U. Eco's "A Theory of Semiotics"


เพิ่งอ่านเดริดาจบ ก็ต่อด้วยอีโคกันเลย พักนี้เหมือนชีวิตจะวนเวียนอยู่กับสัญศาสตร์จริงๆ นะเรา

A Theory of Semiotics อันเป็นตำราสัญศาสตร์เล่มสำคัญของอีโค ถูกเขียนขึ้นมาปีหนึ่งก่อน The Name of the Rose ถ้ามองจากนิยายเล่มนั้น และเล่มอื่นๆ บวกกับว่าอาชีพของโรเบิร์ต แลงดอน พระเอกเรื่องรหัสลับดาวินชีก็คือศาสตราจารย์วิชาสัญศาสตร์ อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าวิชาสัญศาสตร์ จะต้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ หรืออะไรที่เก่าแก่ แต่ปรากฎว่าไม่ใช่เลย A Theory of Semiotics เป็นตำราที่แอบสแตรกมากๆ เหมือนอ่านเทกคณิตศาสตร์มากกว่า มันว่าด้วยสัญศาสตร์ล้วนๆ แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ปรัชญา หรือการเมืองแต่อย่างใด

หัวใจของสัญศาสตร์ฉบับอีโคคือการให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์เหนือความหมาย หรือสิ่งที่มันต้องการสื่อ ย้อนกลับไปหาเซอซัว เซอซัวบอกว่าสัญลักษณ์คือสิ่งที่มาใช้แทนความหมาย เช่น <<แมว>> (ที่เป็นสัตว์) คือความหมาย มีสัญลักษณ์เป็นภาพวาดแมว สระพยัชญามาประกอบกันเป็น /แมว/ หรือการอ่านออกเสียงคำว่า "แมว" อีโคมองกลับกัน เขาบอกว่าสิ่งรายล้อมรอบตัวเราไม่ใช่ <<แมว>> ที่เป็นสัตว์ แต่มนุษย์เราเรียนรู้จัก /แมว/ ที่เป็นสัญลักษณ์ ก่อนหน้าจะรู้จัก <<แมว>> เสียอีก กรณีนี้อาจไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นอย่าง <<วอลรัส>> หรือ <<เสือดาว>> นี่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่อีโคพูดนั้นเป็นจริงแน่ๆ

ดังนั้นคำถามคือ ถ้า /แมว/ เป็นสิ่งที่มีมาก่อน สิ่งที่มันต้องการสื่อ หรือ <<แมว>> ในที่นี้คืออะไรกัน อีโคบอกว่า <<แมว>> ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ยกตัวอย่างเช่นประโยค /แมวเป็นสัตว์สี่เท้า/ สัญลักษณ์ /แมว/ ที่อยู่ในประโยคนี้หมายถึงอะไร แน่นอนว่ามันไม่ได้หมายถึงแมวตัวใดตัวหนึ่ง มันหมายถึงแมวทุกตัวที่อยู่ในโลก เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ และจะคลอดออกมาอีกในอนาคต ซึ่งความเป็น <<แมว>> นี้เราไม่สามารถจับต้องได้ จึงเป็นนามธรรมนั่นเอง

ลึกซึ้งไหม? ลึกซึ้งเนอะ

ยิ่งกว่านี้อีก A Theory of Semiotics เตือนให้เรานึกถึงประโยคเด็ดของอาจารย์นิธิ ที่คุณเรณูชอบเอามาแซวเล่นคือ "วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้" อีโคเรียกว่า <<แมว>> ที่เป็นนามธรรม และเป็นความหมายของสัญลักษณ์ /แมว/ ว่า "หน่วยทางวัฒนธรรม" กล่าวคือความเข้าใจ /แมว/ ของคนเรานั้นเกิดมาจากว่าเรามาจากวัฒนธรรมไหน และในวัฒนธรรมนั้นมันพูดถึงแมวว่าอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่นในบ้านเรา /แมว/ สื่อถึงความ <<สะอาด>> <<หยิ่งผยอง>> <<สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม>> <<ขี้อ้อน>> <<ขอฝน>> <<จะให้ไปรักแมวที่ไหน>> <<ทำแมวอะไร!>> และอีกมากมาย ซึ่งหน่วยทางวัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนแต่บรรจุอยู่ใน /แมว/ ทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าการศึกษา หรือถ่ายทอดความรู้กระทำกันโดยอาศัยสัญลักษณ์ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนไทยจะศึกษาชีววิทยาของแมว โดยที่ <<สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม>> ไม่ได้อยู่ในหน่วยทางวัฒนธรรมของ /แมว/

สามารถคิดต่อไปไกลกว่านี้ได้ด้วยว่า อัตลักษณ์ที่แต่ละบุคคลสร้างขึ้น จริงๆ แล้วเริ่มมาจากสัญลักษณ์ก่อน (เช่นเงาในกระจก ภาพถ่ายตัวเรา หรือสิ่งที่คนนู้นคนนี้บอกว่าตัวเราเป็น) ดังนั้นความหมายของตัวเรา <<ฉัน>> จึงขึ้นอยู่กับสังคม และอิทธิพลภายนอก ในทางศาสนา เราถึงต้องพยายามค้นหาตัวเอง โดยตัด "หน่วยทางวัฒนธรรม" ออกไปให้มากที่สุด (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าในความเห็นของอีโคแล้ว มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า) ใน A Theory of Semiotics มีหลายอย่างน่าขบคิดมากๆ แต่มันเป็นตำราสัญศาสตร์ที่ฮาร์ดคอร์ไปหน่อย คงเหมาะกับนักวิชาการ มากกว่าคนปรกติธรรมดา หรือผู้สนใจ ขนาดเราอ่านยังเบื่อๆ เลย

1 comment:

Anonymous said...

แวะมาอ่านเกือบทุกอาทิตย์ แต่เพิ่งแสดงตัว เขียนสนุกดี แ่ต่คงหาอ่านตามยากนิดนึง =D