T. C. Schelling's "Micromotives and Macrobehavior"


วันก่อนคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ เรื่องเวปไซต์วิกิพีเดียจัดอันดับคนอังกฤษร้อยคนที่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และมีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด ด้วยความแปลกใจของเราทั้งคู่ อดัม สมิธ ผู้เขีน The Wealth of Nations ไม่ติดอันดับ ไม่ว่าด้วยเหตุผลที่แท้จริงอันใดก็ตาม เราตั้งสมมติฐานว่า เป็นเพราะอดัม สมิธไม่ใช่ “นักสร้างสรรค์” ขัดกับสิ่งที่หลายคนเชื่อ หรือได้ยินมา แต่ The Wealth of Nations ไม่ใช่คู่มือ how to ทุนนิยม แต่เป็นการอธิบายปรากฎการณ์ “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในสมัยนั้น

ทุนนิยม อย่างน้อยก็ในยุโรป ไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาตามธรรมชาติของมนุษย์ (อดัม สมิธ แค่เป็นผู้สังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว) แม้แต่มาร์กเองก็ยังเชื่อว่าทุนนิยมคืออีกลำดับขั้นในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย ทุนนิยมอาจจะมากับลัทธิล่าอาณานิยม หรือฝรั่งตะวันตก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ด้วยความเป็นธรรมชาติของทุนนิยม ต่อให้มันไม่ได้ติดมากับสำเภาตะวันตก สุดท้ายมันก็จะงอกเงยขึ้นมาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ถ้า “ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า” ไม่ใช่พ่อขุนรามเป็นคนจารึก อย่างน้อยๆ ก็ต้องรัชกาลที่ 4 นี่แหละ)

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าอะไรที่งอกเงยขึ้นมาแล้ว เราต้องปล่อยให้มันเติบโต และยอมตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของมัน เชลลิงให้ตัวอย่างที่ดีมากใน Micromotives and Macrobehavior สมมติว่าเอาคนจำนวนหนึ่งมานั่งอ่านหนังสือในห้องมืดเป็นวงกลม โดยแต่ละคนจะมีโคมไฟประจำตัวอยู่ แสงจากโคมไฟตรงหน้า และจากเพื่อนบ้านสองคนที่อยู่ข้างๆ จะเพียงพอให้แต่ละคนอ่านหนังสือได้พอดี ในทางกลับกัน ถ้าเอาคนจำนวนเท่าเดิม และไฟดวงเดิมมาเรียงกันเป็นเส้นตรงบ้าง คนที่อยู่หัวและท้ายแถว จะมีเพื่อนบ้านแค่คนเดียว ดังนั้นจึงไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ถ้าสองคนนี้ปิดไฟ สุดท้ายๆ ที่เหลือทั้งแถวก็จะปิดไฟหมด และไม่มีใครอ่านหนังสือได้เลย

Micromotives and Macrobehavior พูดถึง “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งก็คือกลไกอัตโนมัติ แม้ว่าเป้าหมาย และวิธีการคิดของปัจเจกจะแตกต่างกันไป และแม้เราจะไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดเช่นไร เมื่อเอาพฤติกรรมของทุกหน่วยมารวมกันแล้ว ประหนึ่งว่ามี “มือที่มองไม่เห็น” ควบคุมสังคมอยู่

นอกจากจะมีประโยชน์แล้วนี่ยังเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก เต็มไปด้วยโจทย์คณิตศาสตร์มันส์ๆ ตัวอย่างสนุกๆ และแม้ช่วงหลัง จะเริ่มไม่ค่อยน่าสนใจแล้วก็ตาม (พูดถึงการเหยียดผิว การแบ่งแยกผู้คนด้วยกลไก และการควบคุมหน่วยพันธุกรรมของเด็ก) เราก็ยังอยากให้ทุกคนได้ศึกษาทฤษฎีเกมส์ และแนวคิดอื่นๆ ซึ่งแฝงอยู่ใน Micromotives and Macrobehavior

เพราะหน้าที่ของปัญญาชนคือช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะหาวิธีการจัดแถวให้ทุกคนได้อ่านหนังสือกันหมด (คำตอบง่ายๆ ในที่นี้คือให้ทุกคนนั่งกันเป็นวงกลม) ไม่ใช่ไปบีบบังคับให้สองคนที่อยู่หัวแถว ท้ายแถวจะต้องอ่านหนังสือทั้งๆ ที่มืดๆ แบบนั้น

No comments: