M. Foucault's "The Care of the Self"
วันนี้ก็ยังคุยกับผู้กำกับอยู่เลยว่า ในการฟังดนตรีคลาสสิคที่ว่ากันว่ายากแสนยาก ควรจะเริ่มไต่กระไดจากใครก่อน คำตอบแบบของตายก็คือสามบ. ได้แก่บาค บีโธเฟน แล้วก็บาร์มส์ ในทำนองเดียวกัน การอ่านงานเขียนเชิงปรัชญาที่ยากแสนยาก ควรจะเริ่มจากใครก่อนดี คำตอบของเราคือฟูโกต์ ฟูโกต์นี่แหละง่ายสุดแล้ว ฟูโกต์เป็นทั้งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ งานเขียนของแกเต็มไปด้วยตัวอย่างรูปธรรมจับต้องได้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อให้เราอ่านส่วนที่เป็นนามธรรมไม่เข้าใจ อย่างน้อยก็ถือว่าอ่านนิทานหรือเกร็ดประวัติศาสตร์เพลินๆ ก็ยังดี
เกริ่นแบบนี้เพราะจะบอกว่าเราผูกพันกับฟูโกต์สุดในบรรดานักปรัชญาตะวันตกทั้งหมด และจากงานทั้งหลายแหล่ของฟูโกต์ที่เราอ่าน The Care of the Self คือผลงานที่เราผิดหวังสุด ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นเล่มสุดท้ายในชุด The History of Sexuality ซึ่งเป็นมหากาพย์ทางปรัชญา/ประวัติศาสตร์เพศสภาพสามเล่มจบ จำได้ว่าอ่านเล่มแรกเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว The Care of the Self ก็เลยเหมือนกับจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดที่แอนไทร์ไคลแมกใช้(ไม่)ได้
สมตามชื่อหนังสือ The Care of the Self ว่าด้วยการที่มนุษย์เราเริ่มรู้จักดูแลตัวเอง โดยฟูโกต์จับตามองสมัยกรีกโบราณ การดูแลตัวเองในที่นี้ประเด็นหลักก็คือเรื่องเพศ หรือเจาะจงยิ่งกว่านั้น การควบคุมกิจกรรมทางเพศของปัจเจคบุคคล พูดอีกนัยหนึ่ง The Care of the Self ว่าด้วยต้นกำเนิดของความคิดซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากในยุคกลาง ว่าทำไมการมีเพศสัมพันธ์ถึงเป็นบาป
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหัวข้อที่น่าขบคิด แต่ไปๆ มาๆ ฟูโกต์ก็กลับมา “ตายตอนจบ” ด้วยความถนัดของตัวเอง กล่าวคือทั้งเล่มเกี่ยวกับยุคกรีกโบราณ และผู้เขียนก็ช่างขยันหาบทความ สาระมาให้เราอ่านเสียจริง แต่อ่านไปได้สักครึ่งเล่มก็เบื่อแล้ว ถ้าฟูโกต์จะขยับขยายจากกรีก มาเป็นยุคกลาง จนมาถึงยุคปัจจุบัน นี่จะเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆ
เราคิดว่าการควบคุมทางเพศในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบาป หรือสถานะทางเศรษฐกิจเช่นในอดีต หากโยงไปหาเรื่องสุขภาพและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แทน ซึ่งก็เป็นอีกมิติทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่พูดก็พูดเถอะ สมัยฟูโกต์นี่มันยังแทบไม่มีโรคเอดส์เลยนิ ถ้าฟูโกต์ทันยุคโรคเอดส์ แกคงอัพเดท The History of Sexuality เล่มที่สี่ออกมาแน่ๆ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
คุณรักชวนหัวครับ ผมส่งเมลหาคุณในเมล laughable-loves@hotmail.com มีเรื่องจะรบกวนเล็กน้อยครับ
ขอบคุณครับ
ถ้าผมจำไม่ผิด ฟูโกต์ เขียนงานชุด History of Sexuality ไม่จบนะครับ เขาตายไปเสียก่อน โดยฟูโกต์แกหวังไว้ว่างานชุดนี้จะมีถึง 5 vol. ด้วยกันครับ ส่วนความสนใจที่แกพูดถึงเรื่องที่เป็นกรีกมากๆ เพราะช่วงเวลานั้นแกสนิทสนมชอบพอกับปิแยร์ อาโดต์ (Pierre Hadot) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ปรัชญาและเชี่ยวชาญกรีก (อาโดต์เป็นนักเขียนนักคิดที่แหกขนบการศึกษาปรัชญาตะวันตกของฝรั่งเศสในแง่ที่เขาเอาสังคมวิทยาเข้าไปจับ) ใครที่อ่านงานฟูโกต์ชุดนี้ก็มีเสียงบ่นคล้ายๆกับคุณรักชวนหัวว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยดี แต่โดยทั่วไปเขาพูดกันว่า ฟูโกต์มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่เกี่ยวกับ "การอ่านกรีก" ในหลายๆ ประเด็น
ถ้าเรามองแบบมุมกว้าง (หรือมองกันตามประวัติศาสตร์ความคิด) การนำเอา "ปรัชญากรีก" มาฉายซ้ำในช่วงเวลาที่ฟูโกต์เขียนงานชุดนี้ขึ้นมา เป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศสช่วงเวลานั้นพอดี เรียกได้ว่า นอกจากอาโดต์แล้วคนที่อ่านกรีกในมุมสังคมวิทยาก็ยังมีฌ็อง-ปิแยร์ แวร์น็องต์ (Jean-Pierre Vernant) หรือก่อนหน้าอาโดต์และแวร์น็องต์ก็ยังมีฌ็อง โบเฟรต์ (Jean Beaufret) ที่พยายามเสนอ "กรีก" ในมุมมองทางประวัติศาสตร์สังคม
ผมไม่ถึงกับคิดว่างานชิ้นนี้ "ไม่ค่อยดี" หรอกครับ จริงๆ แล้วผมชอบสองเล่มแรกของชุดนี้มากทีเดียว เพียงแต่ The Care of the Self ดูเป็นการปิดผลงานขนาดยาวที่ไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีน่ะครับ (แต่อย่างที่คุณไร้ชื่อบอก เป็นไปได้ว่าฟูโกต์เขียนไม่จบ มันก็เลยห้วนๆ พิกล)
history of sexuality ของฟูโกต์ ยังไม่จบนะครับ แต่เจ้าตัวตายซะก่อน เลยไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่ท่านตั้งใจไว้ แะในสมัยของฟูโกต์มีโรคเอดส์แล้วนะครับ และที่สำคัญในหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับฟูโกต์หลายเล่มก็ยืนยันตรงกันว่าตัวเค้าเองก็ตายเพราะโรคนี้
Post a Comment