บางคำถามที่ทำใจไว้แต่แรกแล้วว่าคงไม่มีคำตอบแน่ๆ จู่ๆ คำตอบก็ผุดขึ้นมาเอง ระหว่างที่เรากำลังสงสัยว่า เราชอบนิยายนักสืบเฟลูดาจริงๆ หรือแค่ "เกรงใจ" คนเขียน พอลองค้นข้อมูลในเน็ตก็พบคำตอบ
Feluda's Last Case รวบรวม 7 จาก 35 นิยายสั้น/เรื่องสั้นนักสืบของสัตยาจิต เรย์ (ใช่! สัตยาจิต เรย์) นักสืบเฟลูดาอาจไม่ค่อยมีชื่อเสียงนอกประเทศอินเดียเท่าไหร่ แต่เท่าที่สอบถามครูเกิ้ลดู พบว่าเขาเป็นฮีโร่ในดวงใจเด็กชาวอินเดียอยู่เหมือนกัน (ผลงานกำกับชิ้นสุดท้ายของเรย์คือภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายเฟลูดา ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนังยอดฮิตของเด็กๆ จนปัจจุบัน ลูกชายของเรย์ก็ยังคงสืบทอดผลงานของพ่อโดยการกำกับหนังเฟลูดาออกมาเรื่อยๆ )
โดยผิวเผินแล้ว นิยายเฟลูดามีคุณลักษณะบางประการที่เราไม่นิยมในนิยายนักสืบ (หรือนิยายอะไรก็ตามแต่) มันเต็มไปด้วยบทสนทนา เหตุการณ์เกิดในมณฑลต่างๆ ของประเทศอินเดีย แต่เราแทบไม่รับรู้ฉากหรือสถานที่ผ่านการบรรยายเลย ดูขัดแย้งชอบกลกับนักเขียนที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่ถ้ามองว่านี่เป็นนิยายเด็ก เน้นความสนุกสนาน ต้องขับเคลื่อนพล็อตตลอดเวลา เรย์เขียนนิยายชุดนี้ออกมาได้อย่างพอดิบพอดี
ในส่วนความเป็นนิยายนักสืบ คุณภาพทั้ง 7 เรื่องลดหลั่นกันไป Danger in Darjeeling ที่เป็นเรื่องสั้นเปิดตัวเฟลูดาดีมาก เช่นเดียวกับ The Key แต่ที่สุดยอดคือนิยายสั้น The Mystery of Nayan เรย์แสดงฝีมือการเล่าเรื่องระดับเทพ แตะนิด แตะหน่อย แล้วออกมาลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ (การผสมผสานพลังจิต เรื่องเหนือธรรมชาติลงไปแลดูเป็นเสน่ห์ของนิยายนักสืบโรตีดี)
จุดที่เราชอบที่สุดของนิยายเฟลูดาคือความชาตินิยมแบบกำลังพอดี เรย์เขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อให้เด็กๆ เกิดความรักในประเทศอินเดีย ได้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยว โดยไม่จำเป็นต้องเอาชาวตะวันตกมาป้ายสีเป็นผู้ร้าย ตอกย้ำวาทกรรมอาณานิคมซ้ำซาก หรือการขับความ exotic แบบล้นเหลือ
No comments:
Post a Comment