L. Althusser's "For Marx"


เคยพูดไว้แล้วว่านักปรัชญาก็เหมือนไอติม หลังจากอ่าน For Marx ของหลุยส์ อัลธัสเซอร์ เราได้ข้อสรุปว่าอัลธัสเซอร์คือนักปรัชญาการเมืองรสญาณวิทยา (epistemology) การศึกษามาร์กของอัลธัสเซอร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนคำถาม "มาร์กกล่าวไว้ว่าอย่างไร" แต่เป็น "อะไรทำให้มาร์กกล่าวเช่นนั้น" ซึ่งความพยายามตอบคำถามที่สองได้นำผู้เขียน และผู้อ่านไปสู่คำถามแรกด้วยเช่นกัน

For Marx อธิบายการแตกตัวทางความคิดของมาร์ก จากระบบปรัชญาของเยอรมันซึ่งมีเฮเกลเป็นเสาหลัก หนึ่งในคำพูดอมตะของมาร์กใน Le Capital คือข้าพเจ้าพยายามจับปรัชญาเฮเกลกลับหัวกลับหาง จากที่เท้าชี้ฟ้า ให้ตั้งยืนอยู่บนพื้นได้ ไอ้การ "กลับหัวกลับหาง" ตรงนี้เองที่เป็นหัวข้อหลักของอัลธัสเซอร์

ชั่วชีวิตมนุษย์ถ้าสามารถทิ้งคำศัพท์ไว้ให้ชนเบื้องหลังจดจำเราได้สักคำ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จยิ่งแล้ว อย่างไอนสไตน์ก็คงเป็นคำว่า "สัมพันธภาพ" ดาร์วิน "วิวัฒนาการ" เดริดา "deconstruction" และสำหรับอัลธัสเซอร์ "overdetermination" หมายถึงสภาพความขัดแย้งในสังคมซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ในทางประวัติศาสตร์ก็คือการปฏิวัตินั่นเอง อัลธัสเซอร์ใช้คำนี้อธิบายเหตุใดคอมมิวนิสต์จึงเกิดได้ในรัสเซีย คิวบา และจีน เสียดายที่แกไม่ได้ยกตัวอย่างความจริงในทางประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่าประเทศเหล่านั้นมีเงื่อนไขตรงไหนที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ บ้าง แต่เท่าที่อ่านมา รู้สึกอยู่เหมือนกันว่าอัลธัสเซอร์คงไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์เจาะจงอะไรขนาดนั้น เพราะความคิดของแกเป็นเงื่อนไขทางทฤษฎี มากกว่าภาคปฏิบัติ

overdetermination ต่างจากความขัดแย้งง่ายๆ ที่พูดถึงการแตกออก และผสานคืน (thesis, antithesis, และ synthesis) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบ dialectic ของเฮเกล เนื่องจากอัลธัสเซอร์เป็นนักโครงสร้างนิยม การอ่านมาร์กของแกจึงออกมาในเชิงนี้ overdetermination เป็นความขัดแย้งระดับทั้งโครงสร้าง ไม่สามารถเจาะจง หรือมองอย่างง่ายๆ เป็นสองขั้วชัดเจนได้ แม้ในภาคปฏิบัติ ทั้งเหมา เลนินเห็นตรงกันว่ามีความขัดแย้งเพียงตัวเดียวซึ่งสร้างรอยแยกอันชัดเจน พอให้เกิดการปฏิวัติ กรณีนี้อัลธัสเซอร์อธิบายว่าเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหว จัดโครงสร้างสังคมอันนำไปสู่สภาพที่ความขัดแย้งตัวใดตัวหนึ่งโดดเด่นขึ้นมา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยช่วงสองปีก่อน สังคมเราเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบบเจ้านิยม vs ประชานิยม vs ทุนนิยม vs ธรรมนิยม vs เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งบางช่วงก็เหมือนจะเป็นคู่ใดคู่หนึ่งที่น่าจะสร้างรอยแยกได้ แต่สุดท้ายก็เนื่องมาจากการขยับเขยื้อนโครงสร้างในสังคม ผลัดกันชูความขัดแย้งแต่ละคู่ขึ้นมาให้โดดเด่น และผลที่ตามมาก็อย่างที่รู้ๆ กัน

No comments: