M. Kundera "The Curtain"
วิดวิ้ว! ในที่สุดก็มีหนังสือของกุนเดระในบลอครักชวนหัว!
เราเคยอธิบายประสบการณ์การอ่าน ไผ่แดง ว่าเหมือนโดนข่มขืน(ทางปัญญา)ในร้านดอกหญ้า เป็นการข่มขืนที่ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง รวดเดียวจบ (และไม่ยอมซื้อกลับบ้านเสียด้วยสิ) ได้รู้จักกุนเดระก็เหมือนโดนข่มขืนอีกเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน The Unbearable Lightness of Being ต่างแต่ว่ากุนเดระข่มขืนเราแบบไม่รู้ตัว ตอนที่อ่านเล่มนั้นจบ นอกจากชอบ ชอบ ชอบก็ไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรในตัว แต่พอถึง The Joke และเล่มอื่นๆ ที่ตามมา ค่อยๆ รู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่เหมือนเดิม และกว่าจะตระหนักได้ เราก็ตกเป็น(สาวก)ของกุนเดระไปเสียแล้ว
(หมายเหตุ: ไม่รู้ทำไม เวลาพูดถึงกุนเดระต้องนึกถึงเรื่องเพศไปทุกที แต่อย่างว่าแหละ นี่คือนักเขียนที่บรรจุบทวิเคราะห์ทางจิตเวช และปรัชญาลงในนิยาย Slowness เพื่ออธิบายว่าทำไมการร่วมเพศทางทวารหนัก ถึงเป็นสุดยอดแห่งเซ็ก)
เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นกุนเดเรียนเหมือนกัน เขาบอกว่า ถ้าหมอไม่มีหนังสือทุกเล่มเก็บสะสมในห้องสมุดส่วนตัว สามารถหยิบมาพลิกอ่าน หาข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ หมอก็ต้องตรัสรู้แล้วเท่านั้น ถึงเขียนอะไรแบบนี้ออกมา ถึงเราจะชอบกุนเดระแค่ไหน แต่ยอมรับเลยว่ายังไงก็เขียนหนังสือแบบหมอไม่ได้ ในแง่ความเป็น "นักนิยาย" (กุนเดระชอบเรียกตัวเองว่า "novelist" มากกว่า "writer") หมออาจจัดอยู่แค่ระดับสอง ระดับสาม แต่ในแง่ความเป็นนักคิด นั่นต่างหากที่ทะลวงเราถึงไส้ถึงพุง
The Curtain พูดถึงที่ทางของวรรณกรรมใน "เวลา" และ "สถานที่" (space and time) ในแง่เวลา กุนเดระเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของศิลปะ กับวิทยาศาสตร์ ความรู้ที่ใหม่กว่าค่อยๆ มาทดแทนความรู้แบบเก่า แต่ในเชิงศิลปะ ถึงแม้จะมีแนวทางใหม่เข้ามา แต่มันไม่ได้ทดแทนของเก่า ประวัติศาสตร์แห่งศิลปะปรากฏเคียงคู่กันทั้งใหม่ และเก่าในช่วงเวลาปัจจุบัน เราไม่สามารถแยกงานศิลปะออกจากห้วงเวลา และประวัติศาสตร์ ถ้าซิมโฟนีหมายเลขเก้าไม่ได้แต่งโดยบีโธเฟน ผู้คนก็คงแค่ชื่นชมมันในระดับหนึ่ง เพราะกัวนิก้าถูกวาดโดยปิกัสโซ เพราะจอยซ์ได้รับอิทธิพลมาจากเซอวานเต้ และส่งอิทธิพลไปสู่ฟอล์คเนอร์ นี่ต่างหากถึงเป็นคุณค่าของงานศิลปะ
ในแง่สถานที่ นิยายทุกเรื่องไม่ว่าจะถูกเขียนที่ประเทศไหน โดยใคร ใช้ภาษาอะไร ควรเป็น "นิยายของโลก" (คำนี้เกอเธ่เป็นคนคิดคนแรก) อัจฉริยะภาพของนักเขียนมักเป็นที่ประจักษ์ภายนอกประเทศบ้านเกิด (เช่นคนอเมริกันไม่ยอมอ่านฟอล์คเนอร์ แต่เขาถูกยกย่องให้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมฝรั่งเศสสมัยใหม่) จุดนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับบ้านเรา ในแง่การแปลหนังสือไทยเป็นภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญกว่า การแปลวรรณกรรมต่างชาติ มีอยู่ตอนหนึ่ง กุนเดระทุบโต๊ะปัง ประกาศอย่างไม่กลัวฟ้าดินว่า ช่างแม่งกำแพงภาษา! นิยายไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านในภาษาดั้งเดิมเท่านั้น ณ วันนี้ เวลานี้ รักชวนหัวก็ขอทุบโต๊ะปัง อหังการ์ประกาศโครมเหมือนกันว่า สิบปี สิบห้าปีนับจากนี้ นักเขียนไทยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาที่สอง) และชีวิตนี้ไม่เคยอ่านวรรณกรรมแปล ก็ไม่มีคุณค่าให้ใครอ่านอีกต่อไปแล้ว!
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
Slowness
มีแปลเป็นไทยปล่าวครับ !
รบกวนด้วย ^^
i don't think so krub. at least for now.
Post a Comment