J. Mitchell's "Psychoanalysis and Feminism"


ก่อนที่ The Interpretation of Dreams จะได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1899 ฟรอยด์คงคาดไว้อยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้คงก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน (นี่คือตำราต้นกำเนิดของปมออดิปุส ลูกชายฆ่าพ่อเพื่อเอาแม่มาเป็นเมีย) แต่เป็นการต่อต้านในลักษณะใด ฟรอยด์จะรู้ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าไม่ใช่โบสถ์ หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่เป็นนักวิชาการฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และกลุ่มสิทธิสตรีที่เป็นหัวหอกโต้แย้งแนวคิดของเขา ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นทฤษฎีของฟรอยด์ถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออุดมคติของชนชั้นปกครอง

Psychoanalysis and Feminism ถูกตีพิมพ์ประมาณปี 1970s จะมองว่ามันคือจดหมายรักของมิทเชล แด่ฟรอยด์ ศัตรูคู่อาฆาตของนักสิทธิสตรีเช่นเธอก็ได้ หลักๆ ของหนังสือเล่มนี้คือวิภาษวิธีจิตวิเคราะห์ โดยมิทเชลพูดถึงทฤษฎีของฟรอยด์ (thesis) ทฤษฎีโต้ฟรอยด์ ทั้งจากค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายเฟมินิสต์ (antithesis) ก่อนจะปิดท้ายด้วยการผูกสองทฤษฎีนี้เข้าด้วยกัน (synthesis)

มิทเชลยกตัวอย่างนักคิดโต้ฟรอยด์จากค่ายคอมมิวนิสต์มาสองคน คือวิลเฮม ไรช และอาร์ ดี แลงก์ สารภาพเลยว่าไม่ค่อยประทับใจไรชเท่าไหร่ รู้สึกหมอเป็นพวกฉลาดแบบแกนๆ รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อ่านฟรอยด์ไม่แตก แล้วยังดันทุรังไปโต้ (ว่ากันจริงๆ ก็เหมือนพวกนักวิชาการหัวเอียงซ้ายส่วนใหญ่นั่นแหละ ชี้ๆ หน้าได้เลยว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจทุนนิยม) แลงก์น่าสนใจกว่ามาก เขากล่าวว่าพัฒนาการของเด็กชาย และเด็กหญิงตามที่ฟรอยด์เสนอ (ปมออดิปุส ความอิจฉาองคชาติ การกลัวถูกตอน และอื่นๆ ) เป็นจริงได้เฉพาะแต่ในสังคมทุนนิยมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้คล้ายๆ กับแนวคิดของไซมอน ดี บัวเวียร์ นักสตรีวิทยา ที่บอกว่าทฤษฎีของฟรอยด์ใช้ได้เฉพาะในสังคมที่เพศผู้เป็นใหญ่

Psychoanalysis and Feminismมีประเด็นน่าสนใจเยอะ แต่เหมือนมิทเชลสรุปรวบยอดแนวคิดของคนอื่น มากกว่าจะพยายามพูดถึงอะไรแปลกใหม่ หรือที่เป็นของตัวเอง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเรียนลัดจิตวิเคราะห์ สตรีวิทยา และจิตวิเคราะห์-มาร์กซิส (ซึ่งเราเองก็อยู่ในกลุ่มนี้) จนกว่าจะถึงวันที่เราอ่าน Ecrits รู้เรื่อง Psychoanalysis and Feminism คงเป็นหนึ่งในบันไดที่ช่วยให้เราก้าวไปถึงวันนั้น

No comments: