L. Althusser's "For Marx" *


หากเราคิดจะแบ่งนักปรัชญาสายมาร์คซิสออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่นิยมเฮเกลและกลุ่มที่ต่อต้านเฮเกล ซีเซคคงจัดอยู่ในกลุ่มแรก และอัลธูแซร์อยู่ในกลุ่มหลัง ดีมากเลยที่ได้อ่านและพูดถึง For Marx หลังจาก The Obscure Object of Ideology พอดี มันช่วยเปรียบเทียบให้เราเห็นและเข้าใจหลายอย่างชัดเจนขึ้น

For Marx ประกอบด้วยเจ็ดบทความ ถูกเขียนขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งเจ็ดก็ร้อยเรียงเข้าหากันอย่างน่ามหัศจรรย์ เพื่ออธิบายว่า “เฮเกลมั่ว!” อย่างไร อัลธูแซร์อ้างอิงประโยคเด็ดของมาร์คจาก Capital ว่าวิภาษวิธีของเฮเกลต้องนำมา “กลับหัวกลับหาง” ก่อนจึงจะใช้ได้ อัลธูแซร์ขยายความต่อไปอีกว่า แค่กลับหัวกลับหางไม่พอ แต่ต้องรื้อถอนออกใหม่หมด และในระหว่างการรื้อถอนนั้นเอง สองแนวคิดคลาสสิกก็ถือกำเนิดขึ้นมาคือ Superstructure หรือ โครงสร้างส่วนบน และ Overdetermination หรือ สภาวะที่มีข้อกำหนดมากเกินพอ (โครงสร้างส่วนบนเข้าใจว่ามาจากกรัมซี แต่อัลธูแซร์เองก็อรรถาธิบายคำคำนี้เอาไว้ไม่น้อย)

วิภาษวิธีของเฮเกลคือศาสตร์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว ของชิ้นหนึ่งแตกออกเป็นสองส่วนที่ขัดแย้งกันเอง เปลี่ยนแปลงสภาวะภายใน และค่อยๆ ผสานสองความแตกต่างให้ลงตัว ของชิ้นนั้นจึงกลายเป็นอีกชิ้นที่สมบูรณ์กว่า เฮเกลเชื่อว่านี่คือพัฒนาการทางสังคม ดังนั้นความขัดแย้งทุกอย่างที่เราเห็น (เช่น เด็กเผาห้องสมุดโรงเรียนตัวเอง เสธร้อยศพขึ้นปกอะเดย์ฯ ) เป็นเพียงความขัดแย้งผิวเผิน ที่สะท้อนอาการเคลื่อนขยับของสังคมแบบ “น้ำลอดใต้ทราย เดือนหงายกลางป่า”

อัลธูแซร์ปฏิเสธแนวคิดนี้ เขาไม่เชื่อว่าของชิ้นหนึ่ง หากไม่อาศัยอะไรจากภายนอกเลย จะสามารถพัฒนาไปเป็นอีกชิ้นหนึ่งได้ ความไม่เชื่อของอัลธูแซร์แปรออกมาเป็นบทวิจารณ์ละคร พลอตละครทั่วไปเป็นเรื่องการเดินทางของตัวเอกจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง หรือเติบโตจากความเชื่อแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ผ่านปฏิสัมพัทธ์กับผู้คนรอบข้าง ซึ่งโดยผิวเผินแล้วก็เหมือนตัวเอกเติบโตและผสานความแตกต่างจากภายนอกจริง กระนั้นก็ตามตราบใดที่ผู้ชมยังรู้สึกร่วมไปกับตัวเอก ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขาหรือเธอก็จะถูกกลืนหายกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร ท้ายสุดตัวเอก (และคนดู) ก็จะไม่มีวันเติบโตหรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (เอาโมเดลนี้มาจับนิยายไทย จะพบว่าจริงจนน่าขนลุก ไม่มีหรอกตัวเอกที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับคนอ่านตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือต่อให้เป็นแอนไทร์ฮีโร่จริง ก็ต้องแอบซ่อนอุดมคติเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของละครนั้นๆ ) ความบันเทิงของชนชั้นกลางจึงเป็นเพียงการตอกย้ำโครงสร้างส่วนบนที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้ววนไปวนมาเท่านั้น อัลธูแซร์ปิดท้ายว่ามีแต่บทละครของเบรชที่วางศูนย์กลางของเรื่องออกไปจากตัวละครหลัก จึงจะช่วยให้คนดูเติบโตจากงานศิลปะชิ้นนั้นได้จริง

สำหรับอัลธูแซร์ ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งภายในมันสะท้อนออกมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรม แต่รูปธรรมของความขัดแย้งนั่นต่างหากที่เป็นตัวกำหนดและขับเคลื่อนสังคมจากภายนอก นี่เองคือสภาวะที่มีข้อกำหนดมากเกินพอ (อยากได้คำแปลที่มันเซ็กซี่กว่านี้) สังคมไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยการผลิต แต่มันยังมีโครงสร้างส่วนบน ปัจจัยเฉพาะทั้งภายในและภายนอกประเทศ

จุดนี้คิดต่อไปได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิชาการเสื้อสีอะไรก็ตาม การพยายามอธิบายสังคมไทยผ่านชุดความคิดทางเศรษฐศาสตร์ จะไม่มีทางให้คำตอบที่รอบด้าน สุดท้ายก็จะเป็นการเถียงกันว่าเราควรจัดการอย่างไรกับช่องว่างของรายได้ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าคนชนบทถูกจ้างวานหรือขับเคลื่อนด้วยความตั้งใจ (ผลประโยชน์) ของตัวเอง ทั้งสองคำตอบก็ล้วนเป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์ทั้งนั้น การแก่งแย่งทรัพยากรการผลิตเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้ง ยังมีความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม การเมือง ศีลธรรม และอีกมากมาย รวมไปถึงความขัดแย้งบนท้องถนนที่จับต้องได้ (หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นก็ได้ด้วย)

ต่อให้ประเทศไทยไม่เคยมีชนชั้น ทันทีที่กระสุนปืนมันเจาะร่างใครสักคน ชนชั้นก็เกิดขึ้นมาเมื่อนั้นเอง ไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่อำมาตย์ แต่เป็นชนชั้นผู้ฆ่า และชนชั้นผู้ถูกฆ่า

No comments: