S. Weil's "The Need for Roots"


วีลเขียนหนังสือเล่มนี้ช่วงที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง วีลและพรรคพวกหนีไปอยู่ลอนดอน ก่อตั้งรัฐบาลอพยพ หนังสือเล่มนี้เขียนเสร็จปี 1943 ผู้เขียนเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่เดือน และกว่ามันจะตีพิมพ์ออกมาก็คือปี 1952 สงครามสิ้นสุดแล้ว วิลมองความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสว่ามาจากความอ่อนแอภายใน รัฐบาลวินชี่ปล่อยให้ผู้รุกรานเหยียบย่ำดินแดนบ้านเกิด และทิ้งเยอรมันให้เป็นภาระของมหาอำนาจอังกฤษ และประเทศอื่นๆ

ปัญหาของฝรั่งเศสคือพี่น้องร่วมชาติเธอขาด "ราก" และความคิดที่จะปกป้องตัวเอง แต่ "ราก" ในที่นี้แตกต่างจาก "ลัทธิชาตินิยม" เข้าใจว่าถ้าวีลไม่เน้นประเด็นนี้ ก็คงแยกแยะไม่ถูกว่าฝรั่งเศสในอุดมคติเธอ จะแตกต่างจากเยอรมันผู้รุกรานตรงไหน เพราะเอาเข้าจริงนาซีก็คือลัทธิชาตินิยมสุดโต่งนั่นเอง ช่วงแรกของ The Need For Roots คือการอธิบายความแตกต่างระหว่างสองสิ่ง วีลเล่าว่าฝรั่งเศสมีความเป็นชาตินิยมอยู่ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะมี "ราก"

อ่ำ...ยอมรับก็ได้วะ...ว่าพยายามอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจความแตกต่างสักที เหมือนมันจะต่างเฉพาะในการกระทำเท่านั้น เช่นผู้ที่มีรากจะไม่รุกรานเพื่อนบ้าน นโยบายของนาซีแท้จริงตอบสนองการขาดรากของชาวเยอรมันเหมือนกัน กระนั้นท้ายสุดหัวใจของชาตินิยม และรากก็เหมือนไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้น กระทั่งการปลูกฝังรากที่วีลเสนอแนะ ก็เป็นแค่อีกระดับหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อซึ่งฮิตเลอร์ใช้นั่นเอง

ปัญหาของหนังสือเล่มนี้คือมันถูกกักขังในช่วงเวลามากๆ ถ้าวีลมีชีวิตอยู่อีกสักสิบปี ได้เห็นเอกราชของบ้านเกิดเมืองนอน ได้วิเคราะห์สภาพสังคมผ่านสายตานักประวัติศาสตร์ (มากกว่าสายตา activist หรือนักต่อสู้) บางทีวีลอาจพัฒนาทฤษฎีรากให้เฉียบแหลมกว่านี้ กระนั้นนี่อาจไม่ใช่จุดประสงค์ของ The Need for Roots ตั้งแต่แรก วีลอาจเพียงต้องการเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อชี้แนะรัฐบาลอพยพว่าควรมีทีท่า และวางตัวเช่นไรในสถานการณ์ปัจจุบัน (ปี 1943) บางช่วงวีลเจาะลึกถึงขนาดเสนอยุทธศาสตร์ตัดเสบียง อาวุธข้าศึก

Saturday Review ชื่นชมหนังสือเล่มนี้ว่า "It was a particular job which she set out to do; it was a universal task which she accomplished." ซึ่งไม่จริงเลย แม้จะมีบางประโยค บางข้อความที่น่าขบคิด นำมาใช้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือกระทั่งถ้าไม่ได้อยู่ในรัฐบาลอพยพ เราก็มองไม่ค่อยออกว่าหนังสือเล่มนี้จะอ่านไปเพื่ออะไร ประกอบกับความคิดวีลกระโดดซ้ายขวาไปมา ทำให้อ่านเอาเรื่องยาก คงคล้ายๆ กับ A Death in the Family พอมันตีพิมพ์หลังผู้เขียนเสียชีวิต ก็เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสตัดแต่ง ปรับปรุงโฉม

ข้อดีของวีลคือแทนที่จะวิจารณ์ท่าเดียวว่าอะไรบ้างที่ใช้ไม่ได้ ผู้เขียนแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขมาด้วย แม้บางข้อเสนอจะดูใสซื่อเกินจริง เช่นคนงานควรชักชวนลูกหลานให้เข้าไปเล่นในโรงงานเสียบ้าง เพื่อปลูกรากให้กับพวกเขา (ใจคอจะให้เป็นกรรมาชีพกันทั้งครอบครัวเลยหรือไง) หรือชาวนาควรศึกษาการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อตระหนักในความงาม และบทกวีของอาชีพตน (ฮา)

No comments: