U. Eco's "Serendipities"
นอกจากจะเป็นหนังสือเล่มบางจ๋อยแล้ว Serendipities ยังเหมือนเอาหนังสือสองเล่มมาแปะรวมกันอีกต่างหาก อีโคพูดถึงสองประเด็นซึ่งโดยผิวเผินแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย ประเด็นแรกคืออิทธิพลของความเท็จ ว่าบางครั้งมันก็มีพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าความจริง ส่วนประเด็นหลังคือความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบ ในที่นี้ก็คือภาษาของอดัมก่อนหอคอยบาเบลจะพินาศ ส่งผลให้มนุษย์กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง และสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
เราสนุกกับประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก (ซึ่งค่อนข้างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วจากงานชิ้นอื่นๆ อย่าง Foucault’s Pendulum) โดยอีโคแบ่งมันออกเป็นสองช่วง ในบทที่ 2 เขาพูดถึงความพยายามตามหาภาษาต้นแบบจากภาษาโบราณ ตามความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิ้ล ภาษาของอดัมน่าจะเป็นภาษาฮิบรูดั้งเดิม ก่อนถูกดัดแปลงไปตามวันเวลาและประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ชาวยุโรปบางคนเชื่อว่าภาษาที่มาจากต่างถิ่นเช่นภาษาอียิปต์หรือกระทั่งภาษาจีนจริงๆ แล้วอาจเป็นภาษาศักดิ์สิทธิของอดัมก็ได้! ในบทที่ 4 ความพยายามตามหาภาษาต้นแบบดำเนินไปในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือเหล่านักปราชญ์ในยุคกลางคิดค้นภาษาจำลองโดยคาดหวังให้มันใกล้เคียงกับภาษาของอดัมที่สุด
ความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบนี้จริงๆ แล้วก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ว่าใครระหว่างที่เรียนภาษาที่สอง ที่สาม ก็คงรู้สึกบ้างแหละว่า “ไอ้คนที่คิดภาษานี้ มันตั้งคำหอกหักนี่ออกมาได้อย่างไร!” ช่างแสนจะจำยากเย็นและดูไม่เป็นธรรมชาติเสียนี่กระไร ว่ากันว่าภาษาของอดัมเป็นภาษาที่มาจากธรรมชาติเลย กล่าวคือไม่ต้องอาศัยการจดจำหรือฝึกฝน แค่เห็นศัพท์ปุ๊บ เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่ามันแปลว่าอะไร
ในบทที่ 5 ซึ่งเป็นสุดท้าย อีโคถึงได้รวมสองประเด็นนี้เข้าด้วยกัน ในแง่หนึ่งความหลงใหลและความพยายามตามหาภาษาต้นแบบก็อาจมองได้ว่าถูกขับเคลื่อนด้วย “ความเท็จ” หรือ “ความเชื่อที่เป็นเท็จ” ว่าภาษาต้นแบบนั้นเป็นธรรมชาติและดีกว่าภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน (ถ้าเรารู้จักอีโคดีพอ นักสัญศาสตร์อย่างแก อย่างไรเสียก็คงไม่เห็นด้วยกับความคิดตรงนี้แน่ๆ ) บางครั้งอะไรที่มาจากธรรมชาติก็ไม่ใช่จะต้องดีที่สุดเสมอไป และที่สำคัญอะไรคือธรรมชาติ อะไรคือของประดิษฐ์ ถ้าภาษามันถูกพัฒนาจนเป็นอย่างที่มันเป็นในปัจจุบัน เราจะเรียกมันว่าไม่ใช่ของธรรมชาติได้หรือ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment