U. Eco's "Six Walks in the Fictional Woods"
สงสัยหงุ่ยๆ ว่าตัวเองควรจะเขียนเกี่ยวกับ "Six Walks in the Fictional Woods" ดีหรือเปล่า นี่คือหนังสือรวม Norton Lecture ของอัมเบอโต อีโค เบื้องหลังนิดหนึ่งคือ Norton Lecture จัดขึ้นทุกปีที่ฮาวาร์ด เป็นการเชิญนักเขียน นักกวี หรือนักวิจารณ์ดังๆ มาพูดให้นักเรียนวรรณคดีฟัง คนที่เคยไปปรากฏตัวใน Norton Lecture ได้แก่คาลวิโน อีโค ฆอเฆส มิลอส กอไดเมอ แล้วก็ฮาโรล บลูม บางที (หรือว่าส่วนใหญ่?) พอผู้พูดพูดจบ ก็มักมีคนอัดเทป แล้วเอามาถ่ายเทปพิมพ์ขายเป็นหนังสืออีกต่อ
ที่บอกว่าสงสัยหงุ่ยๆ ไม่ควรเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เพราะถึงยังไงซะพวกนี้ก็เป็น "trick of trade" คือความลับวิชาชีพเรา แหม! คนเขาอุตส่าห์นั่งอ่านมา จะบอกให้คนอื่นฟังง่ายๆ ได้อย่างไรเล่า แต่ก็เอาเถอะ ตั้งใจให้บลอคนี้รวบรวมรายชื่อหนังสือ(แทบ)ทุกเล่มที่เราอ่านในแต่ละปีอยู่แล้ว เอาเป็นว่าเขียนเล่าให้ฟังสั้นๆ แล้วกัน
SWitFW แบ่งเป็นหกบท โดยสามบทแรกค่อนข้างแยกออกจากสามบทหลัง สามบทแรกอีโคพูดถึงเทคนิคการเขียนหนังสือ ที่น่าสนใจก็ได้แก่การให้ความสัมคัญกับมุมมอง ก็ที่นักเรียนไทยได้ยินบ่อยๆ นั่นแหละ มุมมองในนิยาย (หรือเรื่องสั้น) มีสามประเภทคือบุรุษที่หนึ่ง บุรุษที่สอง แล้วก็มุมมองพระเจ้า ถ้าให้ละเอียดหยิบย่อยไปกว่านั้นก็จะมีมุมมองแบบตั้งกล้อง หรือแบบเข้าไปอยู่ในหัวตัวละคร แต่มุมมองในความหมายอีโคไม่ใช่แค่เรื่องเบๆ แบบนี้ แกพูดถึงความแตกต่างระหว่าง empirical reader และ ideal reader (มาจากคำพูดของจอยซ์ที่ว่า "ฟินิแกนเวคเป็นหนังสือสำหรับ ideal reader ที่มี ideal insomia") empirical reader ก็คือผู้อ่านจริงๆ คือเรานั่นแหละ ส่วน ideal reader คือผู้อ่านที่คนเขียนกำลังคุยด้วยอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะอย่างไม่รู้ตัว ระหว่างที่เราอ่านหนังสือ ผู้อ่านก็จะสวมบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ถ้าคนเขียน (ซึ่งอีโคก็แบ่งอีกเป็น empirical และ ideal auther) ตระหนักตรงจุดนี้ก็สามารถเล่นกับมุมมองได้อย่างหลักแหลมขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ คือเรื่องเวลา อีโคบอกว่าหนังสือคือศิลป์หนึ่งในไม่กี่ประเภทที่เวลาในการอ่าน และเวลาของสารไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งตรงข้ามกับภาพยนต์ และดนตรี สารใช้เวลาในการสื่อเท่าไหร่ คนฟัง และผู้ชมก็ใช้เวลาในการรับรู้เท่านั้น (รู้สึกยังไงไม่รู้ว่านักทำหนังบางคนแถวนี้จะไม่เห็นด้วย) อีโคให้ความสำคัญของการ "เดินทอดน่อง" ในป่านิยาย ยกตัวอย่างว่าสถาปัตยกรรมเจ๋งๆ บางชิ้น ผู้สร้างออกแบบให้เป็นเขาวงกต เพื่อว่าผู้ชมจะได้ใช้เวลาในการเสพนานๆ ไม่ใช่ว่าเห็นปั๊บ รับรู้ทุกอย่างเข้าไปปุ๊บ ในแง่การเขียน อีโคถึงพูดว่าบางทีคนเขียนจงใจใส่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน "เดินทอดน่อง" ถึงกับยืนยันด้วยซ้ำว่าอันที่จริง ต่อให้ไม่อ่าน แล้วเปิดข้ามไป ก็ยังถือว่าช่วยรักษาโมเมนตัมการอ่านให้เป็นไปดังที่คนเขียนต้องการ
สามบทสุดท้ายของหนังสือ พูดถึงเส้นแบ่งระหว่างนิยาย และโลกแห่งความจริง ซึ่งเป็นหัวข้อสุดโปรดของแก แต่บอกตรงๆ เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่ะ ไม่ได้มีความลับวิชาชีพอะไร มาให้เราเปิดเผยแล้ว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
เห็นด้วยนะ เพราะภาพยนตร์มันเป็นงาน time based อยู่แล้ว มันถึงน่าสนใจไงมากไงกับแนวคิดเรื่อง cinema กับ time ที่ยิ่งพูดเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าไปได้ลึกขึ้นเรื่อยๆเท่านั้น
อันนี้ไม่นับภาพยนตร์ interactinve หรือพวกงาน installation ซึ่งเป็นอีกเรื่อง พวกนั้นก็เล่นกับ time เหมือนกัน แต่อาจจะใกล้เคียงในเชิงหนังสือมากขึ้น หรือก้ำกึ่ง ดิ้นได้ทั้งสองด้าน ระหว่างหนังสือกับภาพยนตร์ทั่วไป เหมือนไบเซ็กชวล
Post a Comment