M. Peleggi's "The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia"


ไปเจอร้านหนังสือแซบๆ ในห้างเซนทรัลศาลาแดง อยากเชิญชวนทุกคนแวะไป ชื่อร้านอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่เป็นร้านขายหนังสือเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ โดยเน้นที่หนังสือของสำนักพิมพ์ White Lotus ซึ่งเท่าที่เราสำรวจดู สำนักจะพิมพ์แต่หนังสือวิชาการที่เขียนโดยชาวตะวันตกเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว หลายเล่มพอลองเอาไปเซิร์ซกับอเมซอนหรือกูเกิล ไม่มีขายในอเมริกาด้วยซ้ำ ขอย้ำอีกทีว่าร้านนี้น่าแวะไปมากๆ มันจะอยู่แถวๆ บันไดเลื่อนขึ้นสวนอาหาร (ซึ่งมีอยู่สองฝั่ง ลองสำรวจดู)

โฆษณามายาวเหยียด แต่ต้องปิดท้ายด้วยว่า The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia ที่ซื้อมาเป็นเล่มแรก เราค่อนข้างเฉยๆ อาจเพราะมันสั้นเกินไป อ่านแล้วก็เลยยังไม่ได้สาระเท่าที่ควร หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการจัดการโบราณสถานในประเทศไทย โดยเน้นแง่มุมการเมืองและการท่องเที่ยว หลายประเด็นก็ไม่ค่อยใหม่ เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้ว การใช้ประวัติศาสตร์แห่งชาติเป็นวาทกรรมแห่งอำนาจมาบดบังความขัดแย้งในท้องถิ่น แต่การได้พิจารณาปมนี้ผ่านมุมมองสถานที่ท่องเที่ยวก็จัดว่าน่าสนใจมิหยอก

ประเด็นที่ผุดขึ้นมาระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ (ไม่แน่ใจว่าคนเขียนแอบหยอดไว้ หรือเรารู้สึกเอง) หนึ่งคือ ทำไมประเทศไทยถึงได้ภาคภูมิใจกับการไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนัก ในบริบททางวัฒนธรรม เราทำราวกับว่าถ้าฝรั่งเศสเข้ามายึดสยามได้ แล้วจะเปลี่ยนทั้งเมืองให้กลายเป็นปารีส มีหอไอเฟลผุดขึ้นมาริมแม่น้ำเจ้าพระยา แน่นอนว่าในทางเศรษฐกิจ การตกเป็นเมืองขึ้นมีแต่เสียเปรียบ แต่ในทางวัฒนธรรม การไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นเลย ส่งผลให้เราไม่รู้จักการยืดหยุ่นอัตลักษณ์ของตัวเองหรือเปล่า นอกจากนี้ที่บอกว่าเมืองไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนี่ เมืองไทยตรงไหน คนปัตตานี คนเชียงใหม่ เขารู้สึกไปด้วยหรือเปล่าว่าเขาไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น

อีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ภายใต้ความภาคภูมิใจของการไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น แท้ที่จริงสิ่งที่เราพยายามขายนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คือบรรยากาศความเป็นเจ้าอาณานิคม แหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมที่มีชื่อเสียงล้วนสร้างขึ้นมาโดยเลียนแบบบรรยากาศของยุคอาณานิคมทั้งสิ้น เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเมืองไทยคือการได้ย้อนอดีตเข้าไปสัมผัสบรรยากาศแบบอาณานิคม ในแผ่นดินที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร

ย้ำอีกทีว่าร้านหนังสือนี้น่าแวะเวียนไปมากๆ ราคาหนังสือค่อนข้างแพง (ตกเล่มละห้าร้อยถึงเจ็ดร้อย) พิมพ์ปกไม่สวยเท่าไหร่ แต่ใช้กระดาษดี อย่างไรค่อยๆ หยอดกระปุกหมูก็แล้วกันนะครับ

No comments: