D. Lodge's "The Art of Fiction"


ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน The Art of Fiction คือเหมือนเราเป็นช่างตีเหล็ก แล้วอยู่ดีๆ มีคนเดินเข้ามาในร้านเรา บอกว่าเครื่องมือชิ้นนู้นชิ้นนี้มันเรียกว่าอะไร บางชิ้นเรารู้ชื่ออยู่แล้ว แต่ก็มีบางชิ้นที่ใช้จนเคยมือ แต่เพิ่งรู้ว่ามันเรียกว่าอะไรเหมือนกัน

The Art of Fiction พูดถึงเทกนิคทางวรรณกรรมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของมุมมอง การแบ่งบท การตั้งชื่อตัวละคร ไปจนถึงของยากๆ เช่น กระแสสำนึก เหนือจริง สัจนิยมมายา โดยในแต่ละบท ลอดจ์จะยกตัวอย่างสั้นๆ จากวรรณกรรมคลาสสิค แล้ววิเคราะห์แตกยอดจากตัวอย่างนั้นๆ โดยบางครั้งก็แอบแทรกผลงานของตัวเองเข้าไปด้วย ซึ่งเราจะอ่านข้ามๆ ไปเพราะไอ้เดวิด ลอดจ์นี่มันเป็นใครวะ ไม่เคยรู้จัก (ฮา)

The Art of Fiction ทำให้เรานึกถึงบทโต้เถียงคลาสสิค ว่าอะไรสำคัญกว่ากันในการเขียนหนังสือ ระหว่างภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ถ้าถามเราในตอนนี้ ก็ขอตอบกลางๆ politically correct ไปก่อนว่าสำคัญทั้งคู่ เราเป็นนักเขียนหนังสือภาคปฏิบัติ คือเคยร่ำเรียนวิชาในห้องเรียนมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เน้นการอ่านเอง เขียนเองมากกว่า พวกศัพท์แสงทางวรรณกรรมไม่ค่อยรู้อะไรกับเขาหรอก การอ่าน The Art of Fiction เหมือนมีคนมาปรับระดับพื้นฐาน ให้ระบบความคิดเราเป็นระเบียบมากขึ้น ตั้งแต่นี้อารามจะหยิบจับเครื่องมือทางวรรณกรรมตัวไหน พอรู้ว่ามันเรียกชื่ออย่างไร คงหาเจอบนชั้นได้ง่ายขึ้น (ลักษณะนี้เขาเรียกว่า appellation ซึ่งเป็นคอนเซปที่อัลทาซาร์ และลาคานพัฒนาขึ้นมาในทฤษฎีมาร์คซิส และจิตวิทยาวิเคราะห์ตามลำดับ...แต่ไว้คุยวันหลังดีกว่า)

ในทางตรงกันข้าม เราก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีพื้นฐานภาคปฏิบัติเลย แล้วมาอ่านหนังสือเล่มนี้ จะได้อะไรหรือเปล่า เช่นพอถึงบท "ผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้" ถ้าไม่เคยลองใช้ แต่รู้ว่าในทางทฤษฎีมันคืออะไร จะสามารถเข้าใจมันได้สักแค่ไหน

เราคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ (ซึ่งมาจากการฝึกฝน ฝึกเขียน ฝึกอ่าน) คงไม่สามารถเปิดตำราทุกย่างก้าว ทฤษฎีทางวรรณกรรมไม่ใช่แผ่นที่ที่บอกว่าเราควรเดินไปทางไหน เราคิดว่ามันเหมือนรองเท้ามากกว่า คือถ้ามีทฤษฎีอยู่กับตัว ก็สามารถก้าวเดินไปตามทางที่เราเลือกได้อย่างมั่นอกมั่นใจขึ้น

No comments: