N. Chomsky's "Hegemony or Survival"


ใครที่เกลียดประเทศอเมริกาต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เปล่าๆ ไม่ใช่ว่าความเกลียดของคุณจะบรรเทาลงหรอกนะ แต่อย่างน้อยโนม ชอมสกี้ ศาสตราจารย์เอมไอที บิดาแห่งวิชาภาษาศาสตร์ยุคใหม่จะช่วยให้คุณเกลียดอเมริกาอย่างมีเหตุมีผลขึ้น

เลือกตั้งเมื่อสองปีที่แล้ว จากการสำรวจพบว่าแม้คนอเมริกาจะไม่ไว้วางใจรัฐบาล รู้สึกว่านโยบายหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องภาษีมีขึ้นเพื่อรับใช้นักธุรกิจรวยๆ มากกว่าคนชั้นล่าง ชั้นกลาง แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการที่อเมริกายกทัพไปโจมตีอิรักจะช่วยให้ประเทศปลอดภัยขึ้น และเนื่องจากตอนนั้น ความปลอดภัยถือเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงใช้ในการตัดสิน จึงไม่น่าแปลกที่นายบุชจะขึ้นรับตำแหน่งเป็นรอบที่สอง

"ยึดครอง หรืออยู่รอด" หนังสือการเมืองของชอมสกี้พยายามโต้เถียงประเด็นนี้ ว่าจริงๆ แล้วชาวอเมริกันไม่ได้ปลอดภัยกว่าเดิมหรอก มิหนำซ้ำภัยจากผู้ก่อการร้ายยังรุนแรงขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามกับอิรักด้วยซ้ำ

ประเด็นหลักๆ ของชอมสกี้ คือการที่อเมริกาบุกอิรัก ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างหน้าด้านๆ ถมน้ำลายใส่ UN ใช้ความเป็นพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจ และการเมืองบังคับ ขู่เข็ญประเทศเล็กประเทศน้อยให้เห็นด้วยกับตัวเอง การกระทำเช่นนี้ต่างหากส่งผลให้เส้นบางๆ ซึ่งแบ่งแยกระหว่าง "การก่อการร้าย" และ "การต่อต้านการก่อการร้าย" จางลงยิ่งกว่าเดิม สุดท้ายแล้วโลกนี้จะไม่มีกฎหมาย กฎเกณฑ์อะไรมาบังคับว่าใครควร หรือไม่ควรไปก่อการร้ายกับใคร

ชอมสกี้ยกตัวอย่างนโยบายในอดีตของอเมริกาที่เข้าขั้นก่อการร้าย เช่นในนิการากัว และคิวบา อเมริกาแทรกแซง สนับสนุนรัฐบาล หรือกลุ่มกองโจรที่ให้สัญญาว่าจะจงรักภักดีกับตัว สุดท้ายลงเอยที่ความพินาศ ล้าหลังของประเทศด้อยพัฒนา ชอมสกี้นิยามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการ "ก่อการร้าย" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายอเมริกาจะถูกปฏิบัติการ "ต่อต้านการก่อการร้าย" ของประเทศอื่นโจมตีคืนบ้าง

"ยึดครอง หรืออยู่รอด" เป็นหนังสือที่จะว่าอ่านง่ายก็ง่าย จะว่าอ่านยากก็ยาก ชอมสกี้ไม่ได้ลงลึกรายละเอียดปรัชญาการเมือง หรือวิเคราะห์ข้อถกเถียงอย่างละเอียดลึกซึ้งอะไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรวม และนำเสนอข้อมูลมากกว่า

ส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่คนเกลียดอเมริกา และอดรู้สึกคันๆ ในหัวใจไม่ได้ทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดอะไรต่อต้านอเมริกาอย่างไร้เหตุผล อเมริกาคือขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ในโลก และเช่นเดียวกับยักษ์ทุกประเภท เมื่อมีคุณอนันต์ ก็อาจมีโทษมหันต์ได้ รู้สึกว่า "ยึดครอง หรืออยู่รอด" มองอะไรด้านเดียวเกินไปหน่อย ยกตัวอย่างเช่นการที่อเมริกาแทรกแซงประเทศอื่นๆ ในช่วงสงครามเย็น ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงกดดันจากค่ายคอมมิวนิสต์ หรือความจริงที่ว่าตลาดเสรี จนปัจจุบันก็ยังเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับ และผ่านการพิสูจน์มามากที่สุด การที่อินเดียได้ขึ้นแท่นเป็นช้างแห่งเอเชีย ปฏิเสธได้เชียวหรือว่าไม่ใช่เป็นเพราะการลงทุนจากต่างชาติ (ซึ่งนักวิชาการไทยเกลียดนักหนา)

เอาเถอะต่างชาติ เขาจะดี จะเลว คงเถียงกันยาก ให้รู้ก็พอว่ายักษ์ใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่อะไรที่คนไทยจะมองข้าม หรือทำเป็นไม่เห็นได้

หมายเหตุ: หนังสือที่น่าอ่านควบคู่ไปกับ "ยึดครอง หรืออยู่รอด" คือ J. D. Sachs's "The End of Poverty" และ S. Coll's "Ghost Wars"

3 comments:

Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความ

shapel said...

great post to readget more navigate hereread the article navigate to this websitelook what i found

sleeso said...

recommended you read high replica bags why not check here luxury replica bags Click Here high quality replica bags