J. Kristeva's "Desire in Language"
Desire in Language เป็นหนังสือที่หนัก และเหนื่อยมากกว่าจะอ่านจบได้ แต่ก็ยอมรับว่าคนเขียนเหนือจริงๆ จูเลีย คริสเตวาผนวกปรัชญาสัญศาสตร์ (และภาษาศาสตร์แขนงอื่นๆ ) เข้ากับจิตวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดไปยังสตรีศึกษา และศิลปะวิจารณ์ เป็นหนึ่งในหนังสือเปิดโลก ที่อ่านจบแล้วถอนหายใจเฮือก เหมือนเพิ่งท่องไปในทะเลทราย เปิดหูเปิดตา พบเห็นอะไรใหม่ๆ แต่พอกลับถึงที่พักก็อดไม่ได้จะทรุดตัวลงกับพื้น
มีสองประเด็นหลักที่เราจับได้ ประเด็นแรกต่อยอดมาจากเซอซัว เคยพูดไปแล้วว่าเซอซัวไม่เชื่อว่าคำเป็นหน่วยย่อยสุดของภาษา คริสเตวาไปไกลกว่านั้นอีก โดยเธอบอกว่าแม้แต่หนังสือก็ไม่ใช่หน่วยย่อย กล่าวคือไม่มีหนังสือเล่มไหนอยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวเอง การอ่าน และการเขียนหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง คือการอ่าน และการเขียนหนังสือทุกเล่มที่อยู่ "ใกล้เคียง" กัน ไม่ว่า "ใกล้เคียง" ในที่นี้จะถูกนิยามในแง่ไหนก็ตาม (แนวเรื่อง ยุคสมัย คนเขียน และอื่นๆ ) มีศัพท์เฉพาะเรียกแนวคิดนี้ว่า "intertexual" หรือการผสานระหว่างตัวบทจากหนังสือหลายเล่ม ภาษาไทยเหมือนจะใช้คำว่า "วรรณกรรมล้อ" ซึ่งเป็นความหมายที่แคบชะมัด เพราะไพล่ไปแปลเอา "parody" ซึ่งเป็นซับเซทของ "intertexual" อีกที
แนวคิดนี้ไปไกลกว่าทฤษฎีวรรณกรรมไทยทั่วไปมาก กล่าวคือวรรณกรรมไม่ใช่ภาพสะท้อนทางสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการสะท้อนสังคม ที่ในขณะเดียวกันต้องสามารถบรรจุตัวเองในบริบทของความเป็นวรรณกรรมอีกด้วย หนังสือเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเปิดเปลือยความจริงทางสังคม ก็อาจกลายเป็นหนังสือที่ล้มเหลวได้ ถ้ามันไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นวรรณกรรม กล่าวคือเมื่อเอาหนังสือเล่มนั้นไปเทียบกับหนังสือเล่มอื่นที่ใกล้เคียงกัน แล้วพบว่าด้วยเหตุผลบางอย่าง มันถูกด้อยค่าลงในทันที
นี่คือสาเหตุที่ทำไมนักเขียนต้องอ่านหนังสือเยอะๆ และคือสาเหตุว่าทำไมประสบการณ์อย่างเดียวไม่อาจนำไปสู่วรรณกรรมชั้นเลิศ คุณวินทร์เคยให้สัมภาษณ์ได้ใจมาก ในยุคที่กระแสสถานการณ์ภาคใต้กำลังมาแรง คุณวินทร์เชื่อว่าแม้ตัวเขาจะไม่ได้ลงไปสัมผัสเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็สามารถเขียนหนังสือสักเล่มที่ตอบโจทย์สังคม ผ่านสายตาคนกรุงเทพ และอาจจะดีกว่าหนังสือของนักเขียนบางคนที่มาจากภาคใต้ และอยู่ในเหตุการณ์เสียด้วยซ้ำ
อีกแนวคิดหลักใน Desire in Language คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าทางสัญญะ (semiotic) และสัญลักษณ์ (symbolic) ในงานศิลปะ สัญลักษณ์คือการอ่านเอาเรื่อง ส่วนสัญญะคือผลกระทบที่หยั่งรากลึกไปกว่านั้น อาจมาจากอิทธิพลบางอย่างในร่างกายเรา เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในดีเอนเอ คริสเตวาให้ความสำคัญกับทำนอง และจังหวะในงานเขียน บทกวีแม้ไม่มีคุณค่าทางสัญลักษณ์ แต่อย่างน้อยต้องมีคุณค่าทางสัญญะ กล่าวคือต้องมีท่วงทำนองที่ปลุกเร้าบางอย่างในตัวผู้อ่าน (ในภาพวาด รูปทรงคือคุณค่าทางสัญลักษณ์ ส่วนสีคือสัญญะ) ความคิดนี้ในแง่หนึ่งก็คือการเอาจิตใต้สำนึกของฟรอยด์มาพัฒนา โดยเชื่อมต่อกับทำนองของภาษานั่นเอง
เราไม่ใช่คนชอบอ่านกลอน เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก แต่คริสเตวาคงนิยมความคิดนี้เอามากๆ ในบทหนึ่งเธอถึงกับเขียนกึ่งปฏิญญา กึ่งบทความที่เล่นกับจังหวะ และท่วงทำนอง อ่านแล้วก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ทำให้อยากรู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้จะเขียนนิยายประเภทไหนออกมา (นอกจากบทความแล้ว เธอเขียนนิยายออกมาสี่ห้าเล่ม เชื่อว่าคงได้อ่านในเร็ววันนี้)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
My programmer is trying to persuade me to move to .net from PHP.
I have always disliked the idea because of the expenses.
But he's tryiong none the less. I've been using Movable-type on
a number of websites for about a year and am
worried about switching to another platform.
I have heard very good things about blogengine.
net. Is there a way I can transfer all my wordpress content into it?
Any help would be really appreciated!
Also visit my site latest transfer news at arsenal football club
Post a Comment