S. Gauch's "Liberating Shahrazad"


เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า สมัยที่ยังอยู่แอลเอ ใกล้ๆ บ้านเรามีผู้หญิงอิหร่านกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเพื่อประท้วงทั้งรัฐบาลอิหร่านที่กดขี่ข่มเหงผู้หญิงและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ใจหนึ่งเราตั้งคำถามแกมดูเบาว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ "สองไม่เอา" อย่างนี้มันจะเกิดมรรคผลจริงหรือ (คนส่วนใหญ่มักใช้อาการสองไม่เอา เป็นข้ออ้างเพื่อนอนเกาพุงอยู่บ้านมากกว่าลุกขึ้นมาทำอะไร) แต่อีกใจหนึ่งเราเห็นด้วยในหลักการ และคิดว่าการประท้วงสองไม่เอาแบบนี้ดูแปลกใหม่และน่ารักน่าชังอยู่ในที

แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่าไม่แปลกใหม่อย่างที่คิด ตั้งแต่ยุคหลังล่าอาณานิคม นักสตรีนิยมในโลกอาหรับตกอยู่ในสภาวะเขาควาย ในทางหนึ่ง การกดขี่ข่มเหงสตรีในโลกมุสลิมมักถูกใช้เป็นข้ออ้างให้ชาติตะวันตกเข้าไปยึดครองดินแดนอาหรับ และในอีกทางหนึ่ง ข้ออ้างที่รัฐบาลอนุรักษนิยมใช้สร้างความแปลกแยกให้กับผู้หญิงหัวก้าวหน้า ก็คือบุคคลเหล่านี้สมคบคิดกับตะวันตก ทรยศขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยมในโลกอาหรับจึงชูธงสองไม่เอามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

สิ่งนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีในนิทานอาหรับราตรี ชีวิตของเจ้าหญิง ฌาราซาด แขวนอยู่บนเส้นด้ายแห่งการเล่าเรื่อง นิทานที่ฌาราซาดเล่าให้สุลต่างฟัง หนึ่งคือต้องไม่ระคายหู สองคือเมื่อเล่าจบในแต่ละคืน ต้องชวนให้อยากรู้ตอนต่อไป และสามแฝงข้อคิด คติที่เมื่อฟังบ่อยๆ เข้า (พันหนึ่งราตรี) สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และพฤติกรรมของผู้ฟังได้ ทักษะอันยอดเยี่ยมของฌาราซาดคือการสร้างสมดุลระหว่างข้อบังคับที่ขัดแย้งกันเองเหล่านี้ได้ (ถ้าไม่ระคายหู ผู้ฟังก็จะไม่ได้ข้อคิด ถ้าไม่สนุกเลยก็จะไม่อยากฟังตอนต่อไป ถ้าไม่มีข้อคิดเสียทีเดียว ก็เหมือนกับแค่เล่านิทานต่อชีวิตตัวเองไปคืนๆ )

อาหรับราตรีเป็นนิทานที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนอาหรับ นิทานเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวยุโรป ต้นฉบับเก่าแก่สุดของอาหรับราตรีเล่าไม่จบ คือมีนิทานแค่ประมาณ 270 ราตรีเท่านั้น นักประวัติศาสตร์และนักผจญภัยในอดีตพยายามรวบรวมนิทานเพิ่มเติมให้ครบพันหนึ่งสมชื่อของมัน ความแตกต่างระหว่างอาหรับราตรีฉบับตะวันออก (ที่ไม่จบ) และตะวันตก (ที่จบ) คือประเด็นหลักของหนังสือ Liberating Shahrazad

ตอนจบของอาหรับราตรี (ที่ชาวตะวันตกเขียน) ไม่ว่าจะฉบับไหนๆ มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ สุดท้ายแล้วผู้เขียน/ผู้แปล/ผู้รวบรวมจะบรรจุฌาราซาดเข้าไปในบทบาทของนางฮาเร็ม เป็นภรรยาที่ดีของกษัตริย์ เชื่อฟังสามี และไม่ปริปากต่อล้อต่อเถียง (ทั้งที่จริงๆ ก็เสี่ยงชีวิตเล่านิทานมาได้นานเกือบสามปี) เกาช์อธิบายว่าตอนจบแบบนี้ แท้จริงแฝงนัยยะการสร้างความเป็นอื่นให้แก่โลกอาหรับ แม้กระทั่งวีรสตรีอย่างฌาราซาด สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นการถูกกดขี่ข่มเห่งภายใต้วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่

ในทางตรงกันข้าม การที่อาหรับราตรีฉบับดั้งเดิมไม่มีตอนจบเพราะไม่มีใคร ไม่ใช่นักเขียนแค่คนเดียว จะสามารถผูกตอนจบให้กับเรื่องราวของฌาราซาดได้ ฌาราซาดอยู่ในตัวผู้หญิงมุสลิมทุกคน และตราบจนทุกวันนี้ พวกเธอก็ยังต้องถือคบเพลิงจิตวิญญาณของนักเล่านิทาน ยึดแนวทาง "สองไม่เอา" เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากการกดขี่ข่มเหงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

No comments: