E. Wilson's "To the Finland Station"
คำคุณสรรพที่เราคิดว่าเหมาะสมสุดสำหรับใช้อธิบาย To the Finland Station คือ "น่าฉงน" ตั้งแต่ปกซึ่งเป็นรูปปั้นเลนินถูกรื้อถอนในประเทศลิธัวเนียภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ (ซึ่งเป็นฉากอมตะในภาพยนตร์เรื่อง Goodbye Lenin แต่อันนั้นเป็นคนละรูปปั้นกัน) ทั้งที่หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยความสำเร็จ และการลุกฮือของคอมมิวนิสต์แท้ๆ แต่กลับใช้ปกซึ่งแสดงให้เห็นความล่มสลายของลัทธิดังกล่าว
แต่จะว่าไป คอมมิวนิสต์ และการปฏิวัติมวลชนก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งอันน่าฉงนเช่นนี้
ก่อน To the Finland Station จะเล่าประวัติบิดาทั้งสามแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือมาร์กซ์ เอเกล และเลนนิน ประมาณร้อยหน้าแรกอุทิศให้กับนักประวัติศาสตร์อีกคนมิเชลสัน ถือเป็นความน่าฉงนอีกประการ เพราะเอาเข้าจริงๆ มิเชลสันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแนวคิดนี้เป็นพิเศษ (ต่อมาวิลสันได้มีโอกาสพูดถึงนักคิดต้นกำเนิดสังคมนิยมคนอื่นๆ เช่นเซนไซมอน และฟูเรีย) นอกจากว่ามิเชลสันเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกๆ ที่เน้นว่ากระแสสังคมให้กำเนิดบุคคลสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับนักประวัติศาสตร์ยุคนั้นที่ยกย่องปัจเจคในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม ช่วงแรกนี้จะมองว่าเป็นการอธิบายสไตล์การเขียนที่ตามมาในภายหลังก็ได้ ขณะเดียวกันแนวคิด "กระแสสังคม" ก็มีหลายอย่างคล้ายกับหลักวัตถุวิภาษนิยม (materialist dialectic) ของมาร์กซ์
ชั่งใจไม่ถูกเหมือนกันว่าวิลสันรู้สึกยังไงกันแน่กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ถ้าให้เดานี่อาจเป็นมุมมองอย่าง "เห็นอกเห็นใจ" ที่สุดแล้วเท่าที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งจะมีได้ To the Finland Station ก็คล้ายๆ กับงานเขียนคอมมิวนิสต์เล่มอื่นๆ คือเต็มไปด้วยความยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ และความเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นกลาง แต่พอถึงตอนเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาจริงๆ ก็ดูไม่เหมือนว่าตัววิลสันเองจะมีศรัทธาอะไรกับแนวคิดนี้
ผู้เขียนชี้ให้เห็นข้อด้อยนานาประการในทฤษฎีของมาร์กซ์ ตั้งแต่ความเชื่อมั่นว่าผู้นำที่ถูกเลือกมาจากชนชั้นกลาง ย่อมบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของมวลชน ต่างจากผู้นำที่มาจากชนชั้นสูง หรือเศรษฐีที่คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเอง (ตรงนี้คล้ายๆ กับหลักญาณวิทยาของสตาลินที่ว่าวิทยาศาสตร์ ปรัชญาหรือองค์ความรู้อะไรก็แล้วแต่ที่มาจากชนชั้นล่างถือเป็นถูกหมด แต่อะไรคล้ายๆ กันถ้ามาจากชนชั้นสูงกลับกลายเป็นผิด) หรือที่มาร์กซ์ถือว่าความรุนแรง และการล้างแค้นของกรรมกรเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม
ที่จริงเราเป็นผู้สนใจปรัชญามาร์กซ์มาตลอด และเชื่อว่าที่มันผิดเพี้ยนไปเพราะคนอย่างเลนนิน สตาลินต่างหากนำมาดัดแปลง แต่พออ่าน To the Finland Station ก็เลยได้เห็นว่าเชื้อของความผิดพลาดมันอยู่ในปรัชญาดั้งเดิมมาแต่แรกแล้ว
มีอยู่ตอนหนึ่งที่ชอบมาก มาร์กซ์พบกับช่างซ่อมรองเท้าซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการปลุกระดมชนชั้นแรงงานให้ลุกขึ้นมาประท้วงนายทุน ทั้งที่เป้าหมายของคนทั้งคู่เหมือนกัน แต่แทนที่มาร์กซ์จะสนับสนุน ยกย่องอีกฝ่าย กลับกลายเป็นเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการลุกฮือของมวลชนที่ยังไม่พร้อม และขาดพื้นฐานความรู้อันพอเพียงก็ไร้ความหมาย (ตรงนี้มาร์กซ์ และเอเกลต่างจากเลนนิน ฝ่ายแรกเป็นนักวิชาการ ส่วนเลนนินเป็นนักปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้น ไม่ว่าจะต้องอาศัยแรกผลักจากเบื้องล่าง หรือแรงดึงจากเบื้องลน เลนนินก็เห็นด้วยกับมันทั้งนั้น) แม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ก็ยังต้องอาศัยการศึกษาระดับชนชั้นรากหญ้า ในแง่นี้แทบไม่ต่างอะไรจากที่พวกเราๆ เป็นกันอยู่เลย เพราะทุกวันนี้เราก็พูดกันเสมอว่าถ้าคนทั้งประเทศมีการศึกษา ระบบประชาธิปไตย/ทุนนิยมคงดำเนินไปอย่างสะอาดบริสุทธิ์กว่านี้
ตั้งใจว่าเล่มหน้าจะลองหางานมาร์กซ์ เอเกลจริงๆ มาอ่านดู ให้มันรู้ดำรู้แดงกันไปเลย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ขอบคุณที่อ่านแล้วมาสรุปให้ฟังนะ
ทันใจจริงๆ แม่ชอบ
Post a Comment