R. Williams's "Marxism and Literature"
ชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในห้อง เราแบ่งส่วนประกอบต่างๆ ของห้องได้เป็นสองประเภทใหญ่คือ สิ่งจำเป็นต่อการอยู่อาศัย เช่นพื้นห้อง ผนัง เก้าอี้ เครื่องครัว ตู้เย็น และสิ่งที่มีไว้เพื่อความสบายใจ สบายตา เช่นหน้าต่าง ทีวี หลังคา กระถางต้นไม้ โซฟา และเตาไมโครเวฟ เราขอเรียกประเภทแรกว่า "พื้นฐาน" และประเภทหลังว่า "อุดมคติ" แล้วกัน พื้นฐานของห้องคือสิ่งที่มาพร้อมกับห้อง ตั้งแต่วันแรกที่ชายคนนี้ย้ายเข้ามาอยู่ ส่วนอุดมคติคือสิ่งที่เขาหาซื้อมาประดับเพิ่มเติม ตามรสนิยม และความสนใจ
พื้นฐานของห้องกำหนดความเป็นอยู่ของเขา รวมไปถึงวิถีชีวิต และหน้าที่การงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมนำไปสู่รายได้ กำลังซื้อ เพื่อนฝูง และรสนิยม ซึ่งส่งผลต่อไปว่าอุดมคติประเภทไหนที่เขาหาซื้อมาประดับห้อง ในทางกลับกัน การที่ชายคนนั้นถูกรายล้อมด้วยอุดมคติทุกวันๆ ย่อมส่งผลสะท้อนกลับไปยังวิถีชีวิต เช่นถ้าเขาเห็นกระถางต้นไม้บ่อยๆ เข้า อาจเกิดความต้องการจะเปิดร้านขายดอกไม้ และในบางกรณี อาจสุดโต่งกระทั่งว่าทุบผนัง (อันเป็นพื้นฐาน) เพื่อจะได้มองเห็นสวน
ถ้าเปลี่ยนห้องเป็นสังคม และชายคนนั้น เป็นคนหลายๆ คน เราก็จะได้โครงสร้างสังคมตามปรัชญามาร์กซิส ซึ่งมองว่าสังคมคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัย พื้นฐาน และอุดมคติ ถึงโดยส่วนใหญ่แล้วพื้นฐาน (ได้แก่สภาพเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงภูมิศาสตร์) กำหนดความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งจะทำให้พวกเขาร่วมกันสร้างอุดมคติขึ้นมา (ได้แก่ศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม) ในบางครั้งอุดมคติก็สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และถึงขั้นพลิกพื้นฐานสังคมได้เลยทีเดียว (กรณีนั้นเรียกว่าการปฏิวัติสังคม)
อัลทัสเซอร์ นักปรัชญามาร์กซิสเชื่อว่ารัฐจะพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อควบคุม และใช้อุดมคติเป็นเครื่องมือ สำหรับอัลทัสเซอร์ สังคมแบบทุนนิยม ก็จะมีวัฒนธรรมแบบทุนนิยม สังคมแบบสังคมนิยม ก็จะมีวัฒนธรรมแบบสังคมนิยม ทั้งเรา และวิลเลียมส์ไม่เห็นด้วยกับอัลทัสเซอร์
ในบทความหนึ่งของ Turning Back the Clock อีโคพูดว่า ถ้าใครศึกษาวรรณกรรม นิตยสาร หรือบทความที่ถูกตีพิมพ์ในอิตาลีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะต้องเข้าใจแน่ๆ ว่าอิตาลีเป็นรัฐสังคมนิยม ทั้งที่จริงๆ แล้ว รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลคาทอลิก ช่วงแปดปีประธานาธิบดีบุช ก็ไม่ค่อยจะเคยเห็นสังคมอเมริกาผลิตอุดมคติซึ่งสนองลัทธิอนุรักษ์นิยม ส่วนใหญ่จะตรงข้ามกันเสียมากกว่า หรือในประเทศไทยเอง ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลับมีหนังสือ และนิยายเพื่อชีวิตเกลื่อนตลาด
ใน Marxism and Literature วิลเลียมส์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นฐาน และอุดมคติ ซึ่งซับซ้อนกว่าที่นักปรัชญารุ่นอัลทัสเซอร์เคยเชื่อกัน บางครั้งพื้นฐาน และอุดมคติก็ไปกันได้คนละทาง
ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย
...ตราบเท่าที่ยังไม่มีทฤษฎีวรรณกรรมทุนนิยมนะ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
ขอบคุณค่ะสำหรับบทความ
อ่านแล้วดีคับ ขอบคุณคับสำหรับบทความ
Post a Comment