M. Kundera's "Encounter"


ใน Elsewhere อันเป็นบทความหนึ่งใน Encounter กุนเดระเล่าถึงเหตุการณ์ที่ท้าทายความคิดเราอย่างมาก ช่วงที่รถถังรัสเซียเข้ามาปิดกรุงปราก กุนเดระนั่งรถไปหาหมอกับเพื่อนกวีคนหนึ่ง ทั้งคู่คุยกันถึงฮราบาล ฮราบาลเป็นนักเขียนชาวเชค โดยผลงานของฮราบาลนั้นไม่ได้มีวาระทางการเมืองเลย ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าเชคจะอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการรัสเซีย นักเขียนและปัญญาชนถูกขับให้ออกจากงานและสั่งห้ามพิมพ์หนังสือ ฮราบาลก็ยังสามารถตีพิมพ์ผลงานของตัวเองต่อไปได้

เพื่อนของกุนเดระประณามฮราบาล โดยบอกว่าการนิ่งดูดายคือการทรยศต่อมวลชน ขณะที่กุนเดระกลับเถียงว่า ศิลปะที่ไร้การเมืองในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง มีคุณค่ากว่าแผ่นพับที่นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ผลิตออกมาทั้งชีวิต

ในแง่หนึ่งเราเข้าใจจุดยืนของกุนเดระ นี่คือการต่อต้านเมโลดรามา อุดมการณ์ และ kitsch แบบที่เราเรียนรู้จากเขามาตลอดชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเราปรับมันเข้าหาบริบทการเมืองไทย หมายถึงเราจะต้องยอมรับวรรณกรรมคริคริ ที่ยืนยันว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมืองหรืออย่างไร ถ้าเช่นนั้น ก็ขัดกับสิ่งที่ซาร์ตพูดใน What is Literature? ว่านักเขียนจะต้องเลือกข้าง

ประเด็นคือ "ไร้การเมือง" ไม่เหมือนกับ "เป็นกลางทางการเมือง" ยกตัวอย่างผลงานเรื่องใหม่ของพี่เจ้ย แม้จะมีการพูดถึงคอมมิวนิสต์ เจ้าหญิงกับปลาดุก รวมถึงโลกอนาคตที่คนถูกแสงประหลาดลบหายไป ลุงบุญมีระลึกชาติ คือภาพยนตร์ที่ไร้การเมืองที่สุดเรื่องหนึ่ง พี่เจ้ยไม่ได้ปฏิเสธการพูดถึงการเมือง หรือการเลือกข้าง แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่ตัวผลงานพูดออกมาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย (กลับเป็นประเด็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์ และตำนานท้องถิ่นแทน) นี่คือสิ่งที่เราชื่นชม และเราเชื่อว่ากุนเดระเองก็คงจะชื่นชมเหมือนกัน (อาจจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญแต่ฮราบาลถูกจัดให้เป็นบิดาแห่งภาพยนตร์เชคนิวเวฟ)

ตรงกันข้าม เรื่องสั้นไทยหลายชิ้นที่เราอ่านในระยะหลังนี้มีน้ำเสียงที่พยายามเป็นกลางทางการเมือง เช่น เรียกร้องให้คนหันมาใส่เสื้อขาว แต่น่าสังเกตว่าผลงานเหล่านี้มักจะมาจากนักเขียนที่เคยเลือกข้างฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน

ในชีวิตจริง ไม่มีใครหรอกที่เป็นกลาง มีตำนานเล่าว่า หากลาตัวหนึ่งยืนอยู่ตรงกลางพอดีระหว่างฟางสองกองที่มีขนาดเท่ากัน ลาตัวนั้นจะอดตายเพราะจนแล้วจนรอด มันจะไม่สามารถเลือกได้ว่าควรเดินไปเคี้ยวฟางกองไหนดี ตำนานนี้ต้องการแสดงให้เห็นความโง่ของลา แน่นอนว่าในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ไม่มีฟางสองกองใดที่มีขนาดเท่ากันเป๊ะ และไม่มีลาตัวไหนที่โง่ขนาดหิวท้องกิ่วแล้วยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกกองไหน

ในทางการเมืองก็เหมือนกัน เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเลือกข้างแล้วทั้งนั้น นักเขียนผู้ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองจะพยายามบอกโลกว่าเขาเป็นกลาง เลือกที่จะเป็นลา แต่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ (ตามนิยามของซาร์ต) จะแสดงสีการเมืองออกมาอย่างชัดเจน

และบางทีการเลือกข้างของเขา อาจจะช่วยให้เขาผลิตผลงานที่ไร้การเมืองและอยู่เหนือกาลเวลาได้อย่างแท้จริง

3 comments:

Anonymous said...

ไม่เห็นด้วยกับคุนเดราแต่เห็นด้วยกับซาตร์ใช่ไหมครับ

laughable-loves said...

เปล่าครับ จริงๆ คือพยายามผนวกความเชื่อของสองคนนี้เข้าหากันครับ

กุนเดระสนับสนุนงานศิลปะที่ "ไร้การเมือง"

ซาร์ตสนับสนุนงานศิลปะที่ "ไม่เป็นกลางทางการเมือง"

ประเด็นคือผมคิดว่าสิ่งที่ "เลือกข้างทางการเมือง" ก็สามารถ "ไร้การเมือง" ได้ (แม้ว่าจะฟังดูขัดแย้งกันสักแค่ไหนก็ตาม)

Anonymous said...

สรุปว่าไม่เห็นด้วยกับทั้งสองคนเลยใช่ไหมครับ ^^