P. Krugman's "The Conscious of a Liberal"


จริงๆ แล้วไม่ยากเท่าไหร่หรอกถ้าจะเล่าว่าครุกแมนเขียนถึงอะไรบ้างใน The Conscious of a Liberal ที่ยากและน่าขบคิดกว่าคือ เราจะรับและปรับสิ่งที่ครุกแมนเขียนมาใช้กับประเทศเรายังไงดี The Conscious of a Liberal พูดถึงที่มาที่ไปของสภาพการแบ่งขั้วการเมืองอเมริกาในปัจจุบัน เหตุใดนักการเมืองและประชาชนกลุ่มรีพับลิกันถึงได้เชื่อ คิด ทำ และโหวตแตกต่างจากเดโมแครตได้ขนาดนี้

ซึ่งโดยผิวเผินก็เหมือนว่าจะรับมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราได้ง่ายๆ ตรงๆ ทำไมกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงถึงคิดต่างกัน และทำอย่างไรถึงจะสมานฉันท์คนสองกลุ่มนี้ เราจะพูดถึงต่อไปว่าทำไมบทเรียนที่ได้จาก The Conscious of a Liberal ไม่ควรจะรับมาใช้ตรงๆ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร

สมมติฐานเบื้องต้นของนักเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์คือ สภาพแบ่งขั้วทางการเมืองมาจากสังคมที่เหลื่อมล้ำกันสุดๆ ระหว่างคนรวยและคนจน เราสามารถแบ่งประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงศตวรรษที่ 20 ได้เป็นสามช่วงคือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครุกแมนเรียกว่า Long Gilded Age เป็นช่วงที่คนรวยและคนจนในอเมริกาเหลื่อมล้ำกันมาก แม้ว่าทั้งประเทศจะร่ำรวยขึ้น แต่ช่องว่างก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุบลงเลย ช่วงที่สองคือยุค New Deal ซึ่งรัฐบาลขยายตัวเก็บภาษีคนรวยเป็นเงินจำนวนมหาศาล นำไปสู่สังคมของชนชั้นกลาง ซึ่งในยุคนี้ชาวอเมริกาจะเท่าเทียมกันเกือบหมด และช่วงสุดท้ายคือตั้งแต่ยุคของโรนัล เรแกนเป็นต้นมา เศรษฐกิจกลับไปเป็นแบบ Long Gilded Age อีกครั้ง กฎหมายและเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมาสมัย New Deal ค่อยๆ ถูกยกเลิกไปทีละข้อ และช่องว่างทางสังคมถ่างขึ้นๆ และผลจากความเหลื่อมล้ำนี้เองค่อยนำไปสู่สภาพแบ่งขั้วทางการเมือง

ใน The Conscious of a Liberal ครุกแมนถกเถียงจากมุมมองที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เขาบอกว่าการเมืองต่างหากที่นำเศรษฐกิจ กล่าวคือฝ่ายขวา หรือกลุ่มรีพับลิกันที่ไม่พอใจกับนโยบายทางสายกลางของประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ (ซึ่งจริงๆ แล้วสมควรเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน แต่ไอเซนฮาวเวอร์กลับไปสนับสนุน New Deal) ก็เลยตั้งกลุ่มแยกย่อยขึ้นมาเรียกว่า Movement Conservation และกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวนี้เองที่เป็นพวกขวาตกขอบ ค่อยๆ ซ่องสุมอำนาจ และยึดครองการเมืองอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ

จุดที่เราชอบมากๆ คือครุกแมนให้ความสำคัญกับการเมืองและสังคมนำหน้าเศรษฐกิจ ในความเห็นเรา นักเศรษฐศาสตร์มักจะมี “นิสัยเสีย” อย่างคือชอบปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามวิถีตลาดหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วทิ้งให้นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศึกษาไปนั่งวิเคราะห์กันเองว่าเศรษฐกิจแบบไหนนำไปสู่สังคมแบบไหนบ้าง ข้อเสนอของครุกแมนคือการทุบโต๊ะปัง แล้วบอกว่าแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สังคมด้วย (เพราะสังคมมาก่อน ตลาดมาทีหลัง)

แต่จุดที่เราไม่ชอบและไม่เห็นด้วยคือครุกแมนดูจะให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวมากเกินไป ถ้าตามสูตรของครุกแมนคือการเมืองนำหน้าสังคมแล้วค่อยนำไปสู่เศรษฐกิจอีกที แต่เราเชื่อว่าสังคมต่างหากที่นำหน้าการเมืองและทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การลุกฮือของฮิปปี้ช่วงทศวรรษที่ 60 ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และเรแกนก็คือนักการเมืองที่เกาะกระแสดังกล่าวปีนป่ายบันไดอำนาจ

กลับมาเรื่องเมืองไทย ถึงแม้ว่าเป้าหมายของ The Conscious of a Liberal จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อลดทอนสภาพสองขั้วการเมืองในอเมริกา แต่เรากลับเห็นว่าสภาพสองขั้วการเมืองในประเทศไทยอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นกับบ้านเราก็ได้ ที่ผ่านมาการเมืองไทยคือเรื่องของอุดมคติ นักการเมืองคนไหนที่ปากไม่พร่ำปาวๆ ๆ ในอุดมคติหนึ่งเดียวนั้น รับรองว่าไม่มีทางได้เกิด การที่เรามีสองขั้วอำนาจแบบนี้ ก็เป็นไปได้เหมือนที่จะนำไปสู่บทสนทนาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวคิดและช่วยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เติบโตต่อไปข้างหน้า

มีคำกล่าวหนึ่งที่ใครอ่านนิตยสารฝรั่งจะได้ยินบ่อยๆ คือ “ถ้าปล่อยวิกฤติให้สูญไปเปล่าๆ ก็น่าเสียดายยิ่งนัก” (“A crisis is a terrible thing to waste”) ถึงคำกล่าวนี้จะหมายถึงสภาพฟองสบู่แตก แต่มันก็น่าจะเอามาใช้กับการเมืองไทยได้เหมือนกัน ไหนๆ ตอนนี้เราก็ส่งนักแสดงสองคนขึ้นเวทีการเมืองแล้ว จะลากคนหนึ่งลงมาแล้วปล่อยให้อีกคนพร่ำบ่นโมโนลอคคนเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มาก็คงน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย

No comments: