M. E. Montaigne's "Essays"


ประโยคที่เราชอบที่สุดในรวมบทความของมอนแตญจ์คือ (ประมาณว่า) “สิ่งที่ผมเขียน ก็เหมือนเป็นเพียงด้ายเส้นเล็กๆ ที่เอามามัดช่อดอกไม้เข้าด้วยกันเท่านั้นเอง" มอนแตญจ์มองว่า เขาก็แค่เอาคำพูดเจ๋งๆ ของคนโบราณมารวมกันเป็นบทความ แล้วสร้างบริบทใหม่ๆ ให้กับคำพูดเหล่านั้น ผ่านข้อคิดและความเห็นของตัวเขาเอง หากพระเอกตัวจริงก็ยังเป็นวาทะอมตะของซิเซโร เปลโต โสเครติส พลูทาช และนักปรัชญากรีก โรมันคนอื่นๆ ที่เกลื่อนกลาดตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลังหนังสือ

คำพูดนี้ฟังดูอ่อนน้อมถ่อมตนดี และถ้าให้เราจับลักษณะนิสัยบางอย่างของมอนแตญจ์จากบทความเหล่านี้ ก็คงเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนนี่เอง (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) เขาเหมือนนักวิชาการคลาสสิค ผู้เฝ้าสังเกตเรื่องราว และหาข้อขบคิดต่างๆ จากสิ่งรอบตัว เอามาถ่ายทอดลงในหนังสือแบบตรงไปตรงมา ถ้าจะมีที่ไม่อ่อนน้อมก็คือในบทความหนึ่งแกบอกว่าชอบการถกเถียงประชันความคิดมากๆ มอนแตญจ์เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับการพัฒนาสติปัญญา

นอกจากความอ่อนน้อม มอนแตญจ์ยังเป็นคนเกลียดการหน้าไหว้หลังหลอก เขาย้ำอยู่ในหลายบทความว่า วิญญูชนที่แท้จริงจะต้องปฏิบัติตัวต่อหน้าฝูงชน เหมือนกับที่ปฏิบัติหลับหลัง เขายังมีเรื่องเล่ามาสนับสนุนความเชื่อตรงนี้ของตัวเอง (ประมาณว่า) สมัยโรมันมีนักปกครองอยู่คนหนึ่ง วันดีคืนดีก็มีสถาปนิกมายื่นข้อเสนอว่า เขาจะออกแบบบ้านให้ใหม่ โดยให้มีห้องหับเป็นสัดเป็นส่วน รับรองว่าไม่มีใครมองเข้ามาในบ้านได้ โดยเขาคิดค่าออกเป็นเป็นทองพันช่าง (สมมติ) นักปกครองคนนั้นตอบกลับไปเลยว่า จะให้สามพันช่าง ถ้าสามารถออกแบบบ้าน ให้ทุกคนมองทะลุกำแพงเข้ามาได้ตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความสุจริตขั้นเทพของนักปกครองคนนั้น

อีกนิสัยหนึ่งของมอนแตญจ์คือแกดูเป็นคนต่อต้านวิทยาศาสตร์เอามากๆ โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์ ในบทความหนึ่ง แกพูดถึงเรื่องที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้แต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นจู่ๆ ผู้หญิงก็มีน้องชายงอกออกมากลางหว่างขา และกลายเป็นผู้ชาย ส่วนอีกบทหนึ่ง แกปฏิเสธการรักษาโรคของแพทย์ โดยให้เหตุผลว่าแพทย์ส่วนใหญ่มักจะพูดจากขัดแย้งกันเอง ถ้ามีคนหนึ่งบอกคนไข้ว่าให้ดื่มน้ำเยอะ แกก็มั่นใจว่าจะหาหมอได้อีกคนที่สั่งคนไข้คนเดิมว่าห้ามดื่มน้ำ มอนแตญจ์เชื่อว่า "อุปนิสัย" นั่นแหละคือตัวยาที่ดีที่สุด เช่น ถ้าเราชอบกินแตงโม คุ้นเคยกับการกินแตงโต ธรรมชาติสั่งให้เรากินแตงโม แตงโมนั่นแหละคือยอดแห่งยาแล้วสำหรับเรา

นิตยสาร New York Times เคยพูดถึงมอนแตญจ์ว่าหนังสือของแกเป็นต้นกำเนิดของนิยายในศตวรรษที่ 17 และ 18 ก่อนที่ "การเล่าเรื่อง" จะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนิยาย นิยายในยุคนั้นก็แค่จับเอาความคิดที่แตกกระจายของคนเขียนมาอัดรวมกันเป็นเล่ม อาจจะมีหรือไม่มีเนื้อเรื่องบ้าง (ประเด็นของบทความคือจะชี้ให้เห็นว่า นิยายในยุคหลังสมัยใหม่ ที่จริงแล้วเป็นการกลับไปหาผลงานคลาสสิคอย่างมอนแตญจ์ หรือเซอวานเต้นั่นเอง) พอได้มาอ่านรวมบทความจริง เรากลับไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะงานของมอนแตญจ์เป็นบทความซื่อๆ ที่ปราศจากความพยายามในการเล่าเรื่องหรือผู้เป็นนิยาย (ถ้าเทียบกับนักเขียนไทย ก็น่าจะประมาณงานสัพเพเฮฮาของคุณวาณิช) มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เรื่องแต่งได้จริงหรือเปล่า

No comments: