M. Berman's "All That is Solid Melts into Air"
ช่วงที่อยู่ปีสาม เราลงเรียนวิชาซึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่สินะ พูดให้ถูกคือมันหารูปร่างให้กับความเชื่อบางอย่างของเรา ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นวุ้นจับต้องไม่ได้เสียมากกว่า จำไม่ได้แล้วว่าชื่อวิชาคืออะไร แต่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองและการวางผังเมือง เราได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งทรงอิทธิพลสุดในชีวิตเรา The Death and Life of Great American Cities โดยเจน เจคอป ผู้เขียนเป็นแม่บ้านชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในกรุงนิวยอร์ค เจคอปพูดถึงชีวิตประจำวันของเธอ ก่อนจะวิเคราะห์ว่าเมืองที่สวยงาม เมืองที่ดีนั้นต้องมีสภาพแบบไหน
ในฐานะที่เราเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. มาไม่รู้กี่สมัย คำโปรย คำหาเสียง และนโยบายก็อ่านมานับไม่ถ้วน พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าคนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองน้อยมาก (ยกตัวอย่างง่ายๆ สวนสาธารณะไม่ใช่ปอดของเมือง ในทางตรงกันข้าม ถ้าขาดการจัดการที่ดี สวนสาธารณะนี่แหละจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมและอาชญากรรม) แค่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองยังพอรับได้ แต่ปฏิเสธที่จะเข้าใจเมืองต่างหาก คือความน่าอดสู
All That is Solid Melts into Air จะกล้อมแกล้มว่าเป็นภาคต่อของ The Death and Life of Great American Cities ก็พอได้ แต่หนังสือเล่มนี้ของเบอร์แมนมีขอบเขตที่กว้างไกลกว่าแค่เรื่องเมือง มันคือการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของเมืองผ่านระบบเศรษฐกิจ รัฐกิจ และวรรณกรรม ที่สำคัญนี่อาจจะเป็นหนังสือซึ่งนิยาม “หลังสมัยใหม่” ได้อย่างละเอียดและชัดเจนสุด (ตอนที่เบอร์แมนเขียน All That is Solid Melts into Air เมื่อสามสิบปีที่แล้ว คำว่า “หลังสมัยใหม่” ยังไม่เป็นที่นิยมนัก โดย “สมัยใหม่” ที่เบอร์แมนใช้ในหนังสือเล่มนี้ จะมีความหมายคล้ายคลึงกับ “หลังสมัยใหม่” อย่างที่พวกเราคุ้นชินกันมากกว่า)
ชื่อหนังสือของเบอร์แมนมาจากประโยคเด็ดของมาร์กใน Communist Manifesto โดยมาร์กพูดถึงนวัตกรรม เศรษฐกิจ และการปกครองแบบชนชั้นกลางนั้น แม้จะน่าชื่นชม เพราะเป็นการฉีกจากระบบศักดินา แต่สุดท้าย “สิ่งก่อสร้างตระหง่านบรรดามี” จากน้ำมือของชนชั้นกลางก็จะ “ระเหิดหายกลายเป็นหมอกควัน” ในสายตาของมาร์ก มีแต่คนชั้นแรงงานเท่านั้นถึงจะให้กำเนิด “สิ่งก่อสร้างตระหง่านบรรดามี” ได้ เบอร์แมนไม่ได้เห็นด้วยกับมาร์กเสียทีเดียว โดยเขายกวาทกรรมตัวนี้แหละ มากลับหัวกลับหางและใช้อธิบายว่าเหตุใดทุนนิยมและโลกหลังสมัยใหม่ถึงได้กลายมาเป็น “สัจธรรม” อย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้
อยากพูดถึงความ “น่าอดสู” นิดหนึ่ง อย่างที่บอกว่าเบอร์แมนวิเคราะห์เมืองผ่านสายตาของนักเขียนวรรณกรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อ่านแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจว่าเมืองไทยช่างขาดนักเขียนที่พูดถึงกรุงเทพฯ อย่างเป็นธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นความ “น่าอดสู” ของนักเขียนหล่มเพื่อชีวิตที่เอากรอบถิ่นแดนไกลนิยมแบบย้อนกลับมามองกรุงเทพฯ นอกจากจะไว้อาลัยแล้ว อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ชื่นชม ซอยเดียวกัน ของคุณวาณิช และหนังสือหลายเล่มของคุณดำรงค์ ที่เอากรุงเทพฯ มาใช้เป็นฉากได้อย่างมีรสนิยม รวมไปถึงภาพยนต์ รักแห่งสยาม ด้วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment