S. D. Levitt, S. J Dubner's "Freakonomics"
ในบทหนึ่งของหนังสือเศรษฐศาสตร์ชวนหัว Freakonomics มีปัญหาข้อหนึ่งน่าสนใจดี เลยอยากหยิบมาวิเคราะห์ต่อ เลวิตและดับเนอร์พูดถึงกรณีที่ชายคนหนึ่งมีส่วนในการทำลายเครือข่ายขององค์กรใต้ดิน KKK อันเป็นองค์กรเหยียดผิวในประเทศอเมริกา พวกนี้เป็นพวกชอบใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำ โดย KKK จะใช้รูปแบบขององค์กรลับในยุคกลาง ซึ่งเต็มไปด้วยรหัสและปริศนาในการสื่อสาร หรือแม้แต่ชื่อตำแหน่งก็จะฟังดูอลังการแบบพวกขุนนางและอัศวิน (เช่นหัวหน้าเครือข่ายมีรหัสว่า "มังกรยักษ์" อะไรทำนองนี้)
สิ่งที่ชายคนนั้นทำก็คือ นอกเหนือจากการแฝงตัวเองเข้าไปในเครือข่ายของ KKK แล้ว สเตสันยังเอาข้อมูลภายในออกมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เขียนหนังสือ The Klan Unmasked แฉความลับขององค์กร ผลก็คือจากของที่เคยเป็นความลับ เมื่อถูกเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน ความตื่นเต้นก็ลดหายลงไป ถึงแม้การกระทำของสเตสันจะไม่มีส่วนทำลาย KKK โดยตรง แต่ไม่ช้าความนิยมของกลุ่มก็ลดหายไป สมาชิกใหม่ก็น้อยลงทุกวัน จนค่อยๆ ซาไปเอง เลวิตและดับเนอร์จึงสรุปว่า อาวุธสำคัญที่สุดของ KKK (และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ) คือความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากความลับ ครั้นเมื่อความลับกลายเป็นความแจ้ง อาวุธตรงนี้ก็สูญเสียประสิทธิภาพไป
หนังสือ Freakonomics ฉบับที่เรามีนั้นเป็นฉบับพิเศษ โดยรวมเนื้อหาเพิ่มเติมภายหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกเอาไว้ด้วย และหนึ่งในเนื้อหาเหล่านั้นคือบทความซึ่งเลวิตและดับเนอร์พูดถึงสเตสัน ปรากฎว่าเป็นไปได้มากที่เนื้อหาของ The Klan Unmasked ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สเตสันกุขึ้นมาเอง เลวิตและดับเนอร์รู้สึกผิดหวังกับสิ่งนี้มาก เนื่องจากเป้าหมายหนึ่งของ Freakonomics คือการล้มล้าง “ภูมิปัญญา” (หรือ conventional wisdom อันนี้แปลมั่วๆ นะครับ อย่าถือเป็นสาระ) หรือความรู้ความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ซะ เลวิตและดับเนอร์จบบทความนี้โดยบอกว่า แม้พวกเขาจะผิดหวังที่เรื่องของสเตสันไม่ใช่ความจริงล้วนๆ แต่เขาก็อยากเชิดชูวีรกรรมและความกล้าหาญของชายคนนี้ที่คิดจะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม
เนื่องจากอ่านมาแล้วทั้งเล่ม ผู้เขียนก็ได้ให้วิทยาทานความรู้เราว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ พอถึงตรงนี้ก็เลยอยากให้ความรู้คืนกลับไปบ้างว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักมานุษยวิทยา เนื่องจากปัญหาที่เลวิตและดับเนอร์เจอนั้น เป็นปัญหาพื้นฐานข้อหนึ่งของมานุษยวิทยา ซึ่งก็คือ “ความจริงนั้นสำคัญไฉน” ถ้าเปรียบองค์กร KKK เหมือนกับชนเผ่าหนึ่ง ขณะที่นิทานปรัมปราและขนบความเชื่อของชนเผ่านั้นแตกต่างกันไปตามแต่ผู้เก็บข้อมูลจะไปสอบถามใคร ความลับขององค์กร KKK ก็เหมือนกันนั่นแหละ กล่าวคือคงไม่มีคู่มือที่แจกแจงอย่างละเอียดหรอกว่ารหัสของ KKK มีอะไรบ้าง ที่ใช้ๆ กันอยู่ก็เป็นการสืบทอด มุขปาฐะระหว่างสมาชิกแต่ละรุ่น เรื่องยกเมฆที่สเตสันเขียนลงใน The Klan Unmasked ขอแค่มีส่วนคล้ายคลึงอยู่บ้างกับรหัสที่พวก KKK เข้าใจกัน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าหนังสือเล่มนี้ได้แฉความลับของ KKK อย่างหมดเปลือก
Freakonomics เป็นหนังสือที่ดีนะครับ อ่านสนุก และอย่างที่บอกคือมันได้สอนให้เรารู้ว่านักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร สิ่งนี้มีประโยชน์ทั้งสองทาง กล่าวคือสังคมไทยจำเป็นมากๆ ที่ชาวบ้านชาวช่องจะต้องคิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น (จะได้ไม่มาตีกันแย่งกองหินชายแดน) ขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องเข้าใจว่าคนที่เขาคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วในสังคมไทย (นักธุรกิจ นักการเมือง) เขามีจุดอ่อนในวิธีคิดอย่างไร เพื่อจะได้มองคนเหล่านี้ให้ทะลุปรุโปร่ง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
3 comments:
ชอบ Freakonomics เหมือนกันค่ะ ไม่ทราบว่าผู้เขียนได้มีโอกาสแวะเข้าไปที่ NY Times Freakonomics blog บ้างรึเปล่า มีบทความสนุกๆอยู่หลายเรื่องทีเดียว
ความรู้สึกตอนแรกที่อ่าน Freak จบคือ "อื่นๆอีกมากมายที่ไม่รู้" ชอบ L&D ตรงที่เขาให้ข้อมูลแบบ "อื่นๆ" เพื่อขยาย eye-view ของเรา พอมาอ่านที่คุณเขียน ชอบตรงที่บอกว่า L&D ให้วิทยาทานกับคนอ่านว่าคิดอย่างไรจึงจะป็นการคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ แต่ดูเหมือน L&D ลืม(หรือไม่อยากรู้!!)ไปจริงๆว่า แล้วนักมานุษยวิทยาเขาคิดกันอย่างไร จึงทำท่าผิดหวังกับสเตสัน...หรือที่แท้ก็แค่รักษาอัตตาตัวเองเอาไว้ด้วยการโต้แย้งแหลกราญ เหมือนใน Superfreak คะ
Finianrainbow
ตอบคุณ finianrainbow
สำหรับผมแล้ว หัวใจของ Freakonimics คือการต่อสู้กับความเท็จด้วยการใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ (โดยเฉพาะความเท็จที่เป็นผลมาจาก "ภูมิปัญญา") ในแง่หนึ่งผมถึงเข้าใจว่าทำไม L&D ถึงได้ผิดหวังนักกับเรื่องราวของสเตสัน (โดยทั้งสองคนไม่ทันคิดว่าบางครั้งความเท็จมันก็มีอำนาจและส่งผลได้ไม่แพ้ความจริง)
แต่ขณะเดียวกัน การที่ทั้งคู่ไปหลงยึดติดกับความเท็จเสียเองใน SF ก็เป็นสาเหตุที่ผมผิดหวังกับพวกเขามากๆ
Post a Comment