G. Lukacs's "The Historical Novel"


มีปรัชญาวรรณคดีแขนงหนึ่งเรียกว่า Marxism ซึ่งก็ตามชื่อนั่นแหละ หมายถึงอันเนื่องมาจากแนวคิดของคาร์ล มาร์ก ที่แปลกคือจริงๆ อีตามาร์กไม่เคยพูดอะไรโต้งเกี่ยวกับวรรณกรรมมากพอจะเอามาตั้งเป็นทฤษฎีได้หรอก เพียงแต่นักคิด นักเขียนในยุคหลังๆ ต่างหากที่ประยุกต์แนวคิดของแกมาใช้ในการวิจารณ์วรรณคดี

กล่าวกันว่า The Historical Novel ของ Georg Lukacs นั้นเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มแรกๆ ที่เป็นต้นกำเนิด Marxism ในปรัชญาวรรณคดี

หัวข้อที่ Lukacs พูดถึงคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ Lukacs นิยามนิยายอิงประวัติศาสตร์ว่าเพิ่งเกิดขึ้นช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ยุคแห่งเหตุและผล เมื่อประชาชน "ตื่น" จากประวัติศาสตร์ หมายถึงผู้คนเริ่มตระหนักว่าเหตุการณ์ในอดีตมาจากน้ำพักน้ำแรงมือของบรรพบุรุษ ไม่ใช่ของที่ควรปล่อยให้ไหลลอยไปกับสายน้ำ นิยายอิงประวัติศาสตร์ก็มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นความจริงตรงนี้

นักเขียนซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนสุดของ Lukacs คือ Sir Walter Scott Lukacs วิเคราะห์นิยายอิงประวัติศาสตร์โดยตั้งเป็นกฎง่ายๆ สองสามข้อเช่น 1) เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาในปัจจุบัน ในกรณีนี้หมายถึงความขัดแย้งระหว่างทุนนิยม และอำนาจเก่า นิยาย Scott เกิดในช่วงที่ประเทศอังกฤษประสบปัญหาความขัดแย้งคล้ายคลึงกัน เป้าหมายของผู้เขียนคือแสดงให้เห็นว่าถ้าในอดีตคนเราสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์นั้นได้ ก็เป็นไปได้ที่เราจะผ่านพ้นมันอีกในปัจจุบัน 2) ให้ความสนใจรายละเอียด ความสัมพันธ์ของชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในอดีต ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสร้างภาพอดีตให้ชัดเจน เพื่อคนอ่านจะได้เข้าใจสภาพการเมือง และสังคม 3) ขณะที่ตัวประกอบคือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ตัวเอกกลับเป็นพวกกึ่งๆ กลางๆ Lukacs วิเคราะห์จุดนี้มายาวเหยียด แต่อธิบายสั้นๆ คือเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเข้าใจที่มาที่ไปของทั้งสองฝ่ายได้อย่างทัดเทียม

ยุคต่อมาคือครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 นับจากปฏิวัติปี 1848 เป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเหลวไหลของการเมือง ไม่ว่าจะล้มล้างระบบการปกครองกี่ครั้งกี่คราว ดูเหมือนอำนาจตกอยู่แต่เฉพาะในเงื้อมมือคนกลุ่มเล็กๆ ของสังคม นักปรัชญาอย่างนิทเช่เริ่มออกมาโจมตีประวัติศาสตร์ นิทเช่ปฏิเสธความจริงทางประวัติศาสตร์ มองว่าอดีตคือความโกลาหล ที่ไม่ว่าใครต่อใครก็สามารถหยิบยกเรื่องราวมาใช้สนับสนุนความคิด ความเชื่อของตัวเอง นิยายอิงประวัติศาสตร์ในยุคนี้แบ่งเป็นสองชนิด ชนิดแรกคือนิยายพาฝันย้อนอดีต มีเป้าหมายคือนำผู้อ่านกลับไปสัมผัสโลกยุคกลาง ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขี ชนิดที่สองคือนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ตัวละคร ข้อขัดแย้ง และความคิดเป็นของปัจจุบัน แต่ฉากเกิดขึ้นในอดีต พูดอีกอย่างคือใช้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเสื้อผ้าสวมใส่ตกแต่งตัวละคร


จุดนี้เองนำไปสู่ประเด็นน่าถกเถียงสองข้อ ข้อแรกคือจำเป็นไหมว่าตัวละครในประวัติศาสตร์ต้องพูดจาด้วยภาษาในยุคนั้น Lukacs ย้ำว่าไม่จำเป็น เฉกเช่นเดียวกับนิยายแนวอัตชีวประวัติ ไม่จำเป็นที่เด็กเพิ่งเกิดจะต้องใช้ภาษาแบเบาะ ตรงนี้ไม่รู้ยังไง เรานึกถึงภาพยนต์เรื่องนางนากขึ้นมาเลย ฉากที่ฮาแตก และเฮงซวยสุดในความคิดเราคือตอนสุดท้ายที่วินัย ไกรบุตร และทราย เจริญปุระมานั่งกูๆ มึงๆ ซึ้งใส่กัน ต่อให้คุณนนทรีย์มาแก้ตัวว่าคนสมัยก่อนพูดแบบนี้จริงๆ ก็ฟังไม่ขึ้น

อีกจุดที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของความรุนแรง Lukacs บอกว่านักเขียนในยุคนี้เช่น Flaubert ใส่ความรุนแรง และโจ๋งครึ่มเข้าไปยังนิยายอิงประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพื่อหลีกหนีสภาพจำเจในสังคม ประเด็นนี้เราสนใจเพราะมันโยงไปหาข้อถกเถียงว่า ปัจจุบันคนทำหนัง หรือนักเขียนที่วนเวียนแต่เรื่องเพศ เรื่องความรุนแรง เพราะคนพวกนี้เชื่อจริงๆ ว่านี่คือสภาพความจริงในสังคมซึ่งถูกมองข้าม (อย่างที่เวลาเขาให้สัมภาษณ์) หรือเป็นเพียงการหลีกลี้ความจำเจ และกฎระเบียบของสังคมมากกว่า เมื่อฉันไม่อาจไปข่มขืนใครได้ในชีวิตจริง ก็เลยเขียนฉากข่มขืนขึ้นมาในนิยาย (หรือเรื่องสั้น)

นิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคสุดท้ายซึ่งถูกพูดถึงใน The Historical Novel คือช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสอง เป็นนิยายที่ตอบสนองการเฟื่องฟูของลัทธิ Fascism Lukacs บอกว่าแนวคิดเดียวเดียวที่ใช้ต่อต้าน Fascism ได้คือ Revolutionary Democracy ซึ่งอุตส่าห์ไปเปิด Wikipedia ดูแล้วก็ไม่เห็นจะมีคำอธิบายตรงไหน เข้าใจคร่าวๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีอรรถสาระอิงอยู่บนหลักสังคมนิยม นิยายประวัติศาสตร์ยุคนี้เริ่มกลับไปเป็นแบบเดียวกับยุคแรก คือใช้ประวัติศาสตร์อธิบาย เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

แต่ปัญหาของนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบ Revolutionary Democracy คือการที่ผู้เขียนจับจดตัวละครเดี่ยวๆ ตัวเดียว เอาความเชื่อ แนวคิดตัวเองยัดใส่ปากตัวละคร โดยทำเสมือนว่าคนในยุคนั้นใครๆ ต่างก็คิดแบบนี้กันทันนั้นแหละ เป็นที่มาของลัทธิสรุปกว้างๆ โมเม (over-generalization) อ่านคำอธิบายตรงนี้แล้วนึกถึงนิยายแนว socialist realism (ซึ่งถูกอธิบายไปแล้วตอนที่พูดถึง The Captive Mind ของมิลอส) และนิยายเพื่อชีวิตเมืองไทย อดคิดติดหมัดไม่ได้ว่า "จริง จริงโคตรๆ "

ประเด็นหนึ่งที่ Lukacs ไม่ได้เอ่ยถึงแต่เราอยากพูดคือการที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ มีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์จริงๆ ขึ้นมา ไม่รู้เหมือนกันว่าในโลกตะวันตก ประเด็นนี้จริงแค่ไหน แต่อย่างน้อยในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นมาให้เป็นแบบนิยาย ดังนั้นเราก็เลยได้ประวัติศาสตร์แกนๆ ประเภทมีพระเอก (นักศึกษา, ต้นตระกูลไทย) มีผู้ร้าย (รัฐบาลทหาร, พม่า) มีประเด็นชัดเจน (สู้เพื่อประชาธิปไตย, กู้เอกราช)

ช่างเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสมเพชเสียนี่กระไร

No comments: