F. Vertosick's "When the Air Hits Your Brain"


เราเป็นลูกหมอ ตั้งแต่เด็ก โรงพยาบาลคือบ้านแห่งที่สอง แต่เอาเข้าจริง เรารู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวิชาแพทย์น้อยมาก พ่อกำชับแต่อ้อนแต่ออกว่าอยากทำอาชีพอะไรก็ได้ เว้นไว้อย่างเดียวคือหมอ ประกอบกับเราไม่ค่อยชอบชีววิทยา เรื่องแพทย์ เรื่องหมอก็เลยไม่ค่อยอยู่ในสมองเท่าไหร่ กระนั้นก็ใช่ว่าการอ่าน When the Air Hits Your Brain จะไม่ขุดคุ้ยความทรงจำอะไรออกมาเลย อย่างน้อยๆ เรื่องราวของเวอร์โทซิก เกี่ยวกับประสบการณ์ร่ำเรียนวิชา ฝ่าฝันอุปสรรคร้อยแปด เพื่อจะได้เป็นหนึ่งในศัลยแพทย์ประสาทและไขสันหลัง ก็ชวนให้เรานึกถึงเหล่าลูกศิษย์ซึ่งผลัดเวียนกันเข้าออกประตูห้องทำงานพ่อ (สำหรับเรา พ่อเหมือนอาจารย์หมอ มากกว่าหมอผ่าตัดจริงๆ )

แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้กระตุ้นความทรงจำเรื่องไหนสุด ตอบเลยว่า ซุปเปอร์ดอกเตอร์ K ใครที่ยังทันอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ คงจำได้ว่าดอกเตอร์ K พระเอกของเรื่อง เป็นหมอโคตรเก่ง เคยทำการผ่าตัดเวอร์ๆ เช่นขึ้นไปเฉือนมะเร็งกระดูกสันหลังบนกระสวยอวกาศ แถมยังเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม รักษาฟรีให้คนยากคนจน อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ น่าจะเห็นตรงกันว่าความสนุกของมัน กลับอยู่ที่บรรดาเพื่อนๆ ตัวประกอบทั้งหลายแหล่ เพราะไม่ได้เก่งเท่าดอกเตอร์ K และเต็มไปด้วยจุดอ่อน เรื่องราวของพวกเขาจึงชวนติดตาม

เวอร์โทซิก ผู้เขียน และตัวเอกของ When the Air Hits Your Brain ก็คล้ายๆ กับเพื่อนของดอกเตอร์ K เป็นแค่หมอฝึกหัด มีฝีไม้ลายมือในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้พระเจ้าขนาดรักษาหายทุกโรค ใครที่ไม่ชอบอ่านเรื่องเศร้า ควรรู้ไว้เลยว่าในเล่มนี้ มีกรณีที่ล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ มีคนไข้เสียชีวิต หรือพิการ มากกว่าที่ฟื้นฟูสุขภาพตัวเองได้ การนำเสนอภาพความเปราะบางของชีวิตทำให้มันเป็นมากกว่าบันทึกโรงเรียนแพทย์ ผู้อ่านจะเห็นว่าหมอไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร ในบทหนึ่งเวอร์โทซิกถึงกับยอมรับว่าในเชิงวิวัฒนาการ มนุษย์เกิดมาเผื่อถ่ายทอด สร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม และตายลงไป ดังนั้นการมานั่งรักษาชีวิตเหยื่อ "survival of the fittest" เป็นเรื่องไร้สาระเอามากๆ จากมุมมองของพระเจ้า ไม่ใช่ซุปเปอร์ดอกเตอร์ K แต่พวกเขาเป็นเพียงดอนคีโฮเต้ผู้ต่อสู้กับกังหันลม


ไม่ใช่ดอนคีโฮเต้ด้วยซ้ำ สำหรับเวอร์โทซิก หมอใกล้เคียงเฟาส์ที่สุด ต่อรองกับปีศาจ แลกอวัยวะในตัวค้นไข้ เพื่อรักษาอีกสิ่งหนึ่งไว้ เวอร์โทซิกเล่าเหตุการณ์รับมือทารกหัวใจล้มเหลว เขาต้องเลือกระหว่างตัวยาซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เลือดไม่ไหลเลี้ยงนิ้วมือ แขนขา และแม้รอดชีวิตมาได้ ก็อาจต้องกลายเป็นคนพิการ ซึ่งการตัดสินนี้นำไปสู่ผลลัพท์ที่ทั้งคนอ่าน และผู้เขียนเองคาดเดาไม่ถูก

When the Air Hits Your Brain เสนอภาพการเติบโตของศัลแพทย์ ทั้งทางด้านวิชาความรู้ และจิตใจ ทั้งจากความล้มเหลว และความสำเร็จ เติบโตทั้งในแง่ดีขึ้น และเลวลง (เวอร์โทซิกสารภาพว่าหมอต้องมีความเป็น "ฆาตกรโรคจิต" อยู่ในตัวพอที่จะไม่เก็บเอาเหยื่อปลายมีดทุกคนมาคิดเล็กคิดน้อย) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยีในช่วงยี่สิบปีให้ท้าย ฉากที่ผู้เขียนเผชิญหน้าผู้ป่วยโรคเอดส์คนแรกทำให้เราตระหนักถึง "ความใหม่" ของโรคร้ายตัวนี้ แต่เพราะความรุนแรง และความพิเศษของมัน ทำให้คนสมัยใหม่บางทีก็ลืมไปแล้ว ว่าแต่ก่อนเขาอยู่กันได้ยังไงโดยไม่มีโรคเอดส์ (ถือว่าทดแทนที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตก็แล้วกัน) อีกตอนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่เหมือนผู้เขียนยังอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่กล้าพูดถึงมาก คือมุมมองที่เขามีต่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ในฐานะที่อ่านวรรณกรรมมาเยอะ พูดได้เต็มปากเลยว่าศัลยแพทย์ผู้นี้เขียนหนังสือดีมาก ธรรมดาเรารู้สึกว่าหนังสือที่ไม่ได้เขียนโดยนักเขียน ต่อให้มีความคิด ความอ่านแค่ไหน การนำเสนอ ใช้ภาษา เรียบเรียงสานส์ก็ต้องมีติดขัดบ้างแหละ โดยเฉพาะหนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ ความทรงจำ คนเราจะมีลักษณะอย่างหนึ่งเวลาเล่าเรื่องของตัวเอง คือชั่งน้ำหนักไม่ถูก ว่าเรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนไม่สำคัญ ผลลัพท์ก็คืองานเขียน ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลที่คนอ่านไม่อยากรู้ (ขนาดนักเขียนอาชีพยังมีปัญหานี้บ่อยๆ ) ในทางตรงกันข้าม เวอร์โทซิกแยกแยะได้อย่างงดงามว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเล่า ไม่ควรเล่า When the Air Hits Your Brain หนาเกือบสามร้อยหน้า แต่อัดแน่นไปด้วยละครชีวิตที่อ่านแล้ววางไม่ลง ผู้เขียนรุ่มรวยอารมณ์ขันพอจะใส่มุกตลกในสถานการณ์บ่งชี้ความเป็นความตาย แทรกมุมมองปรัชญา และข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งคนปรกติพออ่านออกเข้าใจได้

เวอร์โทซิกยังเขียนหนังสืออีกสองเล่ม แต่เป็นแนววิทยาศาสตร์เพื่อคนทั่วไป ซึ่งแม้ธรรมดาเราไม่ได้เป็นแฟนหนังสือแบบนั้น แต่แน่นอนว่าอีกไม่นาน คงได้อ่านและเอามาแบ่งปันกัน สุดท้ายขอบคุณสาวสวยนักเรียนแพทย์ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับเรา

3 comments:

Anonymous said...

Hahaha i like this line, "คนสมัยใหม่บางทีก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำ ว่าแต่ก่อนเขาอยู่กันได้ยังไงโดยไม่มีโรคเอดส์ (ถือว่าทดแทนที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตก็แล้วกัน)"

Anonymous said...

เคยเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ใน Saturday ของ McEwan
คิดว่าเป็นตำราแพทย์เสียอีก
น่าอ่านมากครับ

Anonymous said...

Interesting to know.