S. Zizek's "The Obscure Object of Ideology"
ซีเซคเรียกตัวเองว่าเป็น “บุตรทางปัญญา” ของลากอง ปรัชญาของลากองและซีเซควนเวียนอยู่กับปริทรรศน์ (paradox) เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันนี้เป็นสังคมแห่งปริทรรศน์ The Sublime Object of Ideology ช่วยเปิดหูเปิดตา อธิบายบางอย่างที่เราเฝ้าสงสัยงุนงงตลอดมา ความรู้สึกขณะนี้คล้ายๆ ตอนเพิ่งอ่าน Deep Water จบคือ “ใครก็ด้ายยยยยยย เอาหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยหน่อย เร็ว!”
หนึ่งในปริทรรศน์ของสังคมไทยที่จับจิตจับใจเราคือ ปรากฏการณ์สถาปนาเสธแดงเป็นนักบุญ เสธแดงเป็นแดงสายเหยี่ยว ลูกน้องคุณทักษิณ โดนจงเกลียดจงชังโดยคนเสื้อเหลือง (และเสื้อแดงเองจำนวนไม่น้อย) ทันทีที่ตาย อยู่ดีๆ ก็มีข่าวลือในหมู่คนเสื้อเหลืองว่าจริงๆ แล้วเสธแดงเป็นพวกนิยมเจ้า แอบเข้าไปเป็นสาย และสุดท้ายก็ถูกทักษิณสั่งเก็บตามระเบียบ
อันที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนไหวกับข่าวลือ ประกอบกับวัฒนธรรมไทยไม่ค่อยชอบพูดถึงคนตายในแง่ร้าย เรื่องนี้อาจไม่ได้แปลกประหลาดอันใด แต่มันมีตัวอย่างหนึ่งใน The Sublime Object of Ideology ที่เราเห็นว่าน่าสนใจยิ่ง อยากนำมาเปรียบเทียบ
ถ้าคุณเป็นคนเยอรมันสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังไปฟังคำปราศรัยของฮิตเลอร์ ได้ยินอุดมการณ์ต่อต้านคนยิวของพรรคนาซี แล้วคุณกลับมาพบมิสเตอร์สเติร์น เพื่อนบ้าน มิสเตอร์สเติร์นเป็นคนยิวนิสัยดี ตั้งมั่นในศีลธรรม มีน้ำใจ ไม่ได้ร่ำรวยอะไรแต่ก็ชอบช่วยเหลือคนอื่น ทั้งคนเยอรมันและคนยิวเอง คำถามคือคุณจะรู้สึกอย่างไรกับมิสเตอร์สเติร์น ซีเซคบอกว่า เพียงคุณตั้งคำถามนี้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้ตกอยู่ในอุ้งมือของอุดมการณ์ต่อต้านคนยิวตั้งแต่แรก (“Ideology” พอแปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า “อุดมการณ์” ค่อนข้างแปร่งแปลก เพราะ “Ideology” คือความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งอาจอุดมหรือหยาบช้าอย่างไรก็ได้) ถ้าคุณเป็นสาวกนาซีจริงๆ ปฏิกิริยาของคุณคือ “เห็นไหม พวกยิวนี่ร้ายลึก! รู้จักปิดบังความชั่วช้าของตัวเองอีกต่างหาก”
สำหรับซีเซค อุดมการณ์ไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นการกระทำ (ในที่นี้คือความรู้สึกเกลียด) คนเยอรมันไม่ได้เชื่อว่าคนยิวเป็นคนเลว พวกเขาจึงต่อต้านคนยิว ในทางตรงกันข้าม อุดมการณ์สั่งให้เขาต่อต้านคนยิวก่อน แล้วความเชื่อค่อยตามมาทีหลัง ความมหัศจรรย์ของทฤษฎีนี้คือ ไม่จำเป็นแม้แต่น้อยที่ความจริงต้องสอดคล้องกับสิ่งที่คุณ “พยายาม” เชื่อ (ไม่ใช่สิ่งที่คุณเชื่อ) ในทางตรงกันข้าม หัวใจของอุดมการณ์คือความขัดแย้ง ยิ่งสิ่งที่คุณพยายามเชื่อตรงข้ามกับความจริงเชิงประจักษ์เท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเชื่อมันอย่างสุดใจเท่านั้น (อันเป็นข้อสรุปเดียวกับฟรอมม์ใน Escape from Freedom)
ซีเซคพยายามใช้ทฤษฎีของลากองเพื่ออธิบายปริทรรศน์ดังกล่าว อัตลักษณ์ของมนุษย์เรามีสองประเภท ประเภทแรกคือ “อัตลักษณ์ในจินตนาการ” (Imaginary Identification) เราเป็นหรือนึกว่าตัวเองเป็นสิ่งที่เราชื่นชม อัตลักษณ์นี้เกิดจากการมองไปยังโลกภายนอก แล้วพบเห็นอะไรที่เราพึงใจ ก็พยายามหยิบจับสิ่งนั้นมาใส่ในตัวเอง ซึ่งก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง อัตลักษณ์ประเภทหลังคือ “อัตลักษณ์เชิงสัญลักษณ์” (Symbolic Identification) เกิดจากการพยายามเป็นบางสิ่ง เมื่อสิ่งนั้นมองดูตัวเราแล้ว เราพึงใจกับภาพลักษณ์ของตัวเองที่สุด
อัตลักษณ์ประเภทหลังจะครอบงำอัตลักษณ์ประเภทแรก เพราะมันคงง่ายกว่าที่เราจะพยายามเป็นสิ่งที่ชื่นชอบเรา (เพราะสิ่งนั้น “ขาด” บางอย่างที่เรามี) มากกว่าสิ่งที่เราชื่นชอบ (เพราะตัวเราเอง “ขาด” บางอย่างที่สิ่งนั้นมี) อัตลักษณ์ประเภทที่สองนี้เป็นอัตลักษณ์เชิงสังคม เกิดขึ้นเมื่อเราทำอะไรออกไป และเอาตัวเองไปอยู่ที่ตรงไหน อุดมการณ์สำหรับซีเซคจึงเริ่มต้นจากการทำ แล้วค่อยย้อนกลับไปอีกที ว่าสิ่งที่เราทำดลให้เราเชื่อในอะไรบ้าง (ซีเซคใช้ตัวอย่างจาก Play it Again, Sam มาอธิบายความแตกต่างตรงนี้ ซึ่งเราก็ดันไม่เคยดูเสียด้วย แต่จะว่าไป หนังอะไรที่เนื้อเรื่องวนเวียนกับรักสามเส้าก็คงเอามาใช้เป็นตัวอย่างได้ทั้งนั้นแหละ ด้วยข้อสรุปแบบเชยๆ ว่า “รักคนที่เขารักเราดีกว่า”)
ในปรัชญาของซีเซค ปริทรรศน์คือแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง เหมือนกับตัวเจาะอกในหนังเรื่อง Alien มันอาจจะเป็นปรสิตที่แอบแฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์ แต่เมื่อไหร่ที่มันหนีออกไป เราก็ตายลงเมื่อนั้น เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือตัวเจาะอก เป็นสิ่งแปลกปลอม (เพราะคนส่วนใหญ่โง่ ซื้อเสียง บลา บลา บลา) แต่เมื่อไหร่ที่เราเอาการเลือกตั้งออกไป ประชาธิปไตยก็ตายลงเมื่อนั้น
สี่บรรทัดสุดท้ายนี้เราไม่ได้สรุปเอง แต่มันออกมาจาก The Sublime Object of Ideology เพียวๆ (รวมถึงตัวเจาะอกด้วย)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment