R. Williams's "Culture and Materialism"


Culture and Materialism คล้ายคลึงกับ Society of the Spectacle ต่างเป็นหนังสือที่เราอ่านจบด้วยความรู้สึกงงๆ เพราะข้อมูล ความคิดมันถาโถมเข้าใส่ จับต้นชนปลายไม่ถูก ขณะที่ดีบอร์ดเรียงร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน วิลเลียมส์ดูจะพอใจกับการจับแพะชนแกะเสียมากกว่า (ซึ่งก็โทษเขาไม่ได้ ในเมื่อหนังสือเล่มนี้มันเป็นการรวบรวมบทความที่เขียนต่างวาระ ต่างกรรม จะให้มีความเป็นหนึ่งเดียวสักเท่าไหร่เชียว)

วิลเลียมส์เป็นนักคิด นักเขียนต่อต้านทุนนิยม บทความของเขาดูมีที่มาที่ไปดี หลายประเด็นที่หยิบยกมาพูดถึง แม้แต่คนที่เป็นแฟนระบบทุนนิยมอย่างเรา อ่านแล้วก็ยังต้องยอมรับฟัง บางจุดก็เป็นการต่อยอดมาจากความคิดของดีบอร์ด โดยเฉพาะที่พูดถึงโฆษณา "เวทมนต์" ของการโฆษณาคือเราได้ใส่คุณค่าซึ่งจับต้องไม่ได้ (ไม่เป็น "วัตถุนิยม") ลงไปในสินค้า พูดแบบดีบอร์ดก็คือ เราได้สร้าง "spectacle" ขึ้นมานี่เอง

พูดแบบนี้แล้วก็ต้องเอ่ยถึงคำว่า "วัตถุนิยม" สักนิด ปัจจุบันคำนี้ฟังดูไม่ค่อยงามเท่าไหร่ แต่เมื่อร้อยปีที่แล้ว ตอนมาร์กกำหนดปรัชญาซึ่งเป็นพื้นฐานของคอมมิวนิสต์ เขาเรียกมันว่า "วัตถุนิยม" (เพื่อให้ตรงข้ามกับ "อุดมคตินิยม" ของเฮเกล) ดังนั้นนอกจาก Culture and Materialism จะพยายามปกป้องลัทธิวัตถุนิยมแล้ว วิลเลียมส์ยังชี้ให้เห็นโทษของคุณค่าซึ่งจับต้องไม่ได้ เช่นว่าคนเราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังเพื่อแสดงฐานะ และความเป็นคนรุ่นใหม่ (กระนั้นเรากลับไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิลเลียมส์ว่าปัญหาตรงนี้จะหมดไปในระบบอื่น เช่นสังคมนิยม)

เสียดายที่วิลเลียมส์แค่นำเสนอความคิดเท่านั้น แต่ไม่ได้ต่อยอดตัวเองไปไหน ซึ่งก็เป็นปัญหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ มันเต็มไปด้วยคำถามเจ๋งๆ เช่น "ธรรมชาติคืออะไร มนุษย์จัดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติหรือเปล่า" แต่เหมือนวิลเลียมส์แค่หยอกล้อคนอ่าน มากกว่าต้องการสร้างปรัชญาเป็นชิ้นเป็นอัน

No comments: