O. Lange's "On the Economic Theory of Socialism"


เคยพูดไปแล้วว่า สองสามเดือนครั้ง เราจะหยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งอ่านแล้วแน่ใจได้เลยว่าต้องหงุดหงิด ต้องไม่เห็นด้วยกับคนเขียน ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อเตือนตัวเอง ไม่ให้มองอะไรด้านเดียวมากเกินไป On the Economic Theory of Socialism ก็คือหนังสือที่ว่า ซึ่งเหมาะกับคนที่ "คลั่งไคล้" ทุนนิยมอย่างเรา ในบทความชิ้นนี้ แลงก์ถกกับนักเศรษฐศาสตร์สายทุนนิยมซึ่งชอบพูดว่าเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมนั้นปฏิบัติไม่ได้ในชีวิตจริง โดยแลงก์ให้เหตุผลว่านอกจากปฏิบัติได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าระบบทุนนิยมอีก รวมไปถึงให้ข้อเสนอแนะในตอนท้ายด้วยว่าการจะเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยม ไปเป็นสังคมนิยมนั้น ควรกระทำในรูปแบบไหน

พูดถึงข้อแรกที่บอกว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมนั้นปฏิบัติได้จริง แลงก์ให้ความสนใจกับทฤษฎีราคา ซึ่งในระบบทุนนิยม อยู่ภายใต้กลไกตลาด ในระบบสังคมนิยมนั้น กลไกการ "ลองผิดลองถูก" จะเข้ามาควบคุมราคาสินค้า กำลังซื้อของผู้บริโภคแทน โดยประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากกลไกตลาดมากนัก เพราะยังอิงอยู่บนสมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน ซึ่งคำถามต่อไปก็คือ ถ้ามันทำงานได้ไม่แตกต่างกันมากอย่างนี้ จะต้องเปลี่ยนไปเป็นสังคมนิยมให้เมื่อยตุ้มทำไม

ในข้อสอง แลงก์ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจสังคมนิยมดีกว่าทุนนิยมตรงที่ 1) จัดการกับการกระจายรายได้ และทรัพยากรได้ดีกว่า ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของระบบทุนนิยมซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รู้ๆ กันอยู่ 2) มันสามารถเอาต้นทุนแฝงเข้าไปรวมอยู่ในราคาสินค้าได้ดีกว่า ข้อนี้อาจต้องอธิบายนิดหนึ่ง ในการผลิตอะไรก็ตาม มักจะมีต้นทุนแฝงซ่อนเร้นเสมอ เช่นค่าเจ็บป่วยของคนงานอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ในการแข่งขันเสรี นายทุนมีแนวโน้มจะไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะราคาสินค้าขึ้นอยู่กับตลาดมากกว่ากลไกการผลิต แลงก์บอกว่าถ้ารัฐบาลเข้ามาควบคุมการผลิตสินค้า สิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถรวมอยู่ในราคาสินค้าได้ด้วย ซึ่งก็หมายถึง ผู้บริโภคก็จะเสียเงินแพงขึ้น เพื่อเอามาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับคนงาน

ที่เราพูดมาทั้งหมดนี้ก็ครูพักลักจำเขามาแหละ ใครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คงเถียงคืนได้ บทความนี้ก็เขียนมาตั้งแต่ปี 1930 กว่าแล้ว จนถึงบัดนี้ ทฤษฎีพัฒนาไปไหนต่อไหน ดังนั้นเราไม่ขอให้ความเห็นก็แล้วกัน แต่ประเด็นที่เราเพิ่มเติมอยู่ตรงข้อสาม แลงก์บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยม ไปเป็นสังคมนิยมนั้น ต้องทำแบบครึกโครม สงครามครั้งสุดท้าย เพราะถ้าวันนี้เปลี่ยนอุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้ามาอยู่ในมือรัฐบาล แล้วบอกว่าอีกห้าปี จะเอาอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายมาอยู่ในมือรัฐบาลบ้าง นายทุนที่ดูแลอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายก็จะไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงาน สุดท้ายอุตสาหกรรมก็จะล้มก่อนกำหนด ดังนั้นทางเดียวที่จะเปลี่ยนผ่านระบบ คือต้องทำแบบม้วนเดียวจบ ทุกอุตสาหกรรมพร้อมๆ กัน

สองประเด็นที่น่าสนใจคือ 1) ความคิดของแลงก์แทบไม่ต่างอะไรเลยกับนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่สนับสนุน "Shock Doctrine" คือการเปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยม มาเป็นทุนนิยม โดยเปลี่ยนแปลงทั้งระบบครึกโครม ได้เคยพูดถึงไปแล้วใน Globalization and its Discontents ว่าทำแบบนั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดี และความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบัน (ironic สุดๆ !) ก็เกิดมาจาก Shock Doctrine ที่ว่า 2) แม้แต่แลงก์เองก็ยอมรับว่าในระบบสังคมนิยม นายทุนผ้าฝ้ายจะไม่มีเหตุผลอะไรให้บริหารกิจการต่อไป ตรงนี้น่าจะบ่งบอกอะไรบางอย่างหรือเปล่าว่า ปัญหาหลักของระบบสังคมนิยมคือการขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ ยูโธเปียก็ยังคงเป็นแค่ความใฝ่ฝันต่อไป

(หมายเหตุ: การ์ตูนที่เอามาแปะข้างบน ฮาๆ มาก คลิกแล้วขยาย เชิญอ่านได้เลยครับ)

1 comment:

B. said...

คุณควรจะอ่าน Buddhist Economics