ในวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยึดครองวอลสตรีท เป็นความรู้สึกแปร่งปร่าบรรยายไม่ถูก เมื่อได้อ่าน A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ในฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อร้อยยี่สิบที่แล้ว มาร์ค ทเวนโฆษณานิยายเรื่องนี้ขึ้นปกว่า "นิยายที่จะถูกอกถูกใจอเมริกันชนทุกคน" ซึ่งก็จริงของเขา นี่เป็นนิยายที่ "อเมริกัน" มากๆ เชิดชูวิถี และแนวคิดแบบอเมริกันอย่างที่พ้นสมัยไปแล้วในอีกสองศตวรรษถัดมา
ตัวเอกของนิยายคือแฮงค์ เขาเดินทางย้อนอดีตกลับสู่ยุคกษัตริย์อาเธอร์ อัศวินโต๊ะกลมที่แฮงค์เจอไม่ใช่นักรบผู้ทรงเกียรติ แบบในนิยายอัศวินของวอลเตอร์ สกอต (มาร์ค ทเวนใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา เขาเป็นชาวเหนือ รังเกียจการค้าทาส และวิถีชีวิตแบบชาวใต้ เขาเชื่อว่าเป็นเพราะหนังสือของวอลเตอร์ สกอตนั่นแหละ ที่ทำให้ชาวใต้หยิ่งยะโส ขุนน้ำขุนนาง และเป็นต้นเหตุของสงคราม A Connecticut Yankee in King Arthur's Court ถูกเขียนเพื่อยั่วล้อแนวคิดแบบนี้โดยเฉพาะ)
ทเวนไม่ปิดไม่เร้นความรังเกียจที่ตัวเขามีต่อเหล่าอัศวิน เขาก็เรียกคนพวกนี้ว่า "เด็ก" หรือ "สัตว์" และตลอดนิยายทั้งเล่มคือการเทศนาเปรียบเทียบให้เห็นว่าวิถีแบบประชาธิปไตย ตลาดเสรี และวิทยาศาสตร์ของอเมริกา (ปลายศตวรรษที่ 19) นั้นมันวิเศษอย่างไร
การอ่านนิยายเล่มนี้ในศตวรรษที่ 21 หลังจากโลกเราผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย พูดได้คำว่าเดียวว่า "quaint" (แปลกและน่าดูอย่างโบราณ) ภาษาของทเวนเป็นภาษายุค "ก่อน" หลังล่าอาณานิคม (ก็คือยุคล่าอาณานิคมนั่นเอง) ที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยามคนต่างถิ่น นอกจากนี้หลังสงครามเวียดนาม นักเขียนที่ไหนจะกล้าพูดความวิเศษของประเทศอเมริกาบ้าง ในแง่หนึ่ง สายตาที่เรามองแฮงค์ และทเวน จะว่าไปก็คงไม่ต่างจากสายตาที่แฮงค์มองอัศวินโต๊ะกลมเหล่านั้น คือพวกเอ็งทั้งคู่ก็ตกยุคพอๆ กันนั่นแหละ
พูดแบบนี้ไม่ใช่จะติหนังสือ ตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ คนในศตวรรษที่ 21 (โดยเฉพาะคนไทย) สมควรเตือนตัวเองเป็นอย่างยิ่งว่าไอ้ที่เราด่าๆ กันในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งมันเคยสวยงามแค่ไหน โลกนี้ไม่ได้มีแค่ผิดหรือถูก เราต้องพยายามมองหาความถูกต้องในสิ่งที่ผิดด้วย
แต่ถ้าเรายังยืนยันจะอยู่ในโลกสองสีจริงๆ ก็ยิ่งสมควรอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะถ้าคิดว่าประชาธิปไตย ทุนนิยม ตลาดเสรี และวิทยาศาสตร์มันเลวร้ายนัก ก็สมควรอ่าน A Connecticut Yankee in King Arthur's Court เพื่อจะได้เห็นว่า "อะไร" ที่มันเลวร้ายยิ่งกว่านั้นหลายเท่า
No comments:
Post a Comment