T. Williams's "Memoirs"


เล่าถึง "การพบกัน" ครั้งแรกระหว่างเรา และเทนเนสซี วิลเลียมส์ดีกว่า

เกือบเจ็ด แปดปีมาแล้ว สมัยลงเรียนวิชา non-fiction workshop การบ้านหัวข้อแรกคือบันทึกความทรงจำ และตัวอย่างซึ่งอาจารย์นำมาให้เราดูได้แก่บันทึกของเทนเนสสี วิลเลียมส์ อาจารย์ชื่นชมนักเขียนคนนี้มาก ตอนนั้นสารภาพคือเรายังไม่รู้จักงานของเขาสักกะชิ้น ต่อมาไม่นาน ชมรมการละครคัดตัวนักแสดงละครเรื่อง "The Notebook of Trigorin" ซึ่งวิลเลียมส์ดัดแปลง และแปลมาจาก "The Seagal" ของแอนตอน เชคอฟ เราก็เลยได้อ่านบทละครของแกเป็นครั้งแรก...อ่านจบก็ อึ้ง ทึ่ง และ (แอบ) เสียว

ตั้งแต่นั้นวิลเลียมส์ก็กลายเป็นอีกนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเรามากที่สุด (มองย้อนกลับไปจริงๆ ต้องให้เครดิตเชคอฟมากกว่าสำหรับเรื่อง "สมุดบันทึกของไตรกอริน" ซึ่งเป็นงานที่คล้ายคลึงกับละครเชคอฟ มากกว่าละครวิลเลียมส์) การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ฉลองครบรอบที่เราสองได้รู้จักกันผ่านหนังสือเล่มแรก

จอห์น วอเตอร์เขียนลงคำนำว่าสามสิบปีที่แล้ว สมัยบันทึกความทรงจำตีพิมพ์ใหม่ๆ กลายเป็นหนังสือร้อนแห่งยุค เพราะวิลเลียมส์เล่าอย่างไม่บรรยะบรรยังการผจญภัยระหว่างเขา และหนุ่มๆ มากหน้าหลายตาซึ่งผ่านเข้าออกชีวิต ในยุค 70s แค่มาพูดเรื่องเซ็กอย่างเปิดเผย ก็นับว่ากล้ามากแล้ว นี่ยังเป็นเกย์เซ็กเสียด้วยสิ

ตอนที่ตีพิมพ์ใหม่ๆ คำติซึ่งหนังสือได้รับมากที่สุดคือวิลเลียมส์เขียนเกี่ยวกับบทละครของตัวเองน้อยมาก ที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่ว่าแกไม่รักผลงานของตัวเอง ตรงกันข้ามหลายครั้งเมื่อแกประสบปัญหาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ความรักในงานเขียนคือสิ่งเดียวที่ช่วยให้วิลเลียมส์พ้นผ่านวิกฤติเหล่านั้นไปได้ วิลเลียมส์ไม่ชอบคำว่า "oeuvre" (หมายถึงผลงานทั้งกะบิของศิลปินคนใดคนหนึ่ง) รู้สึกว่ามันกระแด่ะ ทำไมไม่ใช่ "work" สั้นๆ ง่ายๆ คำสี่ตัวอักษรซึ่งสวยงามที่สุดในโลก สวยงามยิ่งกว่า "love" อีก


วิลเลียมส์เล่าประวัติชีวิตตัวเอง สลับเหตุการณ์ปัจจุบันขณะเขียนบันทึกความทรงจำ (ใช้เวลาตั้งแต่ปีคศ. 1973-1975) ซึ่งเป็นช่วงที่นักเขียนปรากฏตัวในละคร Small Time Craft เพื่อเร่งยอดจำหน่ายตั๋ว พร้อมๆ กับเข็นงานสร้าง Out Cry ละครเรื่องต่อไป พูดสั้นๆ คือเข้าสู่ยุคตกต่ำแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ยุคตกต่ำของวิลเลียมส์คนเดียว แต่เป็นของทั้งวงการมากกว่า เราได้เห็นยุครุ่งโรจน์ของวงการละครเวที ช่วงปี 40 และ 50 ที่ขนาดบทละครเรื่อยๆ เรื่องหนึ่งยังเล่นได้ยาวนานเป็นเดือน ทำเงินทำทองพอประทังชีวิตคนเขียน (ถึงจะผ่านความลำบากลำบนมากมาย แต่อย่างน้อยวิลเลียมส์ก็ไม่เคยอดอยากปากแห้งจริงๆ )

อุปสรรคใหญ่สุดซึ่งเขาต้องเผชิญอยู่เนืองๆ คือเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ สมัยนั้นคำตัดสินของนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีผลให้ละครอยู่หรือไป ต้องเข้าใจว่าละครไม่เหมือนภาพยนต์ที่พอออกจากโรงแล้วก็ยังอัดดีวีดีเก็บไว้ได้แสนนาน การไปของละครก็หมายถึงละครเรื่องนั้นตาย หรือไม่มีอยู่แล้วในโลก ซึ่งแสนเจ็บปวดสำหรับผู้เขียน ทุกๆ opening night วิลเลียมส์นั่งประสาทกิน รอคอยบทวิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะลงเอยอย่างขมขื่น

ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าวิลเลียมส์เป็นคนดังในวงการ อ่านประวัติชีวิตแกแล้วจะนึกว่าหมอนี่เป็นนักเขียนไส้แห้งที่ไหนวะ ทำไมเขียนละครกี่เรื่องๆ ก็มีแต่เจ๊ง ไม่รู้เหมือนกันว่าตรงนี้ แกถล่มตัว หรือจ้องจับผิดตัวเองมากเกินไปกันแน่ (แต่ในทางกลับกันถ้าชีวิตคุณได้เคยเขียน สวนสัตว์แก้ว รถรางสายปรารถนา และ แมวบนหลังคาสังกะสีร้อน รับพูลลิซเซอร์ไพรซ์สองหน ที่เหลือจะเขียนห่าอะไรคุณก็คงเป็นคนดังอยู่ดี)

จุดนี้เองที่ทำให้บันทึกความทรงจำเล่มนี้น่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน แต่รวมไปถึงสิ่งที่วิมเลียมส์ไม่ยอมเขียนออกมาด้วย ไม่รู้ว่าเพราะเจ็บปวดกับนักวิจารณ์มาเยอะหรือเปล่า แกถึงไม่ยอมออกความเห็นไม่ว่าจะกับบทละคร หรือชีวิตตัวเอง วิลเลียมส์เล่าถึงสัมพันธ์สวาทกับหนุ่มคนแล้วคนเล่า ก่อนลงเอย 14 ปีกับแฟรงกี้ มาลอนโดยมีจุดจบอันแสนเศร้า (ในคำนำจอห์น วอเตอร์ถึงกับพูดว่า "มีบันทึกความทรงจำกี่เล่มกันเชียวที่บรรจุ 'ความเหงา' ลงหน้าดัชนี")

พฤติกรรมของวิลเลียมส์ต่อคนรอบข้าง บางครั้งก็แสนซน เอาแต่ใจ จนไม่น่าเชื่อว่าเขาจะกล้าเล่าให้เราฟัง ที่สำคัญคือเขาเองก็ไม่พยายามแก้ตัว หรือหาเหตุผลให้การกระทำนั้นๆ คนอ่านสามารถตัดสินถูกผิดได้เอง บันทึกความทรงจำเล่มนี้จึงออกมาจริง และลึก ไม่ได้ตื้นๆ ทั้งที่ทุกเหตุการณ์เล่าผ่านสายตาคนคนเดียว

1 comment:

Boat said...

อ่านแล้วอยากอ่านว่ะ

ถือว่าเข้าคิวเป็นหนังสือเล่มที่ 97 ที่เราต้องอ่านแล้วกัน