J. P. Sartre's "What is Literature?"


ช่วงปีที่แล้ว กูรูวรรณกรรมถกเถียงกันว่าควรเปลี่ยนกติกาการประกวดซีไรต์ดีหรือเปล่า โดยรวมเอาทั้งสามประเภทเข้าด้วยกันในแต่ละปี ได้แก่กวี นิยาย และเรื่องสั้น (ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ ก็คงต้องผนวกสารคดีเข้ามาด้วย) สาเหตุคือกูรูเชื่อว่าระบบ "ฤดูกาล" ของซีไรต์ได้ทำลายวัฒนธรรมการเขียน การอ่านในเมืองไทย โดยจำกัดให้เฉพาะแต่ละปีมีงานเขียนรุมๆ กันออกมาชนิดเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้นะแต่...

ไม่มีบรรทัดฐานใดในโลกนี้จะเอาร้อยกรอง หรือกวีนิพนธ์มาตัดสินรวมกับงานเขียนร้อยแก้วเช่นนิยาย หรือเรื่องสั้นได้ จบข่าว หมดเรื่องถกเถียง ใครไม่เห็นด้วยกับประโยคที่เน้นตัวหนา คุณผิด ประตูอยู่ทางโน้น!...โอเค คุณอาจจะไม่ผิด แต่อย่างน้อย ฌอง ปอล ซาร์ตก็ไม่เห็นด้วยกับคุณคนหนึ่งล่ะ

ถ้าสมซาร์ตฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงถกเถียงขอกูรู แกคงพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นก็เอาซีไรต์ไปรวมกับสุพรรณหงส์เลยไหม แล้วก็อัดสีสันอวอร์ด กับอะแคเดมีแฟนเตเซียเข้าไปด้วยนะ" เพราะสำหรับสมซาร์ต ร้อยกรอง และร้อยแก้วอยู่ห่างไกลกันพอๆ กับร้อยกรอง และภาพยนตร์ ดนตรี หรือถ้วยชามรามไห

กวีคือผู้อยู่ "นอกภาษา" สร้างงานศิลปะด้วย "คำ" หน้าที่ของกวีคือทำให้ผู้เสพมองเห็นธรรมชาติของคำ และอภิเชษฐ์มัน ในแง่นี้ กวีจึงคล้ายกับนักดนตรี (ผู้สร้างศิลปะจาก "เสียง") หรือจิตรกร (ผู้สร้างศิลปะจาก "สีและเส้น") ส่วนนักเขียนคือผู้อยู่ "ในภาษา" สร้างศิลปะด้วย "ความหมาย" ร้อยแก้วไม่ได้เล่น "คำ" แต่เล่น "ความหมาย"

ตัวอย่าง: "ตื่นได้แล้ว!" ในรูปข้างบน ใช้วิชวลเทคนิค ทำให้ "คำ" สามคำมีคุณสมบัติเป็นศิลปะ เป็นบทกวีขึ้นมา แต่ "ตื่นได้แล้ว!" ต่อเห็นสักอยู่บนหน้าท้องสาวเอวลอย ก็ไม่อาจกลายเป็นร้อยแก้ว หรือศิลปะของ "ความหมาย" ไปได้

ดังนั้นรางวัลวรรณกรรมจึงไม่อาจเอางานเขียนสองประเภทนี้ ซึ่งใช้สื่อต่างชนิด มาตัดสินรวมกัน จบข่าว...เดี๋ยวจะพาสมซาร์ตไปเลี้ยงแชมเปญสักแก้ว

ชอบช่วงต้นของ What is Literature? มาก เพราะมันตอบโจทย์ และข้อถกเถียง ซึ่งเราได้ยินมาบ่อยๆ ในพักหลัง แต่ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมยุโรป จากมุมแบบมาร์กซิส ยอมรับว่าอ่านไปก็แอบเบื่อไปอยู่เหมือนกัน ในสายตาเรา ทฤษฎีมาร์กซิสที่เอะอะก็อ้างชนชั้น อ้างศักดินา กรรมาชีพ และกระฎุมพี ดูโบราณไม่ตามสมัยยังไงชอบกล แต่อ่านไปได้สักพัก อุทานว่า เอ้ย! ตกลงนี่มันซาร์ต หรือสมซาร์ตกันแน่วะ ทำไมประวัติศาสตร์วรรณกรรมยุโรป มันแทบไม่แตกต่างอะไรจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยเลย

สมซาร์ตวิเคราะห์หนังสือ ในฐานะที่มันเป็นตัวกลางระหว่างผู้เขียน และผู้อ่าน แกไม่เชื่อว่ามีงานเขียนใดที่ปราศจากผู้อ่านโดยสิ้นเชิง เพราะต่อให้เป็นหนังสือที่ขายไม่ออก แต่อย่างน้อยระหว่างที่เขียน ผู้ประพันธ์ก็ต้องคิดถึง "ผู้อ่านในอุดมคติ" ไว้บ้าง ทฤษฎีของสมซาร์ตสามารถนำมาวิเคราะห์วรรณกรรมไทย ได้ตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ จนถึงยุคสุภาพบุรุษ ยุค "หล่มเพื่อชีวิต" กระทั่งวรรณกรรมแนวเหนือจริงนิยม (หรือ "หลังสมัยใหม่") รวมถึงวรรณกรรมปัจเจกชนชั้นกลางก็ยังหนีไม่พ้นทฤษฎีที่ว่า What is Literature? แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลังประวัติศาสตร์ที่สามารถทะลุกำแพงเวลา ระยะทาง และวัฒนธรรม

ส่วนที่น่าสนใจสุดคือซาร์ตพูดถึงวรรณกรรมฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมคติสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม หรืออำนาจนิยม และนักเขียนต้องค้นหาอุดมคติ และทางเลือกใหม่เอาเอง ซึ่งมันบังเอิญตรงกับวิกฤติการเมืองไทยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ วาทกรรมหลักของสังคมไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และภายในปีสองปีนี้ ถ้าเราไม่เติบโตไปข้างหน้า สลัดความคิดคร่ำครึ เมื่อนั้นก็แปลว่าวรรณกรรมไทยสิ้นหวัง ตก "หล่มเพื่อชีวิต" จนต่อให้ปรับเปลี่ยนกติกาซีไรต์สักแค่ไหน ก็คงช่วยเหลืออะไรไม่ได้อีกแล้ว

No comments: