร์ดให้ออกมาเป็นผู้ร้ายสุดโต่ง เพื่อเยินพระเกียรติราชวงศ์ทิวดอร์ เชคสเปียร์ตัดสินใจจะแก้ไขบันทึกประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง นักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่จึงตัดสินใจผลิตบทละครชิ้นสุดท้าย Henry VII เพื่อเปิดเผยความชั่วร้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ แต่เบื้องหน้า ให้นักเขียนอีกคนเขียน Henry VIII เพื่อปกปิดโครงการอันตรายนี้

ผิวเผินเหมือนว่านิยาย (ชื่อย้าวยาว) ของวินดอร์เรื่องนี้จะเข้าข่าย cloak-and-dagger นิยายสายลับนักสืบย้อนยุค (เช่น สามทหารเสือ) แต่ The Final Act of Mr Shakespeare มีหลายอย่างมากกว่านั้น วินดอร์สืบค้นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของเชคสเปียร์ มาผสมปนเปเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้ เอาเข้าจริงแล้วนิยายเรื่องนี้มีอนุภาค (element) ของความเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์เบื้องหลังการเขียนบทละครเสียมากกว่า

แต่ก็นั่นแหละ คือจุดด้อยและความล้มเหลวของมัน เราบอกว่า The Final Act of Mr Shakespeare มีหลายอย่างมากกว่านิยาย cloak-and-dagger แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีหลายอย่างน้อยกว่า เราก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนที่วินดอร์ไปค้นคว้ามาว่า เวลาเชคสเปียร์เขียนบทละคร แทนที่จะขังตัวเองอยู่ในห้องกับปากกาและกระดาษเปล่า เขากลับใช้วิธีเรียกนักแสดง และศิลปินมารวมตัวกัน แล้วค่อยๆ คิดฉาก ให้แต่ละนักแสดงสวมบทบาทแล้วด้นสดเลย มีเสมียนคอยจดคนหนึ่ง จากนั้นค่อยให้เชคสเปียร์ไปเกลาเป็นคนสุดท้ายอีกที ไม่เคยพบเคยเห็น creative process ที่สุมหัวคิดแบบนี้มาก่อน (เราเคยเล่นเป็นตัวประกอบในละครเชคสเปียร์ ยังจำคำพูดของผู้กำกับได้แม่นยำเลย "Theatre is not a f*cking democracy!")

ส่วนใหญ่ของ The Final Act of Mr Shakespeare ก็คือการสุมหัวคิดแบบนี้แหละ นิดๆ หน่อยๆ พอหอมปากหอมคอก็คงสนุกดี แต่นี้เล่นกินเรื่องราวเกือบตลอดทั้งเล่ม แทนที่จะอ่านสนุกแบบนิยาย cloak-and-dagger เลยกลายเป็นหนังสือสุด tedious แทน แถมตอนท้ายวินดอร์ยัง "กล้าดี" พอที่จะนำเสนอบทละคร Henry VII ของตัวเองอีกต่างหาก (เท่ากับว่า คนอ่านอย่างเราต้องอ่าน Henry VII สองครั้ง คือระหว่างสุมหัวคิด กับในรูปบทละครสมบูรณ์แบบ)

อีกจุดอ่อนหนึ่งคือปรัชญาของนิยายเรื่องนี้ เราไม่เชื่อว่าเชคสเปียร์ตัวจริงเป็นพวกคิดเล็กคิดน้อยเรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์หรอก และขณะที่เชคสเปียร์ของวินดอร์ พร่ำภาวนาถึงการเขียนประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง แต่บทละคร Henry VII กลับได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องซุบซิบนินทา หรือแม้แต่สิ่งที่วินดอร์กำลังทำอยู่นี้ (เล่นกับเกร็ดประวัติศาสตร์) ในแง่หนึ่งก็คือการปลอมประวัติศาสตร์เพื่อความบันเทิงนั่นเอง

G. Greene's "A Gun for Sale"

เอาน่า ไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง เราเดาว่าถ้า A Gun for Sale ไม่ใช่นิยายเรื่องแรกของเกรแฮม กรีน ก็น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ เลย ตกลงเป็นเรื่องที่เจ็ด จากสามสิบกว่าเรื่องตลอดทั้งชีวิต ก็น่าจะถือเป็นเรื่องแรกๆ ได้เหมือนกัน

ราเวนเป็นผู้ชายที่หันหลังให้กับโลกทั้งใบ เขามีอาชีพมือปืนรับจ้าง ("a gun for sale") รับงานใหญ่มาชิ้นหนึ่ง ถูกผู้ว่าจ้างหักหลัง ถูกตำรวจตามล่า และตามล่าผู้ว่าจ้างต่ออีกทอด ระหว่างนั้น แอน นักแสดงสาวที่เชื่อว่าราเวนกำลังพยายามหยุดยั้งสงคราม เข้ามาพัวพันกับเขา แต่แอนดันเป็นคู่หมั้นของตำรวจที่กำลังตามล่าราเวนอยู่ เรื่องก็เลยอิรุงตุงนังเช่นฉะนี้

พอมาอ่านเรื่องย่อเชยๆ เลยตระหนักว่า บางทีความสำเร็จของนิยายเรื่องนี้น่าจะมาจากการที่กรีนเขียนให้มันออกมาไม่เชย และเหตุบังเอิญทั้งหลายแหล่ ไม่ออกมาน่าเหลือเชื่อจนเกินไป A Gun for Sale ไม่ใช่นิยายที่ไม่ดี แต่ ณ จุดนี้เราไม่ตื่นเต้นกับงานระดับนี้แล้ว น่าจับตามากกว่าคือมันเต็มไปด้วยเทคนิคของมือสมัครเล่น (ตอนจบมีการเล่าเหตุการณ์ถัดจากนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบรรดาตัวประกอบบ้าง น่ารักดี แต่เหมือนไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ กับนิยายทริลเลอร์สั้นๆ แบบนี้)

มีบางลูกเล่นการเขียน ที่กรีนหยิบจับมาพัฒนา จนแตกฉานในงานชิ้นถัดไป พร้อมกับอีกหลายลูกเล่นที่กรีนโยนทิ้ง ไม่แตะต้องมันอีกเลย (ขอบคุณพระเจ้า!) โดยเฉพาะการจงใจตัดข้ามไคลแม็ก และไปเล่าเหตุการณ์ปลีกย่อย ก่อนค่อยๆ บิวด์เข้าสู่เหตุการณ์หลักอีกคราว เป็นเทคนิคที่ช่างโชว์ออฟ และถูกใช้บ่อยจนน่ารำคาญ แม้ว่าใน The Ministry of Fear กรีนจะเอาเทคนิคนี้กลับมาใช้อีกครั้ง ได้อย่างน่าพึงพอใจก็ตาม

เล่าให้ฟังขำๆ คือ เหตุการณ์ในนิยายเกิดช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ราเวนรับจ้างฆ่าคนระดับนักการเมืองใหญ่ด้วยค่าจ้างเพียง 200 ปอนด์ ส่วนผู้ร้ายใหญ่สุดวางแผนชั่วเพื่อหวังฟันกำไรเพียง 500,000 ปอนด์เท่านั้น ความเฟ้อของเงินช่างน่ากลัว

H. Ibsen's "Four Major Plays"

Four Major Plays ประกอบด้วยบทละครสี่เรื่องดังของอิบเซนคือ A Doll's House Ghosts Hedda Gabler และ The Master Builder เคยอ่านและชมเรื่องแรกนานแล้ว เลยไม่ได้อ่านซ้ำรอบนี้ ส่วน Ghosts ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ดังนั้นในบลอคนี้ก็ขอพูดถึงแค่สองเรื่องสุดท้ายเท่านั้น

เฮดดาจาก Hedda Gabler และฮิลดาจาก The Master Builder ดูราวกับจะเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน เหมือนปีศาจและเทพธิดา เฮดดาทำร้าย บดขยี้ชีวิตคนอื่นโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เช่นเดียวกับฮิลดา ที่อยู่ดีๆ ก็โผล่เข้ามากลางชีวิตที่แตกสลาย และค่อยๆ ผสานทุกสิ่งเข้าหากัน ไม่น่าเชื่อว่าอิบเซนจะสามารถสร้างสองตัวละครที่แตกต่างกันได้ถึงเพียงนี้

ในส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ ละครทั้งสองเรื่องพูดถึงชีวิตแต่งงานที่ล่มสลาย (เอาเข้าจริง ก็ละครแทบทุกเรื่องของอิบเซนนั่นแล) เฮดดาแต่งงานกับเด็กเนิร์ดไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ใช่เพราะความรัก แต่เพราะความเบื่อหน่ายชีวิตตนเอง แต่เมื่อเธอตระหนักว่าชีวิตแต่งงานนั้น น่าเบื่อเสียยิ่งกว่า เธอเลือกที่จะเล่นเกม และทำลายชีวิตคนใกล้ตัว โซลเนส สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ ตระหนักว่าอาชีพการงานของเขามาถึงทางตันแล้ว หากดำเนินต่อไป ก็แค่รอเวลาให้เด็กรุ่นหลังแซงหน้า และขโมยความสำเร็จจากตัวเขา เฉกเช่นเดียวกับที่เขาเคยทำกับอาจารย์ แต่จู่ๆ ฮิลดา หญิงสาวปริศนาก็โผล่เข้ามาในชีวิตโซลเนสและคนรอบข้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง

ชอบทั้งสองเรื่องมากพอๆ กัน Hedda Gabler ได้ความรู้สึกสะใจของการทำลายล้าง ขณะที่ The Master Builder เป็นความอิ่มเอมใจอันประหลาดของการซ่อมแซม ความกล้าหาญ หนึ่งในคุณธรรมที่สำคัญที่สุดใน The Master Builder ถูกนำมาถากถางอย่างไม่ใยดีใน Hedda Gabler ช่างน่ามหัศจรรย์ที่บทละครสองเรื่องนี้ (ในเวลาเขียนที่ต่างกันเพียงสองปี)​ สามารถออกมาจากตัวคนคนเดียวกันได้

(เอาเข้าจริง มีนักวิจารณ์กลุ่มใหญ่ที่ตีความ The Master Builder ไปอีกทางหนึ่งเลย ว่านี่คือความโง่เขลาของผู้ชายวัยทอง ที่ถูกยั่วยวนโดยความเยาว์ ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่เราชอบวิธีอ่านแบบเรามากกว่า ตัวละครฮิลดานั้น โคตรจะ "การ์ตูนญี่ปุ่น" เลย เหมือนพวกอะนิเมะเกิร์ลนิสัยเพี้ยนๆ ที่ออกมาจากกระจก โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือจอทีวี เพื่อปลอบใจพระเอกหนุ่มคนซื่อ ใครจะไปรู้ว่าต้นกำเนิดของ J-romcom อาจจะมาจากบทละครสแกนดิเนเวียในศตวรรษที่ 19 ก็ได้!)

G. Deleuze's "The Fold"

เสียดายที่หนังเรื่อง Meet Dave ไม่ได้ออกมาดีกว่านี้ (ยังไม่ได้ดูหรอกนะ แต่มาตรมะเขืออยู่ที่ประมาณ 20%) ทั้งที่จริงๆ เราว่าไอเดียมันช่าง fascinating ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวตัวเล็กๆ ที่มาศึกษามนุษย์โลก ผ่านยาวอวกาศที่สร้างออกมาเป็นรูปเอ็ดดี้ เมอฟี่ แฝงตัวปะปนอยู่กับมนุษย์โลก (เอ็ดดี้ เมอฟี่เองก็เล่นบทเป็นกัปตันยาวอวกาศลำนี้) แนวคิดประเภทมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในร่างกายเรา ที่จริงแพร่หลายมากในหมู่ชนเผ่าพื้นเมือง และอาจเป็นที่มาของปรัชญาทวินิยมของเดสการ์ต ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศาสนาในปัจจุบัน (ว่าด้วยการแบ่งแยกระหว่างร่างกายและวิญญาณ)

เอาเข้าจริง เราว่ายานอวกาศมนุษย์แบบใน Meet Dave น่าจะคล้ายคลึงกับแนวคิดของลิบซ์นิซมากกว่า อย่างน้อยจากที่เดอลิซตีความลิบซ์นิซใน The Fold ลิบซ์นิซเห็นต่างจากเดสการ์ตตรงที่ว่า ยานอวกาศเอ็ดดี้ เมอฟี่ไม่ได้มีกัปตันคอยบังคับยาน สั่งการลูกเรือ และก็ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่บังคับยานด้วยซ้ำ แต่เป็นมนุษย์ทุกคนบนโลก นอกจากเดฟ ที่คอยควบคุมยานเดฟอยู่ภายในอีกที

ลิบซ์นิซ/เดอลิซเรียกมนุษย์ว่า Monad คล้ายๆ กับที่ไฮเดกเกอร์เรียกมนุษย์ว่า Dasein ถ้า Dasein หมายถึงการอยู่ดีๆ ก็พบตัวเองอยู่ในสถานที่หนึ่งๆ (Dasein แปลตรงตัวได้ประมาณ "being there") Monad ก็หมายถึงมนุษย์คือศูนย์รวมของบางสิ่งบางอย่าง ในที่นี้คือประสบการณ์ภายนอก ภาชนะที่เรียกว่ามนุษย์ เป็นเพียงจุดตัดกันของสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกตัวเขา มนุษย์ต่างกันเพราะเส้นที่ลากจากทุกสิ่งทุก สามารถตัดกันในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ปัจเจกชนเกิดจากเราไปทึกทักเอาเองว่า จุดตัดสมมติเหล่านี้เป็นของที่มีตัวตนจริงๆ เช่น วิญญาณ หรือจิตใจ (เฮเกลมากๆ พุธมากๆ เราชอบ)

อ่านดี อ่านสนุก แต่ก็สารภาพว่าช่วงนี้ไม่ค่อยอินกับปรัชญาทำนองนี้เท่าไหร่ ขอจบสั้นๆ แค่นี้แล้วกัน

W. S. Maugham's "The Magician"

ตาหนวดแวนโฮเอนไฮม์ พ่อของสองพี่น้องเอลริคมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ชื่อของเขาคือ พาราเซลซัส "วอน" โฮเอนไฮม์ นักเล่นแร่แปรธาตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปฐพี ตำนานกล่าวว่าพาราเซลซัสค้นพบหินนักปราชญ์ และได้มีชีวิตอมตะ นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครหลักใน FMA พาราเซลซัสยังเป็นต้นกำเนิดตัวร้ายในนิยาย The Magician ของมอคฮัมอีกด้วย

สุดจะคาดเดาว่ามอคฮัมคาดหวังอะไรจากนิยายเรื่องนี้ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เจ้าตัวจะสงสัยไหมทำไมใครๆ ก็รู้จักเคาท์แดรกคูลาของบราม สโตคเกอร์ สัตว์ประหลาดของแมรี เชลลี มิสเตอร์ไฮด์ของหลุยส์ สตีเฟนสัน แต่ไม่ยักกะมีใครรู้จักฮัดโด นักเล่นแร่แปรธาตุผู้ชั่วร้ายของเขาเลย

เอาเข้าจริง The Magician ไม่ได้แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ที่เอ่ยชื่อมาเลย พูดแบบหยาบๆ มันก็คือ Potboiler ดีๆ นั่นแหละ อ่านเอามันส์ อ่านเอาสนุก มีสาระติดปลายนวมเล็กๆ มอคฮัมผู้โด่งดังจาก Of Human Bondage ดูไม่ได้ตั้งเป้าหมายทะเยอทะยานอะไรนักกับนิยายเรื่องนี้ เทียบกับผลงานชิ้นเอกเล่มนั้นแล้ว เหมือนเจ้าตัวจะเขียน The Magician แบบส่งเดชเสียด้วยซ้ำ

แต่ก็อีกนั่นแหละ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก Dracula ดีกว่า Of Human Bondage หากนักเขียนสักคนตั้งความหวังว่านิยายของเขาจะขายดิบขายดี และสร้างตัวละครที่เป็นอมตะไปชั่วกาลนานแบบบราม สโตคเกอร์ ไม่เรียกเป้าหมายนี้ว่าทะเยอะทะยาน ก็ไม่รู้แล้วว่าอะไรใช่ (The Magician ตีพิมพ์ประมาณสิบเอ็ดปีภายหลัง Dracula เจ็ดปีก่อน Of Human Bondage บางทีตอนที่เขียน The Magician มอคฮัมอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการเป็นนักเขียนประเภทไหน)

แม้จะเป็นหนังสือทีหลัง แต่ภาพยนตร์เรื่อง The Magician ถูกสร้างก่อน Dracula ห้าปี พอล เวเกเนอร์ ที่โด่งดังจากบทโกเลม (สัตว์ประหลาดที่ถูกลืมอีกตัว) มารับบทเป็นฮัดโด แต่จนบัดนี้ ก็รู้สึกเหมือนยังไม่มีใครเอามาสร้างใหม่ ไม่เหมือนเบลา ลูโกซี ที่มีส่วนทำให้ท่านเคาท์เป็นอมตะในใจผู้ชมไปได้จริงๆ (ช่วงนี้เป็นเทศกาลฮัลโลวีนพอดี มีเด็กทั่วอเมริกากี่แสน กี่ล้านคนที่แต่งตัวเป็นแดรกคูล่า แล้วจะมีสักกี่คนที่แต่งตัวเป็นฮัดโด นักเล่นแร่แปรธาตุ)

สรุปว่าอะไร มันก็แปลกดีที่ความเป็นอมตะ บางครั้งไม่ต้องอาศัยหินนักปราชญ์เลยด้วยซ้ำ แต่มาจากเหตุบังเอิญล้วนๆ ใครจะไม่ยอมรับบ้างว่ามอคฮัม เป็นนักเขียนนิยายที่กระดูกหนากว่าบราม สโตคเกอร์ตั้งเยอะ แต่ถ้าไม่ใช่เบลล่า ลูโกซี ถ้านิยาย Dracula ไม่ได้ขายดิบขายดี ติดอันดับเบสเซลเลอร์ของศตวรรษที่ 19 (ส่วน Trillby นิยายขายดีอันดับสอง ถูกลืมไปแล้ว) และปัจจัยตั้งเยอะตั้งแยะ

M. Twain's "A Connecticut Yankee in King Arthur's Court"

ในวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยึดครองวอลสตรีท เป็นความรู้สึกแปร่งปร่าบรรยายไม่ถูก เมื่อได้อ่าน A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ในฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อร้อยยี่สิบที่แล้ว มาร์ค ทเวนโฆษณานิยายเรื่องนี้ขึ้นปกว่า "นิยายที่จะถูกอกถูกใจอเมริกันชนทุกคน" ซึ่งก็จริงของเขา นี่เป็นนิยายที่ "อเมริกัน" มากๆ เชิดชูวิถี และแนวคิดแบบอเมริกันอย่างที่พ้นสมัยไปแล้วในอีกสองศตวรรษถัดมา

ตัวเอกของนิยายคือแฮงค์ เขาเดินทางย้อนอดีตกลับสู่ยุคกษัตริย์อาเธอร์ อัศวินโต๊ะกลมที่แฮงค์เจอไม่ใช่นักรบผู้ทรงเกียรติ แบบในนิยายอัศวินของวอลเตอร์ สกอต (มาร์ค ทเวนใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา เขาเป็นชาวเหนือ รังเกียจการค้าทาส และวิถีชีวิตแบบชาวใต้ เขาเชื่อว่าเป็นเพราะหนังสือของวอลเตอร์ สกอตนั่นแหละ ที่ทำให้ชาวใต้หยิ่งยะโส ขุนน้ำขุนนาง และเป็นต้นเหตุของสงคราม A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ถูกเขียนเพื่อยั่วล้อแนวคิดแบบนี้โดยเฉพาะ)

ทเวนไม่ปิดไม่เร้นความรังเกียจที่ตัวเขามีต่อเหล่าอัศวิน เขาก็เรียกคนพวกนี้ว่า "เด็ก" หรือ "สัตว์" และตลอดนิยายทั้งเล่มคือการเทศนาเปรียบเทียบให้เห็นว่าวิถีแบบประชาธิปไตย ตลาดเสรี และวิทยาศาสตร์ของอเมริกา (ปลายศตวรรษที่ 19) นั้นมันวิเศษอย่างไร

การอ่านนิยายเล่มนี้ในศตวรรษที่ 21 หลังจากโลกเราผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย พูดได้คำว่าเดียวว่า "quaint" (แปลกและน่าดูอย่างโบราณ) ภาษาของทเวนเป็นภาษายุค "ก่อน" หลังล่าอาณานิคม (ก็คือยุคล่าอาณานิคมนั่นเอง) ที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยามคนต่างถิ่น นอกจากนี้หลังสงครามเวียดนาม นักเขียนที่ไหนจะกล้าพูดความวิเศษของประเทศอเมริกาบ้าง ในแง่หนึ่ง สายตาที่เรามองแฮงค์ และทเวน จะว่าไปก็คงไม่ต่างจากสายตาที่แฮงค์มองอัศวินโต๊ะกลมเหล่านั้น คือพวกเอ็งทั้งคู่ก็ตกยุคพอๆ กันนั่นแหละ

พูดแบบนี้ไม่ใช่จะติหนังสือ ตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ คนในศตวรรษที่ 21 (โดยเฉพาะคนไทย) สมควรเตือนตัวเองเป็นอย่างยิ่งว่าไอ้ที่เราด่าๆ กันในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งมันเคยสวยงามแค่ไหน โลกนี้ไม่ได้มีแค่ผิดหรือถูก เราต้องพยายามมองหาความถูกต้องในสิ่งที่ผิดด้วย

แต่ถ้าเรายังยืนยันจะอยู่ในโลกสองสีจริงๆ ก็ยิ่งสมควรอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะถ้าคิดว่าประชาธิปไตย ทุนนิยม ตลาดเสรี และวิทยาศาสตร์มันเลวร้ายนัก ก็สมควรอ่าน A Connecticut Yankee in King Arthur's Court เพื่อจะได้เห็นว่า "อะไร" ที่มันเลวร้ายยิ่งกว่านั้นหลายเท่า

A. Bellos's "Alex's Adventures in Numberland"

อ้าาาาา...การคิดอะไรออกนี่มันช่างประเสริฐแท้ ไม่แปลกใจเลยทำไมอาคีมีดิสกระโดดออกจากอ่างอาบน้ำ แล้วแก้ผ้ายูเรก้าไปรอบเมือง เราเองก็อยากทำแบบนั้น หลังจากขบคิดปริศนาที่ติดอยู่ในใจมาแสนนาน

เราทะลุความโง่ระหว่างที่อ่าน Alex's Adventures in Numberland เป็นหนังสือแนวคณิตศาสตร์แสนสนุก ในบทเกี่ยวกับความน่าจะเป็น เบลลอสพูดว่า "ความน่าจะเป็นคือสาขาของวิชาคณิตศาสตร์ที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน และสวนทางกับสามัญสำนึกที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มันจะผลิตพาราดอกซ์ออกมามากมาย" ระหว่างที่อ่านประโยคนี้ เราก็ระลึกถึงพาราดอกซ์ที่ติดอยู่ในใจเราเป็นเวลาเกือบสิบปี และแล้วก็ยูเรก้าโดยพลัน

เกือบสิบปีที่แล้ว ผู้กำกับเอาพาราดอกซ์นี้จากนิตยสาร My Maths มาถามเรา สมมติว่าเราเล่นเกมกับเพื่อน กติกาคือมีไพ่หมายเลขหนึ่งถึงร้อย เราผลัดกันสับและแจกมั่วๆ แบบคว่ำหน้ามาสองใบ ถ้าต่างฝ่ายต่างเลือกจะเอาใบไหน แล้วมาแข่งกันว่าใครแต้มสูงกว่าชนะ โอกาสชนะของเราคือหนึ่งในสอง (เพราะจะมีใบหนึ่งสูงกว่าอีกใบเสมอ) ทีนี้ดัดแปลงกติกาเล็กน้อย เพื่อนเราเปิดไพ่หนึ่งในสองใบ แล้วเรามีสิทธิเลือกว่าจะเอาใบที่เขาเปิดแล้ว หรือจะเอาอีกใบที่ยังปิดอยู่ เขาเลือกอีกใบที่เหลือ แล้วค่อยมาเปรียบเทียบกัน

สมมติเราเล่นเกมนี้โดยไม่มีกลยุทธอะไรเลย ใช้วิธีสุ่มมั่ว พอเพื่อนเปิดไพ่มา เราโยนเหรียญ ออกหัวเอาใบที่เปิด ออกก้อยเอาใบที่ปิด โอกาสชนะของเราก็จะมีแค่หนึ่งในสองเท่านั้น My Maths เสนอกลยุทธนี้ ก่อนเพื่อนจะเปิดไพ่ ให้เราสุ่มตัวเลขในใจหนึ่งถึงร้อย เราจะเรียกเลขตัวนั้นว่า "เลขฐาน" เมื่อเปิดไพ่ปุ๊บ ถ้าเลขฐานต่ำกว่าหน้าไพ่ ก็เป็นไปได้ว่าไพ่ที่คว่ำอยู่จะต่ำกว่าด้วย ให้เราเลือกไพ่ที่เปิดแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าเลขฐานสูงกว่าหน้าไพ่ ไพ่ที่คว่ำอยู่จะสูงกว่าด้วย ให้เราเลือกใบที่คว่ำ ถ้าใช้กลยุทธนี้โอกาสชนะจะเพิ่มขึ้นถึง 2/3 หรือ 3/4 ทีเดียว (จำคำตอบไม่ได้แล้ว)

น่าอัศจรรย์ไหม ที่เลขฐานซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเกมเลย อยู่ในใจเราแท้ๆ แต่กลับมีส่วนช่วยเราได้ เราถึงกับใช้แมตเลปเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบ ในการเล่น 1000 ครั้ง วิธีสุ่มมั่วจะชนะแค่ 500 แต่กลยุทธเลขฐานจะช่วยเพิ่มจำนวนครั้งที่ชนะถึง 750 (หรือ 666) ครั้งทีเดียว

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากขบคิด (หรือทดสอบ) ด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งอ่านต่อ

เอาเข้าจริงปัญหานี้ไม่เชิงเป็นพาราดอกซ์เสียทีเดียว เหมือนเป็นการ "หลอกต้มหมู" ของ My Maths มากกว่า ถ้าเราเล่นเกมนี้จริงๆ โดยไม่ใช้วิธีสุ่มมั่ว (โยนเหรียญก่อน แล้วค่อยเลือก) โอกาสชนะจะแค่ห้าสิบห้าสิบหรือเปล่า คำตอบคือ "เป็นไปไม่ได้!" ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเปิดหน้าไพ่ออกมาเป็น 89 หรือ 95 มีใครจะเสี่ยงเลือกไพ่อีกใบหรือเปล่า ในทางตรงกันข้าม เปิดออกมาแล้วเป็น 2 หรือ 7 ก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่าเปลี่ยนไปเลือกอีกใบเถอะ

ต่อให้ไม่สุ่มเลขฐานขึ้นมา โดยสามัญสำนึก เราก็จะมีเลขฐานอยู่ในใจอยู่แล้ว นั่นคือคือ 50 ถ้าไพ่ที่หงายออกมาสูงกว่า 50 โอกาสที่อีกใบจะต่ำกว่าก็มีมาก และในทางกลับกัน และการที่เราสุ่มมั่วเลขฐานขึ้นมา expected value ของมันก็คือ 50 ดังนั้นกลยุทธนี้ก็คือการ "หลอก"​ ให้เรากลับไปใช้สามัญสำนึก หรือกลยุทธพื้นฐานโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

Q.E.D. -- quite easily done (after almost ten fucking years!)