D. Tammet's "Born on a Blue Day"
พูดถึงที่มาที่ไปของเรากับ Born on a Blue Day นิดดีกว่า เริ่มมาจากบทสนทนามื้อกลางวันระหว่างเรา และรุ่นพี่อีกคน ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นพูดกันถึงภาพยนตร์เรื่อง Rainman เราเป็นคนเอ่ยว่า "แหม! ทำไมมันไม่มีอาการผิดปกติ ที่ทำให้คนเราเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมบ้าง" แล้วรุ่นพี่ก็พูดถึง Born on a Blue Day เขียนโดยผู้ป่วยโรค "อะไรสักอย่าง" ถัดจากนั้นอาทิตย์หนึ่ง เห็นมันในกะบะลดราคา รีบซื้อมาทันที
ปรากฎว่าแทมเมตผู้เขียน ก็เป็นโรคเดียวกับดัสติน ฮอฟแมนนั่นแหละ คือซาวอง นอกจากนั้นจะเรียกเขาว่า "อัจฉริยะทางวรรณกรรม" ก็กระไรอยู่ เนื่องจาก Born on a Blue Day เป็นหนังสืออัตชีวประวัติตัวเขาเอง ซึ่งแทมเมตได้เล่าออกมาว่า เขาไม่สนใจวรรณกรรมด้วยซ้ำ ถ้าแทมเมตจะเป็นอัจฉริยะด้านไหนสักด้าน เขาก็คืออัจฉริยะทางภาษา ในสารคดี Brainman หมอใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์เพื่อเรียนภาษาไอซ์แลนด์ จนพูดสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้! (ซึ่งถ้ามองว่าคณิตศาสตร์ก็คือภาษาประเภทหนึ่ง แทมเมต และเรนแมนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก)
ซาวองคืออาการป่วยทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง โดยมีผลข้างเคียงคือผู้ป่วยจะมีทักษะพิเศษในการจับรายละเอียดเล็กๆ แต่ไม่สามารถมองภาพรวมใหญ่ๆ ได้ รูปที่เอามาแปะตรงนี้ ก็คือภาพวาดของผู้ป่วยซาวองอีกคน กิล เทรฮิน ให้สังเกตความอลังการด้านรายละเอียด
อืม...ไปๆ มาๆ ระหว่างที่ google research เพื่อหารูปมาแปะบลอคนี้ ก็เลยได้รับทราบเรื่องราวของ กิล เทรฮิน ซึ่งท่าทางจะน่าสนใจกว่าแทมเมตอีก (เฮ้ยๆ !) หนังสือของเทรฮินชื่อ Urville เป็นการรวบรวมภาพวาดกว่าสามร้อยภาพ รวมถึงข้อเขียนรายละเอียดทางวัฒนธรรม สภาพบ้านเมือง สถาปัตยกรรม และเศรษฐกิจของเออร์วิลซึ่งเป็นเมืองในจินตนาการ...ชักน่าสนใจแล้วสิ
กลับมาที่แทมเมต และ Born on a Blue Day เทียบกับดัสติน ฮอฟแมนในภาพยนตร์ หรือคิม พีค (ซึ่งเป็นผู้ป่วยซาวองต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนั้น) อาการป่วยของแทมเมตยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้ชีวิตกับคนปรกติได้ และในเล่มนี้ เราได้เห็นความพยายามเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเขา ซึ่งน่าประทับใจดี ถึงจะผิดจุดประสงค์ไปบ้างแต่ Born on a Blue Day ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่านในระดับหนึ่ง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
เราว่าคุณควรซื้อ Urville
Post a Comment