J. Sarte's "The Imaginary"


มันมีรายละเอียดขำๆ จากการ์ตูนโดราเอมอนที่ไม่รู้เหมือนกันทำไมเราถึงได้จำฝังใจนัก มีการเปิดเผยให้เห็นว่าภายในกระเป๋ามิติที่สี่เป็นยังไง เราจะเห็นแท่นๆ ๆ เรียงรายอยู่บนพื้นที่เวิ้งว้าง และบนแท่นนั้นจะมีของวิเศษตั้งอยู่ เมื่อโดราเอมอนยื่นมือกลมๆ เข้ามา คอมพิวเตอร์ที่อยู่บนมือ จะนำทางไปยังของวิเศษที่ตั้งใจจะหยิบ (บางทีที่เราจำมันฝังใจ คงเพราะความไม่ make sense ของการจัดวางแบบนี้กระมัง ช่างแสนเปลืองเปล่าเนื้อที่เสียนี่กระไร)

มานั่งนึกๆ ดูภายในกระเป๋ามิติที่สี่คงคล้ายๆ กับสมองของคนเรา เรามีเนื้อที่เก็บความทรงจำ และข้าวของแทบไม่จำกัด ปัญหาคือเราไม่มีคอมพิวเตอร์บนมือแบบโดราเอมอนที่จะนำทางเราไปความทรงจำที่ต้องการ ความคิดทำนองนี้คล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง The Cell ตำรวจจับผู้ร้ายลักพาตัวได้ แต่ผู้ร้ายอยู่ในอาการโคม่า ทางเดียวที่จะรู้ว่าเหยื่อคนสุดท้ายถูกจับขังไว้ที่ไหนคือต้องให้นางเอกเจาะเข้าไปยังจิตใต้สำนึกของคนร้ายเพื่อหาข้อมูลดังกล่าว แม้คนร้ายจะไม่มีสติสัมปชัญญะ แต่ข้อมูลยังอยู่ในนั้น เหมือนกับของวิเศษที่ตั้งรออยู่บนแท่น

ซาร์ตเรียกความคิดแบบนี้ว่า Illusion of Immanence (ภาพลวงตาของการคงอยู่ภายใน) "ภาพลวงตา" ว่าความทรงจำจะ "คงอยู่ภายใน" เสมอ แม้เจ้าตัวจะสิ้นสติสัมปชัญญะไปแล้ว ใน The Imaginary ซาร์ตตีโต้แนวคิดนี้ เขาอธิบายว่าความจำไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ภายใน แต่เป็นกระบวนการของสติ ของจิตเหนือสำนึก ภาพที่เราเห็นในหัวไม่ใช่สิ่งที่เราเก็บสะสมเอาไว้ แต่เป็นกระบวนการที่ถูกผลิตสร้างขึ้น

ซาร์ตยกตัวอย่างน่าคิดมากๆ สมมติว่าใครเคยไปเที่ยวกรีก ได้ชมวิหารพาเธนอน และเมื่อเขากลับมาแล้ว เราขอให้เขาจินตนาการภาพพาเธนอนขึ้นในหัว แน่นอนว่าเขาย่อมทำได้ แต่ถ้าเราถามเขาต่อว่าพาเธนอนมีเสาวิหารทั้งหมดกี่ต้น รับรองว่าไม่มีใครตอบได้ ถ้าไม่รู้คำตอบมาก่อน (เฉลย 86 ต้น) ทั้งนี้เพราะภาพที่อยู่ในหัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราไปเก็บมา แต่เป็นกระบวนการที่เกิดจากการสังเคราะห์ของความรู้ และความรู้สึก

The Imaginary ยังพูดถึงสภาวะต่างๆ ของความทรงจำ ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก ซาร์ตอาศัยข้อมูลจากการทดลองทางจิตวิทยา ซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างแตกต่างจากตำราปรัชญาทั่วไป แต่มีกลิ่นของความเป็นจิตวิทยาสูงมาก

เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสรุปตอนท้ายของหนังสือ เมื่อซาร์ตพูดถึงงานศิลปะเท่าไหร่ เขาบอกว่าความงามทางศิลปะทุกแขนงมาจากสิ่งที่อยู่ภายในแต่ไม่ใช่ตัวภาพเอง "ภาพทุ่งหญ้า" นั้นไม่งาม แต่ "ทุ่งหญ้าที่อยู่ในภาพ" ต่างหากที่งาม ในทางวรรณกรรม "เรื่องราวในหนังสือ" นั้นมีคุณค่าทางสุนทรียะ แต่ "หนังสือ" นั้นไม่มี ในแง่หนึ่งก็คือซาร์ตปฏิเสธลัทธิจิตรกรรมแขนงใหม่แทบทั้งหมด โดยเฉพาะดาดา

No comments: