ว่ากันว่าฟันดาบเป็นกีฬาที่ใช้สติปัญญามากกว่าความแข็งแกร่งของร่างกาย บางคนถึงกับเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า "หมากรุกมนุษย์" ก็ไม่รู้นะว่าจริงหรือเปล่า แต่เราจบมาจากโรงเรียนเด็กเรียน ที่ไม่โดดเด่นด้านกีฬาใดเลย ยกเว้นฟันดาบนี่แหละ ที่พอจะสร้างชื่อเสียงกับเขาได้บ้าง (ไม่นับ "กีฬา" ประเภท "รูบิก" ซึ่งระดับแชมป์โลกกันเลยทีเดียว) ก็แสดงว่าที่เขาลือๆ กัน ก็มีเค้ามีมูลอยู่
ก็คงเป็น fate กระมังที่ส่ง The Fencing Master เข้ามือเรา หลังจากเพิ่งอ่าน Murder in Byzantium จบหยกๆ สองเล่มนี้ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง Murder in Byzantium คือนิยายที่โคตรฉลาด แต่ปราศจาก passion ส่วน The Fencing Master ก็แทบไม่มีอะไรเลยนอกจาก passion ในฐานะนิยายสืบสวนสอบสวน มันโปร่งใสเอามากๆ อ่านไปหนึ่งในสี่เล่ม ก็เดาเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง กระทั่งว่าฉากสุดท้ายจะลงเอยยังไง ก็ไม่เหนือความคาดหมายเลย
ที่น่าเย้ยหยันกว่า สำหรับเรา คือการวาดภาพสเปนช่วงที่เกิดเรื่อง (ศตวรรษที่ 19) ไม่ว่าจะด้านการบรรยาย สีสันท้องถิ่น หรือที่สำคัญที่สุด ประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งเป็นเบื้องหลังของเหตุการณ์สำคัญๆ เพเรซ-ริเวอเตสอบตกในทุกกรณี ที่เราหงุดหงิดเป็นพิเศษก็เรื่องการเมือง คนเขียนใช้ตุ๊กตาสองตัว ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกัน มาตะโกนใส่กันแบบตื้นๆ (ถ้า The Fencing Master สะท้อนรสนิยมการเมืองของผู้เขียน ก็น่าขบคิดตรงทำไมคนที่มีจุดยืนการเมืองแบบตัวใครตัวมัน สุดท้ายแล้วก็มักจะออกแนวอนุรักษนิยมโดยไม่รู้ตัว)
เหมือนจะจัดหนัก แต่เอาเข้าจริง อย่างที่เกริ่นคราวที่แล้ว passion เท่านั้นที่ make or break หนังสือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพเรซ-ริเวอเตรักตัวละครเอกสองตัวของเขาเอามากๆ รวมถึงวิชาการฟันดาบด้วย อย่างน้อยในช่วงเริ่มเรื่อง ที่สองตัวละครนี้เด่นเป็นพิเศษ มันก็เต็มไปด้วย passion ชวนให้อ่านจริงๆ นั่นแหละ
No comments:
Post a Comment