K. Marx & F. Engels's "The German Ideology"


เกริ่มไว้ตั้งแต่คราวก่อนว่าอยากหาหนังสือของมาร์กซ์ เอเกลเล่มเล็กๆ มาอ่านสักเล่ม The German Ideology เล่มนี้หนาไม่ถึงร้อยหน้า แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหา ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวมวลชน หรือลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธความคิดของมาร์กซ์

เนื่องจากหนังสือมันเล่มบ๊างบาง ไปหาอ่านกันเอาเองดีกว่านะ สรุปสั้นๆ คือภายในเล่มนี้มาร์กซ์ต้องการจู่โจมสองประเด็นหลัก หนึ่งก็คืออุดมการณ์นิยมแบบเยอรมัน (หรือแบบเฮเกล ถ้าพูดให้เจาะจง) และสองคือหลักการทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่ามาร์กซ์โยงสองสิ่งนี้เข้าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ก็มีสิทธิเป็นไปได้ โดยให้สรุปสั้นๆ คือ แนวคิดที่เกื้อหนุนหลักการทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นมีรากฐานมาจากเสรีภาพ สิทธิ และคำพูดสวยหรูต่างๆ นานา (ซึ่งคนมักจะโยงเข้าหาแนวคิดแบบประชาธิปไตย และทุนนิยม) แท้จริงเป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่ง

ความจริงแท้ที่สุดของมนุษย์ก็คือความหมายในเชิงวัตถุ (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าวัตถุนิยม ในหลักการของมาร์กซ์ materialist dialectic) ในที่นี้มนุษย์คือสิ่งที่เขาผลิต ดังนั้นคุณค่า และความหมายของมนุษย์ต้องวัดกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมาร์กซ์ก็พูดต่อไปว่าทุนนิยม การแบ่งภาระหน้าที่ และระบบโรงงานคือการริดลอนคุณค่าในการผลิต ซึ่งก็หมายถึงริดลอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย

ไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก หลายจุดอ่านซ้ำแล้วซ้ำยังไม่เข้าใจว่ามาร์กซ์สรุปเช่นนี้ได้อย่างไร (โดยเฉพาะการลบล้างหลักทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่เห็นว่ามันจะช่วยเหลือสถานภาพความเป็นมนุษย์ตรงไหน) หรือข้อเสนอแนะหลายอย่างก็ออกแนวล้าหลังไปหน่อยหรือเปล่า (เช่นว่าทุกคนควรหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเองในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตัดเย็บเสื้อผ้า ล่าสัตว์ จนถึงปลูกข้าว ถ้าแบบนี้สังคมจะพัฒนาได้หรือ) แต่ก็รู้สึกดีที่ได้อ่าน

แค่หยิบหนังสือมาร์กซ์มาอ่านเล่มหนึ่ง เราก็รู้ดีกว่าพวกที่พ่นมาร์กซ์ออกมาปาวๆ สักแค่ไหนแล้ว