C. Schmitt's "Political Theology" & "The Concept of the Political"


ควบสองเล่มเลยครับ กับหนังสือปรัชญาการเมืองของคาร์ล ชมิต

ชมิตเป็นนักกฎหมายปรัชญาชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยที่ประเทศเยอรมันตกต่ำสุดขีด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ชมิตคิดค้น เผยแพร่ปรัชญากฎหมาย การเมืองผ่านชุดหนังสือเล่มบางๆ ซึ่ง Political Theology และ The Concept of the Political ก็รวมอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเล่มหลังสร้างชื่อให้กับแกที่สุด เช่นเดียวกับไฮเดกเกอร์ ชมิตคือหนึ่งในปัญญาชนซึ่งสนับสนุนนาซี และการขึ้นเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่เราจะถามตัวเองว่าตรงไหนกันแน่ในหนังสือสองเล่ม อันนำมาซึ่งข้อสรุปผิดพลาดได้ขนาดนี้

ถึงจะผิดพลาด แต่ก็ใช่ว่าจะไร้คุณค่า นี่กระมังข้อแตกต่างในวิธีการมององค์ความรู้ของฝรั่ง และไทย คนไทยต้องการคำตอบ ซึ่งคำตอบจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันถูกเท่านั้น เราถึงได้ยกย่องปรัชญาที่ (อ้างกันเองว่า) "ไม่มีวันผิด" อย่างพุทธศาสนา ขณะที่ปรัชญาในสายตาชาวตะวันตก เป็นเพียงวิธีตั้งคำถาม ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่คำตอบ และคำถามซึ่งมี หรือไม่มีคำตอบเหล่านี้อาจมีคุณประโยชน์ไม่แพ้ปรัชญาซึ่ง "ไม่มีวันผิด" ก็ได้

Political Theology พูดถึงข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมาย และองค์อธิปไตย (sovereignty) ชมิตชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์คับขันจริงๆ มีแต่องค์อธิปไตย หรือผู้กุมอำนาจสูงสุดในสังคมเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นประชาชน ทหาร กษัตริย์ หรือนายก) จะนำพาประเทศผ่านสภาวะนี้ ชมิตเปรียบเทียบข้อขัดแย้งตรงนี้กับข้อขัดแย้งคลาสสิกของคานท์ ว่าด้วย form vs. matter โดย form หรือกฎหมาย เป็นบรรทัดฐานสำหรับครอบคลุมทุกสถานการณ์เท่าที่คนออกกฎหมายจะคิดขึ้นมา ขณะที่ matter หรือตัวสถานการณ์จริงๆ อาจหลุดกรอบความคิดตรงนั้นไป

ลองเอาวิธีคิดแบบนี้มาใช้มองการเมืองไทยในช่วงปี สองปีที่ผ่านมาดู คุณจะเห็นโลกชัดเจนอีกระดับหนึ่งเลย

The Concept of the Political เป็นนามธรรมขึ้นไปอีกขั้น ชมิตตีความหมายของ "การเมือง" โดยสรุปง่ายๆ คือการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว มิตร/ศัตรู ไม่ว่าบรรทัดฐานที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้แยกแยะจะมาจากศาสนา เศรษฐศาสตร์ หรือเชื้อชาติก็แล้วแต่ ไม่สำคัญทั้งนั้น ทันทีที่โลกในสายตาพวกเขาถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย การเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว สงครามศาสนาจึงไม่มีจริงในนิยามของชมิต มีแต่ สงครามการเมือง

การเมืองเป็นส่วนประกอบของทุกสถาบัน ทุกประเด็นในสังคม โลกนี้ไม่อาจอยู่ได้โดยไร้การเมือง ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก การแยก มิตร/ศัตรู ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การสู้รบ และฆ่าฟันเสมอไป สงครามเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของข้อขัดแย้งที่เลยเถิดไปอย่างสุดโต่ง ชมิตเชื่อว่าสันติภาพ ไม่ใช่การทำให้ทุกคนยืนอยู่ฝั่งเดียวกันหมด หากเป็นการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่ม และการแยกแยะมิตร/ศัตรูจะช่วยป้องการสภาพการก่อการร้าย หรือข้าศึกที่มองไม่เห็นเช่นในปัจจุบัน

ตอนท้ายเล่มชมิตยังทำนายอีกเหตุการณ์ ในปีที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างทางการเมือง ชมิตทำนายว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจ (ซึ่งในยุคนั้นหมายถึงสันติภาพ) จะกลายเป็นอีกมิติหนึ่งของความขัดแย้ง ลองใครคนหนึ่งทำนายอะไรแบบนี้ออกมาได้ตรง ทฤษฎีของเขาก็ต้องมีคุณค่าให้เราเรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจบ้างแหละ

No comments: